เยอบีรา(Gerbera)


ลักษณะทั่วไป
ต้องใช้วิทยาการเพาะปลูก การดูแลเอาใจใส่และปฏิบัติรักษาสูงมาก วิธีการให้น้ำแบบชลประทานน้ำหยดจะให้ผลดีที่สุด งานส่งเสริมพืชนี้ในปัจจุบันยังค่อนข้างจำกัด เพราะต้องลงทุนสูง (โรงเรือนพลาสติค และการติดตั้งระบบชลประทานน้ำหยด) และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมต้องผ่านการฝึกอบรม จนชำนาญในการให้คำแนะนำ นอกจากนั้นจำนวนกล้ามักมีไม่เพียงพอ ส่วนการเพาะปลูก ถ้าจัดการดี จะให้ผลตอบแทนสูง
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ ไทย,ยุโรป
ฤดูปลูก ตลอดปีบนพื้นที่สูง 1000 เมตรขึ้นไป
ฤดูหนาวบนพื้นที่สูง 600 เมตรขึ้นไป
ความเป็นกรดด่างของดิน 6-7
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    30×30 ซม. หรือ 40×40 ซม. (พันธุ์ไทย)
40×50 ซม. หรือ 50×50 ซม. (พันธุ์ยุโรป)
จำนวนต้น 8.33 ต้น/ตร.ม. (พันธุ์ไทย)
4-5 ต้น/ตร.ม. (พันธุ์ยุโรป)
ความกว้างของร่อง 1 เมตร
ความห่างระหว่างร่อง 50 ซม.
อายุพืช ช่วงกล้า        30-40 วัน
ช่วงลงปลูก    30-60 วัน
ช่วงดูแลรักษา    90-120 วัน
ช่วงเก็บเกี่ยว    7-8 เดือน
ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทน ยังไม่มีรายงาน
ข้อจำกัดในการส่งเสริม
มีปัญหาขาดพันธุ์กล้าให้เกษตรกรนำไปปลูก ต้องคัดเลือกอย่างดีก่อนแจกจ่ายแก่เกษตรกร ควรพิจารณาให้สินเชื่อ ถ้าจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เพื่อสามารถติดตั้งโรงเรือนพลาสติค และระบบชลประทานน้ำหยด เนื่องจากพืชมีอายุยาวนาน การเลี้ยงดูปฏิบัติรักษายุ่งยากและการลงทุนสูง ทำให้ต้องเลือกส่งเสริมเกษตรกรรายที่พร้อมจะทุ่มเทกำลังเพื่อทำการปลูกพืชนี้
การตลาด
ตลาดค่อนข้างดี ราคาสูง (4-9 บาท/ดอก) ดอกที่มีก้านยาวจัดว่ามีคุณภาพดี ดังนั้นต้องทำร่มเงาในการปลูกเพื่อให้ก้านยืดตัวเพราะถ้าแสงสว่างมากไป ก้านดอกจะสั้น ปรับปรุงวิธีการตลาดได้โดยการเลือกดอก ใช้เทคนิคในการตัด ตลอดจนการบรรจุโดยเสียบก้านในกรวยพลาสติค แทนที่จะใช้ถุงพลาสติคเพราะจะทำให้ก้านดอกโค้งงอ
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
เพลี้ยไฟ พบในฤดูร้อน เมื่อดอกเริ่มบาน ทำให้กลีบดอกเสียหาย และใบเป็นลายขาวซีด ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่น โทกูไทออน (Tokuthione) หรือพอส์ส หรือ เมซูโรล ในตอนเข้าสัปดาห์ละครั้ง
หนอนเจาะสมอฝ้าย (American Boll Worm) พบฤดูร้อน ตั้งแต่ระยะดอกตูมถึงดอกบาน โดยหนอนผีเสื้อจะวางไข่ในดอกตูม และเติบโตเป็นตัวอ่อนเมื่อดอกเริ่มบาน กัดกินกลีบดอกเสียหาย ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่น ซูมิซิดิน (Sumisidin) หรือ แลนเนท ในตอนเช้าสัปดาห์ละครั้ง
ปลวก ทำให้ใบเสียหาย ป้องกันแก้ไขโดยใช้ โอไมท์ (Omilt) หรือไมแทค (Mitac)
เพลี้ยอ่อน ป้องกันแก้ไขวิธีเดียวกันกับเพลี้ยไฟ
โรค
โรคใบจุด พบตลอดระยะการเจริญเติบโต ในระยะแรก จะเกิดจุดสีน้ำตาล-ม่วงบนใบ และลุกลามเป็นวงจนใบแห้งตาย มักเป็นกับใบแก่ ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่น แคปแทน หรือ ดาโคนิล ในตอนเย็น สัปดาห์ละครั้ง
โรครากปม  พบตลอดระยะการเจริญเติบโต สาเหตุจากไส้เดือนฝอย ทำให้พืชชงักการเจริญเติบโตและใบเหลือง เมื่อถอนต้นจะพบบริเวณราก และปลายรากบวมโต ในที่สุด รากจะเน่า ทำให้พืชตาย ป้องกันแก้ไขโดยใช้ฟูราดาน เมื่อปลูกหรือทำการฉีดพ่น ไวเดท-แอล (Vydate-L)
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงการเตรียมกล้า
วัสดุเพาะกล้า ประกอบด้วย ทรายและใยมะพร้าว หรือทรายและขี้เถาแกลบ ในอัตรา 1:1 ใส่ในกะบะเพาะชำพลาสติคให้เต็มสองในสาม ปรับผิวหน้าให้เรียบ ทำร่องปลูกลึก 1 ซม. ห่างกันร่องละ 2 ซม. หยอดเมล็ดทีละเมล็ด ห่างกัน 1.5 ซม. (12 เมล็ดต่อร่อง) กลบเมล็ดด้วยวัสดุปักชำและใช้กระดาษหนังสือพิมพ์คลุม เพื่อรักษาความชื้นให้น้ำวันละ 2 ครั้ง ประมาณ 4-7 วัน เมื่อเมล็ดงอกแล้ว ให้เอากระดาษคลุมออกให้น้ำสม่ำเสมอ เพื่อให้แปลงชุ่มชื้น
หลังหยอดเมล็ด 30 วัน กล้ามีใบจริงงอก ใช้เครื่องมือขุดกล้า ย้ายปลูกลงในถุงพลาสติกบรรจุส่วนผสมของดิน ปุ๋ยขี้วัว และขี้เถ้าแกลบ เพาะในโรงเรือนพลาสติคเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ใช้ปุ๋ย 27-0-0 ละลายน้ำรด (1 ช้อนแกงต่อน้ำ 10 ลิตร) สัปดาห์ละครั้ง ฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืชและยากำจัดเชื้อราสัปดาห์ละครั้ง และรดน้ำวันละ 2 ครั้ง
ข้อควรระวัง
1. ควรเก็บกล้าไว้ในที่บังร่ม เพราะถ้าได้รับฝนหรือน้ำมากเกินไปจะเกิดโรคเน่า
2. หอยทากตัวเล็กๆ มักกัดกินลำต้นและใบในระยะกล้า ใช้เหยื่อพิษป้องกัน
3. ทำการฆ่าเชื้อวัสดุที่ใช้เตรียมกล้า เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา
ช่วงการปลูก
ขุดแปลงปลูกตากทิ้งไว้ 7 วัน ขึ้นแปลง ปรับหน้าแปลงให้เรียบ ใช้จอบขุดหลุมปลูกลึก 10-15 ซม. ระยะปลูกสำหรับพันธุ์ไทย 30×30 ซม. หรือ 40 x40 ซม. สำหรับพันธุ์ยุโรป 40 x50 ซม. หรือ 50    x50 ซม. รองพื้นหลุมด้วยปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ย 15-15-15 และยาฟูราดาน ผสมกับดิน เมื่อย้ายปลูก วางระบบรากให้ดี กลบดินให้แน่นป้องกันต้นล้ม และรดน้ำบางๆ
ข้อควรระวัง
1. ถ้าปลูกตื้นเกินไป ทำให้พืชไม่เจริญเติบโต และต้นล้มภายหลัง แต่ถ้าปลูกลึกเกินไป ทำให้เกิดโรค
2. การปลูกถี่ ทำให้โรคระบาดได้ง่าย การปลูกห่างทำให้เสียพื้นที่
ช่วงการดูแลรักษา
ถ้าสภาพดินขาดความชื้น ทำการคลุมดินด้วยฟางข้าวหรือเปลือกถั่ว ใช้ปุ๋ยครั้งแรก 7-10 วัน หลังย้ายปลูก เมื่อพืชเริ่มแตกยอดใหม่ โดยใช้ปุ๋ย 27-0-0 ทุก 7 วัน จนกระทั่งเริ่มให้ดอกแรก หลังย้ายปลูกได้ 30 วัน ใส่ปุ๋ย 15-15-15 ครึ่งช้อนแกง/ต้น โดยโรยปุ๋ยรอบต้นในรัศมี 15 ซม. เดือนละครั้ง จนถึงเวลาออกดอก (ประมาณ 90 วันหลังปลูก) ให้เปลี่ยนไปใช้ปุ๋ย 12-24-12 แทนเดือนละครั้งต่อไป เป็นเวลา 7-8 เดือน และใช้ปุ๋ย 27-0-0 ถ้าต้องการเร่งให้พืชแตกกอใบ กำจัดวัชพืชเมื่อทำการใส่ปุ๋ยไปในตัว คอยพรวนดินโคนต้นให้โปร่ง มีอากาศถ่ายเท
ฉีดพ่นยาเคมีตามตารางเวลาสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคและแมลง ถ้าเกิดมีโรคหรือศัตรูพืชระบาดมาก ให้ร่นตารางเวลาการฉีดพ่นให้กระชั้นเข้า จนกว่าจะหมดปัญหา คัดถอนใบหรือดอกที่แก่หรือเป็นโรคทิ้งเสียไม่ให้เป็นแหล่งสะสมโรคและแมลง ในฤดูฝน แต่งกอให้โปร่งเพื่อให้มีแสงแดดพอเพียงสำหรับการแตกกอใหม่ขึ้นมา และเพื่อป้องกันการเกิดโรคเน่า ผสมปุ๋ย ไบโฟลาน และธาตุอาหารอื่นๆ พร้อมกับการฉีดพ่นสารเคมี (สัปดาห์ละครั้ง) ให้น้ำทุกวันด้วยระบบชลประทานน้ำหยด ตั้งแต่ 8.00-12.00 น.
ข้อควรระวัง
1. การปลูกตัดดอกในฤดูฝน ควรปลูกในโรงเรือนพลาสติค เพื่อให้ดอกมีคุณภาพดี โดยสามารถลดปัญหาโรคพืช และปัญหากลีบดอกเสียหายเนื่องจากฝน
2. ในฤดูร้อน มักมีการระบาดของแมลง เช่น เพลี้ยไฟ ทำให้เกิดโรคต้องทำการฉีดพ่นยาควบคุมป้องกันตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ
3. ในการควบคุม ป้องกัน โรคใบจุด รากเน่า รากปม และโรคเหี่ยวนี้ ควรใช้ตัวยาสารเคมีสลับกันไป เพื่อไม่ให้โรคและแมลงเกิดดื้อยาชนิดใดชนิดหนึ่ง
4. เมื่อมีปัญหาโรคดอกไม่บาน (Green Flower) สาเหตุจาก Mycoplasma ให้ถอนต้นทิ้งทำลาย (ผังหรือเผา)
ช่วงการเก็บเกี่ยว
พ้อมที่จะตัดดอกได้ 4-4.5 เดือน และปริมาณดอกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เลือกตัดดอกที่บานเต็มที่ ใช้มือหักก้านดอกจากโคน ดดยโยกไปซ้าย-ขวา จนกว่าจะหลุด ไม่ใช้กรรไกรตัด แช่ดอกในน้ำผสมยาคลอไรน์ 0.2% (Chlorine 0.2%) ก่อนแล้วบรรจุดอกโดยใส่ในถุงพลาสติค หรือโดยใช้กรวยพลาสติคสวมก้านดอก เข้ากำทีละ 5 ดอกห่อด้วยกระดาษอีกทีจึงบรรจุลงกล่องควรทำการตัดดอกในตอนเช้าวันที่จะขนส่งไปตลาด
ข้อควรระวัง
1. ในประเทศไทย ยังไม่มีมาตรฐานการจัดเกรดดอกเยอบีร่า สำหรับโครงการหลวงได้กำหนดมาตรฐานไว้ดังนี้
-เกรด A ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม. ขึ้นไปและก้านยาว 35 ซม.ขึ้นไป
-เกรด B ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 7-10 ซม.ขึ้นไปและก้านยาว 35 ซม. ขึ้นไป
2. ระยะเวลาตัดดอกนาน 7-8 เดือน ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและสภาพอากาศ พืชนี้จะไม่ทนทานต่อสภาพร้อนหรือหนาวเกินไป
3. คละดอกสีต่างๆ กัน เมื่อส่งดอกขาย เพื่อแลดูงดงาม
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่