เพลี้ยไก่ฟ้ากระถินและการป้องกันกำจัด

มาลี  ชวนะพงศ์

กองกีฏและสัตววิทยา

กรมวิชาการเกษตร

บางเขน กรุงเทพฯ

กระถิน Leucaena leucocephala(Lam.)de Wit. เป็นพืชพื้นเมืองตระกูลถั่วของประเทศเม็กซิโก ปัจจุบันพบปลูกทั่วไปในแถบลาตินอเมริกา อาฟริกา หมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้ ออสเตรเลียและเอเซีย สำหรับประเทศไทยได้นำกระถินมาปลูกนานแล้ว เพราะเป็นพืชข้างรั้วที่คนไทยรู้จักดี ต่อมาได้นำกระถินยักษ์ L.Leucocephala var. glabrata มาปลูกเพื่อประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปไม้โตเร็ว เพื่ออนุรักษ์ดิน ให้ร่มเงา วัสดุเชื้อเพลิง และอาหารสัตว์

เนื่องจากกระถินเป็นพืชที่มีโปรตีนสูงประมาณ ๑๔℅อุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงนำมาผสมอาหารสัตว์ ๓-๓.๕℅ ในรูปกระถินป่น แหล่งปลูกกระถินที่สำคัญคือ กาญจนบุรี ลพบุรี นครปฐม สระบุรี และนครราชสีมา ในเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ ๕๐,๐๐๐ ไร่ ผลผลิตที่ต้องการประมาณ ๔-๕ หมื่นตันต่อปี โดยเกษตรกรตัดยอดกระถินซึ่งยาวประมาณ ๑-๑.๕๐ เมตร ทำกระถินป่นส่งโรงงานอาหารสัตว์ ๓-๔ ครั้งต่อปีมีรายได้เฉลี่ย ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ บาท/ไร่/ปี แต่เดิมการปลูกกระถินเพื่อใช้ผสมอาหารสัตว์ไม่เคยประสบปัญหาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช จนปลายปี ๒๕๒๙ พบเพลี้ยไก่ฟ้า ลงทำลายกระถิ่นอย่างรุนแรงและทำความเสียหายทุกท้องที่ปลูกกระถิน

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

เพลี้ยไก่ฟ้ากระถิน Heteropsylla cubana Crawford (Homoptera : Psyllidae) เป็นแมลงศัตรูกระถินในแถบคาริเบียนมานานแล้ว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดและใบอ่อนของกระถิน การระบาดจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อเกิดสภาวะแห้งแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานในระยะที่อากาศค่อนข้างเย็น หากการทำลายเกิดขึ้นในระยะที่กระถินกำลังแตกยอดใหม่ กระถินจะไม่สามารถเจริญเติบโต ยอดจะหักฟุบแห้งตายเหลือแต่ตอ ถ้าการทำลายเกิดขึ้นในระยะที่ยอดกระถินยาวบ้างแล้ว กระถินจะสามารถเจริญเติบโต แต่ใบจะร่วงเกือบหมดจนบางยอดเหลือแต่ก้าน บางยอดมีไข่และตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงจนมีสีเหลือง ยอดและใบอ่อนเต็มไปด้วยน้ำหวานที่แมลงถ่ายทิ้งไว้เมื่อมีราดำขึ้นทำให้เหนียวและสกปรก พบการระบาดของแมลงชนิดนี้ครั้งแรกในปี ๒๕๒๖ ที่รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา การระบาดได้แพร่กระจายไปทุกประเทศในปีต่อมา เนื่องจากสามารถแพร่กระจายไปกับลมพายุและแสงไฟของเครื่องบินขนส่งระหว่างประเทศ

สำหรับประเทศไทยระบาดครั้งแรกระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๙ ถึง กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ โดยพบทุกท้องที่มีการปลูกกระถิน การระบาดรุนแรงมากจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูนั้นได้ ทำให้ขาดแคลนกระถินป่นสำหรับผสมอาหารสัตว์ พบระบาดซ้ำและรุนแรงมากขึ้นในช่วงดังกล่าวของปีต่อมา

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

การเจริญเติบโตของเพลี้ยไก่ฟ้ากระถินในสภาพอุณหภูมิเฉลี่ย ๒๙°c ความชื้นสัมพัทธ์ ๖๖℅พอสรุปได้ดังนี้คือ

เพลี้ยไก่ฟ้ากระถินเป็นแมลงศัตรูพืชที่มีวงจรชีวิตค่อนข้างสั้นประมาณ ๒๑ วัน ตัวเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ เรียงกันเป็นแถวหรือเป็นกลุ่มบนยอดกระถิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างใบย่อยที่ยังม้วนอยู่

ไข่ รูปกลมยาวปลายด้านหนึ่งเรียวแหลมสีขาวขุ่น ขนาด ๐.๑๓x๐.๒๕ มม. ต่อมาจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีส้มอ่อนและสีจะเข้มขึ้นเมื่อใกล้ฟัก สังเกตได้จากจุดสีแดง ๒ จุดบนไข่ ซึ่งต่อมาจะเจริญเติบโตเป็นตาของตัวอ่อน ระยะไข่ประมาณ ๓-๔ วัน

ตัวอ่อน ตัวอ่อนวัยแรกรูปร่างค่อนข้างกลมแบนสีเหลืองอ่อนขนาด ๐.๑๘x๐.๓๐ มม. วัยที่ ๒ ลักษณะคล้ายวัยแรก วัยที่ ๓ เริ่มมีตุ่มปีก ลำตัวใหญ่ค่อนข้างหนาสีน้ำตาลอ่อน วัยที่ ๔ ลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย ลำตัวสีเขียวอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน ระยะตัวอ่อนประมาณ ๙-๑๐ วัน

ตัวเต็มวัย ลักษณะคล้ายจักจั่นจิ๋วขนาด ๐.๕๐x๑.๔๘ มม. ลำตัวสีเขียวอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน ตัวเมียเริ่มวางไข่หลังจากเป็นตัวเต็มวัย ๒-๓ วัน วางไข่ ๕๐-๗๗ ฟองต่อตัว ไข่ฟัก ๗๘℅ระยะตัวเต็มวัยประมาณ ๖-๘ วัน

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

เพลี้ยไก่ฟ้ากระถินเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตค่อนข้างสั้น เมื่อมีอาหารอุดมสมบูรณ์ สภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ และไม่มีแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพคอยควบคุม จึงสามารถระบาดทำลายกระถินได้กว้างขวางและรุนแรง พบการระบาดของแมลงชนิดนี้ระหว่างเดือน พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสภาวะแห้งแล้งและอากาศค่อนข้างเย็น เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของเพลี้ยไก่ฟ้ากระถิน

แนวทางป้องกันกำจัด

จากผลการศึกษาพบว่าในสภาพไร่เกษตรกรที่กำลังมีเพลี้ยไก่ฟ้ากระถินระบาดอย่างรุนแรงควรแนะนำให้เกษตรกรแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับแมลงชนิดนี้ ดังต่อไปนี้คือ

๑.  เกษตรกรควรเก็บเกี่ยวกระถินในช่วงปลายฤดูฝนให้เร็วที่สุด เมื่อเพลี้ยไก่ฟ้ากระถินเริ่มระบาดในเดือนพฤศจิกายน จะเป็นระยะที่กระถินเจริญเติบโต มียอดยาวบ้างแล้ว จึงสามารถทนทานต่อการทำลายได้ดีกว่ากระถินที่เพิ่งแตกยอดใหม่

๒.  การระบาดรุนแรงมากในระหว่างเดือน พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ พบแมลงศัตรูธรรมชาติหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของด้วงเต่าลาย กัดกินไข่ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยไก่ฟ้ากระถิน แต่พบในปริมาณที่ไม่สามารถควบคุมเพลี้ยไก่ฟ้ากระถินได้ทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง คือพบไข่และเพลี้ยไก่ฟ้ากระถินดูดกินน้ำเลี้ยงจนยอดกระถินมีสีเหลืองจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัด ควรใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งคือ

๑.  ไซฮาโลทริน-เอล(คาราเต้ ๒.๕℅อีซี) ๑๐ ซีซี

๒.  คาร์บาริล (เซฟวิน ๘๕℅ดับบลิวพี) ๔๐ กรัม

๓.  โอเมทโธเอท (โฟลิเมท ๘๐℅เอสแอล) ๑๕ ซีซี

๔.  คาร์โบซัลแฟน (ฟอสช์ ๒๐℅ อีซี) ๔๐ ซีซี

๕.  ไดโครโตฟอส (ไบดริน ๒๔℅ อีซี) ๓๐ ซีซี

ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นบนยอดกระถินในเวลาเย็นให้ทั่วทั้งไร่ โดยใช้น้ำยาประมาณ ๖๐-๘๐ ลิตรต่อไร่ พ่นซ้ำอีกครั้งหลังพ่นครั้งแรก ๑๕ วัน ตามความจำเป็น ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงในไร่กระถินที่มียอดสูงเกินไป เพราะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ดังนั้นในช่วงแมลงระบาดเกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงป้องกันกำจัดเพียง ๑-๒ ครั้งเท่านั้น

เมื่อปริมาณเพลี้ยไก่ฟ้าลดลง ซึ่งเป็นระยะที่กระถินเจริญเติบโตมียอดยาวมากแล้ว กระถินจึงสามารถทนทานต่อการทำลายได้ดีขึ้น และเป็นการเปิดโอกาสให้แมลงศัตรูธรรมชาติเข้าควบคุมปริมาณเพลี้ยไก่ฟ้าได้เต็มที่ หลังจากพ่นสารฆ่าแมลงครั้งสุดท้าย ๑-๒ เดือน เกษตรกรก็สามารถเก็บเกี่ยวกระถินที่ปลอดภัยจากสารฆ่าแมลงส่งโรงงานอาหารสัตว์

บรรณานุกรม

มาลี  ชวนะพงศ์  อรุณี  วงษ์กอบรัษฎ์ และโอชา  ประจวบเหมาะ ๒๕๓๑ เพลี้ยไก่ฟ้ากระถิน ในแมลงและสัตว์ศัตรูพืช ๒๕๓๑ เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการกองกีฎและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ครั้งที่ ๖ ๒๑-๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๑ ตึกกสิกรรม บางเขน กรุงเทพฯ หน้า ๔๑๗-๔๔๑

สมาคมผู้ผลิตอาหารไทย ๒๕๒๙ คุณภาพกระถินดีย่อมมีค่าพาให้สัตว์โตไว วารสารธุรกิจอาหารไทย ๓(๘):๑๓-๑๕.