เตยทะเล


ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus odoratissimus L.f.
ชื่อวงศ์ PANDANACEAE
ชื่ออื่น ลำเจียก. การะเกด (กลาง) ปาแนะ (มลายู-นราธิวาส)
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่ม สูง 5-10 ม. แตกกิ่งก้าน คล้ายเป็นกอ มีราก ยึดเกาะลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน


ใบ เรียงเวียนรอบต้นเป็นสามแนว โคนใบเป็นกาบหุ้มรอบลำต้น แผ่นใบรูปใบดาบ ขอบใบสองข้างเกือบขนานกัน ปลายใบเรียวแหลมโค้ง รูปแซ่ใบกว้าง 4-8 ซม. ยาว 100-250 ซม. เมื่อตัดใบตามขวาง จะได้เป็น รูปตัว M ใบอ่อนปลายใบตรงแข็ง ใบแก่ปลายใบจะห้อยตกลงตั้งแต่กลางใบ ผิวใบด้านล่างสีขาวนวลเห็นได้ชัด ขอบใบและเส้นกลางใบด้านล่าง มีหนามแหลมแข็ง


ดอก ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้อยู่ตามง่ามใบ เป็นช่อ เชิงลด ยาว 30-60 ซม. มีก้านดอก มีใบประดับ ช่อดอกอายุสั้นดอกเหี่ยว อย่างรวดเร็วหลังจากบานเต็มที่ ดอกเพศเมียออกที่ปลายยอด ก้านช่อดอก ยาว 10-30 ซม. มีก้านดอกและใบประดับ ใบประดับล่างสุดคล้ายใบ ใบประดับบนสุดสั้นสีเหลืองอ่อนดอกอยู่ชิดติดกันเป็นก้อนเกือบกลม ถึงรูปรี
ผล ผลอ่อนมีสีขาวอมเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผลแก่จะเป็น สีส้มหรือแดง เมล็ดรูปกระสวย ออกดอกและผลตลอดปี
นิเวศวิทยา พบตามชายหาดใกล้ชายฝั่งทะเล
การใช้ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับไม้กำบังลมเพราะทนต่อลมแรง และอากาศแล้ง ใช้ใบสานเป็นเสื่อ และเครื่องใช้ประเภทจักสาน
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ดอก ช่วยบำรุงหัวใจและทำเครื่องหอม ราก ส่วนที่โผล่ขึ้นมาอยู่เหนือพื้นทรายใช้ขับปัสสาวะ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย