แคบ้าน

(Agasta, Cork Wood Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania grandiflora (Desv.) L.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE – PAPILLIOMOIDEAE
ชื่ออื่น แค แคขาว แคแดง
ถิ่นกำเนิด เอเชียเขตร้อน และแถบหมู่เกาะอินดีสตะวันตก
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-10 ม. ขนาด ทรงพุ่ม 3-5 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มทรงกระบอกหรือรูปไข่ เปลือกต้น สีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว เปลือกที่กั้นสลับร่องลึก แตกเป็นกาบหนา มีรูปร่างไม่แน่นอน


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับแกนกลาง ใบประกอบยาว 20-30 ซม.ใบย่อย 10-30 คู่ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน กว้าง 1-2 ซม. ยาว 3-5 ซม. ปลายและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางและเรียบ สีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียด
ดอก สีขาวและม่วงแดง ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะที่ซอกใบใกล้ ปลายกิ่ง ช่อดอกห้อย ดอกย่อยรูปดอกถั่ว 2-4 ดอก ยาว 4-6 ซม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 2 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ บางและอ่อน เกสรเพศผู้ 10 อัน


ผล ผลแห้งแตกสองตะเข็บ เป็นฝักทรงกระบอกเรียว กว้าง 0.7 ซม. ยาว 30-50 ซม. ด้านข้างฝักแบน สีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีนํ้าตาล เมล็ดแบนมีปีกบางสีขาว 30-40 เมล็ดต่อฝัก ออกดอกติดผลตลอดปี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ ส่วนของแคบ้านที่นำมารับประทาน ตั้งแต่ยอดอ่อน ใบอ่อน รสหวาน มัน ดอกอ่อนที่มีรสหวานออกขมเล็กน้อย นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกง ลวกกินกับน้ำพริกได้
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือก ต้มคั้นนํ้าแก้ท้องร่วง แก้บิด แก้มูกเลือด คุมธาตุ ใบ รสจัดมัน แก้ไข้เปลี่ยนฤดู ไข้หวัด ถอนพิษไข้ ดอก รสหวานเย็น แก้ไข้เปลี่ยนฤดู
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย