แครอท:พืชผักเขตอบอุ่นหรือเมืองหนาว


แครอท(Carrot)

แครอทเป็นผักที่ใช้ส่วนหัวในการบริโภค มีลักษณะก้านใบยาวมาก ใบเล็กฝอย ส่วนหัวมีเนื้อมากอุดมไปด้วยสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นผักที่ใช้ในการตกแต่งอาหารให้มีสีสันสวยงาม รสชาติอร่อย เป็นพืชผักเขตอบอุ่นหรือ เมืองหนาว ผักแครอทเป็นผักที่ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีชั้นหน้าดินลึกความชุ่มชื้นไม่ต้องสูงนัก เพราะถ้าความชุ่มชื้นมาก แม้ว่าจะทำให้อวบใหญ่ แต่จะทำให้ รสชาติและสีสันของหัวแครอทไม่สดใสดีเท่าที่ควร

การเตรียมดิน

ปรับแต่งหรือขุดดิน ลึก 40-50 ซม. หรือ 2 หน้าจอบยกเป็นแปลงกว้าง 1 เมตร ยาว 5-6 เมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก และขี้เถ้าขาวแกลบเผา หรือขี้เถ้าจากเตาถ่านเป็นปุ๋ยรองพื้น คลุกเคล้าผสมกับดินในแปลงใช้ในอัตราส่วนตามจำนวนของปริมาณปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกที่มีหรือให้เหมาะสมใส่ประมาณ 3-4 กก./ตารางเมตร

วิธีการปลูก

การเพาะกล้า  ใช้เมล็ดพันธุ์โรยในแปลงเพาะกล้าที่เตรียมไว้ โรยปุ๋ยหมักทับ หนาประมาณ 1 ซม. จากนั้นให้ใช้เศษหญ้าหรือฟางคลุมไว้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ทุกวันเช้าเย็น

การย้ายลงแปลงปลูก  เมื่อต้นกล้าโตพอมีใบสัก 4-6 ใบแล้ว ก็สามารถแยกต้นกล้าไปปลูก ลงในแปลงเตรียมปลูกที่เตรียมไว้แล้วเว้นระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 10-15 ซม. เสร็จแล้วใช้เศษหญ้าหรือฟางคลุมที่โคนต้นเพื่อรักษาความชื้น รดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา

รดน้ำเช้า-เย็น เพื่อป้องกันดินแห้ง แต่อย่าให้แฉะจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดโคนเน่าได้ ควรมีการให้ปุ๋ยน้ำที่ได้จากวัสดุอินทรีย์ที่หมักจากปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกรวมทั้งได้จากเศษวัสดุ ใบจามจุรีโดยหมักทิ้งไว้ 1 คืนแล้วนำเอาน้ำหมักที่ได้นั้นมาผสมน้ำในอัตราส่วน 1:10 ใช้ฉีดพ่นทางใบ เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต

วิธีการทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในพืชกินหัว

สูตร 4-6-1-1-3-1 เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับพืช

ปุ๋ยคอก  (มูลสัตว์ เช่น หมู วัว ควาย ไก่ เป็ด นกกระทา อย่างหนึ่งหรือทั้งหมด) 4 ส่วน เศษซากต่าง ๆ (เศษใบไม้ต่าง ๆ ใบจามจุรี ละอองข้าว ฟางข้าว เปลือกถั่วต่าง ๆ) 6 ส่วน

หัวเชื้อดินดี 1 ส่วน

รำละเอียด 2 ส่วน

ขี้เถ้าแกลบเผาหรือ ขี้เถ้าเตาถ่าน 3 ส่วน

หินฟอสเฟต 1 ส่วน(ถ้าไม่มีใช้ผักตบชวาสับชิ้นเล็ก ๆ อาจจะแห้งแล้ว ก็ได้ในอัตรา 4 ส่วน) นำวัสดุทุกชนิดมาผสมคลุกเคล้าหมักทิ้งไว้และหมั่นกลับกองทุก 5 วัน จนกองปุ๋ยหมักมีอุณหภูมิลดลงใกล้เคียงอุณหภูมิภายนอก ซึ่งจะกินเวลา 4-6 เดือน จึงสามารถนำไปใช้กับพืช หรือผสมดินในแปลงได้

การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช

ปัญหาที่พบคือ โรคใบเหลือง รากเน่าโคนเน่า การแตกหัวออกเป็นกิ่งก้านสาขาคล้ายหัวโสมหงิกงอ ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการเตรียมดินไม่ดีและลักษณะของดินบริเวณนั้นเป็นดินเหนียวหรือดินดานหน้าดินตื้น ก่อนทำการเพาะปลูกผักแครอท ควรมีการขุดดินเตรียมแปลงให้ดีและใส่เศษซากวัสดุต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ดินโปร่งเหมาะแก่การลงหัวของผักแครอท

การเก็บเกี่ยว

เมื่อหัวแครอทโตได้ขนาดที่พอเหมาะก็จัดการเก็บเกี่ยวได้ เพราะถ้าหากปล่อยให้เติบโตเกินไป จะทำให้คุณภาพหัวแครอท เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง โดยส่วนมากจะเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 65-70 วัน