เชียด

(Cinnamon)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum iners Reinw. ex Blume
ชื่อวงศ์ LAURACEAE
ชื่ออื่น กะเชียด กะพังหัน เคียด มหาปราบตัวผู้ อบเชยต้น
ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-8ม.ไม่ผลัดใบทรงพุ่มกลมทึบหรือรูปเจดีย์ต่ำ เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทาหรือสีนํ้าตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กบางๆ
ใบ ใบเดี่ยว ตรงข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนาน กว้าง
2.5-7.5 ซม. ยาว 7.5-25 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาและแข็งกรอบ สีเขียวสดเป็นมัน ผิวใบด้านล่างมีคราบนวลขาว ก้านใบยาว 0.5-0.6 ซม. ใบมีกลิ่นหอมอบเชย


ดอก สีเหลืองอ่อนหรือเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้ง ยาว 10-25 ซม. ดอกตูมทรงกลม กลีบรวมเรียง 2 ชั้นๆ ละ 3 กลีบ สีเขียวรูปช้อนสั้นๆ เกสรเพศผู้ 12 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.3-0.4 ซม. ออกดอกเดือน ม.ค.-เม.ย.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมรีหรือรูปไข่ กว้าง 0.5-0.8 ซม. ยาว 1-1.2 ซม. สีเขียวเข้ม เมื่อสุกสีนํ้าเงินเข้ม มีคราบสีขาว ฐาน รองรับผลเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 6 แฉก เมล็ดรูปไข่ สีนํ้าตาล ติดผลเดือน มี.ย.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบ
การใช้ประโยชน์ ในอดีตช่างทำครกสีข้าว (ครกสีข้าวใช้มือโยก) จะใช้เปลือกเชียดซึ่งมีเมือกมากหมักกับดินเหนียว ตำในครกให้ดินกับ เปลือกเชียดผสมกันเป็นเนื้อเดียว แล้วใช้อัดลงระหว่างร่องฟันของครกสีฯ เมื่อแห้งดินที่อัดไว้จะแข็งมากช่วยยึดให้ฟันของครกสีทนทานไม่โยกคลอน
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ราก แก้ไข้เปลือกต้นขับลม บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย แก้โรคหนองใน ขับนํ้าคาวปลา แก้ปวดศีรษะ บำรุงกำลัง แก้ลมวิงเวียน แก้บิด แก้ไข้สันนิบาต ใบ บำรุงกำลัง แก้จุกแน่น
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย