เมพิควอทคลอไรด์:สารควบคุมความสูงของพืช

นันทกา  แสงจันทร์ เรียบเรียง

“สารกลุ่มนี้จะไปยังยั้งการสร้างหรือการทำงานของจิบเบอเรลลิน (ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นการยืดตัวและการแบ่งเซลล์) จึงแสดงผลในลักษณะตรงข้ามกับผลของจีเอคือควบคุมความสูงและขนาดทรงพุ่มของพืช”

เมพิควอทคลอไรด์ (mepiquat chloride) เป็นสารสังเคราะห์ที่อยู่ในกลุ่มของสารชะลอการเจริญเติบโตของพืช (Plant Growth Retardant) ซึ่งคุณสมบัติหลักของสารชะลอการเจริญเติบโตคือ ชะลอการแบ่งเซลล์และการยืดตัวของเซลล์บริเวณใต้ปลายยอดของกิ่งพืช ทำให้พืชได้รับสารมีความสูงน้อยกว่าปกตินั่นคือสารกลุ่มนี้จะไปยับยั้งการสร้างหรือการทำงานของจิบเบอเรลลิน (ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นการยืดตัวและการแบ่งเซลล์) จึงแสดงผลในลักษณะตรงข้ามกับผลของจีเอคือ ควบคุมความสูงและขนาดทรงพุ่ม่ของพืชเช่นในไม้ดอกไม้ประดับควบคุมความสูงให้มีขนาดกะทัดรัดเหมาะแก่การปลูกในกระถางหรือลดความสูงของต้นทำให้ปล้องสั้นลงในพืชไร่ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการติดผลและคุณภาพผล เพิ่มการออกดอก สารชะลอการเจริญเติบโตมีหลายชนิด เช่น คลอมีควอท (Cholormequat), ดามิโนไซด์ (daminozide), แอนไซมิโดล (ancymidol), เมพิควอทคลอไรด์ (mepiquat chloride) และพาโคลบิวทราโซล (paclobutrazol)

เมพิควอทคลอไรด์ที่มีชื่อสารออกฤทธิ์ว่า 1,1-dimethyl-piperidinium chloride ซึ่งในประเทศไทยที่จำหน่ายตามท้องตลาดมีมาจากหลายๆประเทศเช่น อินเดีย อังกฤษ แต่เมพิควอทคลอไรด์ที่รู้จักกันทั่วไปคือ ในชื่อการค้าว่าพิกซ์ (Pix) ซึ่งเป็นของประเทศเยอรมัน บริษัทผู้ผลิตคือบริษัท BASF Wyandotte Corp. และมีบริษัทสหายเกษตรเคมีภัณฑ์เป็นบริษัทผู้แทนจำหน่าย ผลิตออกมาในรูปสารละลายเข้มข้น(W.S.C) โดยมีสารออกฤทธิ์ 1,1-dimethylpiperidinium Chloride 5℅ คุณสมบัติของเมพิควอทคลอไรด์คือ ใช้ลดความสูงของธัญพืชเพื่อป้องกันการหักล้มเช่นในถั่วต่างๆ และเพิ่มผลผลิต เร่งการแก่ ทำให้คุณภาพด้านการปั่นและการทอของเส้นใยฝ้ายสุงขึ้น สีของปุยฝ้ายขาวขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการแตกกิ่งเพิ่มความเขียวเข้ม ของใบอีกด้วย

ตัวอย่างการทดลองการใช้เมพิควอทคลอไรด์กับพืชชนิดต่างๆ ดังนี้

ถั่วเขียว

เพิ่มจำนวนฝัก

การทดลองใช้เมพิควอทคลอไรด์ความเข้มข้นต่างๆกัน พ่นทางใบให้กับถั่วเขียวพันธุ์อู่ทอง 1 พบว่าการใช้สารความเข้มข้น 150 มิลลิกรัม/ลิตร พ่นเมื่อต้นมีอายุ 5 สัปดาห์ มีแนวโน้มให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และจำนวนฝักมากขึ้น

ถั่วเหลือง

เพิ่มผลผลิต

การเพิ่มผลผลิตถั่วเหลือง สามารถใช้สารเคมีช่วยเพิ่มผลผลิตได้เช่น บีเอพี (BAP), 2, 4,-ดี (2,4-D) ดามิโนไซด์ (daminozide) เอ็นเอเอ(NAA), เมพิควอทคลอไรด์ (mepiquat chloride), ไตรอะคอนทาโนล (triacontanol), โฟลซิสทีน (folcisteine) แต่ข้อมูลในเรื่องของการใช้สารเหล่านี้ เช่น ความเข้มข้น ช่วงเวลาให้สารสภาพแวดล้อมและพันธุ์ ยังไม่มีรายละเอียดมากพอที่จะแนะนำให้ใช้ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง จึงจำเป็นต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งก่อนใช้ในเชิงพาณิชย์

ฝ้าย

ลดความสูงของต้น

การใช้เมพิควอทคลอไรด์ความเข้มข้นสูง (460 กรัม/ลิตร) โดยพ่นในปริมาณต่ำ 160-1,280 มิลลิลิตร/ไร่ จะทำให้ต้นฝ้ายเตี้ยลง กิ่งก้านสั้นป้องกันการร่วงของดอกและผล และเร่งการแก่ของสมอฝ้าย ทำให้เหมาะต่อการปลูกระยะชิดมากขึ้น

(ที่มา:ฮอร์โมนพืชและสารสังเคราะห์ แนวทางการใช้ประโยชน์ในประเทศไทยพีรเดช  ทองอำไพ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

การใช้ประโยชน์จากพิกซ์(Pix) โดยใช้เทคนิคการพ่นพิกซ์ในอัตราต่ำแต่พ่นหลายๆ ครั้ง (Low-rate multiple;LRM) กับฝ้าย

ในปี 1987 ได้มีการดัดแปลงการใช้พิกซ์ โดยการรับรองขององค์การเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของอเมริกา (EPA) ในการทำให้ฝ่าย มีลำต้นเตี้ยลง ได้ทดลองปลูกฝ้ายที่หุบเขาริโอแกรนด์ ที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำและทางตะวันออกเฉียงใต้ โดยการใช้เทคนิคการพ่นในอัตราต่ำโดยพ่นหลายๆ ครั้ง

การทดลองเริ่มใช้พิกซ์ในระยะดอกอ่อน เมื่อต้นฝ้ายออกดอกครั้งแรกมีดอกอ่อนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-6 มิลลเมตร(1/8-1/4 นิ้ว) ประมาณ 50℅ของต้น โดยพ่นในช่วงห่างกัน 7-14 วัน ในช่วงดอกแรกบาน โดยใช้พิกซ์อัตราความเข้มข้นที่ใช้คือ 0.5-1.0 ลิตร/เฮกแตร์ (75-153 ซีซี/ไร่) พ่น 1 ครั้ง หรือจะใช้พิกซ์อัตรา 0.5 ลิตร/เฮกแตร์ (76 ซีซี/ไร่) แต่พ่น 2 ครั้ง วัดความสูงของต้นเมื่อเก็บเกี่ยวนับจำนวนสมอและผลผลิตของใยฝ้ายที่เพิ่มขึ้น

หลังจากใช้พิกซ์ด้วยเทคนิคแอลอาร์เอ็มแล้ว ทำให้จำนวนสมอเพิ่มขึ้น โดยการพ่นในช่วงดอกอ่อนจะมีจำนวนสมอเพิ่มมากกว่าการพ่นในช่วงดอกแรกบาน นอกจากนี้ยังทำให้ผลผลิตฝ้ายสูงขึ้นด้วย ในการควบคุมความสูงของความสูงของต้นควรใช้พิกซ์ในอัตรา 0.5-1.0 ลิตร/เฮกแตร์ หรือ 80-160 ซีซี/ไร่ จะช่วยลดความสูงของต้นได้

หมายเหตุ

จากงานวิจัยเรื่องการใช้พิกซ์กับฝ้ายนี้เป็นงานทดลองของต่างประเทศ ซึ่งอัตราความเข้มข้นของพิกซ์ที่ใช้อาจไม่เหมาะสมกับการปลูกฝ้ายในประเทศไทย การทดลองนี้จึงเป็นการนำเอาแนวคิดรวมๆ มาให้ทุกท่านทราบว่าประสิทธิภาพของเมพิควอทคลอไรด์สามารถนำมาใช้ลดความสูงและเพิ่มผลผลิตฝ้ายได้อย่างดี

การใช้พิกซ์ในฝ้ายที่มีการใช้ในประเทศไทย

มีการใช้พิกซ์กับฝ้ายเพื่อลดความสูงของต้นฝ้าย อัตราที่ใช้คือใช้พิกซ์ความเข้มข้น 10 ซีซี/น้ำ 1 ปี๊บ พ่น 3 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน โดยเริ่มพ่นครั้งแรกเมื่อเห็นดอกฝ้ายดอกแรกบานซึ่งนิยมใช้กันมากในแถบ อ.วังน้ำเย็น จ.ปราจีนบุรี และที่ จ.กาญจนบุรี การใช้พิกซ์ให้ได้ประสิทธิภาพดีควรใช้ในสภาพความชื้นสูงและควรพ่นในอัตราต่ำ แต่พ่นหลายๆ ครั้ง

หัวหอมและกระเทียม

ผลของพิกซ์ (Pix) ที่มีต่อผลผลิตและคุณภาพการเก็บรักษาหัวหอม

เพิ่มผลผลิต

ใช้หัวหอมพันธุ์วาเลนเซีย (Valencia), (Sweet Spanish), ยาโลยา-3 (Yaloya-3) (y-3) และยาโลยา-12 (Yaloya-12), (y-12) โดยพันธุ์วาเลนซียใช้ต้นกล้าที่ปลูกจากการเพาะเมล็ดและการย้ายกล้า อัตราความเข้มข้นของพิกซ์ที่ใช้ 3 อัตราคือ 1.0, 1.5 และ 2.0 ลิตร/เฮกแตร์ (160, 240 และ 320 ซีซี/ไร่) ที่ปลูกพ่นในระยะที่หัวหอมมีใบ 5 ใบ (5-leaf stage) ระบบปลูก 1.35×1 เมตร และพันธุ์ Y-3, Y-12 ใช้ต้นกล้าที่แยกจากกอ (sets) อัตราที่ใช้คือ 1.0, 2.0 และ 3.0 ลิตร/เฮกแตร์ (160, 320 และ 480 ซีซี/ไร่) พ่นในระยะเดียวกันระยะปลูก 1.35×2 เมตร ใช้เครื่องพ่นสารเคมีด้วยมือ (hand sprayer) ขนาด 1 ลิตร/ 1 นาที ปริมาตร 6 ลิตร

เมื่อใช้พิกซ์แล้วผลผลิตของหัวหอมเพิ่มขึ้น อัตราความเข้มข้นที่เหมาะสมของพิกซ์คือ 1.0-2.0 ลิตร/เฮกแตร์ ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสมสำหรับการค้าและไม่มีผลตกค้างใดๆ ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นประมาณ 4,000-5,000 กก./เฮกแตร์ (640-800 กก./ไร่) ซึ่งขึ้นกับลักษณะพันธุ์และอัตราความเข้มข้นของพิกซ์

คุณภาพการเก็บรักษา

หัวหอมถูกทำให้แห้งภายใน 3 วันที่อุณหภูมิ 30°c ความชื้นสัมพัทธ์ 65-70℅ และเก็บไว้ในห้องที่มีอากาศหมุนเวียน 425 คิวบิคเมตร/ตัน-ชั่วโมง แล้วนำมาเก็บรักษาอีก 14 วัน ที่อุณหภูมิ 25 °c ความชื้นสัมพัทธ์ 65-70℅และห้องที่มีอากาศหมุนเวียน 175 คิวบิคเมตร/ตัน-ชั่วโมง และเก็บรักษาไว้เป็นเวลา 7 เดือนที่อุณหภูมิ 8°c ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80℅ในตู้เย็น นำมาวิเคราะห์องค์ประกอบเคมีภายหลังการเก็บรักษา 7 เดือนแล้ว โดยนำมาวัดปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำ ปริมาณกรดน้ำตาล กรดแอสคอร์บิก ความเข้มข้นของกรดไพรูวิก โปรตีนและไนโตรเจน อัตราการหายใจ เป็นต้น

ผลการทดลองพบว่า พิกซ์ไม่มีผลต่อคุณภาพการเก็บรักษาและการงอกของหัวหอม

ประสบการณ์การใช้พิกซ์ในหัวหอมและกระเทียม

การใช้พิกซ์ในหัวหอมและกระเทียมเพื่อเพิ่มผลผลิตในหัวหอมและกระเทียมอัตรา 50 กรัม/ลิตร ประสบความสำเร็จมาเป็นเวลาประมาณ 6 ปีในหลายๆ ประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน

อย่างเช่นในประเทศแถบละตินอเมริกา ญี่ปุ่น สเปน ไต้หวัน ตุรกี โรมาเนีย โคลัมเบีย และบราซิล ได้มีการทดลองใช้พิกซ์เพื่อเพิ่มผลผลิตในหัวหอมในอัตราความเข้มข้น 1-2 ลิตร/เฮกแตร์ (160-320 ซีซี/ไร่) พ่นในช่วงที่มีใบ 4-8 ใบ ปริมาณน้ำที่ใช้ 250-600 ลิตร/เฮกแตร์ ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น 8-25℅ ทั้งการปลูกโดยใช้เมล็ดปลูกในแปลงหรือการย้ายกล้าลงแปลง (ซึ่งไม่มีความแตกต่างระหว่างผลผลิตของการปลูกหัวหอม โดยการใช้เมล็ดปลูกในแปลงหรือการย้ายกล้าลงแปลง)

ในประเทศชิลี คิวบา โรมาเนีย และสเปน ได้ทดลองใช้พิกซ์เพื่อเพิ่มผลผลิตในกระเทียม สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 13-41℅ ระยะที่เหมาะสมในการพ่นสารคือ ช่วงที่มีใบ 4-6 ใบ ส่วนในหัวหอมได้มีการใช้พิกซ์ในอัตรา 1.2 ลิตร/เฮกแตร์ (160-320 ซีซี/ไร่) ปริมาณน้ำที่ใช้ 300-500 ลิตร/เฮกแตร์ (48-80 ลิตร/ไร่) ก็ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีรายงานในประเทศบราซิลว่า พิกซ์สามารถเพิ่มปริมาณน้ำมันในหัวหอมและกระเทียมได้อีกด้วย

การใช้พิกซ์ในหัวหอมและกระเทียม ควรใช้พิกซ์ร่วมกับปุ๋ยทางใบ เพื่อเป็นการให้ธาตุอาหารไปในตัวและลดต้นทุนการผลิตไปได้มาก เช่น ใช้พิกซ์ร่วมกับธาตุอาหารเสริมเฟตริลอน คอมบิ-1 (Fetrilon-Combi 1) หรือเฟตริลอน-คอมไบ-2 (Fertilon Combine 2)อัตรา 160 กรัม/ไร่(ความเข้มข้นสูงสุด 0.2℅) หรือปุ๋ยทางใบไนโตรฟอสกา 10-4-7-0.2 (Nitrophoska 10-4-7-0.2)

ระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้คือ การพ่นในช่วงที่มีใบ 4-8 ใบ อัตราความเข้มข้นของพิกซ์ 1-2 ลิตร/เฮกแตร์ (160-320 ซีซี/ไร่) จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 8-40℅ นอกจากนี้พิกซ์ยังมีผลทำให้ส่วนต่างๆ ของพืชมีสีเขียวเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มปริมาณคลอโรฟิลล์ การสังเคราะห์แสง ซึ่งทำให้มีผลในการเพิ่มขนาดและน้ำหนักของหัวด้วย

การใช้พิกซ์ในหัวหอมและกระเทียม ที่มีการใช้ในประเทศไทย

การใช้พิกซ์ในหัวหอมแดง หัวหอมใหญ่ และกระเทียม เพื่อทำให้ตรงส่วนคอของต้นหอมและกระเทียมแข็งขึ้นเพิ่มความเขียวและคลอโรฟิลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น หลังจากที่บำรุงต้นให้ปุยจนเจริญเติบโตเต็มที่คือประมาณ 30-40 วันหลังปลูกหรือช่วงที่มีใบ 3 ใบ อัตราการใช้พิกซ์คือ 30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร พ่นพร้อมกับปุ๋ยเกร็ดละลายน้ำ โดยพ่นทุก 10 วัน 3 ครั้ง เกษตรกรที่ฝาง จ.เชียงใหม่ มีการใช้สารชนิดนี้กันมาก เพราะได้ผลดี

ไม้ดอกหัว

น่าจะเพิ่มผลผลิต เพิ่มขนาดและน้ำหนักหัวได้ดี

ปัจจุบันการผลิตไม้หัวเป็นธุรกิจกันมากขึ้น เช่น ปทุมมา กระเจียว เป็นต้น เนื่องจากมีปริมาณการส่งออกไม้หัวเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หัวที่ได้มีคุณภาพไม่ดี เมพิควอทคลอไรด์สามารถใช้กับไม้หัว เช่น หอม กระเทียม เพื่อเพิ่มผลผลิตเพิ่มขนาดและน้ำหนักของหัวได้ ดังนั้นเมพิควอทคลอไรด์จึงน่าจะนำมาใช้ไม้ดอกหัวเพื่อเพิ่มผลผลิตเพิ่มขนาดและน้ำหนักหัวทั้งปริมาณและคุณภาพได้ดีเช่นกัน แต่อัตราความเข้มข้นและระยะเวลาที่พ่นสารนั้น ยังไม่มีการทดลองหรืองานวิจัยรายงานว่าควรใช้ในอัตราใด พ่นในช่วงใดเกษตรกรจึงควรทดลองศึกษาด้วยตนเองก่อน โดยพิจารณาจากอัตราการใช้พิกซ์ในหัวหอมและกระเทียมเป็นเกณฑ์

ทุเรียน

ออกดอกนอกฤดู

การใช้เมพิควอทคลอไรด์ในทุเรียนเพื่อให้ออกดอกนอกฤดูนั้นยังไม่มีรายงานการวิจัยอย่างเป็นทางการ แต่ในเขตภาคใต้สวนทุเรียนบางสวนได้มีการใช้พิกซ์กับทุเรียนหมอนทอง เพื่อผลิตทุเรียนนอกฤดู โดยมีการใช้พิกซ์ในอัตราความเข้มข้นที่ใช้คือ 100 ซีซี/น้ำ 1 ปี๊บ พ่นประมาณ 7 วัน/ครั้ง การใช้พิกซ์มีข้อดีคือไม่ทำให้ต้นทุเรียนที่ผลิตนอกฤดูโทรมเร็ว แต่ข้อเสียคือ สิ้นเปลืองแรงงานในการพ่นสารมาก เพราะต้องพ่นบ่อยครั้ง ต่างจากการใช้สารพาโคลบิวทราโซล ซึ่งพ่นสารเพียงครั้งเดียวก็ได้ผล (ฝนหยุดเป็นระยะเวลาหนึ่ง) แต่ข้อเสียคือ ทำให้ต้นโทรมเร็ว

เทคนิคการใช้พิกซ์เพื่อให้ทุเรียนออกดอกนอกฤดูนี้ ยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ผู้ใช้จึงต้องศึกษาทดลองด้วยตนเอง เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ในแต่ละพันธุ์และแต่ละพื้นที่

เมพิควอทคลอไรด์มีชื่อการค้าที่ขายอยู่ตามท้องตลาดหลายๆ ชื่อและมีความเข้มข้นแตกต่างกันไป บางชนิดมีการแนะนำให้ใช้ในไม้ผล เพื่อการหยุดแตกใบอ่อนในช่วงติดผลหรือช่วงที่ผลกำลังเจริญเติบโต เช่น ในทุเรียน เพราะถ้าปล่อยให้ทุเรียนแตกยอดใหม่จะทำให้ผลร่วง นอกจากนี้พิกซ์ยังช่วยให้ใบเขียวเข้ม เพิ่มคลอโรฟิล ทำให้ต้นสมบูรณ์ขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตและคุณภาพดีขึ้น