เบญจมาศ:ไม้ดอกยอดนิยมปลูกได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

เบญจมาศที่นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกมี 6 พันธุ์ ได้แก่

 

1.  พันธุ์ขาวเมืองตาก ให้ดอกสีขาว บานในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น เป็นพันธุ์ที่ต้องการวันสั้น ไม่ทนต่อสภาพการขนส่ง

2.  พันธุ์ขาวการะเกด หรือขาวตลิ่งชัน ให้ดอกสีขาว บานในช่วงฤดูฝน

3.  พันธุ์เหลืองเขี้ยว ให้ดอกสีเหลืองสด บานในช่วงฤดูฝน ต้นโตเต็มที่สูงประมาณ 2-3 ฟุต ทรงต้นทึบ ให้ดอกใหญ่ประมาณ 2.5-3 นิ้ว กลีบดอกด้านนอกสุดจะโค้งเข้าไปใจกลางของดอกคล้ายเขี้ยว

4.  พันธุ์เหลืองไข่ ให้ดอกสีเหลืองนวล ต้นโตเต็มที่สูงประมาณ 2-2.5 ฟุต ออกดอกตลอดปี ดอกโตเต็มที่ประมาณ 3-4 นิ้ว

5.  พันธุ์เหลืองตาก ให้ดอกกลมสีเหลืองเข้ม ต้องการวันสั้น กลีบดอกจะบานเรื่อย ๆ ออกดอกเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม ทนต่อสภาพการขนส่งได้ดี

6.  พันธุ์เหลืองทอง ให้ดอกสีเหลืองเข้มขนาดเล็กประมาณ 2 นิ้ว หากอากาศหนาวมาก ๆ ดอกจะออกสีแดง นิยมปลูกเป็นช่อโดยไม่ปลิดดอกข้างทิ้ง

การขยายพันธุ์

เบญจมาศขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด แยกหน่อ ต่อกิ่ง ปักชำ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่ที่นิยมมีสองวิธีคือ การปักชำและการแยกหน่อ

วิธีการปักชำจะใช้ในกรณีที่ต้นเบญจมาศไม่สามารถแตกหน่อได้ การปักชำเบญจมาศนิยมใช้ส่วนยอดของกิ่ง โดยเลือกกิ่งที่มีตาใบมากกว่าตายอดหรือกิ่งที่อยู่ด้านล่างหรือโคนของพุ่มต้นซึ่งจะทำให้งอกรากง่ายกว่าส่วนอื่น ความยาวของกิ่งชำควรยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ตัดเป็นรูปปกาฉลามแล้วให้ปลิดใบล่างออกทิ้ง เพื่อป้องกันการเกิดใบเน่าและเกิดโรคตามมา ก่อนนำกิ่งไปปักชำให้นำโคนกิ่งไปจุ่มกับน้ำสกัดชีวภาพสักครู่แล้วผึ่งให้แห้ง เพื่อช่วยให้รากงอกเร็วและมีความแข็งแรงขึ้น

วัสดุที่ใช้ในการปักชำ อาจใช้ทรายหยาบผสมขี้เถ้าแกลบ หรือทรายหยาบผสมขุยมะพร้าวอย่างละ 1 ส่วน วางไว้ในที่ร่ม และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ สำหรับระยะเวลาในการปักชำขึ้นอยู่กับแต่ละพันธุ์แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 10-20 วัน

วิธีการแยกหน่อ

สำหรับเบญจมาศบางพันธุ์โดยเฉพาะพันธุ์ที่มาจากประเทศญี่ปุ่นมักจะแตกหน่อได้เองตามธรรมชาติ แต่ไม่ควรปล่อยให้หน่อนั้นเจริญเติบโตในแปลงเดิม ควรนำไปปลูกในแปลงใหม่จะได้ดอกที่มีคุณภาพดีกว่า และการขยายพันธุ์เบญจมาศด้วยวิธีนี้จะทำให้ต้นแข็งแรงเจริญเติบโตได้ดีกว่าวิธีการปักชำ โดยเฉลี่ยเบญจมาศหนึ่งต้นจะสามารถแตกหน่อพร้อมมีรากติดอยู่ด้วยประมาณ 10 หน่อ

การเตรียมดินและแปลงปลูก

ก่อนปลูกควรมีการเตรียมดินหรือปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ มีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโต โดยขุดดินให้ลึกประมาณ 1 ฟุต แล้วตากดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ย่อยดินให้ละเอียดใส่อินทรีย์วัตถุที่สลายตัวแล้วอย่างเช่น เศษฟาง เปลือกถั่วลิสง ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยพืชสด เพื่อให้ดินมีความร่วนซุย สามารถเก็บความชื้นและมีการระบายน้ำดี

แปลงที่ใช้ปลูกเบญจมาศอาจใช้วิธียกร่องแบบภาคกลาง หรือยกร่องเตี้ย ๆ แล้วทำขอบแปลงให้สูงกว่าระดับแปลงเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลออกจากแปลงเวลารดน้ำ ก่อนปลูกควรรดน้ำดินให้ชุ่มทิ้งไว้ 1 วันก่อนปลูก การปลูกให้ทำในตอนเย็นจะช่วยให้เบญจมาศตั้งตัวได้ดีกว่าปลูกในตอนเช้า ก่อนปลูกควรคัดขนาดกิ่งหรือหน่อให้มีขนาดเท่า ๆ กันปลูกในแปลงเดียวกัน เพื่อให้สามารถตัดดอกได้ในเวลาใกล้เคียงกัน

หากต้องการได้จำนวนดอกมากหรือปลูกแบบตัดเป็นช่อ ให้ใช้ระยะปลูกระหว่างต้นและแถว 6×6 นิ้ว หรือ 8×8 นิ้ว แต่ถ้าต้องการได้ดอกใหญ่หรือตัดแบบดอกเดี่ยว ซึ่งต้องมีการเด็ดยอดออกบ้าง ให้ใช้ระยะปลูกระหว่างต้นและแถว 4×4 นิ้ว หลังจากกลบดินเรียบร้อยแล้ว ควรคลุมแปลงปลูกและรดน้ำให้ชุ่ม การคลุมแปลงจะช่วยรักษาความชื้นรักษาอุณหภูมิและช่วยป้องกันวัชพืช วัสดุที่ใช้คลุมแปลง เช่น ฟางข้าว เศษหญ้าแห้ง เปลือกถั่ว หรือวัสดุอื่นที่มี

การให้น้ำ

ในช่วงที่หน่อหรือกิ่งชำยังตั้งตัวไม่ได้หรือในช่วง 7-10 วันแรกของการปลูกควรให้น้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังจากนั้นให้รดน้ำวันละครั้งในช่วงเช้า ซึ่งจะทำให้เบญจมาศนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าในช่วงเย็น นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคเชื้อราที่เกิดจากความชื้นได้อีกด้วย การให้น้ำควรให้น้ำมากพอที่จะซึมลงสู่ราก และเพื่อป้องกันการสะสมของเกลือที่จะทำอันตรายต่อต้นเบญจมาศเป็นอย่างมากด้วย

การให้ปุ๋ย

ในระยะ 2 เดือนแรกของการปลูกเบญจมาศให้ใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของลำต้น กิ่งและใบ ในระยะนี้หากเบญจมาศขาดไนโตรเจนจะโตช้า ใบมีสีเหลือง กิ่งก้านยาว เล็กและอ่อนแอ หลังจาก 2 เดือนแล้วควรให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงเพื่อเร่งดอก หลังใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรรดน้ำตามทันที หรือฉีดพ่นด้วยน้ำหวานหมักจากผลไม้ใช้ฉีดพ่นแบบฮอร์โมนพืช ให้ผลในการบำรุงดีมากโดยเฉพาะในช่วงที่พืชกำลังออกดอก

การเด็ดยอด

การปลูกเบญจมาศแบบเก็บเป็นช่อ ต้องหมั่นเด็ดยอดเพื่อให้ต้นแตกกิ่งข้างเพิ่มขึ้นเป็นผลให้ได้จำนวนดอกเพิ่มตามมา ดอกที่ได้จะมีคุณภาพและบานพร้อม ๆ กัน การเด็ดยอดมักทำทันทีที่ต้นแม่ตั้งตัวได้ดีแล้ว วิธีการเด็ดยอดที่นิยมที่สุดคือเด็ดเอาส่วนยอดออกประมาณ 0.5-1 นิ้ว วิธีนี้จะทำให้ตาข้างแตกได้เร็วกว่าวิธีอื่น ภายหลังเด็ดยอดประมาณ 1 สัปดาห์ จะมีตาดอกด้านข้างเจริญขึ้นมา 5-6 กิ่ง หรือมากกว่านั้น แต่การพิจารณาว่าจะให้มีกิ่งดอกมากน้อยเพียงใดควรคำนึงถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นแม่เป็นสำคัญ เพราะหากมีจำนวนกิ่งมากเกินไปดอกที่ได้อาจไม่มีคุณภาพในภายหลัง

การปลิดดอกข้าง

การปลูกเบญจมาศแบบเก็บดอกเดี่ยว ควรมีการปลิดดอกที่ล้อมรอบยอดดอกและดอกที่แตกออกมาตามซอกใบของแต่ละกิ่งออกให้หมด คงไว้เฉพาะดอกยอดเพียงดอกเดียวต่อหนึ่งกิ่ง ซึ่งจะทำให้ดอกมีขนาดใหญ่ มีก้านดอกยาว และมีขนาดสม่ำเสมอ ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือให้รอจนกระทั่งดอกที่ไม่ต้องการทีขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพดหรือถั่วเขียว ถ้าทำก่อนหน้านี้จะทำให้ปลิดออกยาก เพราะดอกยังมีขนาดเล็กเกินไป และเสียเวลาหลายครั้ง เพราะดอกจะทะยอยออกมาเรื่อย ๆ แต่ถ้าปล่อยให้นานกว่านี้ดอกจะเหนียวทำให้ปลิดออกยาก

วิธีการปลิดที่ถูกต้องคือ ให้หงายมือขึ้นสองง่ามมือระหว่างนิ้วชี้และนิ้วกลางยึดกิ่งที่ต้องการเด็ดยอดออกให้แน่นจากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือกดพับลงบนดอกที่ต้องการปลิดออกในลักษณะเข้าหาตัวเราคอดอกจะหักทันที

การตัดดอก

การตัดดอกเบญจมาศชนิดดอกเดี่ยว ให้ตัดขณะที่ดอกยังบานไม่หมด หรือเหลือส่วนตรงกลางดอกอยู่ประมาณ 1.2 ซม. ส่วนเบญจมาศชนิดที่ต้องการตัดเป็นช่อ ควรตัดเมื่อส่วนดอกด้านนอกบานเต็มที่แต่ดอกชั้นในยังไม่บานการตัดควรตัดที่โคนกิ่งห่างจากพื้นดินประมาณ 10 ซม. ถ้าต่ำกว่านี้ก้านดอกจะแข็งเกินไป ทำให้การดูดซึมน้ำไม่ดี มีอายุการใช้งานสั้น

โรค-แมลงและการป้องกันกำจัด

โรคเบญจมาศ ที่สำคัญและพบมากได้แก่ โรคใบจุด โรคใบแห้ง โรคกลีบดอกเป็นจุด

1.  โรคใบจุด เกิดจากเชื้อรา อาการเริ่มแรกจะมีจุดสีน้ำตาลเข้มและมีสีเหลืองล้อมรอบ มักเกิดกับใบแก่มากกว่าใบอ่อน ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม หรือช่วงที่มีน้ำค้างมาก

การป้องกัน

ตัดทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้ง และอย่าปลูกต้นเบญจมาศชิดกันเกินไป และไม่ควรให้น้ำในตอนเย็น เพราะจะทำให้เชื้อราแพร่กระจานหรือเจริญเติบโตได้ง่าย

2.  โรคใบแห้ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการของโรคในระยะแรกยอดจะเหี่ยวในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนจะปกติ จากนั้น 3-4 วัน ยอดจะเน่าและแห้งเป็นสีน้ำตาล หากนำต้นไปผ่าออกดูจะพบสีน้ำตาลแดงอยู่บริเวณส่วนกลางของลำต้น

การป้องกัน

ตัดทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้งและนำไปเผา

3.  โรคกลีบดอกเป็นจุด

เกิดจากเชื้อรา มักเข้าทำลายต้นที่อวบสมบูรณ์มาก ๆ อาการเริ่มจากกลีบด้านนอกสุดเป็นจุดหรือทางสีน้ำตาล แล้วลุกลามไปยังกลีบชั้นใน นอกจากนี้ยังสามารถเกิดได้กับส่วนใบและกิ่งก้านอีกด้วย

แมลงศัตรูเบญจมาศ

แมลงศัตรูเบญจมาศที่สำคัญ คือ เพลี้ยไฟ และหนอนชอนใบ

การป้องกันกำจัด

วิธีที่ดีที่สุดคือดูแลรักษาต้นเบญจมาศให้เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง หมั่นกำจัดวัชพืชทำความสะอาดต้น บำรุงปุ๋ย กำจัดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลาย หรือฉีดพ่นน้ำหมักสะเดาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม ข่า ฟ้าทะลายโจร พริกขี้หนู หรือน้ำหมักชีวภาพเพื่อขับไล่แมลงศัตรูพืชทุก ๆ สัปดาห์ ก่อนที่จะมีโรคแมลงรบกวนโดยควรทำในช่วงเช้าหรือหลังฝนตกหนัก และควรมีการปลูกพืชหมุนเวียนบำรุงดินชนิดอื่น เพื่อตัดวงจรของโรคแมลง และให้มีการใช้ประโยชน์จากดินอย่างเต็มที่ เพราะพืชแต่ละชนิดมีรากลึกและต้องการธาตุอาหารแตกต่างกัน