เอกลักษณ์ของไหมไทย

วลี  มโนมัธย์

ดร.ฤกษ์  ศยามานนท์(ที่ปรึกษาในการเขียนและเรียบเรียง)

กรมวิชาการเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ

ไหมไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในความสวยสดงดงามอันเนื่องมาจากแสงที่ทอส่งแวววามอยู่ในเนื้อผ้าที่แตกต่างไปจากผ้าไหมทั่ว ๆ ไป การทอผ้าไหมแต่เดิมนั้นทำกันเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวไว้ใช้เองหรือขายภายในประเทศ กรรมวิธีการผลิตผ้าไหมทำด้วยมือทุกขั้นตอน ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจรของครอบครัวเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเริ่มจากการปลูกหม่อนเพื่อเก็บใบไปเลี้ยงหนอนไหม จนเมื่อหนอนไหมทำรังแล้วก็จะเก็บรังไหมมาสาวด้วยวิธีการง่าย ๆ แล้วใช้เป็นทั้งไหมเส้นยืนและเส้นพุ่ง นำเส้นไหมที่สาวมาย้อมด้วยสีธรรมชาติที่มีอยู่ในส่วนต่าง ๆของต้นไม้ เช่น เข และคราม เป็นต้น

ลักษณะของผ้าไหมที่ได้มีความแตกต่างจากผ้าไหมต่างประเทศ บางชนิดมีลักษณะเป็นปุ่มปมและมีลวดลายสวยงามแปลกตาพร้อมทั้งความมันแวววาวชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ชอบและนิยมผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือ เพราะการทำด้วยมือทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ประณีตสวยงามผิดกับการทำด้วยเครื่องจักร ยิ่งเป็นผ้าไหม ซึ่งปกติเป็นของมีค่ากว่าผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยสังเคราะห์อยู่แล้ว เมื่อใช้กรรมวิธีที่ทำด้วยมือทั้งหมด จึงทำให้ผ้าไหมของไทยเป็นสิ่งล้ำค่ามากสำหรับชาวต่างประเทศ

ลักษณะเด่นของไหมไทยที่กล่าวขวัญกันมากและสามารถมองเห็นอย่างเด่นชัด คือ ลักษณะเนื้อผ้าที่เป็นปุ่มปมของผ้ามัดหมี่ ทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าลักษณะปุ่มปมเป็นลักษณะที่ดีของผ้าไหมไทย ความจริงลักษณะของเส้นไหมที่มีปุ่มปมเป็นลักษณะที่ด้อยในการจัดลำดับชั้นคุณภาพของไหม เส้นไหมที่ดีจะต้องมีเส้นเรียบสม่ำเสมอ ชาวต่างชาติหรือแม้ คนไทยบางคนชอบผ้าไหมที่มีปุ่มปมเพราะดูแล้วแปลกตา นั่นคือค่านิยมของผู้ใช้ซึ่งมิได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องมีคุณภาพดีตามมาตรฐานเสมอไป การปรับปรุงเส้นไหมในด้านวิชาการจะต้องพิจารณาแยกระหว่างคุณภาพกับค่านิยม เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่แท้จริงไว้ด้วย

เอกลักษณ์ไหมไทยคืออะไร

ไหมไทยมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนกับไหมต่างประเทศอันเป็นเอกลักษณ์ที่พูดถึงกันบ่อย ๆ ลักษณะพิเศษดังกล่าวคือความเลื่อมมันเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับความเลื่อมมันของไหมทั่ว ๆ ไป เนื้อผ้าฟูไม่เรียบ อ่อนนุ่มและมีน้ำหนัก เป็นเรื่องที่น่าสนใจและศึกษาว่า ทำไมไหมไทยจึงมีลักษณะพิเศษผิดแปลกจากไหมทั่ว ๆ ไป ก่อนที่จะเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นแนวทางความเป็นไปได้ของการเกิดลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของไหมไทยนั้น ขอกล่าวถึงขั้นตอนการผลิตและการจัดลำดับชั้นคุณภาพของเส้นไหม เพื่อเป็นความรู้พื้น่ฐานประกอบการพิจารณาทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ขั้นตอนการผลิตไหมไทย

เส้นไหมเป็นเส้นใยธรรมชาติที่ได้จากแมลง เป็นสารที่ตัวหนอนพ่นออกมาเป็นเส้นใยผนึกเป็นรังห่อหุ้มตัวเองก่อนที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นดักแด้ การดึงเส้นใยซึ่งมีขนาดเล็กมากออกจากรังโดยวิธีการนำรังไปต้มเพื่อละลายกาวที่ผนึกเส้นใยออกจากกัน เรียกว่าการสาวไหม เส้นไหมที่ใช้เป็นเส้นพุ่งหรือเส้นยืนก็ตาม จะมาจากการสาวเส้นไหมจากรังหลาย ๆ รังในคราวเดียวกัน โดยให้เส้นไหมของแต่ละรังพันกันเป็นเกลียว เพื่อให้มีการยึดเกาะซึ่งกันและกัน ทำให้มีความเหนียวทนทาน เนื้อผ้ากระชับแน่นสวยงาม มีการสะท้อนของแสงและหักเหไปในทิศทางต่าง ๆ กัน อันเป็นผลต่อความเลื่อมมันของผ้าไหม

เส้นไหมที่สาวได้จะมีคุณภาพแตกต่างกันขึ้นอยู่กับคุณภาพของรังไหม ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร และความชำนาญของผู้สาวไหม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเส้นไหม จึงได้มีการกำหนดมาตรฐานการจัดลำดับชั้นคุณภาพของเส้นไหมขึ้น เนื่องจากเส้นไหมส่วนใหญ่มีสีขาว การจัดลำดับชั้นคุณภาพเส้นไหมตามมาตรฐานสากล จึงกำหนดสำหรับใช้กับไหมสีขาวที่สาวด้วยเครื่องจักร สีขาวเป็นสีพื้นที่จะย้อมให้เป็นสีใดก็ได้ตามความต้องการของตลาด ไหมสีขาวจึงมีตลาดกว้างขวางมาก เพราะไม่เกิดปัญหาต่อการฟอกย้อมสีตามมาตรฐานทั่ว ๆ ไป การจัดลำดับชั้นคุณภาพเส้นไหมตามมาตรฐานสากลมีหลักในการพิจารณาที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับการผลิตและคุณภาพของผ้าไหมดังนี้

๑.  ความสม่ำเสมอของขนาดเส้นไหม มีผลต่อการผลิตผ้าไหมดังนี้

๑.๑  การฟอกย้อมสี เส้นไหมที่มีขนาดไม่สม่ำเสมอเล็กบ้างใหญ่บ้าง เมื่อนำไปฟอกย้อมจะติดสีไม่สม่ำเสมอ ผ้าไหมที่ทอได้จะมีสีไม่สวยงาม

๑.๒  ผลผลิตของผ้าไหม เส้นไหมขนาดใหญ่(หน่วยที่ใช้ในการวัดขนาดของเส้นไหมมีความสัมพันธ์กันระหว่างน้ำหนักต่อหน่วยความยาว หน่วยในการวัดขนาดของเส้นไหม เรียกว่า ดีเนียร์ คือจำนวนน้ำหนักต่อความยาวของเส้นไหม ๙,๐๐๐ เมตร สมมุติว่าเส้นไหมยาว ๙,๐๐๐ เมตร มีน้ำหนัก ๑ กรัม ดังนั้น ขนาดของเส้นไหมคือ ๑ ดีเนียร์) เมื่อนำไปทอจะได้ผ้าสั้นกว่า เช่น ผ้าไหม ๑ กิโลกรัม ปกติทอผ้าไหมได้ ๔๐ หลา แต่ถ้าเส้นไหมมีขนาดใหญ่อาจทอได้เพียง ๓๘ หลา ก็ได้

๑.๓  ผ้าไหมที่ทอจากเส้นไหมที่มีขนาดไม่สม่ำเสมอ จะไม่เลื่อมมัน สวยงามเท่าที่ควร

๒.  ปุ่มปมบนเส้นไหม มีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ไหมเช่นเดียวกับขนาดของเส้นไหม คือมีผลต่อการฟอกย้อม จำนวนผ้าที่ทอได้และความเลื่อมมัน ผลกระทบที่สำคัญที่สุดของปุ่มปมบนเส้นไหมเกิดขึ้นในขบวนการทอโดยเฉพาะในกรณีที่ใช้เส้นไหมที่มีปุ่มปมเป็นเส้นยืน ฟันหวีหรือกระสวย มักจะสะดุดปุ่มปมทำให้เส้นไหมขาด ผ้าที่ทอได้จะไม่สวยงามทั้งด้านเนื้อผ้าและลวดลาย นอกจากนี้ทำให้เสียเวลาและแรงงานมีผลกระทบที่สำคัญยิ่งต่อต้นทุนการผลิตและคุณภาพของผ้าไหม

๓.  ความสม่ำเสมอของสีเส้นไหมดิบมีผลต่อการฟอกย้อม หลังจากฟอกแล้วเส้นไหมฟอกมีสีไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นผลต่อเนื่องไปถึงการย้อมสีทำให้เส้นไหมติดสีไม่สม่ำเสมอ

การจัดลำดับชั้นคุณภาพของเส้นไหมไทย

ปัจจุบันการจัดลำดับชั้นคุณภาพเส้นไหมพุ่งอันเป็นเอกลักษณ์ของไหมไทยยังไม่มีระบบที่แน่นอนเนื่องจากการสาวไหมเส้นพุ่งเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว และใช้วิธีการสาวด้วยมือแบบโบราณ เส้นไหมมีจำนวนเกลียวน้อย ขนาดของเส้นไหมไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความชำนาญ ประสบการณ์และความพอใจของแต่ละคนเป็นการยากที่จะกำหนดให้เกษตรกรแต่ละคนสาวเส้นไหมที่มีลักษณะเดียวกัน จะเห็นว่าคุณภาพของเส้นไหมพุ่งแตกต่างกันมาก ทำให้มีปัญหาเรื่องตลาดราคาของเส้นไหมจะขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งกำหนดราคาตามความพอใจ เกษตรกรผู้ผลิตเส้นไหมไม่ได้รับความเป็นธรรม ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง การจัดลำดับชั้นคุณภาพเส้นไหมพุ่งมีปัญหามากมายและเป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ทำด้วยมือตามความพอใจของแต่ละคน หรือแต่ละหมู่เหล่า

แนวทางในการแก้ปัญหาคือ จัดให้เกษตรกรรวมกลุ่มโดยมีโรงสาวไหมกลางที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดในระยะแรก เพื่อให้เกษตรกรเห็นความสำคัญและผลประโยชน์ที่จะได้รับ การส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไหมเพื่อขายรังไหมเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาการจัดลำดับชั้นคุณภาพเส้นไหมพุ่ง ซึ่งต้องทำควบคู่กันไปกับการส่งเสริมให้เอกชนตั้งโรงงานสาวไหมเส้นพุ่ง เพื่อรับซื้อรังไหมจากเกษตรกร ความจริงการจัดลำดับชั้นคุณภาพเส้นไหมพุ่งของไทยนั้นทำสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยจัดแบ่งเป็น ๓ ชนิด คือ

ไหมชั้น ๑ (ไหมยอดหรือไหมน้อย) คือเส้นไหมที่สาวจากชั้นในของรังไหมชนิดนี้จะมีขนาดเส้นสม่ำเสมอไม่มีปุ่มปม สามารถจะใช้เป็นเส้นยืนได้ใช้ทอผ้าที่มีคุณภาพดี

ไหมชั้น ๒ (ไหมสาวเลย) การสาวไหมชนิดนี้จะไม่มีการแยกสาวไหมชั้นนอกและชั้นในของรัง จะสาวรวมกันไปตลอด คุณภาพของเส้นไหมที่ได้จะต่ำกว่าไหมชั้น ๑ ขนาดของเส้นไหมอาจจะไม่สม่ำเสมอและมีปุ่มปม แต่สำหรับผู้สาวที่มีความชำนาญจะสามารรถสาวได้เส้นไหมที่สม่ำเสมอดีเท่ากับไหมชั้น ๑ ส่วนมากไหมชนิดนี้จะใช้สำหรับผ้ามัดหมี่

ไหมชั้น ๓ คือเส้นไหมที่สาวจากชั้นนอกของรังก่อนที่จะสาวไหมชั้น ๑ เส้นไหมจะมีขนาดใหญ่ไม่สม่ำเสมอ มีปุ่มปม ใช้ทอผ้าเนื้อหนา ส่วนใหญ่ใช้ในการทำเฟอร์นิเจอร์หรือผ้าห่ม

พันธุกรรมและกรรมวิธีการผลิตสร้างเอกลักษณ์

เอกลักษณ์ของไหมไทยอาจจะเกิดจากกรรมวิธีการผลิต หรือเกิดจากพันธุกรรม หรือเกิดจากกรรมวิธีการผลิตกับพันธุกรรมประกอบกัน กรรมวิธีการผลิตผ้าไหมไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ฝีมือและความชำนาญทุกขั้นตอน จากประสบการณ์ทางด้านวิทยาการเส้นใยพอจะอธิบายได้ว่า กรรมวิธีการผลิตผ้าไหมซึ่งทำด้วยมือทุกขั้นตอนตามแบบฉบับของผ้าไหมไทยนั้น ทำให้ได้เส้นไหมและผ้าไหมที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือมีความเลื่อมมัน เนื้อผ้าฟูไม่เรียบและอ่อนนุ่ม เนื่องจากแรงเสียดสีและแรงดึงที่เกิดจากกรรมวิธีการผลิตด้วยมือต่ำมาก จึงไม่ค่อยมีผลกระทบกับโครงสร้างของเส้นไหมมากนัก พื้นผิวของเส้นก็ยังคงรูปเดิมตามธรรมชาติมากที่สุด ดังนั้น ผ้าไหมไทยที่ได้จากกรรมวิธีการผลิตด้วยมือจึงคงรักษาลักษณะธรรมชาติไว้ได้เกือบทั้งหมด ทำให้ผ้าไหมไทยแตกต่างกับผ้าไหมทั่ว ๆ ไป อนึ่ง เส้นไหมไทยมีจำนวนเกลียวน้อย ทำให้เส้นไหมมีความมันและมีลักษณะฟูไม่เรียบ เนื้อผ้าไหมไทยจึงฟูอ่อนนุ่มไม่เรียบและมีความเลื่อมมันแตกต่างจากผ้าไหมต่างประเทศ

พันธุกรรมอาจมีอิทธิพลที่ทำให้เกิดความเลื่อมมันเฉพาะตัว และความฟูของเส้นไหม ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของเส้นไหมอันเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของไหมพันธุ์ไทย ขนาดของเส้นไหมมีอิทธิพลต่อความเลื่อมมันและน้ำหนักของผ้าไหมมาก ไหมพันธุ์ไทยส่วนมากจะมีขนาดของเส้นไหมเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ต่างประเทศ เส้นไหมที่สาวได้มีลักษณะอ่อนนุ่ม มีน้ำหนักและมีเกลียวละเอียด เมื่อทอเป็นผืนผ้าแล้วทำให้ได้เนื้อผ้าที่มีความเลื่อมมันเฉพาะตัว อ่อนนุ่มและมีน้ำหนัก ลักษณะพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของไหมไทยน่าจะเกิดจากกรรมวิธีการผลิตที่ทำด้วยมือ ประกอบกับอิทธิพลทางด้านพันธุกรรมต่อความฟูของเส้นไหมที่ทำให้เนื้อผ้าอ่อนนุ่ม และขนาดของเส้นไหมซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเลื่อมมันและน้ำหนักของเนื้อผ้า

สรุป  ไหมไทยควรคงความไม่เหมือนใคร

ปัจจุบัน วิทยาการเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ไหมของไทยก้าวหน้าไปมาก มีปรับปรุงพันธุ์ทั้งด้านวิธีดั้งเดิมและการใช้พันธุวิศวกรรม อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าวิจัยดังกล่าวควรคำนึงถึงเอกลักษณ์ของไหมไทยด้วย ทำอย่างไรจึงจะรักษาความเลื่อมมันไว้ได้ เพื่อปกป้องและอนุรักษ์ไหมไทยให้มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยตลอดไป