อีกด้านหนึ่งของเห็ดหลินจือ

ปัจจุบันคำร่ำลือเกี่ยวกับสรรพคุณด้านยารักษาโรคของเห็ดหลินจือเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลายในประเทศไทย  ทำให้มีการตื่นตัวทั้งในผู้บริโภคเองหรือผู้เพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือเป็นการค้า  ตลอดจนผู้ทำงานวิจัยค้นคว้า ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้เห็นหลินจือขึ้นทะเบียนเป็นอาหารชนิดหนึ่ง ส่วนการใช้ในรูปยารักษาโรคยังอยู่ในการพิจารณา เพราะยังคงมีการศึกษาวิจัยอยู่แต่ยังไม่มีผลสรุปออกมาอย่างชัดเจน ดังนั้นการใช้เห็ดหลินจือเป็นยารักษาโรคในปัจจุบันจึงคงยังอยู่ในลักษณะที่ผู้ใช้จะเป็นผุ้ประเมินผลด้วยตัวเอง ในสมัยโบราณชาวจีนดูเหมือนว่าจะเป็นชาติแรกที่นำเอาเห็ดหลินจือมาใช้เป็นยารักษาโรค ต่อมาได้กระจายไปยังประเทศข้างเคียง เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน จนกระทั่งทุกวันนี้ได้มีการศึกษาทดสอบอย่างกว้างขวางทั้งในแถบเอเชีย อเมริกา ประเทศในแถบยุโรปรวมทั้งในประเทศไทยเอง

เห็ดหลินจือถูกจัดอยู่ในสกุล Ganoderma มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่าง ๆ กันหลายชื่อ เช่น เห็ดหิ้ง เห็ดหัวงู เห็ดจวักงู เห็ดแม่เบี้ย เห็ดนางกวัก เห็ดกระด้าง เห็ดไม้ เห็ดหมื่นปี เป็นต้น การเจริญเติบโตในช่วงแรกจะอยู่ในรูปของเส้นใย เมื่อสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะสร้างดอกเห็ดสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ ขอบของดอกเห็ดมีสีขาว ดอกเห็ดขยายกว้างออกมีลักษณะคล้ายพัด ผิวด้านบนเป็นมันเหมือนเคลือบด้วยแลคเกอร์ ผิวด้านล่างมีสีขาวขุ่นเต็มไปด้วยรูเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่สร้างสปอร์ของเชื้อมีสีน้ำตาลเป็นผงเล็ก ๆ กระจายทั่วบริเวณข้างเคียง  และเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็สามารถงอกเจริญเป็นเส้นใยใหม่ได้

ในสภาพธรรมชาติจะพบเห็ดหลินจือบนขอนไม้ผุหรือเศษซากพืช โดยเห็ดหลินจือจะทำหน้าที่ในการย่อยสลายไม้เนื้อแข็งเหล่านี้ โดยปล่อยสารออกมาย่อยเศษซากพืชเหล่านั้น และดูดซึมเป็นอาหาร ในสภาพการณ์เช่นนี้ ดูเหมือนว่าเห็ดหลินจือไม่ใช่สาเหตุที่สามารถเข้าทำลายพืชโดยตรง แต่สามารถร่วมกับเชื้ออื่นในการเข้าทำลายพืชที่เป็นไม้เนื้ออ่อนในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายเกี่ยวกับระบบนิเวศน์วิทยา กล่าวคือมีการถางป่าเพื่อทำการปลูกพืชชนิดเดียวเป็นบริเวณกว้าง  ทำให้เชื้อมีพืชอาศัยเพียงชนิดเดียวในการเข้าทำลายและเชื้อมีการปรับตัวเองที่จะสามารถเข้าทำลายพืชโดยตรง  ซึ่งจะเป็นพืชยืนต้นทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น  เชื้อเห็ดจะเข้าทำลายส่วนของรากทำให้รากเน่าเปื่อยตายไป

เชื้อเห็ดสามารถเข้าทำลายพืชได้หลายชนิดด้วยกัน  ทั้งที่ทำความเสียหายได้อย่างรุนแรงและไม่รุนแรงที่ทำความเสียหายอย่างรุนแรงดูเหมือนว่าจะเป็นพืชในตระกูลปาล์ม  เช่น ปาล์มน้ำมัน หมาก และมะพร้าว ส่วนพืชอื่น ๆ ที่มีรายงานว่ามีการเข้าทำลายของเชื้อเห็ดนี้ได้อย่างรุนแรงได้แก่ ชา ยางพาราเป็นต้น ในพืชยืนต้นหลายชนิดจะพบว่ามีการสร้างดอกเห็ดบนต้น แต่อาการไม่รุนแรงถึงกับทำให้ต้นตายได้ เช่น ส้ม สะตอ มะม่วง มะนาว

สำหรับในประเทศไทยพบว่าเชื้อเห็ดเข้าทำลายพืชที่สำคัญและมีลักษณะอาการดังต่อไปนี้

ปาล์มน้ำมัน

ทำให้เกิดโรคลำต้นเน่าแก่ปาล์มน้ำมัน  โรคนี้จัดว่าเป็นโรคที่สำคัญที่สุดของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกปาล์มน้ำมันเป็นอันดับหนึ่งของโลก  เนื่องจากทำความเสียหายและระบาดอย่างรุนแรง  มีรายงานถึงความเสียหายในแปลงปลูกปาล์มน้ำมันแถบชายฝั่งทะเลของมาเลเซียในต้นปาล์มที่มีอายุ 25 ปี เป็นโรคตายถึง 85 เปอร์เซ็นต์  และเมื่อทำการปลูกแทนในที่เดิมด้วยปาล์มน้ำมันก็สามารถทำให้ปาล์มน้ำมันที่ปลูกแทนนั้นเป็นโรคได้ตั้งแต่อายุ 4-5 ปี หลังจากปลูกลงแปลง ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอายุ 15 ปีต้นปาล์มจะเกิดโรคได้ถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์  สำหรับในประเทศไทยเริ่มมีอาการของโรคเกิดขึ้นกับปาล์มน้ำมันอายุ 20 ปีที่ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่

ลักษณะอาการภายนอกพบว่าใบมีสีซีดกว่าปกติ ทางแก่หักพับห้อยลงรอบ ๆ ต้น ใบยอดที่ยังไม่คลี่มีจำนวนมากกว่าปกติ  ซึ่งจะมีเพียง 2-3 ทางต่อต้นเท่านั้น  ลักษณะทางยอดไม่คลี่นี้นับเป็นลักษณะที่ใช้ในการบ่งชี้อาการของโรคได้อีกอาการหนึ่ง  แต่ลักษณะที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคก็คือ การสร้างดอกเห็ดที่โคนต้นหรือที่รากผิวดินติดลำต้น  เมื่อทำการตัดต้นตามขวางพบอาการเน่าของเนื้อเยื่อในลำต้น  บริเวณโคนต้นแผลที่เน่ามีสีน้ำตาลเข้มขอบแผลไม่เรียบ แผลอาจจะเกิดที่กลางต้นหรือเกิดข้างใดข้างหนึ่งของลำต้นก็ได้แล้วแต่การเข้าทำลายของเชื้อ อาการที่รากพบว่าชั้นของเปลือกรากมีสีน้ำตาลและเน่าเปื่อย ส่วนของรากข้างในจะมีสีดำ

หมาก

ทำให้เกิดอาการลำต้นและรากเน่าแก่หมาก  โดยเฉพาะในแหล่งปลูกหมากเขตอำเภอสามพราน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหมากที่สำคัญทำรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างสูง เพราะการปลูกหมากไม่ต้องการการดูแลรักษามากนักเมื่อเทียบกับพืชอื่น ๆ  ปัจจุบันเกษตรกรได้เลิกปลูกหมากในบริเวณนี้ไปหลายราย  เนื่องจากประสบปัญหาโรคลำต้นและรากเน่าระบาดประกอบกับการปลูกหมากในแถบนี้เป็นการปลูกแบบยกร่อง  การนำเอาต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงทำได้ยากยังคงปล่อยทิ้งไว้ในแปลงทำให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อได้เป็นอย่างดี  เมื่อมีการปลูกแทนด้วยต้นหมากเช่นเดิมเชื้อที่อยู่ในดินก็จะทำให้เกิดโรคแก่ต้นที่ปลูกใหม่ได้ ทำให้ตายไปตั้งแต่ต้นยังเล็กอยู่ อีกทั้งในบริเวณแปลงปลูกหมากนี้มักจะปลูกมะพร้าวไว้โดยรอบสวนเมื่อมะพร้าวตายหรือมีการตัดต้นมะพร้าวลงตอหรือต้นมะพร้าวเหล่านี้จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อได้เป็นอย่างดี

ลักษณะอาการของหมากที่เป็นโรค  จะเหลือทางใบบนต้นน้อยใบมีสีเหลือง ทางใบล่างร่วงมากมองเห็นแตกต่างอย่างชัดเจนต่างจากต้นปกติ การติดผลลดลงและไม่ติดผลเลยในที่สุดเมื่อมีอาการรุนแรง  เชื้อเข้าทำลายส่วนของรากทำให้เกิดอาการเน่าเปื่อย  แผลที่เน่าจะขยายลุกลามเข้าสู่ลำต้น  ลักษณะที่สำคัญคือจะสร้างดอกเห็ดที่โคนต้น เมื่อผ่าดูภายในลำต้นพบว่าเกิดแผลเน่าสีน้ำตาล  ตรงกลางลำต้นขึ้นมาจากโคนต้น  บางครั้งที่บริเวณเกิดแผลกลางต้นจะกลวงเนื่องจากเนื้อเยื่อถูกทำลายหมดในสภาพอากาศที่เหมาะสมอาจจะพบเส้นใยสีขาวขึ้นบนแผลนั้น

มะพร้าว

ทำให้เกิดโรครากเน่าแต่ส่วนมากที่พบอาการของโรคไม่ทำให้ต้นตาย เพียงแต่ทำให้ผลผลิตลดลงหรือไม่ให้ผลผลิตเลย  อาจจะเป็นเพราะว่ามะพร้าวมีเนื้อเยื่อที่แข็งกว่าปาล์มน้ำมันและหมากการทำลายของเชื้อจึงช้า

ลักษณะอาการของต้นที่เชื้อเข้าทำลายพบว่าทางแก่จะห้อยขนานกับลำต้นเป็นเวลาหลายเดือนกว่าจะหลุดร่วงไป  ใบอ่อนยังเขียวอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งต่อมาใบที่ออกใหม่มีสีเหลือง และสั้นกว่าปกติ  ขนาดของคอมะพร้าวเล็กลงและไม่มีการผลิตช่อดอก ที่โคนต้น สูงจากพื้น 1-2 ฟุต มีรอยแตก และมีของเหลวสีน้ำตาลแดงปนดำไหลออกมาทำให้เปลือกเสีย  ถ้ามีความชื้นสูงจะมีการสร้างดอกเห็ดที่โคนต้นบริเวณที่เกิดแผลแตก  ส่วนมากจะพบอาการเพียงด้านใดด้านหนึ่งของต้นเท่านั้น และความรุนแรงของอาการไม่ค่อยขยายตัวหรือมีแต่ช้ามาก  เนื่องจากเนื้อเยื่อที่แข็ง  เชื้อจะเข้าทำลายส่วนของรากเป็นส่วนใหญ่  และมะพร้าวก็จะมีการสร้างรากใหม่ขึ้นมาทดแทนตลอดเวลา  เมื่อขุดรากเก่าที่ถูกทำลาย พบอาการเน่า  ซึ่งบางครั้งพบเส้นใยสีขาวของเชื้ออยู่ที่ราก  แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้นมะพร้าวตายหรือมีการโค่นต้นมะพร้าวลงจะมีการสร้างดอกเห็ดขึ้นอย่างมากมาย และรวดเร็วบนซากหรือตอมะพร้าวเหล่านั้น

ยางพารา

ทำให้เกิดโรครากแดง  พบมากในสภาพที่มีความชื้นสูง  โดยเชื้อจะเข้าทำลายส่วนของรากเช่นกันและระบาดลุกลามไปยังต้นข้างเคียง

ลักษณะอาการในระยะแรกเชื้อเข้าทำลายที่รกเกิดแผลเน่าสีน้ำตาล รากจะนิ่มคล้ายฟองน้ำ บางครั้งก็แห้ง ขึ้นกับสภาพอากาศ แผลขยายเข้าสู่ลำต้น เมื่อดูจากภายนอกจะเห็นเส้นใยของเชื้อขึ้นคลุมโคนต้นติดผิวดินและมีดอกเห็ดขึ้นที่โคนต้น  ในต้นที่อาการรุนแรงใบจะเหลืองซีดหลุดร่วงไปต้นจะตายในที่สุด

ข้อมูล:”ศรีสุรางค์  ลิขิตเอกราช”