เยอบีร่า

ที่มา:วันดี ใจนิ่ม

นักวิชาการเกษตร 6 สถานีทดลองพืชสวนบางกอกน้อย สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

เยอบีร่าเป็นไม้ตัดดอกที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอัฟริกาใต้ มีชื่อสามัญว่า Barberton daisy หรือ Africa daisy ชื่อวิทยาศาสตร์ Gerbera jamesonii จัดอยู่ในตระกูล Compositae มีการนำเยอบีร่าเข้ามาปลูกในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 70 ปีแล้ว จนมีพันธุ์เยอบีร่าที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สามารถปลูกเป็นการค้าในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ ทำรายได้ให้กับเกษตรกร ได้ดีมาก ในระยะหลัง ๆ เยอบีร่าพันธุ์ยุโรปซึ่งเป็นเยอบีร่าที่ได้รับการพัฒนาเป็นไม้ตัดดอกจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และปลูกเลี้ยงในโรงเรือนที่ปรับอุณหภูมิได้ มีลักษณะดอกที่แตกต่างไปจากดอกเยอบีร่าพนธุไทย กลีบดอก ย่อยชั้นอก 2-3 ชั้น กลีบดอกกว้างหนา มีความยาวเท่า ๆ กัน สีสันสดใส ก้านแข็งแรง ถูกสั่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

สถาบันวิจัยพืชสวนได้เล็งเห็นแนวโน้มการปลูกเยอบีร่าควรมีการเปลี่ยนแปลง จึงได้สั่งเมล็ดพันธุ์เยอบีร่ายุโรปพันธุ์การค้าเข้ามาปลูกด้วยกันหลายพันธุ์ วัตถุประสงค์นั้นเพื่อจะทำเป็นไม้ตัดดอกทดแทนการนำเข้า ปรับปรุงพันธุ์ดั้งเดิมให้มีคุณภาพดีขึ้น และมีแนวโน้มเพื่อการส่งออกด้วย ดังนั้นจึงมีการนำเยอบีร่าพันธุ์ต่างประเทศไปปลูกตามแหล่งต่าง ๆ ทั่วประเทศ เมล็ดเยอบีร่าที่สั่งเข้ามานั้น ทั้ง ๆ ที่ระบุว่าเป็นพันธุ์ยุโรปซึ่งเหมาะที่จะใช้ทำเป็นไม้ตัดดอก แต่ปรากฏว่ามีความหลากหลายของพันธุ์ปนมา ซึ่งแบ่งตามลักษณะดอกได้ 3 แบบ คือ : —

1. สายพันธุ์ยุโรป มีลักษณะกลีบดอกย่อยชั้นนอกกว้าง กลีบดอกหนาและแข็ง มีกลีบดอก 2-3 ชั้น ความยาวเท่า ๆ กัน สีดอกสดใส ดอกชั้นในเป็นหลอด อยู่เป็นกลุ่มตรงกลาง มีเกสรตัวผู้ที่สมบูรณ์ ขนาดดอก 7-12 เซนติเมตร จำนวนดอก 30-60 ดอก/ต้น/ปี ความยาวก้าน 30-70 เซนติเมตร มีหลายสี เช่น ขาวแดง ชมพู เหลือง ส้ม ม่วง ได้แก่ พันธุ์ Royal Diamond และ Aalsmeer Giant

2. สายพันธุ์อเมริกัน มีลักษณะกลีบดอกย่อยชั้นนอกเรียวยาวเล็กค่อนข้างบอบบาง มีกลีบดอกเพียง 1-2 ชั้น ขนาดดอก 5-15 เซนติเมตร ให้ดอกดก จำนวน ดอก 80-120 ดอก/ต้น/ปี ก้านดอกยาว 20-50 เซนติเมตร ก้านดอกเล็ก การแตกหน่อดี 50-100 หน่อ/ต้น/ปี ได้แก่พันธุ์ Australian series

3. สายพันธุ์ลูกผสมคล้ายกับพันธุ์ไทยผสมกับพันธุ์อเมริกัน ลักษณะดอกซ้อนหนาหลายชั้น กลีบดอกชั้นนอกสุดยาวกว่าชั้นอื่นๆ กลีบเรียวเล็กบาง หน้ายุ่ง รุ่งริ่ง ขนาดดอก 7-15 เซนติเมตร จำนวนดอกเฉลี่ย 60 ดอก/ต้น/ปี ก้านดอกยาว 25-40 เซนติเมตร มีอายุการใช้งานสั้น เนื่องจากขนาดดอกใหญ่ กลีบดอกซ้อนหนา แต่ก้านดอกเล็ก

นอกจาก 3 สายพันธุ์ที่กล่าวมาข้างต้น ยังได้มีการปรับปรุงพันธุ์โดยการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ไทยกับพันธุ์ยุโรป เนื่องจากพันธุ์ไทยมีลักษณะกลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น ความยาวของกลีบดอกลดหลั่นลงไปอย่างเป็นระเบียบจนถึงใจกลางดอก และเกสรตัวผู้มักเป็นหมัน จึงใช้พันธุ์ไทยเป็นแม่พันธุ์ และใช้พันธุ์ยุโรปซึ่งมีเกสรตัวผู้ที่สมบูรณ์เป็นพ่อพันธุ์ ลักษณะดอกของลูกผสมระหว่างพันธุ์ไทยกับพันธุ์ยุโรปที่ได้มานั้น มีลักษณะการซ้อนของกลีบดอกหลายชั้น ความยาวของกลีบดอกจะลดหลั่นลงไปอย่างเป็นระเบียบเหมือนพันธุ์ไทย ยกเว้นกลีบดอกชั้นนอกสุดจะยาวกว่าชั้นอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดเป็นอีกวงหนึ่ง กลีบดอกกว้าง และหนากว่าพันธุ์ไทย มีก้านที่ใหญ่และแข็งแรง สีดอกสดใสและสีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทนร้อน สามารถปลูกได้ดีใกรุงเทพมหานคร

การปลูกเลี้ยงเยอบีร่าต่างประเทศนั้น ก็ยังคงปลูกเลี้ยงเหมือนการปลูกเลี้ยงเยอบีร่าไทยที่เคยปลูกกัน จะมีการพรางแสงให้บ้างในช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง และร้อนจัดหรือปลูกภายใต้โรงเรือนที่มีการพรางฝนและแสงอย่างง่าย ๆ โดยใช้ไม้ไผ่ ใบตองตึง และพลาสติก เช่นที่ภาคเหนือ ซึ่งแตกต่างจากการปลูกเลี้ยงในต่างประเทศ ส่วนใหญ่การปลูกเยอบีร่าในยุโรปจะปลูกในเรือนกระจกสามารถปรับอุณหภูมิตามที่พืชต้องการได้ และมีการให้แสงไฟช่วยโดยเฉพาะฤดูหนาว นอกจากนี้ยังมีการให้นํ้าแบบหยด และให้ปุ๋ยไปด้วยสามารถควบคุมโรคและแมลงได้ ทำให้ดอกมีคุณภาพดีสมํ่าเสมอ

การปลูกในบ้านเราจะปลูกในแปลงกลางแจ้ง จึงต้องมีการเตรียมแปลงปลูก ดินปลูกอาจเป็นดินเหนียว ดินทราย หรือดินร่วน ควรทำให้ดินร่วนซุยโดยการผสมปุ๋ยคอก แกลบ หรือเปลือกถั่วพอควร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 15-15-15 และซุปเปอร์ฟอสเฟต อย่างละ ½ ช้อนซา หยอดสารฆ่าแมลงเทมมิค 10 จี หลุมละ ½  ช้อนชา ควรยกแปลงปลูก เพื่อป้องกันนํ้า แช่ขัง ระยะห่าง 50 X 50 เซนติเมตร หลุมลึก 10 เซนติเมตร วางต้นในหลุมให้คอต้นสูงกว่าระดับหน้าดินเล็กน้อย เพื่อป้องกันดินกลบยอดจะทำให้ต้นเน่าตาย จากนั้นทำการกลบดิน รดนํ้าให้ชุ่ม ควรมีการทำที่บังร่มให้ต้นที่ปลูกใหม่ จนกว่าต้นเยอบีร่าตั้งตัวได้ดีจึงหยุดบังแดด มีการคลุมฟางแปลงเยอบีร่าเพื่อให้ดินสามารถเก็บความชื้น หน้าดินไม่แตกระแหง และสามารถป้องกันวัชพืช เช่น พรหมพระอินทร์ได้อีกด้วย

การดูแลรักษา หลังจากปลูกแล้ว ในระยะแรก รดนํ้าพอชุ่ม เมื่อเยอบีร่าตั้งตัวดีแล้ว ควรรดนํ้า เช้า – เย็น การใส่ปุ๋ยครั้งแรกควรใส่เมื่อปลูกไปแล้ว 40 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 1 ช้อนชา และใส่ทุก ๆ เดือนในอัตราเดียวกัน การใส่ปุ๋ยควรใส่รอบ ๆ กอ ควรพรวนดินกลบเพื่อช่วยให้ดินโปร่ง และเป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัว

การพ่นสารป้องกันโรคและแมลง ให้พ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยใช้สารป้องกันเชื้อรา เช่น ไดโฟลาแทน แคปแทน สารกำจัดแมลง เช่น อโซดริน พอสช์ เซฟวิน โตกุไธออน เคลเทน เป็นต้น การใช้สารฆ่าแมลงไม่ควรใช้อย่างเดียวอยู่เป็นประจำ ควรใช้หลายอย่างพ่นสลับกันไป เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงสร้างภูมิต้านทานกับตัวเอง

หลังจากที่ต้นเยอบีร่าเริ่มให้ดอกแล้ว ควรพ่นปุ๋ย ทางใบเพิ่ม 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง โดยใช้ปุ๋ยดิส (มีธาตุอาหารเสริม) 1 ช้อนชาผสมกับปุ๋ยเกล็ดเชลล์ (15-30-15) 1 ช้อนชา ละลายในนํ้า 20 ลิตร

ควรมีการเก็บใบแก่บริเวณโคนต้นออกเป็นประจำ ให้เหลือกอละประมาณ 20-25 ใบ จะทำให้เยอบีร่า ไม่ค่อยเป็นโรคและให้ดอกได้ตลอดปี นอกจากนี้ควรหยอดเทมมิค 10 จี เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันเพลี้ยไฟ และไส้เดือนฝอย

ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน ควรมีการพรางแสงให้ต้นเยอปีร่า ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงนี้ แดดร้อนจ้ด ทำให้ดอกแก่เร็วกว่าปกติ ก้านดอกสั้น สีดอกซีดและคล้ำกว่าในฤดูหนาว การพรางแสงจะช่วยให้ดอกมีสีสดใสและก้านยาวขึ้น

การเก็บดอก

ใช้มือจับเหนือโคนก้านดอกสูงขึ้นประมาณ 3-4 นิ้ว กระตุกดอกหักลงเบา ๆ ก้านดอกจะหลุดจากกอ ไม่ควรใช้กรรไกรหรือมีดตัด เพราะจะทำให้เหี่ยวเร็ว และเน่าง่าย

การเก็บดอกสายพันธุ์ยุโรปให้เก็บดอกในระยะที่กลีบดอกชั้นในที่เป็นหลอดบาน 1-2 ชั้น และควรจะนำไปแช่นํ้าทันที โดยใช้ก้านดอกแช่นํ้าไว้อย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพื่อให้ก้านดูดนํ้าไว้เต็มที่

การป้องกันไม่ให้กลีบดอกช้ำ ควรจะนำดอกเสียบถุงพลาสติกใสขนาด 2 X 3” (ถุงนํ้าจิ้ม) มัดกำห่อ ใบตองหรือกระดาษส่งตลาด

โรคและแมลง

1) โรคใบจุด เกิดจากเชื้อรา มีอาการเป็นวงสีม่วง ปนนํ้าตาลตามแผ่นใบ โรคจะระบาดมากในช่วงฤดูฝน ควรฉีดพ่นด้วย แคปแทน ซีแนป ไดโฟลาแทน หรือเบนเลททุกสัปดาห์ และลิดใบที่เป็นโรคออก

2) โรคโคนเน่า เกิดจากเชื้อรา มีอาการเหี่ยว เฉา และตายในที่สุด บริเวณโคนต้นและรากจะเน่า มักพบมีเส้นใยและเมล็ดกลมสีนํ้าตาลของเชื้อรา ซึ่ง คล้ายเมล็ดผักกาด ควรถอนต้นหรือเผาทำลายเสีย แล้วราดหลุมด้วยยาเทอราคลอร์

3) โรครากปม เกิดจากไส้เดือนฝอย ต้นที่เป็นโรคจะแสดงอาการแคระแกร็น มีสีเหลีอง เหมือนขาดธาตุอาหาร ควรฝังด้วยเทมมิค 10 จี ก่อนปลูกและ ผังทุก ๆ เดือน ต้นละ ½ ช้อนชา นอกจากนี้การแก้ไข โดยไม่ปลูกซ้ำที่ ควรมีการปลูกพืชอื่นหมุนเวียนไป

4) โรคดอกเขียว เกิดจากเชื้อไวรัส ต้นที่เป็นโรคจะแสดงอาการออกมาให้เห็น ทราบได้ต่อเมื่อออกดอกแล้ว โดยจะเห็นกลีบดอกเปลี่ยนเป็นสีเขียว ลักษณะคล้ายใบและเจริญเป็นยอดหรือต้นเล็ก ๆ อยู่บนช่อดอก เมื่อพบควรขุดนำไปผังหรือเผาทำลายเสีย

5) เพลี้ยไฟ จะดูดนํ้าเลี้ยงจากดอกและใบ ทำให์ได้รับความเสียหายมาก ดอกที่ถูกทำลายมีรอยด่างขาว ทำให้หมดคุณค่าไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ ถ้าหากเพลี้ยไฟทำลายมากจะทำให้ใบหงิกงอ หยาบกร้าน ต้นมีขนาดเล็กกว่าปกติ กลีบดอกจะหงิกงอและไม่แผ่ออก เพลี้ยไฟระบาดมากในช่วงที่อากาศร้อนและแห้งแล้ง ควรฉีดพ่นด้วยโตกุไธออน และบาซูดิน

6) หนอนผีเสื้อกลางคืน วางไข่ขณะดอกตูม ในตอนกลางคืน และไข่ฟักออกเป็นตัวหนอนกัดกินดอกตอนเริ่มบาน ควรฉีดพ่นด้วย อซดริน พอสช์ แลนเนท