แตงกวา:พืชล้มลุกตระกูลเดียวกับแตงโม,บวบและฟักทอง


แตงกวา(Cucumber)

แตงกวาเป็นพืชผักล้มลุกตระกูลเดียวกับแตงโม บวบและฟักทองเป็นพืชปีเดียว มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย ยาว 2-3 เมตร มีมือจับช่วยพยุงต้น แตงกวาปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ปลูกได้ตลอดทั้งปี พันธุ์ที่ปลูกในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง

การเตรียมดิน

ขุดดินลึก 20 ซม. หรือ 1 หน้าจอบ ตากแดดไว้ 7 วัน สับดินให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกคลุกเคล้าให้เข้ากัน รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ 3-5 วัน

วิธีการปลูก

การปลูกแตงกวาสามารถปลูกได้โดยไม่ทำค้าง คือ ปล่อยให้แตงกวาเลื้อยไปตามผิวดิน ซึ่งจะใช้พื้นที่มาก ดังนั้นสำหรับคนที่มีพื้นที่จำกัด จึงควรปลูกแบบทำค้างให้แตงกวาเลื้อย โดยมีระยะห่างระหว่างต้น 50 ซม. ระหว่างแถว 100 ซม. แล้วใช้วิธีหยอดเมล็ดลงหลุม ๆ ละ 5-10 เมล็ด ลึก 2.5 ซม. แล้วกลบด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เมื่อต้นกล้าออกใบจริงได้ 2-3 ใบ ถอนต้นที่อ่อนแอออก เพื่อใช้เพียงต้นเดียวต่อหลุม แล้วโรยปุ๋ยคอกรอบดิน ใช้ไม้ไผ่สูง 2 เมตร ปักทำค้างให้แตงกวาเลื้อย

การดูแลรักษา

ประมาณ 20-30 วัน เมื่อแตงกวาเริ่มออกดอกให้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอีกครั้ง หลังจากแตงกวาเริ่มออกดอก ลดการให้น้ำเหลือ 2-3 วันครั้ง และไม่ควรใส่ปุ๋ยอีกเมื่อแตงกวาติดผลแล้ว

การเก็บเกี่ยว

เมื่ออายุได้ 30-40 วัน ก็เก็บผลแตงกวาได้ โดยเลือกเก็บแตงกวาที่อ่อนจะมีเนื้อแน่น กรอบและรสชาติอร่อย ทยอยเก็บวันเว้นวันได้นาน 1 เดือน

เก็บนำมาฝาก

ประเทศไทยติด 1 ใน 50 ใช้สารเคมีมากที่สุด

การประชุมแก้ปัญหากลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ยาก POPs-Persistent Organic Pollutants) อาทิ ไดออกซิน ฟูแรน ดีดีทีและยาฆ่าแมลง ซึ่งถือว่าเป็นสารพิษร้ายแรงทำลายสิ่งแวดล้อมโลก กลุ่มกรีนพีชซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เปิดเผยข้อมูล 50 ประเทศทั่วโลกที่ใช้สารพิษในแต่ละปีมีปริมาณสูงมาก ออกมาแฉที่ประชุมและมีชื่อประเทศไทยติดอยู่ด้วย

นายศิริธัญญ์  รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษได้รายงานเรื่องสถานการณ์สารพิษในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี  ไม่เคยมีข้อมูลว่าพื้นที่ใดในประเทศเป็นแหล่งสะสมสารเคมีอันตราย จนเป็นสาเหตุให้สิ่งแวดล้อมบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหาย แต่หากมีการพูดกันถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมดังกล่าวจริง คิดว่าอาจจะเป็นเพราะผู้พูดนำข้อมูลเรื่องการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศมาเป็นตัววัด ทั้งนี้ยอมรับว่าประเทศไทยนำเข้าสารเคมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2539 สารเคมีที่ถูกนำเข้าโดยผ่านท่าเรือกรุงเทพมีทั้งหมด 23% หรือประมาณ 744,000 ตัน และ 77% หรือประมาณ 280,000 ตัน เป็นสารเคมีที่นำเข้าเพื่อใช้ในการเกษตรจำนวน 38,000 ตัน ซึ่งการนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ก็ทำภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการวัตถุและสารอันตราย

จากหนังสือพิมพ์มติชน