แคหางค่าง

(Karen wood)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Fernandoa adenophylla (Wall.ex G.Don) Steenis
ชื่อวงศ์ BIGMONIACEAE
ชื่ออื่น แคขน แคบิด แคพอง แคลาว แคหางอึ่ง แคหัวหมู
ถิ่นกำเนิด เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางกึ่งขนาดใหญ่ สูง 10-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-8 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มค่อนข้างกลมทึบ ลำต้นมักคดงอ เปลือกต้นสีเทาหยาบ เป็นสะเก็ดหลุดล่อนเป็นแผ่นๆ และมีช่องระบายอากาศอยู่ทั่วทั้งลำต้น


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนสลับ แกนกลางใบ ประกอบยาว 15-40 ซม.ใบย่อย 2-4 คู่ เรียงตรงข้ามกันและเรียงจาก ขนาดเล็กไปใหญ่จากโคนถึงปลาย รูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 6-19 ซม. ยาว 8-24 ซม. ปลายใบมนและเป็นติ่งแหลมสั้นโคนใบมนและเบี้ยว ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบหนาและย่นเป็นลอน สีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียดรูปดาวสีสนิมหรือสีนํ้าตาลซึ่งถูออกง่าย


ดอก สีครีม หรือเหลืองอมนํ้าตาล ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยก แขนงที่ปลายกิ่งช่อดอกตั้งยาว 16-25 ซม. ดอกย่อยรูประฆัง กลีบเลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน และมีขนสั้นสีน้ำตาลแดงปกคลุม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 3-5 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายกลีบยับย่น เกสรเพศผู้ 4 อัน ดอกบานตอนกลางคืน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 8-10 ซม. ออกดอก เดือน ธ.ค.-มี.ค.
ผล ผลแห้งแตกสองตะเข็บ เป็นฝักทรงกระบอกกว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 35-70 ซม. ม้วนบิดเป็นเกลียว มีสันตามแนวยาว 8-10 สัน มีขนสีน้ำตาลแดง เมื่อสุกสีน้ำตาลอมดำ เมล็ดแบนมีปีกแคบๆ สีขาว ทั้งสองด้าน 20-50 เมล็ดต่อฝัก ติดผลเดือน ก.พ.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการ เพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบทุกภาคในที่ความสูง 100-800 ม. จากระดับน้ำทะเล
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือกต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใบ ตำพอกรักษาแผล แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูด รักษาแผลสด แผลถลอก แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ห้ามเลือด เมล็ด แก้โรคชัก บำรุงโลหิต ขับเสมหะ ราก ต้น เปลือกผล ต้มน้ำอาบบรรเทาอาการปวดตามร่างกาย ปวดหลัง
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย