เห็ดฟาง:การปรับปรุงพันธุ์เห็ดฟาง

ยงยุทธ์  สายฟ้า

กลุ่มงานวิทยาไมโค

กองโรคพืชและจุลชีววิทยา

กรมวิชาการเกษตร

คนไทยรู้จักเห็ดฟางและใช้ประกอบอาหารกันมาช้านานแล้วเพิ่งจะมีการค้นคว้าทดลองการเพาะและการทำเชื้อตามหลักวิทยาศาสตร์เมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีมานี้เอง ท่านอาจารย์ก่าน  ชลวิจารณ์ เป็นบุคคลแรกที่ได้บุกเบิกงานศึกษาวิจัยด้านเห็ดฟางจนประสบความสำเร็จสามารถทำเชื้อเห็ดฟางจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และคิดค้นวิธีการกองเห็ดฟาง ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าเพราะแบบกองสูง จากนั้นการเพาะเห็ดฟางก็ได้ขยายกว้างออกไป อันเป็นผลมาจากท่านอาจารย์ก่าน  ชลวิจารณ์ ได้เปิดอบรมหลักสูตรการทำเชื้อและการเพาะเห็ดฟางขึ้นหลายรุ่น ทำให้เกิดอาชีพทำเชื้อเห็ดฟาง และเพาะเห็ดฟางขายตามมา เห็ดฟางจึงกลายเป็นเห็ดเศรษฐกิจที่สำคัญและนับวันจะเพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาการเพาะเห็ดฟาง

การพัฒนาการเพาะเห็ดฟาง เริ่มจากการเพาะแบบกองสูงมาเป็นเพาะแบบกองเตี้ยที่ต้องใช้แบบพิมพ์จนถึงขั้นเพาะในโรงเรือนอบไอน้ำพันธุ์เห็ดที่ใช้ส่วนใหญ่จะได้จากดอกเห็ดที่เกิดขึ้นเองตามกองฟางเก่า ๆ แล้วแยกเนื้อเยื่อต่อ ๆ กันเรื่อยมา ไม่มีการบันทึกหรือศึกษาสายพันธุ์เห็ดฟางเหล่านั้นเอาไว้เลย จนอาจจะลืมไปว่าสายพันธุ์เห็ดฟางก็มีความสำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิธีการเพาะ

บทบาทของกรมวิชาการเกษตรในการปรับปรุงพันธุ์เห็ดฟาง

กรมวิชาการเกษตรเล็งเห็นถึงความสำคัญของสายพันธุ์เห็ดนี้ จึงได้วางแผนการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์เห็ดฟางขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นต้นมา

สำหรับงานในระยะแรกนั้นเป็นการศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้น เพื่อนำมาประกอบการวางแผนการปรับปรุงพันธุ์ต่อไป งานดังกล่าวประกอบด้วย

๑.  การเปรียบเทียบลักษณะทางสัณฐานวิทยาและอัตราการเจริญเติบโตระหว่างเชื้อเห็ดที่ได้จากสปอร์เดี่ยวจากดอกเห็ดฟางดอกเดียวกัน

๒.  ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเจริญ ลักษณะของเส้นใย และความสามารถสร้างสปอร์ผนังหนากับผลผลิตของเห็ดฟาง

๓.  การคัดพันธุ์เห็ดฟางโดยอาศัยขนาดดอกเป็นหลัก

๔.  การทดลองเก็บเชื้อเห็ดฟางระยะยาวภายใต้น้ำมันแร่ที่อุณหภูมิต่าง ๆ กัน

๕.  การทดสอบความเป็นหมันของเชื้อเห็ดฟางสปอร์เดี่ยวในห้องปฏิบัติการ

๖.  ความสัมพันธ์ระหว่างการทดสอบความเป็นหมันของเชื้อเห็ดฟางสปอร์เดี่ยวในห้องทดลองและวิธีเพาะแบบกองเตี้ย

๗.  การปรับปรุงสายพันธุ์เห็ดฟางโดยคัดเลือกจากสปอร์เดี่ยว

๘.  การสำรวจรวบรวมและเปรียบเทียบเชื้อเห็ดฟางสายพันธุ์ธรรมชาติจากแหล่งต่าง ๆในประเทศไทย

พบเห็ดฟางพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูงในฤดูฝน

ผลจากการทดลองที่กระทำต่อเนื่องมาโดยตลอด ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ กรมวิชาการเกษตร ได้ค้นพบเห็ดฟางสายพันธุ์ TBKH ซึ่งจัดว่าเป็นสายพันธุ์ที่แปลกไม่เคยพบมาก่อน กล่าวคือ เป็นสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูที่เห็ดฟางสายพันธุ์อื่น ๆที่มีขายกันอยู่ในท้องตลาดไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงได้

เห็ดฟางสายพันธุ์ TBKH นี้ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าเห็ดพันธุ์อื่น ๆ ๑ กก. ต่อการเพาะแบบกองเตี้ยมาตรฐาน อีกทั้งยังมีคุณภาพดอกตรงตามความต้องการของตลาดเห็ดสดอีกด้วย

ข้อจำกัดของเห็ดฟางสายพันธุ์ TBKH นี้คือไม่เหมาะสมที่จะใช้เพาะในฤดูร้อน เพราะจะให้ผลผลิตต่ำ

จากข้อดีของสายพันธุ์ TBKH นี้เอง กรมวิชาการเกษตรจึงได้คัดเลือกเป็นสายพันธุ์ส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปทดลองเพาะในช่วงฤดูฝนโดยได้ตั้งชื่อว่า เห็ดฟางหมายเลข ๑

ในปีเดียวกันนี้กรมวิชาการเกษตรก็ได้ค้นพบเห็ดฟางอีกสายพันธุ์หนึ่งซึ่งสามารถเติบโต ให้ผลผลิตสูงสม่ำเสมอ ในสภาพการเพาะการดูแลรักษาที่แตกต่างกันในแต่ละท้องที่และยังสามารถเพาะได้ดีทุกฤดูกาล โดยให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงไม่ต่ำกว่า ๑ กก. ต่อกองเตี้ยมาตรฐาน ยกเว้นในฤดูฝนที่ผลผลิตจะลดลงมาบ้าง แต่บรรดาผู้เพาะเห็ดก็พอใจ อีกทั้งคุณภาพของดอกเห็ดก็ตรงตามความต้องการของตลาดเห็ดสด

กรมวิชาการเกษตรได้ตั้งชื่อเห็ดชนิดนี้ว่า สายพันธุ์หมายเลข ๒ โดยระบุว่าเป็นสายพันธุ์ที่ใช้เพาะได้ทุกฤดูกาลตลอดปี และได้แจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปทดลองเพาะยังภาคต่าง ๆ เพื่อหาข้อมูลรายละเอียดการปรับตัวของสายพันธุ์นี้ในสภาพการเพาะที่ต่าง ๆ กันเพิ่มเติมอีก

ตลาดโลกต้องการเห็ดฟางสีดำ

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ วงการเห็ดฟางของภาคเอกชนมีการไหวตัวเพื่อหาดอกเห็ดสดมาบรรจุกระป๋องส่งออกขายยังต่างประเทศกันอย่างคึกคักอันเป็นผลเนื่องมาจากไต้หวันลดการผลิตเห็ดฟางบรรจุกระป๋อง

แต่ตลาดโลกต้องการเห็ดฟางบรรจุกระป๋องที่มีคุณภาพของดอกเห็ดแตกต่างจากดอกเห็ดสดที่ตลาดภายในประเทศต้องการ กล่าวคือตลาดโลกยอมรับดอกเห็ดที่มีขนาดสม่ำเสมอจะมีขนาดปานกลางจนถึงขนาดเล็กก็ได้ แต่สีของหมวกเห็ดและดอกเห็ดต้องเป็นสีดำ ในขณะที่ตลาดเห็ดสดในประเทศต้องการเห็ดดอกใหญ่และมีสีขาวซึ่งจะได้ราคาดี

ด้วยเหตุนี้จึงได้มีเสียงเรียกร้องจากภาคเอกชน ขอให้กรมวิชาการเกษตรช่วยวิจัยหาเห็ดฟางที่มีลักษณะดังกล่าว จุดนี้เองได้เพิ่มความสำคัญของสายพันธุ์เห็ดฟางขึ้นอีกอย่างเด่นชัด

ต่อมา กรมวิชาการเกษตรก็ได้พบเห็ดฟางสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งนำเข้ามาจากไต้หวัน จึงได้ทำการศึกษาทดลอง จนแน่ใจว่ามีความเหมาะสมที่จะใช้เพาะเอาเห็ดป้อนโรงงานอุตสาหกรรมมาบรรจุกระป๋อง เนื่องจากมีคุณภาพของดอกเห็ดตรงตามความต้องการของตลาดโลก อีกทั้งยังให้ผลผลิตสูงพออีกด้วย กรมวิชาการเกษตรได้ตั้งชื่อสายพันธุ์นี้ว่า สายพันธุ์หมายเลข ๓ เป็นสายพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเพาะ เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมบรรจุกระป๋องต่อไป

รักษาเชื้อเห็ดไม่ดีอาจสลายพันธุ์

หลังจากที่คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่ดีแล้ว งานสำคัญที่ตามมาก็คือการเก็บรักษาสายพันธุ์ดีเหล่านั้นไว้ให้คงทนไม่เสื่อมสลายไป ในอดีตเคยได้รับการบอกเล่าหลายครั้งว่าได้พบเห็ดฟางพันธุ์ดี มีลักษณะตรงตามต้องการ แต่ใช้เพาะได้ไม่นานก็เสื่อมสลายสูญสิ้นไป เมื่อวิเคราะห์ดูสาเหตุอาจจะอธิบายได้เป็นสองประการ

ประการที่หนึ่ง สายพันธุ์ดีที่พบและใช้เพาะนั้นอาจจะเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในฤดูใดฤดูหนึ่งเท่านั้น และในช่วงฤดูนั้น ๆ เชื้อเห็ดจะให้ผลผลิตสูง แต่เมื่อล่วงเลยฤดูที่เหมาะสมแล้ว ก็ให้ผลผลิตลดต่ำลงจนเข้าใจว่าเชื้ออาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและสูญเสียลักษณะพันธุ์ดีนั้นไปเสียแล้วยกตัวอย่าง สายพันธุ์เห็ดฟางที่เหมาะสมที่จะใช้เพาะในฤดูฝน เมื่อนำมาเพาะในฤดูร้อนผลผลิตจะลดต่ำลงเป็นอย่างมาก

อีกประการหนึ่งอาจจะอธิบายในแง่ที่ผู้ทำเชื้อเห็ดขาย ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อใช้เก็บรักษาสายพันธุ์เหล่านั้นในระยะยาว และเชื้อเห็ดฟางเป็นเชื้อที่มีอัตราการเจริญสูง โอกาสที่เชื้อจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวมันเองก็ย่อมมีสูงตามไปด้วย ฉะนั้นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาเก็บรักษาสายพันธุ์เห็ดฟางจึงนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

กรมวิชาการเกษตรเริ่มทำการศึกษาหาวิธีเก็บรักษาเชื้อเห็ดสายพันธุ์ดีให้คงอยู่ในระยะยาวแล้ว แต่เนื่องจากงานนี้เป็นงานที่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือพิเศษ และใช้เวลานานกว่าจะสรุปผลการทดลองได้ ดังนั้นในส่วนงานเก็บรักษาเฉพาะหน้านี้ จึงได้ทำการเก็บรักษาไว้หลายวิธีพร้อม ๆ กันไปก่อน

กรมวิชาการเกษตรมีเชื้อเห็ดพันธุ์ดีขาย

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้เปิดบริการขยายเชื้อพันธุ์เห็ดพันธุ์ดีทุกชนิดให้แก่ผู้สนใจทุกท่าน โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ทำเชื้อขาย ทั้งนี้เพื่อตัดปัญหาการเก็บรักษาพันธุ์เอง เนื่องจากขาดทั้งความรู้และเครื่องไม้เครื่องมือพิเศษที่มีราคาแพง

กรมวิชาการเกษตรมีนโยบายให้ทางหน่วยงานของรัฐเป็นผู้บริการขายเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ เพื่อทำให้เชื้อเห็ดที่เกษตรกรนำไปเพาะมีความสม่ำเสมอเหมือนกันในด้านของสายพันธุ์และเชื่อได้ว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ดีแน่นอน

กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดหลักเกณฑ์และราคาจำหน่ายพร้อมทั้งบริการจัดส่งเชื้อ ผู้ที่สนใจจะขอทราบรายละเอียดได้ที่กลุ่มงานวิทยาไมโค กองวิจัยโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตรได้ทุกเวลาราชการทุกวัน

จากที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงก้าวแรกของการปรับปรุงพันธุ์เห็ดฟางเท่านั้น ในอนาคตเชื่อแน่ว่าคงจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์เห็ดฟางให้ดียิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการเพาะเห็ดฟางทุกฝ่าย ที่จะต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขัน เป็นต้นว่าให้ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์เห็ดฟางที่ท่านไปพบเห็นหรือนำไปเพาะยังสถานที่ต่าง ๆ หรือถ้าท่านพบเห็ดฟางสายพันธุ์ธรรมชาติที่ใดก็โปรดกรุณาส่งสายพันธุ์เห็ดฟางนั้น ๆ มายังกลุ่มงานวิทยาไมโค กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร เกษตรกลาง บางเขน กรุงเทพฯ เพื่อรวบรวมทำการผสมและคัดเลือกต่อไป ทั้งนี้อาจจะส่งมาในรูปเชื้อบริสุทธิ์ ถ้าท่านทำได้ หรือในรูปของดอกเห็ดสด แต่ต้องรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่เกิน ๑ วัน มิฉะนั้นดอกเห็ดฟางอาจเสีย

ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าเมื่อเราทั้งหลายได้ร่วมมือช่วยเหลือกันเช่นนี้แล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ ซึ่งให้ดอกเห็ดที่มีคุณภาพสูงและผลผลิตสูงกว่าเดิม ให้แก่บรรดาผู้เพาะเห็ดและผู้ทำเชื้อขายได้นำไปทดลองต่อเนื่องอย่างไม่ขาดสาย อันจะส่งผลดีกับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นการยกระดับสายพันธุ์เห็ดฟางที่เพาะเป็นการค้า ซึ่งผลประโยชน์ก็คงจะตกอยู่กับประเทศชาติในที่สุด