เจตมูลเพลิงมีสรรพคุณดังนี้

เจตมูลเพลิงขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago zeylanica Linn.
ชื่ออื่นๆ ปิดปิวขาว (เหนือ) ตอชูวา ตั้งชู้ฮ้วย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) แปะฮวยตัง(แต้จิ๋ว) ป๋ายฮัวตาน (จีนกลาง)
ชื่ออังกฤษ Ceylon Leadwort, White Leadwort.
ลักษณะ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบเดี่ยวรูปร่างขนาดของใบเหมือนเจตมูลเพลิงแดง แต่สีของใบจะเขียวอ่อนกว่าเจตมูลเพลิงแดงเล็กน้อย ใบอ่อนก้านใบไม่เป็นสีแดง เป็นข้อแตกต่างของเจตมูลเพลิงทั้งสองชนิดนี้ ดอกออกเป็นช่อเช่นเดียวกับเจตมูลเพลิงแดงทุกอย่าง แต่สีของดอกย่อยเป็นสีขาว ผล เป็นผลชนิดแห้ง แตกได้
ส่วนที่ใช้ ราก
สารสำคัญ Plumbagin, chloroplumbagin, sistosterol, ฯลฯ
ประโยชน์ทางยา ใช้เช่นเดียวกับรากเจตมูลเพลิงแดง แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า

เจตมูลเพลิงแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago indica Linn.
Syn.    P. rosea Linn.
ชื่ออื่นๆ ปิดปิวแดง (เหนือ) คุยวู่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ตั้งชู้โว้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ไฟใต้ดิน (ใต้) อุบะกูจ๊ะ (มาเลย์-ใต้)
ชื่ออังกฤษ Rose Coloured Leadwort, Fire Plant, Official Leadwort, Indian Leadwort.
ลักษณะ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 0.8-1.5 เมตร ใบเดี่ยว รูปไข่แกมวงรี กว้าง 3.5-4.5 ซ.ม. ยาว 6-8 ซ.ม. ผิวใบเป็นมัน ใบออกสลับกัน ใบอ่อนและก้านใบอ่อนๆ มีสีแดง ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง บานจากล่างไปบน ดอกย่อยมีสีแดงเป็นหลอดตอนปลายแผ่ออกห้าแฉก กลีบรองดอกเป็นหลอดสีเขียวมีขน โคนของขนมีต่อมสำหรับขับเมือกเหนียวๆ ออกมา ผล เป็นผลชนิดแห้ง แตกได้
ส่วนที่ใช้ ราก
สารสำคัญ เป็นสารพวก naphthaquinone ชื่อว่า plumbagin, α-naphthaquinone ฯลฯ
ประโยชน์ทางยา สาร plumbagin มีกลิ่นฉุนและมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อเมือก (mucous membrane) ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้ระคายเคือง เป็นผื่นแดงไหม้ ในฝรั่งเศสเคี้ยวระงับอาการปวดฟัน ไทยและมาเลเซียใช้เป็นยาบีบมดลูก มาเลเซียใช้เป็นยาทำให้แท้ง ไทยและอินเดียใช้เป็นยาช่วยย่อยและเจริญอาหาร ผสมในยาธาตุ และยังใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง เช่น กลากเกลื้อน
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ