เครื่องเพาะถั่วงอกอนามัยอัตโนมัติชนิดครอบครัว

การเพาะถั่วงอกนั้นจะอาศัยการเพิ่มความชื้นให้กับเมล็ดถั่วสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีภายในเมล็ด มีอัตราการหายใจเพิ่มมากขึ้น มีการย่อยสลายสารอาหารต่าง ๆ ที่เก็บสะสมในเนื้อเยื่อ และเคลื่อนย้ายสารอาหารที่ย่อยแล้วนี้ไปยังส่วนต่าง ๆ ที่กำลังเจริญเติบโตเป็นต้นอ่อน และในช่วงนี้เมล็ดถั่วต้องการใช้น้ำมาก น้ำช่วยให้อาหารที่เก็บสะสมไว้ในเมล็ดรูปโมเลกุลใหญ่ ๆ แตกย่อยออกเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ ส่งไปยังส่วนคัพภะ (embryo) ซึ่งต้องการออกซิเจนเพื่อใช้ในการช่วยหายใจ และย่อยสลายอาหารให้ได้พลังงานที่จำเป็นสำหรับการงอก

ดังนั้นปัจจัยที่สำคัญในการเพาะถั่วงอกให้เจริญเติบโตอวบอ้วนน่ารับประทาน ก็คือ การให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ ถั่วงอกจึงเป็นผักที่ต้องการให้น้ำในปริมาณมากและถี่ คือทุก ๆ 2 ชั่วโมง จึงทำให้เกิดปัญหาไม่ค่อยสะดวกนัก โดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องการเพาะถั่วงอกไว้กินเอง ที่ต้องติดปัญหาในการออกไปทำงาน นอกบ้านในเวลากลางวัน และติดปัญหาในการนอนกลางคืน

รองศาสตราจารย์ มนตรี  ค้ำชู ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้คิดค้นและพัฒนา “เครื่องเพาะถั่วงอกอนามัยอัตโนมัติชนิดครอบครัว” ขึ้น

อาจารย์มนตรีได้เล่าถึงเรื่องนี้ให้ฟังว่า “ถั่วงอกที่เราเพาะกินเองนั้น สะอาด ปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงต่อสารฟอกขาวและการแช่ฟอร์มาลีนที่แม่ค้านิยมใช้ในถั่วงอกเพื่อรักษาความสด กระบวนการผลิตหรือการทำให้งอกนั้น กระทำได้ง่ายใช้เวลาสั้น สามารถเพาะได้ในที่ร่มตลอดปี นอกจากนี้ผลการงอกของเมล็ดทำให้ถั่วงอกกลายเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหาร มีปริมาณวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซี จะเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิมในถั่วเขียว  โดยวิตามินซีจะเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ในทางตรงข้ามถั่วงอกจะให้แร่ธาตุน้อยลง ยกเว้นฟอสฟอรัสกลับเพิ่มปริมาณมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนพบว่า มีกรดแอสปาร์ติกเพิ่มขึ้น ที่สำคัญขณะสด ๆ ยังมีชีวิตอยู่จะมีเอนไซม์ที่สำคัญและมีกากใยอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ช่วยในการขับถ่าย และจับไขมันส่วนเกิน อันเป็นการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ อยู่ระดับค่อนข้างดีพอควรเลยทีเดียว คนที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือลดความอ้วน ถั่วงอกนี้เป็นอาหารช่วยได้เป็นอย่างดีมีราคาประหยัด สามารถเพาะได้เองอย่างสะดวกและปลอดภัยเพียงอาศัยเครื่องเพาะถั่วงอกอนามัยอัตโนมัติเท่านั้นก็พอ”

นอกจากนี้แล้วเครื่องเพาะถั่วงอกอนามัยอัตโนมัติชนิดครอบครัว ยังสามารถเพาะถั่วเหลือง หรือถั่วชนิดอื่น ๆ หรือเมล็ดงอกชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน แต่ต้องหาเมล็ดพันธุ์ที่งอกได้ดีมาทดลองเพาะ

ส่วนประกอบของเครื่องเพาะถั่วงอกอนามัยอัตโนมัติของ รศ.มนตรี  ค้ำชู จะประกอบไปด้วย

1.  ถังพลาสติกทรงกลม 2 ใบ

– ใบบนใช้สำหรับบรรจุน้ำและควบคุมการจ่ายน้ำตามกำหนด

– ใบล่างใช้สำหรับเพาะถั่วงอก

2.  ตระกล้าเพาะถั่วงอก

3.  ฝาถังชั้นล่างดัดแปลงเป็นอุปกรณ์จ่ายน้ำ

4.  หัวน้ำหยดที่ปรับระดับน้ำได้ติดกับสายยางสำหรับใช้ต่อกับก๊อกน้ำประปา

วิธีเพาะ

เมล็ดถั่ว 1 ส่วน จะเพาะถั่วงอกได้ประมาณ 6-7 เท่าโดยน้ำหนัก เช่น ถั่วเขียว 250 กรัม จะเพาะถั่วงอกได้ประมาณ 1.5 กก.

1.  ชั่งหรือตวงเมล็ดถั่ว สำหรับเพาะประมาณ 250 กรัม หรืออาจจะใช้น้อยกว่านี้ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการที่ใช้บริโภค

2.  นำเมล็ดถั่วล้างน้ำทำความสะอาดและเทน้ำทิ้ง และแช่เมล็ดถั่วในน้ำธรรมดาหรือใช้น้ำอุ่น 50-60 องศาเซลเซียส คือ น้ำเดือด 1 ส่วน ผสมกับน้ำเย็น 1 ส่วน นาน 6-8 ชั่วโมง

3.  หลังจากแช่เมล็ดแล้วก็ถ่ายเมล็ดถั่วลงในตระกร้าสำหรับใส่เมล็ดถั่วเพาะ

4.  นำตะกร้าเมล็ดเพาะถั่วใส่ถังพลาสติกชั้นล่าง

5.  ปิดฝาถังพลาสติก ซึ่งมีอุปกรณ์รดน้ำ นำถังเก็บน้ำที่มีแกนท่อสีขาวตั้งซ้อนบนฝาถังพลาสติก ให้ลงช่องพอดีห้ามเอียงเป็นอันขาด

6.  ต่อท่อพลาสติกดำขนาดเล็กกับก๊อกน้ำประปา โดยอาศัยปลอกยางเสียบกับก๊อกน้ำให้แน่น(มีทั้งขนาด ½ นิ้วและ ¾ นิ้ว) ถ้าหลวมต้องใส่ลวดรัดปลอกยางให้แน่นปลายอีกด้านหนึ่งจะต่อหัวน้ำหยดชนิดพิเศษ ที่ติดมากับชุดถั่วชั้นบน

7.  เปิดก๊อกน้ำประปาแรงพอควร หัวน้ำหยดจะควบคุมการจ่ายน้ำอัตโนมัติ 2 ลิตร/ชม. เปิดน้ำตลอดเวลาในการเพาะ 2.5-3 วัน จะทำให้เต็มถังและดูดลงไปรดถั่วงอกเองทุก ๆ 1.5-2.5 ชั่วโมง โดยอัตโนมัติ ควรตั้งถังไว้ในที่ไม่มีแสงสว่าง เช่น ห้องครัวหรือในห้องน้ำ ต่อท่อระบายน้ำทิ้งที่ถังชั้นล่างด้วย

8.  เมื่อเพาะครบ 3 วัน หรือประมาณ 65-72 ชั่วโมง (นับตั้งแต่เริ่มแช่เมล็ดถั่ว) ก็สามารถนำมาบริโภคจำหน่ายจ่ายแจกกันได้ ถ้าเกิน 3 วัน ตัวจะยาวเพิ่มขึ้นแต่อาจจะผอม ถ้าต้องการให้อ้วนและรากสั้นจะต้องหาสิ่งที่มีน้ำหนักกดทับถั่วงอก ถ้าไม่ต้องการให้ถั่วงอกมีสีเขียวก่อนเก็บถั่วจากถังต้องรดด้วยน้ำเย็นจัด ๆ และอย่าให้โดนแสงแดดโดยตรง

สำหรับท่านที่สนใจเครื่องเพาะถั่วงอกอนามัยอัตโนมัติชนิดครอบครัวสามารถติดต่อไปได้ที่ รศ.มนตรี  ค้ำชู ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หรือโทรศัพท์ (02) 910-9445,585-1083, 585-7342