เห็ด:เห็ดขี้ควายสิ่งเสพติดต้องห้าม

ยงยุทธ์  สายฟ้า  วิรัช  ชูบำรุง

กองโรคพืชและจุลชีววิทยา  กรมวิชาการเกษตร

เห็ดขี้ควายกำลังจะเป็นเห็ดที่ต้องห้ามตามกฎหมายชนิดแรก และเป็นสิ่งเสพติดชนิดใหม่ล่าสุดของไทยก็ว่าได้ ทั้งนี้จากการให้สัมภาษณ์ของ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าทางคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ประกาศให้เห็ดชนิดนี้เป็นยาเสพติดประเภทเดียวกับกัญชา ทำให้มีผู้กล่าวขวัญถึงเห็ดชนิดนี้ ทั้งจากบรรดาท่านที่อยู่ในวงการเห็ดและที่ไม่เคยรู้จักเห็ดชนิดนี้เลย หลายท่านจึงอยากจะทราบว่าหน้าตาของเห็ดชนิดนี้มีความสวยสดงดงามเพียงไร จึงเป็นที่ติดอกติดใจของบรรดานักท่องเที่ยววัยรุ่นจากต่างประเทศนัก

อันที่จริงแล้วไม่ใช่หน้าตารูปร่างเห็ดหรอกครับ ที่เป็นที่หลงไหลกันแต่เป็นสารประกอบบางตัวในดอกเห็ดชนิดนี้มีชื่อว่า “ซิโลซายบิน” และ “ซิโลซิน” เมื่อมนุษย์รับประทานสารนี้เข้าไปแล้วในปริมาณที่พอเหมาะไม่มากจนเกินไป จะมีผลต่อระบบประสาท ทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการมึนเมา มองเห็นภาพหลอน และเห็นสีต่างๆนานา ถึงเพ้อฝันได้ แต่ถ้ารับประทานมากเกินไป จะมีพิษถึงตายได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับเห็ดชนิดนี้เอาไว้บ้าง เพื่อประดับความรู้ หรือนำไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

เห็ดขี้ควายขึ้นบนกองขี้ควาย

เห็ดขี้ควายมักพบขึ้นอยู่บนกองขี้ควายเก่าๆ ที่แห้งแล้ว เมื่อได้รับความชื้นจากฝน กองขี้ควายจะอมความชื้น ในขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมหลังฝนตกจะเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ด เมื่อมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชายฝั่งทะเล จะพบดอกเห็ดขี้ควายขึ้นชูดอกบนกองขี้ควาย

รูปร่างลักษณะ

เห็ดขี้ควาย ที่พบจะมีขนาดปานกลาง โดยหมวดเห็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๖.๕-๘.๘ ซม. ดอกที่ยังบานไม่เต็มที่สีของหมวกจะเป็นสีน้ำตาลมีเกล็ดสีขาว แต่ถ้าบานเต็มที่แล้วหมวกจะเปลี่ยนเป็นสีขาวอมเหลืองในบริเวณขอบๆหมวก ส่วนตรงกลางยังคงเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดสีขาวกระจายรอบๆ หมวกเช่นเดียวกันตรงกลางหมวกจะพบยอดแหลมเล็กๆก้านดอกยาว ๖.๕-๙ ซม. สีเดียวกันกับหมวก บริเวณก้านที่ถูกจับหรือถูกกระทบกระเทือนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน บนก้านดอกใต้หมวกลงมาเล็กน้อยจะพบวงแหวนสีขาวเป็นเยื่อบางๆ ครีบหมวกมีสีน้ำตาลดำ ตรงกลางกว้างกว่าปลายทั้งสองข้าง ครีบหมวกไม่ติดกับก้าน สปอร์หรือเม็ดขยายพันธุ์สีน้ำตาลดำ รูปกลมรี ด้านบนมีรูเปิดกว้างเล็กน้อย สปอร์มีขนาดกว้าง ๗.๓-๘.๔ ไมครอน ยาว ๑๒.๕-๑๕.๖ ไมครอน

แหล่งที่พบ

แหล่งที่พบเห็ดขี้ควายขึ้น ได้แก่ บริเวณชายทะเลที่มีการเลี้ยงควาย ยกตัวอย่างที่หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านชายทะเลมีสวนมะพร้าวเต็มตลอดแนวทะเล ชาวบ้านบางรายจะเลี้ยงควายเอาไว้เป็นฝูงแต่ไม่ได้มีอาชีพค้าควายกลับมีอาชีพรับจ้างนำฝูงควายไปเลี้ยงตามสวนมะพร้าว เพื่อให้ควายถ่ายมูลเป็นปุ๋ยในฤดูฝนหรือในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันนานพอสมควรจะพบเห็ดขี้ควายเกิดขึ้น ชาวบ้านจะนำเห็ดนี้มาขายให้กับผู้ที่คอยบริการนักท่องเที่ยวอยู่ชายหาดหรือผู้ที่มีเรือรับจ้างไว้บริการพาไปชมเกาะแก่ง ซึ่งจะนำไปขายต่อให้กับนักท่องเที่ยว และจะเบเห็ดขี้ควายแห้งสำรองไว้ขายในช่วงที่ฝนขาดช่วงนานไม่มีเห็ดสด ราคาเห็ดก็ตกราวดอกละ ๕๐ บาท ในระยะที่ผู้เขียนไปไม่มีเห็ดสดเลย มีแต่เห็ดแห้งขาดรุ่งริ่ง ๒ ดอก เขาบอกราคา ๘๐ บาท แต่ผู้เขียนต้องการเห็ดสด เพื่อนำมาศึกษาจึงตอบปฏิเสธไป

สภาพแปรเปลี่ยน-ไม่พบเห็ดขี้ควายที่ภูเก็ต

ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๑ ผู้เขียนและคณะได้มีโอกาสไปที่หาดป่าตองอีกครั้ง ปรากฎว่าการไปครั้งนี้สร้างความแปลกใจให้กับผู้เขียนมาก บรรยากาศชายทะเลที่เคยสงบร่มรื่น หาดทรายสีขาวละเอียด สะอาด มีบังกาโลไม่ค่อยหนาแน่นนัก มีร้านบริการ ร้านขายของชำร่วยไม่มากนัก บัดนี้ได้เปลี่ยนไปจนจำแทบไม่ได้ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างขยายออกไปกลืนสวนมะพร้าวชายทะเลเกือบหมด พื้นที่บางส่วนกำลังมีการก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ มีถนนเพิ่มขึ้น มีสถานบริการทุกอย่าง ใกล้เคียงกันกับพัทยาเข้าไปทุกที

สภาพเช่นนี้ไม่เหมาะที่จะเป็นที่อยู่ของควายต่อไปอีกแล้ว เมื่อสอบถามชาวบ้านดูได้ความว่า ผู้ที่เคยเลี้ยงควายหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่น ดังนั้นเห็ดขี้ควายที่หาดป่าตองก็คงหมดไปโดยปริยาย เมื่อถามว่าบริเวณใกล้เคียงนี้จะหาควายได้ที่ไหน เขาแนะนำให้ไปหาดกะตะ เมื่อเราตามไปหาดกะตะคณะของเราพบควายแต่ไม่พบเห็ดขี้ควายเลย อาจจะเป็นเพราะควายลดจำนวนลงมาก มูลควายไม่กองรวมกันเป็นพื้นที่กว้างอย่างแต่ก่อน มีเพียงเล็กน้อยกระจัดกระจาย ซึ่งคงไม่หนาแน่นพอที่จะเกิดดอกเห็ดได้

ยังพอมีอยู่ที่เกาะสมุย

ในการเดินทางครั้งเดียวกันนี้ คณะของผู้เขียนได้ไปสำรวจเห็ดที่เกาะสมุย อันเป็นเกาะสวาทหาดสวรรค์ของนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก เมื่อย่างก้าวไปบนเกาะก็พบแต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแทบทั้งสิ้น มีคนพื้นเมืองไม่มากนัก ตามถนนหนทาง ชื่อร้านรวงป้ายโฆษณาล้วนแล้วแต่เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้มีความรู้สึกเหมือนอยู่ในต่างประเทศ

เนื่องจากเรามีเวลาอยู่ที่เกาะสมุยเพียงวันเดียว คณะของเราจึงพยายามใช้เวลาทุกนาทีให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ได้สอบถามชาวบ้านถึงแหล่งเพาะเห็ดขี้ควายไปด้วย จากการสังเกตตามจุดที่มีบ้านพักนักท่องเที่ยวมีร้านอาหารซึ่งอยู่ไม่ไกลชายหาดเท่าไหร่นัก จะพบเห็นรูปโฆษณาภาษาอังกฤษประกอบภาพวาดขนาดใหญ่ดอกเห็ดขี้ควาย ในนาม “เมจิก มัชรูม” อยู่หน้าร้าน ภายในร้านพบรูปถ่ายของจริงติดกรอบแขวนอยู่ในร้านด้วย เมื่อผู้เขียนได้ลองสอบถามถึงเห็ดชนิดนี้ ก็ได้รับคำปฏิเสธว่าไม่มีเห็ดชนิดนี้เลย และไม่ยอมให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีก ดังนั้นคณะของเราจึงได้เบนเข็มไปสอบถามชาวบ้าน เพื่อค้นหาฟาร์มเห็ดขี้ควายซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นฟาร์เห็ดชนิดเดียวที่ลึกลับที่สุด

ผู้เขียนไม่แปลกใจเท่าไรนักที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการค้าขายเห็ดขี้ควาย ทั้งนี้เพราะได้ทราบมาว่าตำรวจเริ่มจับกุมผู้ที่มีเห็ดชนิดนี้ไว้ในครอบครองแล้ว ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เขียนและคณะก็มิได้ลดละความพยายามสอบถามหาแหล่งที่มาของเห็ดขี้ควาย คงอาจจะเป็นเพราะคณะของเราเป็นคณะนักวิชาการเกษตร ชาวบ้านจึงมิได้ติดใจสงสัยแถมยังแนะนำชี้ทางให้โดยไม่ได้ปิดบังแต่อย่างใด คณะของเราจึงใช้เวลาไปกว่าครึ่งค่อนวันถึงได้ติดตามไปถึงแหล่งต้นตอ ในขั้นแรกเจ้าของ “ฟาร์มเห็ดขี้ควาย” ซึ่งยังไม่รู้จักคณะของเรา ก็พยายามบ่ายเบี่ยงว่าไม่มีแล้ว เมื่อก่อนนี้มีแต่เดี๋ยวนี้หาไม่ได้อะไรทำนองนี้ แต่หลังจากคุยกันจนคุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนึ่งในคณะของเราเป็นคนใต้ พูดภาษาเดียวกันทำให้เกิดความสนิทสนมเชื่อใจกัน เจ้าของฟาร์มเห็ดขี้ควายก็ยอมเปิดเผยเคล็ดลับการผลิตเห็ดขี้ควาย โดยได้พาคณะของเราไปเยี่ยมชมฟาร์มซึ่งมีขนาดใหญ่โตนัก

การเพาะเห็ดขี้ควายแบบชาวบ้าน

การเพาะเห็ดให้วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ โดยเอาขี้ควายเก่าๆ ที่แห้งแล้วมากองรวมกัน แผ่ออกให้มีขนาดแปลงกว้างประมาณ ๖๐ ซม. ยาวไปตามพื้นที่ ทำหลังคาคลุมกันแดดซึ่งทำด้วยทางมะพร้าว และใช้สังกะสีเก่าๆปิดบังลม เนื่องจากเป็นที่ๆ ติดชายทะเลมีลมพัดแรง เจ้าของจะรดน้ำพอเปียก อาจจะเป็นเพราะบริเวณที่เพาะเห็ดเหมาะสมกับเห็ดชนิดนี้ จึงทำให้เกิดดอกเห็ดอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่คณะของเราเยี่ยมชม มีดอกเห็ดขี้ควายขึ้นอยู่เป็นกอๆ กอละ ๒-๓ ดอก บริเวณโคนดอกบนกองขี้ควายจะพบเส้นใยสีน้ำตาลอ่อนรวมตัวกันเป็นแผ่น ส่วนบริเวณอื่น ๆ ก็มีเส้นใยเจริญเติบโตอยู่เห็นได้ชัดเจน ดอกเห็ดขี้ควายจะขึ้นกระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ ซึ่งก็นับว่าได้ผลดีกว่าที่จะไปเที่ยวหาหรือเก็บดอกที่เกิดเองตามธรรมชาติ เจ้าของฟาร์มได้ปลูกเพิงใกล้บริเวณที่เพาะเห็ดเพื่อเอาไว้นอนเฝ้ากันขโมย นอกจากนี้อาณาเขตโดยรอบยังมีรั้วรอบขอบชิด ประตูลั่นกุญแจตลอดวันด้วย

เอาตัวอย่างเห็ดมาศึกษา

หลังจากที่เราได้สอบถามและถ่ายรูปดอกเห็ดจนสมควรแก่เวลาแล้ว คณะของเราก็ลากลับ ก่อนจะกลับเราได้ขอตัวอย่างดอกเห็ดที่สมบูรณ์เพื่อนำมาแยกเชื้อบริสุทธิ์เอาไว้ศึกษาทดลอง โดยบอกกับเจ้าของฟาร์มว่าจะทดลองหาวิธีเพาะที่ทำง่ายๆ ปรากฎว่าเจ้าของฟาร์มมีความยินดีและบอกว่าถ้ารู้วิธีการเพาะแล้ว ช่วยส่งข่าวคราวให้ทราบด้วยซึ่งเราก็รับปาก เจ้าของฟาร์มนำเรามาที่ร้านขายเครื่องดื่มในตู้แช่ซึ่งภายนอกมองเห็นแต่น้ำขวด แต่ใต้ลงไปมีถุงเห็ดขี้ควายแช่อยู่ด้วย เราคาดว่าคงมีไว้บริการลูกค้าประเภทร้านอาหารที่ได้รับการสั่งซื้อมา หลังจากเราได้เห็ดขี้ควายมา ๓ ดอกแล้ว คณะของเราก็ลากลับที่พัก รีบจัดการแยกเชื้อบริสุทธิ์ก่อนที่จะเสีย และได้ถ่ายภาพดอกเห็ดเพิ่มเติมอีก แต่เป็นที่น่าเสียดายผู้เขียนและคณะของเราไม่สามารถถ่ายภาพฟาร์มเพาะเห็ดขี้ควายพร้อมทั้งเจ้าของฟาร์มได้ เนื่องจากเกรงจะเกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของฟาร์มในภายหลัง

คนไทยผู้ใกล้ชิดกับวงการเห็ดรู้จักเห็ดขี้ควายกันมานาน ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยทราบเรื่องเลย แต่ทั้งที่รู้จักมากและรู้วิธีกินที่จะไม่ให้เกิดโทษ โดยเรียนรู้จากชาวต่างประเทศที่มาเที่ยวแล้ว คนไทยเหล่านั้นไม่เคยนึกอยากจะบริโภคเห็ดชนิดนี้กันเลย จากการที่ผู้เขียนได้สอบถามดูหลายรายได้คำตอบว่าไม่มีความรู้สึกนึกอยากลองเลย อาจจะด้วยเหตุผลที่เกรงอันตราย เมื่อดูลักษณะของดอกแล้วน่ากลัวมากกว่าที่จะน่ากิน อีกประการหนึ่งอาจจะนึกรังเกียจที่ดอกเห็นเจริญเติบโตบนกองขี้ควายโดยตรงก็เป็นได้ ฉะนั้นการที่มีผู้วิตกกังวลว่าราษฎรชาวไทยจะหันไปนิยมรับประทานนั้นคงเป็นสิ่งที่ยังดูห่างไกล

ที่รู้แน่ๆ ในขณะนี้ก็คือ ชาวบ้านผู้พบเห็ดขี้ควายหรือผู้ที่เพาะเห็ดขี้ควาย โดยเลียนแบบธรรมชาติมีรายได้จากการขายเห็ดชนิดนี้เป็นรายได้พิเศษค่อนข้างสูง กล่าวคือ ดอกเห็ดขี้ควายขนาดใหญ่ อาจจะขายได้ราคาถึงดอกละ ๖๐-๑๐๐ บาท ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า “เมจิก มัชรูม” หรือเห็ดขี้ควาย ของไทยเป็นเห็ดที่มีมนต์ขลังสมชื่อ (เมจิก มัชรูม หมายความว่า เห็ดวิเศษ) จริงๆ คือสามารถขายได้ราคาแพงที่สุดในโลกก็ว่าได้ ผู้เขียนยังเชื่อว่าคนไทยคงไม่นิยมบริโภคเห็ดชนิดนี้แน่นอน เพราะนอกจากราคาแพงลิ่วแล้ว ยังเสี่ยงกันอันตรายกับการรับประทานแล้วอาจถึงตายได้

บรรณานุกรม

อนงค์  จันทรศรีกุล ๒๕๒๙ การวิจัยโรคพืชและจุลชีววิทยา กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน้า ๙๖