เห็ดหูหนูที่นิยมเพาะในประเทศไทย

เห็ดหูหนูเป็นเห็ดซึ่งมีลักษณะพิเศษกว่าเห็ดชนิดอื่น ๆ ตรงที่ไม่ว่าจะนำไปประกอบอาหารชนิดใดก็ตามมักจะคงความกรุบกรอบอันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวไว้เสมอ ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมเกิดจากที่ใดไม่ปรากฎ แต่มีบันทึกไว้ว่าชาวจีนเป็นชนชาติแรกที่รู้จักนำมาบริโภคและรู้จักวิธีการเพาะกับท่อนไม้โอ๊ค ลักษณะทั่วไปของเห็ดหูหนูจะเป็นแผ่นใสคล้ายแผ่นวุ้นแต่เหนียว ด้านบนมันเป็นเงา ขอบหมวกเป็นรอยจีบหรือหยักเป็นคลื่น สีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลปนดำหรือปนแดง มีกลิ่นหอมและความกรอบมีคุณค่าทั้งทางโภชนาการและทางยา

พันธุ์เห็ดหูหนูที่นิยมเพาะในประเทศมีอยู่ 2 พันธุ์ ได้แก่ เห็ดหูหนูพันธุ์บางและเห็ดหูหนูพันธุ์หนา เห็ดหูหนูพันธุ์บางมักจะออกดอกเดี่ยวผิวเรียบไม่มีขนทั้งด้านบนและด้านล่างของดอก บางชนิดดอกหยิกและบางชนิดดอกใหญ่ สำหรับเห็ดหูหนูพันธุ์หนา จะมีดอกหนากว่าพันธุ์บาง ผิวด้านบนเรียบผิวด้านล่างเป็นริ้วและมีขนละเอียด เมื่อตัดขอบออกมักจะลอกเป็น 2 ชั้น เมื่อนำไปปรุงอาหารจะไม่เป็นเมือกและมีความกรอบมากกว่าพันธุ์บาง วิธีการเพาะเห็ดหูหนูนั้นสามารถเพาะได้ทั้งในถุงพลาสติกและเพาะโดยใช้ท่อนไม้ โดยมีวิธีการขั้นตอนดังนี้

การเพาะเห็ดหูหนูในถุงพลาสติก

วิธีการเพาะเห็ดหูหนูในถุงพลาสติกก็มีขั้นตอนคล้ายการเพาะเห็ดในถุงพลาสติกทั่วไป โดยเริ่มจากการแยกเชื้อและเลี้ยงในอาหารวุ้น การเลี้ยงเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่าง การทำก้อนเชื้อและการทำให้เกิดดอกเห็ด ในที่นี้จะกล่าวถึงตั้งแต่วิธีการทำก้อนเชื้อเป็นต้นไป

วิธีการทำก้อนเชื้อเห็ดหูหนู

เห็ดหูหนูเป็นเห็ดที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในวัสดุเพาะหลายชนิด แต่ที่นิยมมากที่สุดคือขี้เลื่อยยางพาราหรือขี้เลื่อยจากไม้เนื้ออ่อน เช่นไม้มะม่วง ไม้ก้ามปู เป็นต้น หากใช้ขี้เลื่อยควรเป็นขี้เลื่อยกลางเก่ากลางใหม่จะดีที่สุด หากเป็นขี้เลื่อยใหม่ควรกองหมักทิ้งไว้ก่อนนำไปผสมกับสูตรอาหารอื่น ๆ ที่เตรียมไว้ เนื่องจากขี้เลื่อยใหม่จะสลายธาตุอาหารบางอย่างทำให้เกิดก๊าซแอมโมเนียซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเชื้อเห็ด และทำให้ความร้อนในก้อนเชื้อสูงเกินไป แต่ถ้าเป็น่ขี้เลื่อยเก่าอาจมีการปะปนของเชื้อโรคหรือเชื้อราชนิดอื่นใดง่าย อีกทั้งมักไม่ค่อยมีธาตุอาหารสะสมอยู่มากนัก สำหรับสูตรที่นิยมใช้เพาะเห็ดหูหนูในถุงพลาสติกในที่นี้ขอนำเสนอ 4 สูตร ได้แก่

สูตรอาหารก้อนเชื้อ

สูตรที่ 1

ขี้เลื่อยหมัก 100 ลิตร

ข้าวโพดป่น 3-5 ลิตร

รำละเอียด 10-12 ลิตร

กากถั่วป่น 1 ลิตร

ดีเกลือ 0.1 ลิตร

ปูนขาว 0.5 ลิตร

น้ำสะอาด(โดยน้ำหนักของขี้เลื่อย) 70-75 %

สูตรที่ 2

ขี้เลื่อยหมัก 100 ลิตร

ใบกระถินป่น 3-5 ลิตร

รำละเอียด 10-12 ลิตร

กากถั่วป่น 1 ลิตร

ดีเกลือ 0.1 ลิตร

ปูนขาว 0.5 ลิตร

น้ำสะอาด(โดยน้ำหนักของขี้เลื่อย) 70-75%

สูตรที่ 3

ขี้เลื่อยหมัก 100 ลิตร

ข้าวโพดป่น 3 ลิตร

รำละเอียด 5 ลิตร

แป้งข้าวเจ้าหรือน้ำตาลทราย 2 ลิตร

ดีเกลือ 0.1 ลิตร

ปูนขาว 1 ลิตร

น้ำสะอาด(โดยน้ำหนักของขี้เลื่อย) 70-75 %

สูตรที่ 4

ขี้เลื่อยหมัก 100 ลิตร

กากเหล้า 2 ลิตร

ข้าวโพดป่น 2 ลิตร

ใบกระถินป่น 2 ลิตร

แป้งข้าวเจ้าหรือน้ำตาลทราย 2 ลิตร

ปูนขาว 1 ลิตร

น้ำสะอาด(โดยน้ำหนักของขี้เลื่อย) 70-75%

วิธีหมักขี้เลื่อย

นำขี้เลื่อยมากองไว้ที่ร่มรดน้ำให้เปียกพอประมาณ ใส่ปุ๋ยคอกหมัก 3-5% ของน้ำหนักขี้เลื่อยแห้ง แล้วเติมยิบซัม 1% คลุกเคล้าแล้วทำกองสูง ๆ หมักทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายขี้เลื่อย ในวันที่ 15 ให้กลับกองขี้เลื่อยนำด้านในมาไว้ด้านนอก เติมหินปูน 1.5-1% เติมดีเกลือ 0.1-0.2% ของน้ำหนักขี้เลื่อยแห้ง เพื่อเร่งการทำงานของจุลินทรีย์ในกองหมัก หมักทิ้งไว้อีก 15 วัน จึงนำไปใช้ได้

ขั้นตอนต่าง ๆ หลังจากเตรียมวัสดุเพาะเรียบร้อยแล้ว มีดังนี้

1.  หลังจากเตรียมสูตรอาหารได้ แล้วให้นำส่วนผสมทั้งหมดไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วผสมน้ำให้ได้ความชื้นที่พอเหมาะประมาณ(ใช้มือบีบดูแล้วแบมือออกก้อนขี้เลื่อยยังเป็นก้อนอยู่ หากระหว่างบีบมีน้ำไหลออกมาแสดงว่าแฉะเกินไป หรือถ้าแบบมือแล้วก้อนขี้เลื่อยแตกออกแสดงว่าแห้งเกินไป)

2.  บรรจุใส่ถุงพลาสติกที่ใช้เพาะเห็ด ซึ่งควรบรรจุให้หมดภายในวันเดียว ถุงก้อนเชื้อควรมีขนาด 8 ขีด ถึง 1 กก. เมื่ออัดก้อนเชื้อแน่นดีแล้ว ใส่คอขวดพลาสติก อุดด้วยสำลีและปิดด้วยกระดาษ แล้วรัดยางให้แน่น

3.  นำก้อนเชื้อที่ได้ไปนึ่งฆ่าเชื้อทันที ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด แล้วทิ้งไว้ให้เย็น

4.  นำหัวเชื้อเห็ดที่เลี้ยงไว้ในเมล็ดข้าวฟ่าง ใช้ประมาณ 10-20 เมล็ดต่อก้อน เขี่ยลงในก้อนเชื้อที่เย็นดีแล้ว แล้วรีบปิดปากถุงด้วยสำลีและกระดาษทันที สถานที่ที่ใช้ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงก้อนเชื้อควรสะอาดลมสงบ วัสดุที่ใช้เขี่ยหัวเชื้อควรทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนทุกครั้ง

5.  นำก้อนเชื้อที่ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงเรียบร้อยแล้วไปบ่มไว้ในโรงบ่มก้อนเชื้อต่อไป

การบ่มก้อนเชื้อ

หลังจากใส่เชื้อเห็ดลงในถุงก้อนเชื้อแล้ว ให้นำไปบ่มในโรงบ่มเชื้อหรือบริเวณที่มีอุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ในระยะ 10 วันแรก ไม่ควรให้มีลมโกรกบริเวณสถานที่บ่มก้อนเชื้อ เพื่อให้เส้นใยเจริญในก้อนเชื้ออย่างรวดเร็ว ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน แต่ในระยะนี้จะต้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและให้ก้อนเชื้อถูกแสงสว่างบ้าง เพื่อกระตุ้นให้เส้นใยมีการสะสมอาหารและรวมตัวเป็นดอกเห็ดต่อไป

ในการจัดวางก้อนเชื้อในโรงบ่มหากวางในแนวตั้งไม่ควรให้ถุงทับซ้อนกัน ถ้าจัดวางในแนวนอนสามารถจัดวางซ้อนกันได้ แต่ในระยะที่เส้นใยเจริญเติบโตต้องหมั่นกลับก้อนเชื้อด้านล่างขึ้นด้านบนเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ในช่วงที่เส้นใยจะเดินเต็มถุง ต้องหมั่นตรวจดูโรคแมลง มด มอด แมลงสาบ ปลวกหรือไร หากพบให้รีบนำก้อนเชื้อออกไปกำจัดทันที หรือฉีดพ่นด้วยสารสกัดตะไคร้หอมรอบ ๆ โรงบ่มเพื่อป้องกันไว้ก่อนได้

การทำให้เกิดดอก

ในการทำให้เห็ดเกิดดอกต้องย้ายก้อนเชื้อที่มีเส้นใยเดินเต็มถุงแล้วจากโรงบ่มไปกรีดถุงไว้ที่โรงเพาะ โดยให้ถอดคอขวดพลาสติกออกแล้วรวบปากถุงมัดยางให้แน่น ใช้มีดคม ๆ กรีดข้างถุงเป็นแนวเฉียงช่วงสั้น ๆ ประมาณ 1 นิ้ว ดอกเห็ดจะออกตามแนวกรีดหากกรีดยาวเกินไปขนาดดอกที่ออกมาจะไม่เสมอกัน โรงเรือนที่เหมาะสำหรับการเพาะเห็ดหูหนู ควรเป็นโรงเรือนที่สามารถเก็บความชื้นได้ดี มีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 95% อุณหภูมิที่ดีที่สุดสำหรับการเกิดดอกคือ 25-30 องศาเซลเซียส มีระบบถ่ายเทอากาศดี และสะดวกต่อการทำความสะอาด วิธีวางก้อนเชื้ออาจวางบนชั้นแต่ละถุงห่างกันประมาณ 5-7 ซม.เช่นกัน วิธีการควบคุมความชื้นในระยะนี้ อาจใช้วิธีการพ่นน้ำฝอย ๆ วันละ 2-3 ครั้ง หรือรดน้ำที่พื้นโรงเพาะก็ได้ (ถ้าใช้น้ำประปาควรพักน้ำไว้ 3-4 วัน เพื่อคลอรีนระเหยออกไปก่อน) เห็ดหูหนูที่เพาะด้วยวิธีนี้จะเก็บผลผลิตได้หลังจากรีดข้างถุงแล้วประมาณ 10-15 วัน โดยในถุงหนึ่ง ๆ จะสามารถเก็บผลผลิตได้นาน 2-3 ดือน

การเพาะเห็ดหูหนูโดยใช้ไม้ท่อน

โดยธรรมชาติแล้วเห็ดหูหนูจะเกิดขึ้นได้เองบนตอไม้ผุหรือต้นไม้ที่ตายแล้วในที่มีความชื้นสูง การนำเห็ดมาเพาะในท่อนไม้จึงเป็นวิธีการเลียนแบบธรรมชาติดั้งเดิม โดยไม้ที่จะใช้เพาะจะเป็นไม้เนื้ออ่อนหรือไม้เนื้อแข็งก็ได้ ไม้ที่เหมาะสมควรมีอายุระหว่าง 3-5 ปี เป็นไม้ที่ตัดจากต้นใหม่ ๆ มีเปลือกหนา มีกลิ่นหอม ไม่มียางที่เป็นอันตรายต่อเห็ด หากมียางควรตัดทิ้งไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์เพื่อให้ยางแห้งหรือเหลือปริมาณยางน้อยที่สุดจนแน่ใจว่าไม่เป็นอันตรายต่อเชื้อเห็ด วิธีการเพาะโดยใช้ท่อนไม้มีขั้นตอนดังนี้

1.  การเตรียมท่อนไม้

การเตรียมท่อนไม้คล้ายกับการเตรียมไม้ในการเพาะเห็ดหอมหรือนางรมคือควรตัดไม้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ(ช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน) ซึ่งเป็นระยะที่ท่อนไม้มีการสะสมอาหารและน้ำตาลไว้มากที่สุด อันจะส่งผลให้เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตได้รวดเร็ว ไม้ที่ได้ขนาดควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-20 ซม. ตัดให้ได้ท่อน่ยาวท่อนละ 1 เมตร การตัดต้องระวังอย่าให้เปลือกไม้แตกหรือช้ำ หากมีกิ่งเล็ก ๆหรือตาไม้ติดมาด้วยให้ลิดออกแล้วทาทับด้วยปูนขาวหรือปูนแดงเพื่อป้องกันเชื้อรา

สำหรับไม้ที่ใช้เพาะแล้วให้ผลผลิตสูง เรียงตามลำดับ ดังนี้ ไม้นนทรี ไม้แค ไม้ขนุน ไม้มะม่วง ไม้โพธิ์ป่า ไม้ไทร ไม้มะฝ่อ ไม้มะยมป่า ไม้ทองกวาว ไม้มะกอกป่า ไม้ยางพารา ไม้ไคร้น้ำ ไม้สนุน ไม้หลิว ไม้พลวง ไม้งิ้ว เป็นต้น

ไม้ที่เพาะแล้วให้ผลผลิตต่ำ ได้แก่ ไม้ก้ามปู ไม้นุ่น ไม้สะแก ไม้กระถินณรงค์ ไม้ฝรั่ง ไม้อินทนิน เป็นต้น

2.  การเจาะรูท่อนไม้

หากเป็นไม้ที่มียางควรปล่อยให้เปลือกยางแห้งเสียก่อน จากนั้นนำมาเจาะรูเพื่อใส่หัวเชื้อลงไป วิธีการเจาะอาจใช้ค้อนเจาะไม้หรือสว่านไฟฟ้าขนาด 5 หุน แต่ต้องระวังอย่าให้เปลือกไม้ช้ำหรือฉีกขาด การเจาะให้เจาะสลับแบบฟันปลา รูแรกให้ห่างจากปลายไม้ประมาณ 3-5 ซม. ความลึกประมาณ 3-5 ซม. รูห่างกันประมาณ 6-8 ซม. แต่ละแถวห่างกัน 4-5 ซม.

3.  การใส่เชื้อเห็ด

ขั้นการใส่เชื้อเห็ดต้องระวังเรื่องความสะอาดให้มาก โดยต้องทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ภาชนะต่าง ๆ รวมทั้งมือของผู้บรรจุด้วย สำหรับเชื้อเห็ดหูหนูที่ใช้หากมากจากหัวเชื้อที่มีขี้เลื่อยชนิดเดียวกับท่อนไม้จะดีมากแต่ต้องแน่ใจว่าไม่ผสมดีเกลือ การใส่หัวเชื้อให้ใส่ให้แน่นเกือบเต็มรูคือต่ำกว่าเปลือกไม้เล็กน้อย แล้วรีบปิดรูทันที จะใช้พลาสติกหรือจุกไม้ก็ได้แล้วทุบให้แน่น จากนั้นอาจปิดด้วยขี้ผึ้งอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำเข้าไปในเชื้อเห็ด โดยบริเวณที่ใส่เชื้อควรสะอาดปราศจากลมและโรคแมลง

4.  การบ่มพักท่อนไม้

การบ่มพักท่อนไม้เป็นขั้นตอนที่รอให้เส้นใยเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ ขั้นตอนนี้อาจทำในโรงบ่มหรือบริเวณที่ร่มมีแสงสว่างรำไร วิธีการวางท่อนไม้ให้วางเรียงแบบวางหมอนรถไฟ แต่ละท่อนห่างกัน 1-2 ซม. ซึ่งจะทำให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้น โดยใช้ท่อนไม้อื่นวางรองบนพื้นก่อนเพื่อไม่ให้ไม้ที่ใส่เชื้อเห็ดสัมผัสพื้นโดยตรง และอาจใช้ฟางหรือกระสอบคลุมท่อนไม้ไว้เพื่อรักษาความชื้นในท่อนไม้ไว้ระหว่างนั้นต้องดูแลเรื่องโรค

แมลงและความชื้นให้เหมาะสม หากอากาศแห้งหรือมีลมโกรกมากควรรดน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ 2-3 วันต่อครั้งแล้วแต่สภาพอากาศและควรมีการกลับกองไม้นำด้านล่างขึ้นด้านบนทุก ๆ 7 วัน เพื่อให้เส้นใยเจริญในท่อนไม้อย่างสม่ำเสมอและเป็นการตรวจสอบโรคแมลงไปในครั้งเดียวกัน

หลังจากบ่มไม้ได้ 30-45 วัน ให้ตรวจสอบดูว่าเส้นใยเดินเต็มท่อนไม้หรือยัง โดยเลื่อยตัดท่อนไม้ส่วนปลายดู หากเส้นใยเดินไม่เต็มท่อนไม้ให้ทำการบ่มต่อไป แต่ถ้าเดินเต็มแล้วอย่ารดน้ำอีกเด็ดขาด ให้นำท่อนไม้นั้นไปวางเรียงห่างกันประมาณ 4-6 ซม. วางทิ้งไว้ 20-30 วัน เพื่อให้เห็ดหูหนูมีการสะสมอาหารและพักตัวก่อนสร้างดอกเห็ดต่อไป ระยะนี้ไม่ต้องตกใจหากท่อนไม้แห้ง

5.  การทำให้เกิดดอก

ขั้นตอนต่อไปคือการกระตุ้นให้เห็ดออกดอก โดยนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ 12-20 ชม. จากนั้นให้ใช้ค้อนทุบบริเวณหัวและท้ายของท่อนไม้ 2-3 ครั้ง เพื่อให้เนื้อเยื่อขยายตัวและไล่น้ำที่เกาะอยู่ออกไปและทำให้อากาศซึมเข้าไปในท่อนไม้ได้เร็วขึ้น ในระยะออกดอกควรควบคุมให้โรงเรือนมีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 95% (ให้น้ำวันละ 2 ครั้ง) อุณหภูมิที่ดีที่สุดสำหรับการเกิดดอกคือ 25-30 องศาเซลเซียส มีระบบถ่ายเทอากาศดีหรือในเวลากลางคืนควรเปิดประตูโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้ดีขึ้น

หลังจากนำท่อนไม้ไปแช่น้ำและทุบหัวท้ายแล้วให้นำไปวางในโรงเรือน โดยวางเรียงตั้งแบบเผาข้าวหลาม คือ ทำราวตรงกลางสูงจากพื้น 60 ซม. วางท่อนไม้พิงทั้ง 2 ข้าง ห่างกันประมาณ 10-15 ซม. เมื่อเห็ดออกมาจากท่อนไม้ได้ 4-5 วัน จึงเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าไม้จะผุ หากท่อนไม้แห้งมากหรือดอกออกน้อย ให้นำไปกระตุ้นเชื้อใหม่ด้วยการนำไปแช่น้ำแล้วจึงนำมาวางให้เกิดดอกใหม่อีกครั้ง

วิธีการเก็บเห็ดหูหนู

การเก็บเห็ดหูหนูให้สังเกตจากขอบหมวกเห็ด โดยเห็ดที่เจริญเติบโตเต็มที่ขอบจะโค้งเป็นลอนและมีลักษณะบางกว่าที่ออกมาครั้งแรก การเก็บให้เก็บทั้งกลุ่มไม่ควรเลือกเก็บเฉพาะดอกใหญ่ในกลุ่มเดียวกัน เพราะจะทำให้ดอกอื่น ๆ ในกลุ่มนั้นฟ่อเสียหายทั้งกลุ่ม กรณีที่กลุ่มดอกเห็ดมีทั้งดอกเล็กและดอกใหญ่ โดยดอกเล็กมีจำนวนมากกว่า ควรรอให้ดอกเล็กโตได้ที่ก่อนแล้วค่อยเก็บ การเก็บให้ใช้มือไม่ควรใช้มีดตัดเพราะจะทำให้ส่วนของโคนก้านที่เหลือติดอยู่เน่าและสร้างความเสียหายให้กับดอกเห็ดอื่น ๆ ในก้อนได้ วิธีการเก็บให้ใช้มือจับที่โคนของดอกแล้วดึงเบา ๆ จากนั้นจึงใช้มีดคม ๆ ตัดสิ่งสกปรกที่ติดมากับโคนดอกทิ้งไป

ปัญหาที่พบมากในการเพาะเห็ดหูหนูในถุงพลาสติก

1.  เส้นใยไม่เจริญในถุงก้อนเชื้อ ซึ่งมีสาเหตุได้หลายประการ เช่น หัวเชื้ออ่อน มีการปะปนของเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น ขี้เลื่อยที่ใช้เพาะชื้นเกินไปหรือหมักไม่ได้ที่ ทำให้เกิดก๊าซแอมโมเนียที่เป็นอันตรายต่อเชื้อเห็ด อุณหภูมิในโรงบ่มต่ำเกินไป ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันได้ตั้งแต่การเลือกซื้อหัวเชื้อจากแหล่งที่มั่นใจได้และควรใส่ใจปฏิบัติตามขั้นตอนการเพาะอย่างถูกวิธี

2.  เส้นใยเดินไม่เต็มถุง ซึ่งเกิดจากถุงก้อนเชื้อชื้นมากไป ป้องกันโดยพยายามอย่าให้วัสดุเพาะมีความชื้นมากเกินไป และควรใช้เวลาในการนึ่งฆ่าเชื้อให้นานขึ้นโดยเพิ่มเวลานึ่งอีก 0.5-1 ชั่วโมง หรืออาจเกิดจากวัสดุที่ใช้เพาะมีอาหารเสริมมากเกินไป ทำให้จุลินทรีย์อื่น ๆ เข้าปะปน หรือเกิดจากสำลีที่ใช้อุดปากถุงเก่าเปียกชื้นเกินไป

3.  เส้นใยเดินเต็มก้อนแต่เกิดดอกเพียงเล็กน้อย ดอกขนาดเล็กดอกแห้งหรือเหี่ยวหรือไม่เกิดดอกเลย เกิดจากเชื้อไม่แข็งแรงหรือเกิดจากความชื้นและอาหารในก้อนเชื้อไม่เพียงพอ

4.  ปัญหาเรื่องแมลงที่พบรบกวนมากได้แก่ ไรไข่ปลา ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดใส ๆ คล้ายไข่ปลา จะเข้าทำลายจากปลายของขอบเส้นใยเข้าไปทำให้เส้นใยชะงักการเติบโต ให้ป้องกันไม่ให้โรงเรือนสกปรกและให้มีความชื้นที่สม่ำเสมอจะป้องกันไรได้เป็นอย่างดี สำหรับโรคราเมือกนั้นมักจะเกิดกับก้อนเชื้อเก่าที่หมดอายุแล้ว ผู้เพาะควรกำจัดก้อนเชื้อเก่าออกไปจากโรงเพาะทันที แล้วทำความสะอาดชั้นด้วยแอลกอฮอล์โรยปูนขาวบนพื้นทิ้งไว้ 2 วัน จึงล้างออก

ปัญหาที่พบมากในการเพาะเห็ดหูหนูในท่อนไม้

1.  เห็ดให้ผลผลิตน้อย เกิดจากมีการปะปนของเชื้อชนิดอื่นเข้าไปในรูที่เจาะให้ป้องกันโดยการทาปูนแดง หรือขี้ผึ้งบริเวณแผลของท่อนไม้ก่อนทำการเพาะนอกจากนี้การเจาะไม้ตื้นเกินไปก็เป็นสาเหตุให้เชื้อเห็ดเดินไม่ทั่วท่อนไม้ได้

2.  มีดอกเห็ดเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณรูที่เจาะ เกิดจากหัวเชื้อมีอาหารสมบูรณ์เกินไป เช่น ทำจากเมล็ดธัญพืช หรือขี้เลื่อยผสมดีเกลือ ทำให้เชื้อเห็ดไม่เจริญเข้าไปในท่อนไม้

3.  ดอกเห็ดออกมาเฉพาะด้านล่างของท่อนไม้ เกิดจากความชื้นในโรงเรือนหรือสถานที่ทำให้เกิดดอกไม่เพียงพอ

4.  มีแมลงเข้าทำลายเห็ด เช่น มด มอด ปลวก ไร ฯลฯ ให้ใช้ผงซักฟอก หรือสารสะกัดจากสะเดาฉีดพ่นรอบ ๆ โรงเรือน หรือโรยด้วยปูนขาว