เลี่ยนตำรับยาและวิธีใช้


ชื่ออื่น เกรียน เคี่ยน เฮี่ยน (ภาคเหนือ) โขวหนาย (แต้จิ๋ว) ขู่เลี่ยน (จีน กลาง) Bead Tree, Bastard Cedar, China Tree, Chinaball Tree, Persian Lilac
ชื่อวิทยาศาสตร์ Melia azedarach L.
วงศ์ Meliaceae
ลักษณะต้น เป็นไม้ใหญ่ผลัดใบ เจริญเต็มที่สูง 20 เมตร มีกิ่งก้านสาขา มาก ใบออกเป็นช่อ ในหนึ่งช่อประกอบด้วยใบย่อยเรียงตัวแบบขนนกยาวเต็มที่ 20 ซม. ใบย่อยเป็นรูปไข่ยาว 3-7 ซม. กว้าง 2-3 ซม. ขอบใบ หยักแบบฟันเลื่อย ท้องใบสีเขียวแก่ หลังใบสีเขียวอ่อน มีขนอ่อนเฉพาะ บริเวณเส้นใบ ช่อดอกเป็นชนิดดอกล่างบานก่อน เกิดที่ซอกใบ ดอกสีม่วงอ่อน ยาวประมาณ 1 ซม. มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ ท่อเกสรตัวผู้มีสีม่วงแก่ ยาวประมาณ 7 มม. ผลกลมมีขนาดประมาณ 1.5 ซม. สีเหลืองอ่อน มี 4-5 ห้อง แต่ละห้องมีเมล็ดเดียว เพาะพันธุ์โดยเมล็ด หรือใช้กิ่งปักชำ ขึ้นตามริมทาง และปลูกเป็นไม้ประดับ
ส่วนที่ใช้ เปลือกต้น (เก็บในฤดูหนาวเอาเฉพาะเปลือกชั้นในสีเทาโดย ขูดผิวชั้นนอกออกก่อน) ใบ ดอก ผล
สรรพคุณ
เปลือกต้น เปลือกราก ขับพยาธิตัวกลม ทำให้อาเจียน และไล่แมลง
ใบ ขับปัสสาวะ ขับพยาธิตัวกลม ขับระดู ฝาดสมาน บำรุงธาตุ แสะไล่แมลง
ดอก แก้โรคผิวหนัง ฆ่าเหา
ผล ใช้ทาแผลพุพองจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก แก้โรคผิวหนัง แผลพุพองที่หัว เป็นยาฆ่าแมลง และฆ่าเหา
ข้อห้ามใช้
ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการกลัวหนาว แขนขาเย็น ไม่กระหายน้ำ ชอบดื่มของร้อน ปวดท้อง ท้องร่วง ปัสสาวะใสและมาก ชั้นฝ้าบนลิ้นขาว (จีนเรียกว่าอาการพร่อง)
ตำรับยาและวิธีใช้
1. พยาธิตัวกลมในเด็กเล็ก ใช้เปลือกต้นหรือเปลือกราก 3 กรัม ต้มน้ำกิน
2. พยาธิปากขอ ใช้เปลือกต้น 600 กรัม ใส่น้ำ 3,000 มล. ต้มให้เหลือ 600 มล. และใช้เปลือกผลทับทิม 25 กรัม เติมน้ำ 300 มล. ต้ม ให้เหลือ 120 มล. นำสารละลายทั้งสองมาผสมกัน ผู้ใหญ่กินครั้งละ 30 มล.
3. ผื่นคัน ปวดฟัน ใช้เปลือกต้น ต้มน้ำชะล้างหรือใช้บ้วนปาก
4. แก้หิด ใช้เปลือกต้นและกิ่งเผาเป็นเถ้า ผสมน้ำมันหมูทา
รายงานทางคลีนิค
ผลในการขับพยาธิตัวกลม คนไข้ 2 หมื่นราย ใช้เปลือกต้นแห้ง 5-10 กรัมสำหรับผู้ใหญ่ ขนาด 3-6 กรัม สำหรับเด็ก ต้มน้ำหรือบดเป็น ผงปั้นเป็นลูกกลอนกิน และอีก 5 พันรายที่ใช้ยาเม็ดทูเซนดานิน (too- sendanin เป็นสารสกัดจากเปลือกต้น) ที่มีตัวยา 0.025 กรัมต่อเม็ด ผู้ใหญ่กินครั้งละ 6-8 เม็ด เด็กอายุ 1 ขวบกินครั้งละ 2 เม็ด  2-4 ขวบกินครั้งละ 2-3 เม็ด  4-6 ขวบกินครั้งละ 3-4 เม็ด  6-8 ขวบกินครั้งละ 4 เม็ด  9-12 ขวบกินครั้งละ 5 เม็ด โดยกินวันละสองครั้ง อาจจะให้ ดีเกลือ (magnesium sulfate) ร่วมด้วยตามความเหมาะสม ผลการขับพยาธิ พบว่าได้ผล 20.2-100% โดยทั่วไปหลังจากกินยาไม่กี่ชั่วโมง หรือภายใน 2-3 วัน จึงจะขับพยาธิตัวกลมออกมา ส่วนใหญ่จะขับพยาธิออกมาภายใน 24-48 ชั่วโมง นอกจากนี้ในการขับพยาธิตัวกลมอุดตันในลำไส้ เด็กจำนวน 50 ราย โดยใช้เปลือกต้นสด 50 กรัมต้มกับน้ำให้ได้น้ำสกัด 200 มล. ใช้สวนทวาร หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมงใช้น้ำสกัด 300-500 มล. สวนทวารเป็นครั้งที่สอง หลังจากนั้น 1 ชั่วโมงใช้น้ำสกัด 300-500 มล. สวนทวารเป็นครั้งที่สามเป็นการรักษาช่วงแรก ภายหลัง 24 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ขับพยาธิให้เริ่มช่วงที่สอง (ในรายที่เสียน้ำมากต้องให้น้ำเกลือก่อน) พบว่าได้ผลดีมาก
สำหรับการขับพยาธิตัวกลมในถุงน้ำดี ใช้รากเลี่ยน 120-180 กรัม (รวมทั้งเปลือก) ต้มน้ำให้ได้ 100 มล. เด็กต่ำกว่า 12 ขวบ แบ่งกินเป็น 3 ครั้งต่อวัน ถ้าเด็กอายุเกินกว่า 12 ขวบ แบ่งกินเป็น 2 ครั้งต่อวัน เป็น เวลา 2-3 วัน โดยทั่วไปแล้วหลังจากกินยา 2-3 ชั่วโมง อาการปวดท้อง จะลดลงทันที จะถ่ายพยาธิตัวกลมออกมาตั้งแต่การถ่ายอุจจาระครั้งแรก หลังจากรักษาช่วงแรกถ้ามีอาการปวดท้องเล็กน้อยให้เว้นระยะสัก 1-2 วัน จึงให้เริ่มช่วงที่สอง นอกจากนี้เปลือกรากเลี่ยนยังมีผลในการขับพยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวตืดและพยาธิแส้ม้าอีกด้วย
ข้อควรระวัง อาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้เปลือกต้นเลี่ยน โดยทั่วไปแล้วจะเกิดหลังจากใช้ยา 16 ชั่วโมง ก่อนมีการขับพยาธิออกมา ซึ่งจะมีอาการมึนหัว ซึม ปวดหัว อยากอาเจียน ปวดท้อง เป็นต้น อัตราสูงสุดที่เกิดมีถึง 100% ที่ต่ำสุดไม่ถึง 1 % ส่วนใหญ่จะมีอาการดังกล่าวเป็นเวลาตั้งแต่ไม่กี่นาทีหรือ 1-3 ชม. ที่นานที่สุด 16 ชม. และจะหายไปเอง
พิษอย่างรุนแรงที่พบคือจะกดศูนย์การหายใจส่วนกลาง (เหมือน อาการที่ได้รับพิษจากลำโพง) การตกเลือดของอวัยวะภายในเนื่องจากผนังหลอดเลือดเปราะแตก ความดันโลหิตลดลง ตับอักเสบ ประสาทและสายตาผิดปกติ เป็นต้น ในรายที่รุนแรงอาจตายได้ อาการเป็นพิษดังกล่าวข้างต้น เกิดจากการใช้ปริมาณยามากเกินไป หรือเป็นเพราะ ร่างกายของผู้ป่วยมีความไวต่อยาเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นในการใช้ควรระมัดระวังขนาดใช้เป็นพิเศษ
ผลทางเภสัชวิทยา
สารมาร์โกซีน (margosine) ที่ได้จากการสกัดเปลือกรากและเปลือกต้นด้วยแอลกอฮอส์มีฤทธิ์ในการขับพยาธิตัวกลม พบว่าทำให้พยาธิตัวกลมของหมูซึ่งทดลองนอกร่างกายเป็นอัมพาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณหัวและออกฤทธิ์ช้าในการขับพยาธิแต่ฤทธิ์จะคงอยู่นาน ฤทธิ์ในการขับพยาธิขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้กล่าวคือ มาร์โกซีนที่เข้มข้นตั้งแต่ 1 : 1,000 ขึ้นไป มีผลทำให้พยาธิตัวกลมของหมูเกิดอัมพาต โดยเฉพาะตรงปมประสาทบริเวณหัว แต่ถ้าใช้มาร์โกซีนที่มีความเข้มข้นน้อยลงระหว่าง 1 : 5,000 -1 : 9,000 จะมีฤทธิ์กระตุ้นบริเวณหัวและกลางลำตัวของพยาธิอย่างเห็นได้ชัด การกระตุ้นแสดงให้เห็นโดยพยาธิเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น และมีการบีบตัวอย่างรุนแรงเป็นระยะๆ เป็นเวลานานประมาณ 10-24 ชม. และมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อลำไส้ของกระต่ายทั้งนอกและในร่างกายทำให้การบีบตัวของลำไส้แรงและเร็วขึ้น ดังนั้นเมื่อใช้ในการขับพยาธิก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาถ่ายช่วย สำหรับสภาพระบบเลือด (blood picture) ความดันโลหิต การหายใจและมดลูกไม่มีผลที่เห็นได้ชัดเจน
สารละลายที่ได้จากการสกัดผลเลี่ยนด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ใน การยับยั้งเชื้อราอย่างเห็นได้ชัด สารละลายที่ได้จากการสกัดด้วยน้ำร้อนก็มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อราเช่นกัน แต่จะมีฤทธิ์น้อยกว่า ส่วนสารสกัดเปลือกต้นด้วยแอลกอฮอล์และปิโตรเลียมอีเทอร์ใช้ฆ่าตัวอ่อนของแมลงได้
ความเป็นพิษ
สารทูเซนดานิน (toosendanin) มีฤทธิ์ต่อสัตว์ชนิดต่างๆ แตกต่าง กันมาก ลำดับของสัตว์ที่มีความไวต่อการรับพิษเริ่มจากแมว สุนัข กระต่าย หนูขาว หนูถีบจักร
ฤทธิ์ในการกระตุ้นกระเพาะอาหาร ถ้าใช้ปริมาณมาก ขนาด 20-40 มก. ต่อ กก. น้ำหนักตัว กรอกเข้าไปในกระเพาะหนูขาว จะทำให้ เยื่อบุผิว (mucous membrane) ของกระเพาะอาหารเกิดการบวมน้ำ อักเสบ บวมเป็นหนองและเป็นแผลได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารจึงควรระมัดระวังการใช้
สารนี้ขนาด 8-10 มก.ต่อ กก.น้ำหนักตัว จะทำให้สุนัขอาเจียน มักจะเกิดขึ้นภายหลังการใช้ยา 3- 6 ชม. หากสุนัขกินทูเซนดานินในปริมาณ 10 มก.ต่อ กก.น้ำหนักตัว วันเว้นวัน จำนวน 5 ครั้ง จะมีผลทำให้เซลล์ของตับบวม ดังนั้นปริมาณที่ใช้โดยทั่วไปควรควบคุมอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะในเด็กควรใช้น้อยกว่า 5 มก. ต่อ กก.น้ำหนักตัว พบว่าพิษของทูเซนดานิน จะน้อยกว่าแซนโตนิน (santonin) ซึ่งเป็นยาขับพยาธิที่ได้จากสมุนไพรชนิดหนึ่ง พิษของทูเซนดานินจะออกฤทธิ์ช้าและคงฤทธิ์อยู่นาน ในการทดลองกับหนูต้องใช้เวลาเกินกว่าอาทิตย์ สารจึงจะถูกขับออกจากร่างกายหมด ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ติดต่อกัน
ผล มีพิษทำให้อาเจียน ท้องเสีย อัมพาต และทำให้เสพติดได้ เคยมีรายงานว่ามีเด็กตายเนื่องจากกินผลเลี่ยน 6-8 ผล
วิธแก้พิษเบื้องต้น ทำให้อาเจียนและส่งต่อแพทย์
สารเคมีที่พบ
เลี่ยน มีสารขมหลายอย่างเป็นพวก triterpenoids
เปลือกรากและเปลือกต้น มีสารขมที่สำคัญ เช่น margo (azaridine), toosendanin นอกจากนี้ยังมีสารขมอย่างอื่น เช่น nimbolin A, nimbolin B, frazinellone, gendunin, kulinone, kuhctone, kulolactone และ meliantriol เป็นต้น
เปลือกต้น ยังมี triacontane, ß-sitosterol, glucose และสารอื่น อีกจำนวนเล็กน้อย
ใบ มี carotenoid และmeliantin
ผล มี bakayanin และ neo-bakayanin
เมล็ด มีสารพวก tetranortriterpenoids มีฤทธิ์กำจัดแมลง น้ำมันจากเมล็ดมี fatty acid (linoleic acid, oleic acid, myristic acid, palmitic acid)
หมายเหตุ
1. เปลือกรากจะมีฤทธิ์แรงกว่าเปลือกต้นเท่าตัว เปลือกใกล้ราก (เหนือดินประมาณ 5 นิ้ว) มีฤทธิ์ในการขับพยาธิใกล้เคียงกับราก เก็บ เปลือกรากในฤดูหนาว ฤทธิ์จะดีกว่าเก็บในฤดูอื่น
2. สารออกฤทธิ์ของเลี่ยนละลายในน้ำได้ยาก ต้องใช้ไฟอ่อนๆ ต้ม จึงจะมีผลในการรักษา เปรียบเทียบเมื่อใช้เลี่ยน 60 และ 180 กรัม ใช้ ต้มด้วยไฟอ่อนๆ 11 ชม. พบว่าได้ผลดีกว่าใช้เลี่ยน 240 กรัม ต้มด้วย ไฟแรงเป็นเวลา 4 ชม.
3. วิธีใช้ กินครั้งเดียวก่อนนอนหรือตื่นเช้าตอนท้องว่าง หรือแบ่งครึ่งกินก่อนนอนและตอนเช้าก็ได้ ยาต้มจะใส่น้ำตาลเข้าไปปรุงรสก็ได้ ไม่ต้องเติมยาถ่ายใดๆ เข้าไป อาจกินอาหารมันก่อนกินยา เพื่อลดการ กระตุ้นของยาที่มีต่อเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารให้น้อยลงและเป็นการป้องกันผลที่จะเกิดแก่กระเพาะอาหารและลำไส้
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล