เมล็ดยางพาราและการใช้ประโยชน์

วีระศักดิ์  อนัมบุตร

กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร

ประเทศไทยมีเป้าหมายการปลูกยางพาราถึงกว่า ๑๐ ล้านไร่ในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทส ปัจจุบันแหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ทางภาคใต้ ๑๔ จังหวัด ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง ยะลา นราธิวาส สุราษฎร์ธานี กระบี่ พัทลุง พังงา ปัตตานี สตูล ภูเก็ต ชุมพร ระนอง ส่วนทางภาคตะวันออกมีที่ ระยอง จันทบุรี ตราด และเริ่มปลูกบ้างที่ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และชลบุรี นอกจากนี้ยังมีปลูกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่สุรินทร์ บุรีรัมย์ และหนองคายรวมทั้งหมดแล้ว ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๓๐) มีพื้นที่ปลูกยางถึง ๙.๗ ล้านไร่ ได้ผลผลิตแล้วประมาณ ๗ ล้านไร่ ผลผลิตที่ได้จากการประเมินของสถาบันวิจัยยางในปี พ.ศ.๒๕๒๙ ควรได้ผลผลิต ๙๖๙,๐๐๐ เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า ๒๓,๙๕๙ ล้านบาท นับเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง

เมล็ดร่วงหล่นทับถมจมดิน

ยางพารา นอกจากจะกรีดเอาน้ำยางมาทำประโยชน์ตามปริมาณและมูลค่าดังกล่าวแล้ว ยางพารายังมีเมล็ดที่ให้น้ำมันซึ่งสามารถนำไปทำประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมอื่นได้อีก โดยเฉลี่ยยางที่มีอายุ ๓-๕ ปีขึ้นไป จะให้เมล็ดเฉลี่ยแล้วไร่ละประมาณ ๑๐ กิโลกรัม หรือยางพารา ๗ ล้านไร่ทั่วประเทศ จะได้เมล็ดยางถึง ๗๐,๐๐๐ ตัน แต่การใช้ประโยชน์จากเมล็ดหรือน้ำมันจากเมล็ดยางยังน้อยมาก

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เมล็ดยางใช้ทำต้นตอปลูกปีละประมาณ ๓๖๐ ตัน และใช้สกัดทำน้ำมันปีละประมาณ ๑๐๐๐ ตันเท่านั้น นอกจากนั้นจะถูกทิ้งจมดินทับถมกันไปปีต่อปี

โรงงานสกัดน้ำมันในท้องถิ่น

เมล็ดยางพาราจากทางภาคตะวันออกจะแก่และร่วงหล่นก่อนภาคใต้ประมาณ ๒ เดือน ทางภาคตะวันออกจึงมีเมล็ดยางประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่วนภาคใต้เมล็ดยางจะแก่และร่วงหล่นประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม และมีโรงงานที่ใกล้จังหวัดที่ปลูกยางรับซื้อมาสกัดน้ำมัน โรงงานเหล่านี้กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ คือ สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี ระยอง ชลบุรี ราชบุรี นครปฐม น้ำมันที่ได้นำไปใช้ผสมสี กากจากการสกัดน้ำมันใช้ผสมในอาหารสัตว์ และมีการส่งออกกากเมล็ดยางไปประเทศญี่ปุ่นด้วย โดยบริษัทไทยคอมมอดิตี้ จำกัด

ข้อด้อยของน้ำมันเมล็ดยางพารา ปัญหาและวิธีแก้ไข

เมล็ดยางมีน้ำมันร้อยละ ๒๕-๓๐ ถ้าสกัดทั้งเปลือก แต่ถ้าแยกเอาเปลือกออกสกัดเฉพาะเนื้อในจะให้น้ำมันร้อยละ ๔๕-๕๐ การสกัดทั้งเปลือกแม้จะให้น้ำมันน้อยกว่า แต่จะประหวัดแรงงานและการลงทุนมากกว่าสกัดเฉพาะเนื้อใน ดังนั้นจึงไม่มีโรงงานใดกะเทาะเปลือกก่อนการสกัดน้ำมัน

น้ำมันจากเมล็ดยางพารามีคุณสมบัติที่ด้อยกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ อยู่หลายประการ เป็นต้นว่าจะมีค่ากรดขึ้นสูงและสีจะเข้มจนดำในเวลาอันสั้น น้ำมันจะมีการแห้งตัวช้า มีลักาณะเป็นน้ำมันกึ่งแห้งเร็ว ยิ่งเก็บไว้นานจะยิ่งเสื่อมคุณภาพในการแห้งลงไปและสีก็จะคล้ำลงตามลำดับ ซึ่งแก้ไขด้วยวิธีอบเมล็ด ๘๐-๑๐๐ องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ ๘ ชั่วโมง เมล็ดที่ผ่านการอบแล้วจะเก็บไว้ได้ระยะเวลาหนึ่ง การเก็บเมล็ดที่มีความชื้นต่ำจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้น้ำมันมีคุณภาพดี

เมื่ออบเมล็ดไล่ความชื้นแล้วนำเข้าเครื่องบีบอัดได้ทันทีและถ้านำน้ำมันที่ได้ผ่านกรรมวิธีฟอกสีทันที ที่อุณหภูมิ ๙๐-๑๑๐ องศาเซลเซียส ใช้ผงฟอกสี ๓-๕ เปอร์เซ็นต์ จะช่วยลดสีของน้ำมันลงได้มากและสามารถจะเก็บน้ำมันได้ข้ามปี โดยจะมีสีเข้มขึ้นเพียงเล็กน้อย

คุณภาพที่พัฒนาได้

น้ำมันจากเมล็ดยางพาราใช้บริโภคไม่ได้เช่นเดียวกับน้ำมันลินสีด และยังไม่มีประเทศใดนำน้ำมันเมล็ดยางพารามาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม เพราะน้ำมันเมล็ดยางพารามีจุดอ่อนอยู่หลายประการดังได้กล่าวมาแล้ว จึงได้มีการพัฒนาน้ำมันเมล็ดยางพารา โดยปรับปรุงคุณสมบัติขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับน้ำมันลินสีด ซึ่งเป็นที่ราบกันดีว่าเป็นน้ำมันที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมเคลือบผิวหน้าประเภทสีและหมึกพิมพ์โดยเฉพาะ โดยการผสมน้ำมันเมล็ดยางพารากับน้ำมันแห้งเร็วบางชนิด เช่นน้ำมันมะพอกและน้ำมันมะเยา ซึ่งมีอยู่แล้วภายในประเทศ นับว่าได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดีเยี่ยมในการใช้น้ำมันเมล็ดยางพาราเข้าสู่อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ออฟเซ็ทสีดำ และขณะนี้หมวดหมึกพิมพ์ของโรงพิมพ์ครุสภาลาดพร้าวได้ผลิตเพื่อใช้พิมพ์แบบเรียนทั่วประเทส และยังได้ผลิตจำหน่ายแก่เอกชนและส่วนราชการแล้ว ในราคาถูกกว่าหมึกพิมพ์ออฟเซ็ทสีดำทั่ว ๆ ไปมาก ในอนาคตอันใกล้นี้ผลงานนี้นอกจากจะเป็นการทดแทนการนำเข้าแล้วยังจะสามารถส่งออกได้อีกด้วย

ผู้สนใจติดต่อขอรายละเอียดได้

รายละเอียดในเรื่องการสกัดน้ำมันและฟอกสีและกลั่นใสด้วยวิธีทางกายภาพ ติดต่อได้ที่สายงานเคมีพืชน้ำมันและสารธรรมชาติ กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร เกษตรกลางบางเขน กรุงเทพฯ