การปลูกเบญจมาศ

เบญจมาศ

เบญจมาศแปลกกว่าไม้ดอกอื่น ๆ ตรงที่มีดอกในสภาพวันสั้น คือจำนวนชั่วโมงแสงมีอิทธิพล บังคับการเกิดดอกเบญจมาศที่ปลูกในแปลงกลางแจ้งของประเทศเขตหนาวจะออกดอกในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งมีช่วงวันสั้นลง แต่ก่อนนี้ไม่มีใครทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1920 Gamer และ Allard ได้พบว่าชั่วโมงแสงต่อวันมากน้อยต่างกันที่ทำให้เกิดวันสั้นหรือวันยาวมีผลต่อการเติบโตของพืชและการออกดอก จึงมีผู้นำหลักการนี้มาบังคับให้เบญจมาศซึ่งออกดอกได้ตามธรรมชาติเฉพาะในฤดูใบไม้ร่วงสามารถออกดอกได้ตลอดปีตามต้องการ

เบญจมาศมีกำเนิดในประเทศจีนเมื่อ 2000 ปีมาแล้ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chrysanthemum morifolium L.H. Bailey สันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจาก Chrysanthemum indicum ซึ่งเป็นไม้ป่าในจีนและญี่ปุ่น Linnaeus เป็นผู้ตั้งชื่อในปี ค.ศ. 1753 ว่า Chrysanthemum ซึ่งมาจากภาษากรีกคือ Chrysos แปลว่า ทอง และ Anthemon แปลว่า ดอกไม้ ที่ได้ชื่อนี้คงเป็นเพราะเบญจมาศในสมัยนั้น มีดอกสีเหลือง

ดอกเบญจมาศ

เบญจมาศเป็นพืชในวงศ์ Compositae ดอกไม้ของพืชในวงศ์นี้จะมีดอกย่อย 2 ชนิดคือ ดอกชั้นนอกเรียกว่า ray floret เป็นดอกตัวเมียไม่มีเกสรตัวผู้ และดอกชั้นใน (disc floret) เรียงกัน รอบใจกลางดอก ดอกชั้นในเป็นดอกสมบูรณ์มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย โครงสร้างของดอกเบญจมาศประกอบด้วยพันธุกรรมที่ซับซ้อนมาก ทำให้มีพันธุ์ต่างๆ มากมาย การแบ่งกลุ่มเบญจมาศจึงอาศัย ลักษณะหลายอย่างเช่น

1. จัดตามรูปร่างของกลีบดอก

2. จัดตามวิธีปลูกและการจำหน่ายในการค้า

3. จัดตามระยะเวลาที่ตอบสนองต่อการให้วันสั้น

การจัดตามลักษณะดอก แบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ ดังนี้

1. single ปกติมีกลีบชั้นนอกชั้นเดียว หรืออาจจะมีถึง 2 ชั้น กลีบชั้นในณั้กว่ามาก

2. anemones คล้ายพวกแรก แต่กลีบชั้นในยาวกว่า บางครั้งกลีบชั้นในมีสีต่างไปจากกลีบชั้นนอก

3. pompons กลีบชั้นนอกสั้น กว้าง และงอเข้าหาใจกลางดอก ทำให้ได้ดอกกลม กลีบชั้นในสั้นซ่อนอยู่ในใจกลางดอก มีขนาดดอกเล็ก กลาง และใหญ่

4. decorative คล้าย pompon แต่มีกลีบชั้นนอก 2 ชั้น ชั้นนอกยาวกว่าชั้นใน ทำให้ดอกดูไม่กลมเท่า

5. Large flowered คือพวกดอกใหญ่ ดอกที่บานแล้วมีขนาดดอกใหญ่กว่า 4 นิ้ว จุดประสงค์ของการผสมพันธุ์คือเพื่อโชว์ดอก การเลี้ยงดูมักเด็ดดอกข้างให้เหลือเพียง 1 ดอก เวลาทำเป็นการค้าเรียกว่าพวก standard พวกนี้กลีบชั้นในสั้นซ่อนอยู่ข้างใน กลีบชั้นนอกมีจำนวนมาก แบ่งย่อยเป็นแบบต่างๆ อีกดังนี้

ก. incurved กลีบชั้นนอกโค้งขึ้น ทำให้ดอกกลมเป็นก้อน

ข. reflexed ปลายกลีบชั้นนอกโค้งลง

ค. tubular กลีบชั้นนอกเป็นหลอด พวกนี้ยังแบ่งย่อยออกได้อีกคือ

1. spider กลีบชั้นนอกเป็นหลอดยาว ทิ้งตัวลง

2. fuji กลีบชั้นนอกสั้นกว่า แข็งกว่า

3. quill กลีบชั้นนอกเป็นหลอด ไม่ยาวนัก และไม่ทิ้งลงเท่า 2 พวกแรก กลีบดอกคล้ายขนนกแต่ไม่แบนตรงปลาย

4. spoon คล้าย quill แต่ปลายกลีบชั้นนอกเปิดและแบนคล้ายช้อน

ง. Miscellaneous novelty type เป็นพวกที่มีรูปร่างอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว และไม่มีความสำคัญทางการค้า

การจัดตามวิธีปลูกและจำหน่ายเป็นการค้า

1. พวกที่ปลูกเป็นไม้ตัดดอก

1.1 พวกที่เลี้ยงให้เหลือ 1 ดอกต่อ 1 ต้น

1.1.1 Exhibition เป็นพวกดอกใหญ่มาก เส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ 1 ฟุต ปลูกเพื่อโชว์ เลี้ยงเพียง 1 ดอกต่อ 1 ต้น

1.1.2 Standard ดอกเล็กกว่าพวกแรก โดยเด็ดยอดให้มี 3-4 กิ่งต่อต้น แล้วเด็ดดอกข้างให้เหลือ 1 ดอกต่อ 1 กิ่ง

1.1.3 Disbud มีหลายกิ่งต่อต้น (มากกว่า 3-4 กิ่ง) แต่ละกิ่งเด็ดดอกข้างให้เหลือ 1 ดอก ดอกมีขนาดเล็กกว่า คือมีดตั้งแต่ 2-4 นิ้ว ใช้เรียกพวก pompon, single, decorative และ anemone

2. “Spray Chrysanthemum คือพวกที่มีหลายดอกต่อ 1 กิ่งและมี 6-10 กิ่งต่อต้น ไม่มีการเด็ดดอกข้างเรียกว่า เบญจมาศดอกช่อ

พวกที่ปลูกในกระถางขนาด 6 นิ้ว บางทีก็ใช้ 3-5 นิ้ว ปลูกเพื่อให้ผู้ซื้อ ซื้อไปตั้งในบ้านเรือน พอดอกบานหมดก็ทิ้งไป ใช้พวก standard, pompon และ decoratives ซึ่งแตกกิ่งก้านได้ดี ปลูกกระถางละ 3-5 ต้น เพื่อให้ได้ดอกพราวเต็มกระถาง เลือกพันธุ์ที่ไม่สูงมากนัก หรือบังคับโดยฉีดพ่นด้วยสารเคมีที่ทำให้ปล้องสั้นเพื่อให้ใต้ต้นเตี้ยเหมาะกับกระถาง

การจัดการตามระยะเวลาที่ตอบสนองต่อการให้วันสั้น

เนื่องจากการให้วันสั้นมีผลต่อการออกดอกของเบญจมาศ เราจึงสามารถบังคับให้เบญจมาศออกดอกได้ตามต้องการ ด้วยการคลุมแปลงปลูกด้วยผ้าดำเพื่อให้วันสั้นลง เบญจมาศมีการตอบสนองต่อการคลุมผ้าดำให้วันสั้นต่างกันออกไป คือต้องการคลุมผ้าดำ 6-15 อาทิตย์แล้วแต่พันธุ์ จึงจะให้ดอก

พันธุ์ที่เป็น 7 weeks group ก็คือ พันธุ์ที่ต้องการให้วันสั้น หลังจากเติบโตทางลำต้นแล้ว เป็นระยะเวลา 7 อาทิตย์ก่อนออกดอก ปัจจุบันพวกที่ต้องการวันสั้นน้อยอาทิตย์กว่าจะเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำกว่าพวกพันธุ์หนักซึ่งต้องการวันสั้น 12-15 อาทิตย์

การขยายพันธุ

เบญจมาศอาจขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การแบ่งกอ การเสียบกิ่ง การปักชำ ใบที่มีตาติด และการชำกิ่งยอด

การใช้เมล็ด ใช้เฉพาะในโครงการผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่เท่านั้น

การแบ่งกอ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และมักใช้เมื่อต้องการจำนวนน้อยต้น

การเสียบกิ่ง ใช้เมื่อต้องการโชว์หรือเมื่อต้องการศึกษาเรื่องการถ่ายทอดเชื้อไวรัส

การปักชำใบที่มีตาติดมาด้วย ใช้เมื่อต้นแม่มีเป็นจำนวนจำกัด และต้องการขยายพันธุ์ให้ได้มากต้น เช่น เมื่อเกิดการผ่าเหล่า ได้ลักษณะดีเด่น วิธีนี้กินเวลานานกว่าวิธีปักชำยอด 2-3 อาทิตย์

การปักชำกิ่งยอด เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เพราะเบญจมาศเป็นพืชที่ออกรากง่าย แต่ต้องการความเอาใจใส่ เพื่อให้ได้ผลดีตามต้องการ

การเอาใจใส่ต้นแม่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้ากิ่งชำได้จากต้นแม่ที่ผอมและอ่อนแอ หรือติดโรค จะไม่มีวันได้รับผลสำเร็จ

กิ่งชำมีขนาด 3-4 นิ้ว ใช้มือหักตรงเหนือข้อเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ติดใบคู่ล่าง ถ้ามีใบติดมาจะจมในวัสดุปักชำทำให้เน่าง่าย ไม่ต้องตัดใบหรือลดพื้นที่ใบ การลดพื้นที่ใบจะทำให้ออกรากช้าลง การขยายพันธุ์เป็นการค้า นิยมใช้ IBA ช่วยเร่งให้ออกรากได้มากและสม่ำเสมอ

วัสดุปักชำเบญจมาศควรเก็บความชื้นได้ดี ระบายน้ำดี ร่วนและโปร่ง เช่น ทราย: ขึ้เถ้าแกลบ ในอัตราส่วน 1: 1 ในต่างประเทศใช้พีทกับทรายในอัตราส่วน 1:1 ก็ใช้ได้ผลดี ปักชำกิ่งเบญจมาศห่างกัน 1 นิ้ว ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 2 นิ้ว ปักชำลึก ½ -1 นิ้ว เมื่อออกรากยาวประมาณครึ่งนิ้วก็เอาออกไปปลูกในแปลงได้ ระยะเวลาในการ

ออกรากประมาณ 1-2 อาทิตย์แล้วแต่พันธุ์และฤดูกาลที่ปลูก ถ้าปล่อยให้รากยาวกว่านี้จะขาดง่ายเมื่อย้ายออกไปปลูกในแปลง

การปลูกและระยะปลูก

แปลงปลูกเบญจมาศควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร ระยะปลูกต้องคำนึงถึงว่าจะปลูกให้ได้ดอกเดียวต่อต้น หรือจะเด็ดยอดให้ได้หลายดอกต่อต้น ซึ่งในกรณีหลังนี้ต้องใช้ระยะห่างมากกว่า การเด็ดยอดจะทำให้ได้ 3-4 ดอกต่อต้น ผู้ปลูกมักกะระยะให้ได้ 1 ดอกต่อต้นปลูกในเนื้อที่ 20 ตารางนิ้ว คือ 4X5 ตารางนิ้ว ถ้าเด็ดยอดให้ได้ 3 ดอกต่อต้น ก็ใช้ระยะ 6 X 10 ตารางนิ้ว เป็นเนื้อที่ 60 ตารางนิ้ว

การย้ายกิ่งตัดชำออกไปปลูกในแปลงไม่ควรปลูกลึก ควรปลูกตื้นเพียง 1 นิ้ว เท่ากับเมื่อต้นเคยอยู่ในวัสดุปักชำ การปลูกลึกอาจทำให้การยึดลำตันดีขึ้นแตกจะเป็นโรคได้ง่าย เมื่อปลูกแล้วกดดินรอบต้นให้กระชับ แต่ไม่ต้องแน่นเกินไป ถ้าย้ายปลูกในฤดูร้อนหรือเมื่อมีแสงแดดจัด ควรรดนํ้าบ่อยๆ ในระยะ 2-3 วันแรกเพื่อไม่ให้ต้นพืชเหี่ยว

การเด็ดยอดและการเด็ดดอกข้าง

การเด็ดยอดจะทำให้ได้ดอกแรกช้าไปประมาณ 2 อาทิตย์แต่เพิ่มจำนวนดอกที่ได้ การเด็ดยอดทำได้ 3 วิธีคือ

1. การเด็ดยอดยาว 2 นิ้ว จะได้กิ่งข้างแตกช้า และได้ดอกช้าด้วย

2. การเด็ดยอดที่เพิ่งเริ่มแตกยาวครึ่งนิ้วถึงหนึ่งนิ้ว

3. การเด็ดปุ่มยอดตั้งแต่ใบยังไม่คลี่ วิธีนี้ได้ผลดีเพราะทำให้แตกกิ่งข้างเร็วและเหลือใบติดกับต้นไว้มากแต่ทำได้ยากกว่า และถ้าเด็ดจุดเจริญออกไม่หมดจะทำให้การเจริญเติบโตไม่เป็นปกติ และต้องเด็ดใหม่อีกครั้งทำให้เสียเวลา

การเด็ดดอกข้างมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้ขนาดดอกใหญ่ขึ้น ถ้าปลูกให้ได้ 1 ดอกต่อต้นต้องเด็ดดอกข้างออกให้หมดและเด็ดตั้งแต่ดอกข้างมีขนาดประมาณหัวไม้ขีดไฟ ถ้าปล่อยให้ดอกข้างโตมาก เมื่อเด็ดออกจะเกิดแผลใหญ่ สำหรับดอกช่อ (spray) ให้เด็ดดอกกลางออกให้เพื่อให้ดอกข้างเจริญเป็นดอกย่อยในก้านช่อ

จำนวนชั่วโมงแสงต่อวันที่มีผลต่อการออกดอก

Post รายงานไว้เมื่อ ค.ศ. 1948 ว่าถ้าจำนวนแสงต่อวันน้อยกว่า 14.5 ชั่วโมง คือกลางคืน มืดมากกว่า 9.5 ชั่วโมงจะทำให้เบญจมาศเกิดตาดอก และตาดอกจะพัฒนาขึ้นเป็นดอกที่สมบูรณ์ได้ ถ้าจำนวนแสงต่อวันน้อยลงอีกเป็น 13.5 ชั่วโมง หรือช่วงมืดยาวนานกว่า 10.5 ชั่วโมงนั้นเอง ในสภาพวันตามธรรมชาติ เบญจมาศจะเติบโตทางลำต้นคือต้นสูงขึ้น มีใบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อวันสั้นลง เช่นตอนต้นฤดูหนาว ต้นก็จะเกิดตาดอก

ดังนั้น ถ้าต้องการบังคับให้เบญจมาศมีดอกได้ตลอดปี ในฤดูกาลตามธรรมชาติที่มีวันยาว เช่น ฤดูร้อนและฤดูฝนก็ให้ปลูกเบญจมาศจนได้ต้นสูงตามต้องการ แล้วใช้ผ้าดำคลุมแปลงปลูกในช่วงตอนเย็นเพื่อทำให้วันสั้นลง เบญจมาศจะเกิดตาดอกและพัฒนาเป็นดอกต่อไป

ส่วนในฤดูหนาวที่มีช่วงวันสั้น ถ้าต้องการให้เบญจมาศเติบโตทางลำต้นเสียก่อน ก็ใช้วิธีติดตั้งหลอดไฟเป็นระยะๆ เหนือแปลงและเปิดไฟให้หลังจากพระอาทิตย์ตกเพื่อยืดความยาวของวัน จนกระทั่งต้นสูงตามต้องการจึงงดการให้ไฟให้ได้รับสภาพวันสั้นของฤดูหนาว เบญจมาศก็จะเกิดตาดอก

ในสภาพของเมืองไทยมีปัญหาที่ว่าถ้าปลูกในสภาพวันตามธรรมชาติ เช่น ปลูกปลายฤดูฝน กะจะให้ได้ดอกในฤดูหนาว ต้นจะเติบโตเพียงเล็กน้อย สภาพวันสั้นตามธรรมชาติในฤดูหนาวจะกระตุ้นให้เกิดตาดอก ทำให้ยังไม่ทันได้กิ่งก้านยาวก็ด่วนออกดอกเสียก่อนทำให้ได้ดอกที่มีก้านสั้น และดอกเล็กไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร การปลูกจึงต้องยืดชั่วโมงแสงให้ได้วันยาวโดยเปิดไฟให้ เมื่อต้นยืดพอสมควร จึงหยุดให้ไฟแล้วสภาพวันสั้นตามธรรมชาติจะทำให้เกิดตาดอก

สำหรับฤดูร้อน ถ้าปลูกในที่ราบ เช่น ในตัวเมืองหรือบริเวณใกล้เคียง ถ้าคลุมแปลงด้วยผ้าดำ ในช่วงเวลาเย็นเพื่อให้ได้วันสั้น อุณหภูมิในช่วงตอนบ่ายค่อนข้างสูงทำให้ต้นเบญจมาศถูกอบอยู่ใน ความร้อนใต้ผ้าดำเกิดหยดน้ำเป็นสาเหตุให้เกิดโรค การมีอุณหภูมิสูงทำให้บางพันธุ์ไม่เกิดตาดอกด้วย นอกจากนั้นอุณหภูมิสูงทำให้ดอกมีขนาดเล็ก ดอกสีอื่นนอกจากสีเหลืองและขาวจะมีสีซีดลง ทำให้ปลูกได้แต่สีเหลืองกับสีขาวเท่านั้น แม้แต่สีเหลืองหรือสีขาวบางพันธุ์ก็ปลูกได้ไมดีนัก เพราะเบญจมาศต้องการสภาพวันสั้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมด้วย การผลิตเบญจมาศสีต่าง ๆ ในฤดูร้อนจึงต้องทำในสภาพที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไปซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าในพื้นราบ

อุณหภูมิ

เบญจมาศพันธุ์ต่างๆ ในปัจจุบันนี้ได้รับการผสมพันธุ์ หรือปรับปรุงพันธุ์ในประเทศเขตหนาว เช่นอเมริกาหรือประเทศต่างๆ ในยุโรป การนำพันธุ์เหล่านั้นเข้ามาปลูก จำเป็นต้องมีการคัดเลือกพันธุ์ที่ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของแหล่งที่ปลูกด้วย สภาพแวดล้อมที่สำคัญมากสำหรับเบญจมาศคือชั่วโมงแสงต่อวันและอุณหภูมิ แม้ว่าเบญจมาศจะเป็นพืชที่ต้องการวันสั้นจึงจะออกดอก แต่อุณหภูมิก็มีผลต่อเวลาในการเกิดดอกด้วย การทดลองในสหรัฐอเมริกาพบว่าอุณหภูมิกลางคืน 15.6°ซ กับการควบคุมชั่วโมงแสงต่อวันจะทำให้การออกดอกของเบญจมาศตรงเวลา ถ้าอุณหภูมิกลางคืนผิดไปจากนี้จะกะเวลาให้เบญจมาศออกดอกตามต้องการได้ยาก อุณหภูมิกลางคืนช่วงที่กำลังจะเกิดดอกหรือในช่วงที่ให้วันสั้นเป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดคือต้องเป็น 15.6°ซ หรือประมาณ 16°ซ เท่านั้น และพันธุ์ต่าง ๆ จะตอบสนองต่ออุณหภูมิกลางคืนต่างกันดังนี้

1. พวกที่ออกดอกช้า ถ้าอุณหภูมิกลางคืนสูงหรือต่ำกว่า 15.6°ซ

2. พวกที่ออกดอกช้า ถ้าอุณหภูมิกลางคืนต่ำกว่า 15.6°ซ

3. พวกที่ไม่ออกดอก ถ้าอุณหภูมิกลางคืนสูงกว่า 15.6°ซ และจะออกดอกช้าถ้าอุณหภูมิกลางคืนต่ำกว่า 15.6°ซ

การปลูกและคัดเลือกพันธุ์เท่านั้นที่จะทำให้ทราบว่าพันธุ์ใดจะปลูกและให้ดอกได้ตามต้องการ

การให้น้ำ

การให้น้ำเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้การปลูกเบญจมาศเป็นผลสำเร็จ เพราะถ้าขาดน้ำก้านจะสั้น และดอกจะเล็กลง เบญจมาศเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากเพราะใบมีขนาดใหญ่ทำให้การคายน้ำสูง จึงต้อง การนํ้าไปชดเชยกับส่วนที่เสียไปในสภาพอากาศร้อน ควรรดนํ้าทุกวันเช้าและเย็น ถ้าไม่สะดวกก็รดนํ้าทุกเย็น

การให้ปุ๋ย

ควรใช้ปุ๋ย สูตร 5:7:4 ในอัตราส่วน 5 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 20 ตารางเมตร หว่านแล้วคลุกกับดินก่อนปลูก

เมื่อปลูกแล้วใช้ปุ๋ยยูเรีย 350 กรัมต่อพื้นที่ 20 ตารางเมตร เดือนละ 2 ครั้ง แล้วจึงให้ปุ๋ยสูตร 1:2:1 เช่น 15-30-15 คือ ให้ฟอสฟอรัสสูงขึ้นเดือนละสองครั้งไปจนดอกบาน

แมลงที่เป็นศัตรู

เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ หนอนกระทู้ และไรแดง

โรคของเบญจมาศ

โรคใบแห้ง อาการคือ ยอดเหี่ยวในเวลากลางวัน และฟื้นเป็นปกติในเวลากลางคืน เป็นเวลา 3-4 วัน ต่อมายอดจะเน่าแล้วแห้งเป็นสีน้ำตาล ถ้าผ่าลำต้นดูจะเห็นไส้กลางเป็นสีน้ำตาลแดง ถ้าอากาศร้อนและความชื้นสูงจะติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ให้ถอนต้นที่เป็นโรคทำลายเสียตั้งแต่เริ่มแสดงอาการ เพราะโรคนี้เกิดจากแบคทีเรียกำจัดได้ยาก

โรคบ้าใบ้ อาการคือ ลำต้นเตี้ย โคนต้นใหญ่ มีแขนงเล็กๆ แตกจากโคนต้นมากผิดปกติ ใบเรียวเล็กบิดเบี้ยวออกเป็นพุ่มตรงโคนต้น ไม่มีทางป้องกันนอกจากถอนทำลายเสีย

โรคใบจุด อาการใบด่างๆ มีจุดสีน้ำตาล ขนาดแผลใหญ่ ประมาณ 0.5-1.0 ชม. ตรงกลางแผลมีจุดเล็ก ๆ สีดำขึ้นกระจัดกระจายเห็นได้ชัดด้วยแว่นขยาย ใบที่มีแผลหลายแผลจะแห้งเน่าติดอยู่บนต้น

ป้องกันโดยฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อรา โดยฉีดเฉพาะใบแถวระดับดินให้มากที่สุดและอย่าปลูกชิดเกินไป