เหงือกปลาหมอมีประโยชน์อย่างไร

เหงือกปลาหมอดอกขาว เหงือกปลาหมอดอกม่วง
ชื่อวิทยาศาสตร์ 1. Acanthus ebracteatus Vahl. (ดอกสีขาว)
2. A. ilicifolius Linn. (ดอกสีม่วง)
ชื่ออื่นๆ จะเกร็ง อีเกร็ง (ทั่วไป) แก้มหมอ (กระบี่)
ชื่ออังกฤษ Sea Holly, Saltbush, Thistleplike Plant.


ลักษณะ ไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 1-1.5 เมตร ลำต้นแข็งสีเขียวแกมเทา ต้นกลม มีหนามอ่อนๆ ตรงข้อๆ ละ 4 หนาม ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ สีเขียวเข้มผิวใบมันเล็กน้อย รูปไข่ ขอบใบเรียบหรือเว้า มีหนามแหลม ก้านใบสั้นๆ ใบกว้าง 3-7 ซ.ม. ยาว 6-20 ซ.ม. ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 10-15 ซ.ม. ดอกสีขาวและอีกชนิดหนึ่งดอกสีฟ้า ผล เป็นฝักสั้นๆ สีนํ้าตาล เมื่อแก่มีเมล็ด 4 เมล็ด
เหงือกปลาหมอชนิด A. ebracteatus Vahl.มีดอกสีขาวค่อนข้างเล็ก ส่วน A. ilicifolius Linn. ดอกสีฟ้าอมม่วงดอกจะใหญ่กว่าทั้งสองชนิดชอบขึ้นตามริมคูคลอง นํ้ากร่อย นํ้าจืด และชายเลน
ส่วนที่ใช้ ราก ต้น ใบ ดอก เมล็ด
สารสำคัญ มีอัลคาลอยด์ที่มีรสขม trigonelline, acanthicifoline.
ประโยชน์ทางยา
ยาภายนอก ใช้ทั้งต้นต้มนํ้าอาบแก้คัน ใบตำพอกฝี
ยาภายใน แพทย์ไทยใช้ทั้ง 5 เป็นยาแก้ไข้ ผลใช้เป็นยาขับโลหิต รักษาฝี ในสิงคโปร์ ผลเป็นยาต้มขับโลหิต เมล็ด ต้มกับดอกมะเฟืองเติมเปลือกอบเชยเล็กน้อยและนํ้าตาลกรวดจิบแก้ไอ เมล็ดคั่วป่นละลายนํ้ารับประทานรักษาฝี
ยาเสริมสุขภาพ ทำเป็นยาอายุวัฒนะ ใช้เหงือกปลาหมอ 2 ส่วน พริกไทย 1 ส่วน ตำผสมกันทำเป็นยาลูกกลอนผสมนํ้าผึ้งรับประทานวันละ 2 เม็ด เช้าเย็นหลังอาหาร

ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ