เพลี้ยไฟ:เพลี้ยไฟไม้ดอก

พิสมัย  ชวลิตวงษ์พร

กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร

เพลี้ยไฟทำลายพืชโดยดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนเจริญของพืช เช่น ตา ใบอ่อน ดอก ทำให้เกิดอาการหงิกงอ เป็นคลื่น เกิดรอยด่างสีน้ำตาล และเหี่ยวแห้งตายในที่สุด

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็กในโลกนี้มีเพลี้ยไฟอยู่ทั้งหมดมากกว่า ๕,๐๐๐ ชนิด เพลี้ยไฟที่ลำลายพืชที่พบในประเทศไทย โดยทั่ว ๆ ไปมีขนาดลำตัวยาวประมาณ ๑-๒ มิลลิเมตรเท่านั้น(ขนาดของเพลี้ยไฟเท่าที่มีรายงานมีความยาวลำตัวประมาณ ๐.๕-๑๔ มิลลิเมตร แล้วแต่ชนิด)

เพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายพืชโดยการดูดน้ำเลี้ยง โดยเฉพาะส่วนอ่อนหรือส่วนเจริญ เช่น ตา ใบอ่อน ดอก เป็นต้น ส่วนของพืชที่ถูกเพลี้ยไฟทำลาย สังเกตได้ง่าย ๆ คือ จะมีอาการหงิกงอ เป็นคลื่น มีสีขาวซีด หรือถ้ามีการทำลายรุนแรงส่วนนั้น ๆ จะเป้นรอยด่างสีน้ำตาล เหี่ยวแห้ง ถ้าทำลายดอกเพลี้ยไฟจะเริ่มเข้าทำลายตั้งแต่ยังเป็นตาดอก ทำให้ตาดอกเหี่ยวแห้ง ไม่ออกดอก การทำลายตั้งแต่เป็นดอกตูมจะทำให้ดอกมีรูปร่างผิดปกติกลีบดอกหงิกงอบิดเบี้ยและเล็กลงมากจนถึงเป็นรอยด่างสีน้ำตาล

เพลี้ยไฟเป็นแมลงศัตรูที่มีปัญหามาก โดยเฉพาะในการปลูกเลี้ยงไม้ดอกหลาย ๆ ชนิด เช่น กล้วยไม้ เบญจมาศ กุหลาบ เยอร์บีร่า มะลิ ดาวเรือง เป็นต้น เพลี้ยงไฟ นอกจากจะเคลื่อนที่โดยการเดิน บินแล้ว ยังอาศัยลมในการพัดพาไป

เพลี้ยไฟเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อการส่งออก ซึ่งประเทศไทยกำลังมีปัญหาทางด้านการกักกันพืชที่มีเพลี้ยไฟติดไปกับดอกกล้วยไม้และกระทบกระเทือนต่อการส่งออกดอกกล้วยไม้ของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าโดยลักษณะรูปร่างภายนอกเพลี้ยไฟมีรูปร่างเรียวยาว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายกันแต่ตัวอ่อนไม่มีปีก ซึ่งการแยกลักษณะชนิดของเพลี้ยไฟ ต้องอาศัยหลักการทางวิชาการค่อนข้างยุ่งยาก เพราะเป็นแมลงขนาดเล็ก ไม่สามารถแยกชนิดโดยดูลักษณะภายนอกด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิเคราะห์ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องแน่นอน

บ่อยครั้งอาจจะพบเพลี้ยไฟมากกว่า ๑ ชนิด ทำลายพืชอยู่ด้วยกัน เช่น เพลี้ยไฟที่ทำลายในดอกเบญจมาศมี ๒-๓ ชนิด หรือบางครั้งบนพืชชนิดเดียวกันแต่ต่างท้องที่ก็อาจจะมีเพลี้ยงไฟต่างชนิดกัน เช่น เพลี้ยไฟในดอกกล้วยไม้ที่พบในเขตท้องที่ จ.นครปฐม จะเป็นคนละชนิดกับที่พบทำลายกล้วยไม้ในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นต้น และเช่นเดียวกันเพลี้ยไฟชนิดใดชนิดหนึ่งอาจจะทำลายพืชมากกว่า ๑ ชนิดขึ้นไป เช่น เพลี้ยไฟ ชนิด Microcephalothriips abdominalis Crawford จะพบทำลายดอกเบญจมาศ รวมทั้งทำลายดอกและใบเยอร์บีร่า ดอกดาวเรือง และดอกแกลดิโอลัสด้วย

ดังนั้นเพื่อที่จะได้รู้จักเพลี้ยไฟมากขึ้น ได้รวบรวมชนิดของเพลี้ยไฟที่พบในไม้ดอกแต่ละชนิดเท่าที่วิเคราะห์ชื่ออย่างถูกต้องแล้วมีดังนี้

ชนิดของไม้ดอก

เพลี้ยไฟที่พบทำลาย

กล้วยไม้ Thrips palmi Karny

Dichronothrips carbetti Priesner

เบญจมาศ Microcephalothrips abdominalis Crawford Thrips florum Schmutz Thrips apicatus
กุหลาบ Scirtothrips dorsalis Hood
มะลิ Thrips sp.
เยอร์บีร่า M.abdominalis
ดาวเรือง M.abdominalis
แกลดิโอลัส M.abdominalis

Thrips sp.

สแตติส Haplothrips gowdeyii (Franklin)
ราตรี Thrips sp.

Haplothrips sp.

อัญชัน Taeniothrips cucharii Whetzel

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

เพลี้ยไฟมีชีวประวัติค่อนข้างแตกต่างกับแมลงชนิดอื่น ๆ แต่ละชั่วอายุขัย กินเวลารวดเร็วมาก การขยายพันธุ์จึงเป็นไปได้ง่ายรวดเร็ว โดยเฉพาะในที่ที่มีอากาสร้อน เช่น ในประเทศไทยเรา สำหรับระยะการเจริญเติบโตของเพลี้ยไฟ โดยทั่วไปมีดังนี้ คือ

ตัวเมียจะวางไข่ ซึ่งมีขนาดเล็กมากในเนื้อเยื่อของพืช ซึ่งแม้ว่าจะดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ บางครั้งก็มองไม่เห็น

ไข่ มีอายุประมาณ ๓-๔ วัน

ตัวอ่อน จะฟักออกจากไข่ ตัวอ่อนอาจมี ๒ ระยะเรียกว่าตัวอ่อนระยะที่ ๑ และตัวอ่อนระยะที่ ๒ มีรูปร่างเรียวแหลมสีเหลือง สีแดง หรือสีดำ แล้วแต่ชนิด อายุตัวอ่อนประมาณ ๔-๔ วัน

ระยะก่อนเข้าดักแด้ มีลักษณะเหมือนตัวอ่อนแต่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว สังเกตได้โดยหนวดจะหดสั้นและชี้ตรงไปข้างหน้า ระยะนี้กินเวลาไม่เกิน ๑ วัน

ระยะดักแด้ มีแผ่นปีก ๒ คู่ หนวดจะงอชี้กลับไปข้างหลังเหนือศีรษะไม่ค่อยเคลื่อนไหว ระยะนี้กินเวลาประมาณ ๑-๒ วัน

ตัวเต็มวัย มีรูปร่างเหมือนตัวอ่อน มีปีก ๒ คู่ แต่บางครั้งปีกของตัวผู้จะหดสั้นเป็นตุ่มปีกเท่านั้น อย่างไรก็ดีเพลี้ยไฟสามารถแพร่พันธุ์ได้ทั้งแบบมีเพศ (เพศเมียต้องผสมพันธุ์กับเพศผู้แล้ววางไข่) และแบบพรหมจรรย์ (เพศเมียวางไข่ได้โดยไม่ต้องผสมกับเพศผู้)

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

เพลี้ยไฟจะระบาดทำลายรุนแรงในฤดูร้อนหรือสภาพอากาศร้อนแห้งแล้ง โดยเฉพาะในระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม แต่อย่างไรก็ตามในสภาพบ้านเรา การขยายพันธุ์หรือการระบาดของเพลี้ยไฟมีได้ตลอดปี แต่อาจจะรุนแรงเป็นระยะ ๆ

การป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ โดยทั่ว ๆ ไป วิธีการอื่น ๆนอกจากการพ่นสารฆ่าแมลงยังไม่รายงานว่าใช้ได้ผลแต่อาจจะใช้

๑.  กับดักกาวเหนียวสีเหลือง แขวนหรือปักไว้ในสวนเพื่อตรวจสอบดูว่า เริ่มมีการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟในแปลงพืชหรือยัง ซึ่งช่วยได้ในแง่การทำนายการระบาด นอกจากนี้กับดักยังใช้ในการศึกษาข้อมูลอื่น ๆ ของเพลี้ยไฟด้วย

๒.  ถ้ามีการระบาดทำลายมาก และจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้ใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งคือสารคาร์โบซัลแฟน (พอสซื ๒๐ ℅อีซี) อัตรา ๓๐-๕๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร สารโปรไธโอฟอส (โตกุไธออน ๕๐℅อีซี) อัตรา ๒๐-๓๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร และสารเบนฟูราคาร์บ (ออนคอล ๒๐℅อีซี) อัตรา ๕๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร เป็นต้น และเนื่องจากเพลี้ยไฟมีวงจรชีวิตสั้นมากในระยะที่มีการระบาดค่อนข้างสูง จึงควรพ่นสารเคมีค่อนข้างถี่ คือประมาณ ๔-๕ วันครั้งติดต่อกัน ๒-๓ ครั้งหรือจนกว่าการระบาดจะลดลง

ถ้าพืชถูกทำลายมากจะเหี่ยวแห้ง หงิกงอ ยอดอาจไม่เจริญ ควรจะพ่นปุ๋ยทางใบไปพร้อมกันด้วยเพื่อช่วยให้พืชฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

เนื่องจากเพลี้ยไฟบินในเวลากลางวันในช่วงเช้าจนถึงบ่ายคือเริ่มพบเพลี้ยไฟมากในช่วง ๘.๐๐-๑๓.๐๐ น. สูงสุดในเวลา ๐๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. หลังจากนี้จะพบเพลี้ยไฟน้อยลงโดยเฉพาะในเวลา ๑๘.๐๐-๐๖.๐๐ น. จะพบน้อยมาก ดังนั้นในการพ่นสารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟโดยเฉพาะในรังกล้วยไม้ ซึ่งโรงเรือนมีการพรางแสงอยู่แล้วจึงควรจะพ่นในระยะเวลาเช้า คือในระหว่างเวลา ๐๘.๐๐-๑๐.๐๐ น. ทั้งนี้เพื่อให้สารฆ่าแมลงมีโอกาสถูกตัวเพลี้ยไฟได้โดยตรง

บรรณานุกรม

๑.  พิสมัย  ชวลิตวงษ์พร ๒๕๒๘ เพลี้ยไฟ-แมลงตัวเล็ก ๆ กองกีฏและสัตววิทยา ๗(๑) : ๔๒-๔๖

๒.  พิสมัย  ชวลิตวงษ์พร ๒๕๒๙ เพลี้ยไฟกล้วยไม้ กสิกร ๕๙(๕) : ๔๒๐-๔๒๓