เตยหอม

สีจากสมุนไพร

สีที่ได้จากสมุนไพรอาจแบ่งได้เป็น 2 จำพวก คือ สีผสมอาหาร และสีย้อม สีย้อมเป็นสีที่ใช้ย้อมผ้าไหม ไหมพรม ฯลฯ สีทั้งสองจำพวกอาจได้จากพืช สัตว์ หรือเชื้อราบางชนิด สีที่ได้จากพืชอาจได้จากส่วนราก หัว ลำต้น ใบ ดอก ผล เปลือก หรือเมล็ด การแต่งสีอาหารโดยใช้สีสมุนไพร นอกจากจะช่วยประหยัดรายจ่ายแล้วยังปลอดภัยอีกด้วย ทั้งนี้เพราะสีจากธรรมชาติส่วนใหญ่ไม่มีพิษต่อร่างกาย ซึ่งต่างกับสีสังเคราะห์

สีผสมอาหารจากสมุนไพร

การแต่งอาหารให้มีสีสันสวยงามมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ตัวอย่างอาหารคาวที่นิยมแต่งสีได้แก่ แกงเหลือง แต่งสีเหลืองด้วยขมิ้น แกงเขียวหวานแต่งสีเขียวด้วยพริกชี้ฟ้าเขียว เย็นตาโฟแต่งสีแดงด้วยซ้อสมะเขือเทศ เป็นต้น ส่วนอาหารหวานที่นิยมแต่งสี ได้แก่ ขนมขี้หนู วุ้นกะทิ ตะโก้ ลอดช่อง สลิ่ม ขนมนํ้าดอกไม้ ขนมถ้วยฟู มักนิยมแต่งสีเขียวด้วยใบเตย แต่งสีม่วงด้วยดอกอัญชัน และแต่งสีเหลืองด้วยลูกตาลสุกเป็นต้น ในต่างประเทศนิยมแต่งสีเนยให้มีสีเหลืองด้วยสีจากหัวแครอท แต่งอาหารให้มีสีแดงโดยใช้หัวผักกาดแดง (Beet root) การแต่งสีอาหารจะช่วยให้อาหารดูสวยงามน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น สมุนไพรที่นิยมใช้แต่งสีอาหาร ได้แก่

สีจากเหง้า เช่น ขมิ้น
สีจากราก เช่น แครอท
สีจากใบ เช่น เตย ย่านาง พริก
สีจากดอก เช่น อัญชัน โสน ดอกดิน
สีจากผล เช่น พริก ลูกตาลสุก
สีจากเมล็ด เช่น คำแสด
สีจากแก่น เช่น ฝาง
สีจากธัญญพืช เช่น ข้าวเหนียวดำ
สีจากเชื้อรา เช่น อังคั่ก
สีจากสัตว์ เช่น ครั่ง

ฯลฯ

สมุนไพรแต่งสีเขียว

ใบเตย

เตยหอม

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ปาแนะวองิง

ชื่ออังกฤษ –

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus amaryllifolius Roxb.

วงศ์ Pandanaceae

เตยหอมเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่ขึ้นเป็นกอ ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ ใกล้นํ้า เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียอาคเนย์ ใบมีลักษณะยาวเรียวคล้ายหอก ปลายใบแหลม มีหนามตามขอบใบ ใบมีกลิ่นหอม ใช้แต่งกลิ่นและแต่งสี ให้อาหารมีสีเขียว

ส่วนที่ใช้เตรียมสี ใบสด

สารสำคัญ

เมื่อนำใบเตยมากลั่นด้วยไอนํ้าจะได้สารหอม ซึ่งประกอบด้วยสารไลนาลิลอะซีเตท   (linalylacetate), เบนซิลอะซีเตท (benzyl acetate), ไลนาลูออล (linalool) และเจอรานิออล (geraniol) เมื่อนำใบเตยมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ จะได้สารหอมคูมาริน (coumarin) และเอททิลวานิลลิน (ethyl vanillin) สารสีเขียวในใบเตยเป็นสารจำพวก คลอโรฟิลล์ (chlorophyll)

เตยหอม

ประโยชน์

1. ใบเตยสดใช้แต่งสีเขียว และแต่งกลิ่นอาหาร โดยเฉพาะขนมหวาน เช่น สลิ่ม ลอดช่อง ขนมเปียกปูน วุ้นกะทิ ฯลฯ นอกจากนี้ยังใช้แต่งกลิ่นข้าวมัน และใช้เตรียมน้ำใบเตยซึ่งเป็นเครื่องดื่มอีกด้วย

2. ในตำรายาไทยใช้ใบเตยสดเป็นยาบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น

วิธีเตรียมสีเซียวจากใบเตย

ใช้ใบเตยสดที่ค่อนข้างแก่ล้างให้สะอาด นำมาหั่นตามขวาง โขลกให้แหลก เติมนํ้าเล็กน้อย กรองผ่านผ้าขาวบาง จะได้นํ้าสีเขียวและมีกลิ่นหอม ใช้ผสมลงในแป้งทำสลิ่มหรือลอดช่องที่กวนเกือบจะได้ที่ ไม่ควรใช้ความ ร้อนสูง เพราะสีเขียวจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเหลือง