แคยอดดำ

(Snake tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Stereospermum fimbriatum (Wall.ex G. Don) A.DC.
ชื่อวงศ์ BIGMONIACEAE
ชื่ออื่น แคฝอย
ถิ่นกำเนิด พม่าและมาเลเซีย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 12-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 4-6 ม. ผลัดใบระยะสั้น ทรงพุ่มแคบ ผอมสูง ค่อนข้าง แน่นโคนต้นเป็นพูพอนขนาดเล็ก เปลือกต้นสีเทาอ่อน เป็นสะเก็ด ตามขวางบางๆ และช่องระบายอากาศอยู่ทั่วทั้งลำต้น


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนสลับ แกนกลางใบ ประกอบยาว 20-30 ซม. ใบย่อย 3-5 คู่ เรียงตรงกันข้าม รูปรีหรือรูปไย่แคบ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 11-15 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเบี้ยว ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวเข้ม มีขนสั้นๆ ปกคลุมทั้งสองด้านใบอ่อนสีม่วงอมดำ มีขนสีเหลืองเหนียว


ดอก สีขาวอมชมพูมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่งพร้อมกับผลิใบใหม่ ช่อดอกห้อย ลงยาว 25-40 ซม. ดอกย่อยรูปแตร กลีบเลี้ยงและโคนกลีบดอก เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายกลีบดอกแตกเป็นฝอยแผ่บานออก ดอกบานตอนกลางคืนหรือเข้ามืดและร่วงตอนเช้า เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 5-8 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-มี.ค.
ผล ผลแห้งแตกสองตะเข็บ เป็นฝักทรงกระบอก กว้าง 0.8-1 ซม. ยาว 30-60 ซม. บิดเป็นเกลียวหลวมๆ สีเขียว เมื่อสุกสีน้ำตาล เมล็ด มีปีกสองด้านสีขาว 20-50 เมล็ดต่อฝัก ติดผลเดือน มี.ค.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นและภาคใต้ตอนบน
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง เหมาะใข้ทำฟืน ฝากระดาน ด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย