เงาะโรงเรียน

(Rambutan)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Naphelium lappaceum L.
ชื่อวงศ์ SAPINDACEAE
ชื่ออื่น เงาะนาสาร ลิ้นจี่ขน
ถิ่นกำเนิด สุราษฎร์ธานี
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 4-10 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-8 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมแผ่กว้าง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา ค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นสะเก็ดละเอียด


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แกนกลางใบ ประกอบยาว 12-18 ซม. มีใบย่อย 3 คู่ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกัน เล็กน้อย รูปไข่กลับ กว้าง 2-8 ซม. ยาว 5-15 ซม. ปลายใบมีติ่งแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้าง เหนียวและแข็ง ย่นเป็นลอน สีเขียวเข้ม เกลี้ยง ผิวใบด้านล่างมีขนอ่อนๆ ที่เส้นแขนงใบ ใบอ่อนสีเขียวอมเหลือง
ดอก สีเหลือง อมเขียว ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 10-30 ซม. ดอกมีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ สีเขียวอ่อน กลีบดอก 4 กลีบ มีทั้งดอกแยกเพศร่วมต้นและดอกแยกเพศแยกต้น ดอกเพศผู้มีขนาดเล็กและมีจำนวนมากกว่าดอกเพศเมีย ออกดอก เดือน มี.ค.-พ.ค.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมหรือรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 ซม. มีขนบนเปลือกยาว 0.5-1 ซม. สีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นโคนสีแดง ปลายขนสีเขียว เปลือกผลค่อนข้างบาง เนื้อใสอ่อนนุ่มสีขาว ไม่ติดเมล็ด เมล็ดรูปไข่ค่อนข้างแบน สีน้ำตาลอ่อน ติดผลเดือน เม.ย.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ทาบกิ่งหรือติดตา
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงทั่วไป โดยเฉพาะภาคใต้ตอนบน
การใช้ประโยชน์ รับประทานผลสดและแปรรูป เมล็ดใช้ในการ ผลิตขี้ผึ้ง ลักษณะคล้ายแท่งเนยจากลูกโกโก้ซึ่งก็รับประทานได้บางครั้ง ทำสบู่ เทียนไข
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร บางประเทศใช้เงาะเป็นยาพื้นบ้าน เช่น ผล ห้ามเลือด กำจัดพยาธิ รากสกัดตัวยารักษาไข้ เปลือกลำต้น เป็นยาทารักษาโรคลิ้น ใบ ประคบแก้ปวดศีรษะ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย