เอื้องหมายนา

(Crepe Ginger)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Costus speciosus (Koen.) Sm.
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น เอื้องต้น (ยะลา). เอื้องใหญ่ (ภาคใต้), ชู้ไลนอง ชเลโบ
(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เอื้องเผ็ดม้า (ภาคกลาง เกาะสมุย), เอื้องช้าง (นครศรีธรรมราช),จุยเจียว-ฮวย (จีน)
ลักษณะทั่วไป ไม้ลงหัวลำต้นกลมอุ้มน้ำเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 ซม. สูง 1.5-2.5 ม. ส่วนรากนั้นจะเป็นหัวใหญ่ยาว ตามบริเวณโคนต้นจะติดหัวแข็งคล้ายไม้


ใบ ออกเรียงกันเป็นเกลียวคล้ายก้นหอย แผ่นใบจะเรียวแหลม โคนใบมีขนและมีส่วนหุ้มรอบลำต้น โคนใบมน ใบกว้าง 6-7 ซม. ยาว 15-20 ซม.
ดอก ออกเป็นช่อตรงยอด ดอกย่อยจะอยู่รวมกันหนาแน่น ดอกย่อยจะมีกลีบเลี้ยงอยู่ 3 กลีบ เป็นแผ่นแบนขอบมนเป็นสีม่วงแดง ยาว 3-5 ซม. กลีบดอกจะติดเป็นหลอด ส่วนปลายจะแยกเป็นกลีบสีขาวหรือแดงเล็กน้อย อีกกลีบจะมีลักษณะคล้ายลิ้น เป็นแผ่นสีขาว ตรงกลางสีเหลือง ใบประดับสีม่วงแดงเป็นรูปไข่แต่ละใบประดับนั้น จะมีดอกย่อยอยู่ 1 ดอก เกสรตัวผู้จะมีอยู่ 1 อัน และมีอับเรณูเป็นแท่ง ยาว ส่วนรังไข่นั้นจะมี 2-3 ห้องและมีไข่อ่อนมาก


ผล กลมมีเนื้อแข็ง สีแดง และมีกลีบเลี้ยงเหลือติดอยู่ภายในเมล็ดสีดำ เป็นมัน
นิเวศวิทยา พบตามที่มีความชุ่มชื้นใต้ต้นไม้ใหญ่ ตามบริเวณเชิงเขา ตามน้ำตก และริมทางน้ำ
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เหง้า รสฉุน เย็นจัด มีพิษใช้ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ สตรีตกขาวเละโรคที่ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แผลอักเสบ บวมมีหนอง ฆ่าพยาธิ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย