เล็บมือนาง


ชื่อวิทยาศาสตร์ Aegiceras corniculatum (L.) Blanco
ชื่อวงศ์ MYRSINACEAE
ชื่ออื่น เล็บนาง (สตูล), แสมแดง (ชุมพร) แสมทะเล (ปัตตานี), ลำพู (ตราด)
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่ม ไม่ผลัดใบ สูง 3-7 ม. แตกกิ่งในระดับต่ำ ใกล้โคนต้น มีพูพอนเล็กน้อย เปลือกต้นเรียบสีเทาเข้มถึงสีน้ำตาลแดง


ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบกิ่ง หนาแน่นที่ปลายกิ่ง แผ่นใบหนา คล้ายแผ่นหนัง รูปไข่กลับถึงรูปรี กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 4-9 ซม. ปลายใบแหลมถึงเว้าตื้นๆ แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน โคนใบรูปลิ่ม ผิวใบด้านบนเป็นมัน เส้นกลางใบด้านล่างใบสีแดงเด่นชัด ก้านใบยาว 0.5-1 ซม.
ดอก สีขาว มีกลิ่นหอม ออกดอกตามง่ามใบ เป็นช่อแบบช่อซี่ร่ม แต่ละช่อจะประกอบด้วยดอกจำนวนมากก้านดอกย่อยเรียวยาว 1-2ซม. มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ จะติดคงทนและไม่ติดกัน กลีบดอก 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม โคนกลีบมักติดกันอยู่ในหลอดซึ่งยาว 0.5-0.6 ซม. เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะโค้งกลับไปทางฐานดอก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ออกดอกเดือน ก.พ.-พ.ค.


ผล ผลเป็นรูปทรงกระบอกเรียวโค้ง ยาว 5-8 ซม. ปลายผลเป็นติ่ง แหลมยาว ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียวแต่เมื่อผลแก่จะเป็นสีเขียวอมนํ้าตาล เมล็ดเป็นแบบงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่บนต้น ผลแก่เดือน ก.ย.-พ.ย.
นิเวศวิทยา พบกระจาย หรือเป็นกลุ่มตามริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณที่เป็นดินทรายและน้ำท่วมถึงเสมอ
การใช้ประโยชน์ เปลือกไม้ และเมล็ด ใช้ในการย้อมสีและเป็นยา เบื่อเมาปลา
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย