แตงแคนตาลูป(Cantaloupe)


ลักษณะทั่วไป
ต้องการระดับการจัดการสูง เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดี ต้นทุนค่าใช้จ่ายและดูแลรักษาสูง ตลาดยังแคบเปรียบเทียบกับผลไม้ประเภทแตงอื่นๆ แต่มีแนวโน้มตลาดที่ดี ส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก (ไม่เกิน 100-120 ตร.ม.ป
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Sunlady : ก.พ.-ส.ค.    Jade Dew: ก.ย.-ม.ค.
ความสูง 300-1000 เมตร
ความเป็นกรดด่างของดิน 6.0-6.8
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย
ระยะปลูก(แถวคู่)    30×60 ซม.
จำนวนต้น 5.5 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของแปลง 1 เมตร
ระยะห่างของแปลง 50 ซม.
การเตรียมกล้า
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    18×18 ซม.
จำนวนต้น 500 ต้น/ตร.ม. สำหรับพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม. (กล้าเสียราว 10-15%)
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


หมายเหตุ ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.ป
การผลิต
ผลผลิตสูง เมื่อปลูกช่วง ก.ย.-ปลายพ.ย. และต่ำถ้าปลูกช่วง ก.ค.-ส.ค. (มีปัญหาเชื้อรา เนื่องจากฝนชุก) หรือเมื่อปลูกช่วง ธ.ค.-ม.ค. (อากาศเย็นทำให้ผลแตงปริแตก) ผลผลิตฤดูร้อนจะต่ำเนื่องจากแมลงเข้าทำลายแล้วเกิดการติดเชื้อโรค เกษตรกรมือใหม่มักปลูกล้มเหลวได้ผลผลิตประมาณ 50-60% ของระดับมือชำนาญ
ผลผลิต
ฤดูฝน 400-470 กก. ฤดูร้อน 300-350 กก. (เป็นเกรด A ระหว่าง 50-60%)
ราคาขายของเกษตรกร
ระหว่าง 23-27 บาท/กก.
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
ค่าใช้จ่ายต่อพื้นที่ปลูกสูง เป็นค่าพันธุ์กล้าต้นละ 2 บาท (500 ต้น รวมทั้งกล้าที่เสีย ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.) การปลูกฤดูร้อน ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ยากำจัดเชื้อราต่ำ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ แผ่นคลุมพลาสติค (ป้องกันวัชพืช และรักษาความชื้น) เชือกและไม้สำหรับทำค้าง
ผลตอบแทน
ให้ผลตอบแทนดีกว่า ถ้าปลูกปลายฤดูฝนเข้าฤดูหนาว
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
การดูแลรักษายุ่งยาก แต่จำเป็นเพื่อให้ได้ผลดี เกษตรกรต้องได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิด เช่นการใช้สารเคมี ตัดแต่งกิ่ง หรือห่อผล ควรใส่ปุ๋ยโปรแตสเซี่ยมก่อนเก็บเกี่ยว 10-15 วัน เพื่อให้ได้คุณภาพความหวาน
การตลาด
ปัจจุบันตลาดยังแคบ แต่มีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคต การสูญเสีย เมื่อไปถึงตลาดกรุงเทพฯ ประมาณ 30-40% เนื่องจากผลยังไม่ได้รสหวานเต็มที่และเนื้อแตงไม่แน่นพอ ราคาตลาดประมาณ 30-40 บาท/กก.
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
เพลี้ยอ่อนและเพลี้ยไฟ  พบได้ทุกระยะการปลูก โดยเฉพาะช่วงเตรียมกล้าและย้ายปลูก เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเข้าสู่พืช ป้องกันแก้ไขโดยใช้ พอส์สสลับกับ แลนเนท หรือ เมซูโรล ตั้งแต่ระยะต้นอ่อนแอไปจนเก็บเกี่ยว ทุก 5-7 วัน ถ้าจำเป็น
เต่าแตง (Cucurbit Beetle) พบระยะกล้า ใช้ เซฟวิน 85 ทุก 5 วันตลอดระยะกล้าหรือตามความจำเป็น
แมลงวันแตง (Melon Fly) เข้าทำลายผลช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวใช้ยา ทามารอน ตั้งแต่ระยะติดผลใหม่ๆ เป็นต้นไป ทุก 5-7 วัน วิธีป้องกันที่ดีคือ ห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์
โรค
โรคก้านเน่า เกิดตั้งแต่ระยะกล้าไปจนถึงระยะเริ่มติดผล ใช้ยา เทอร์ราคลอร์ เมื่อทำการเตรียมปลูก แล้วใช้ยา พรีวิเคอร์ (Previcur) ในระยะแรกของช่วงการดูแลรักษา หลังจากนั้นใช้ โคแมค หรือ คูปราวิท หรืออากริมัยซิน 7 วัน/ครั้ง หรือตามความจำเป็น
โรคราน้ำค้าง พบได้ทุกระยะ โดยเฉพาะหลังช่วงฝนชุก ป้องกันโดยใช้ ดาโคนิล และ ไดเทนเอ็ม 45 ทุก 7 วัน รักษาโรคโดยใช้ แอพรอน-35
อื่นๆ
การขาดธาตุโบรอน เกิดได้ทุกระยะ สังเกตได้ชัดถ้าเป็นระยะติดผล โดยผลจะแตกหรือลำต้นไม่เจริญเติบโต แก้ไขโดยใช้ โบแรกซ์ รองพื้นเมื่อปลูกหรือฉีดพ่น โบแรกซ์ทุก 7 วัน เมื่อแสดงอาการรุนแรง
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


การใช้แรงงาน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม
*พันธุ์ Sunlady ใช้ระยะเวลาดูแลรักษา 40-50 วัน มีอายุพืช 80-90 วัน
*พันธุ์ Jade Dew ใช้ระยะเวลาดูแลรักษา 75-80 วัน มีอายุพืช 120-125 วัน
ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงการเตรียมกล้า
ผสมดินสำหรับใส่ถุงกล้า โดยใช้ดินและปุ๋ยคอก ในอัตรา 2:1 ผสมกับปุ๋ย 15-15-15 (0.5 กก./ตร.ม.) ใช้ถุงเพาะกล้า 600 ถุง ต่อ 100 ตร.ม. ห่อเมล็ดพันธุ์ด้วยผ้าเปียก ใส่ถุงพลาสติค ปิดปากถุงให้แน่นกันน้ำระเหย ทิ้งไว้ 2 วัน จนกระทั่งเมล็ดเริ่มงอก ปลูกใส่ถุงกล้าถุงละเมล็ดลึก 1 ซม. กลบดินเบาๆ คลุมถุงกล้าด้วยตาข่ายแล้วรดน้ำ (วันละ 2 ครั้ง) ทิ้งไว้กลางแจ้ง เอาตาข่ายออกประมาณ 5-10 วัน ก่อนย้ายปลูก ใช้ปุ๋ย 46-0-0 ผสมน้ำรดสัปดาห์ละครั้ง ถ้าต้นพืชแข็งแรง หรือบ่อยกว่านั้น ถ้าพืชไม่ค่อยเจริญเติบโต หยุดให้น้ำ 3 วัน ก่อนย้ายปลูก เพื่อให้ต้นแข็งแรง รดน้ำอีกครั้งเมื่อจะย้ายปลูก ฉีดพ่นยาเคมีสัปดาห์ละครั้ง หรือเมื่อมีความจำเป็น
ข้อควรระวัง
1. เพาะกล้าภายใน 24 ชั่วโมง หลังเมล็ดงอก
2. ในฤดูหนาววางถุงแช่เมล็ดพันธุ์ในที่มีความอบอุ่นเพื่อเร่งให้เมล็ดงอก
ช่วงการปลูก
ขุดเตรียมดิน ทิ้งตากแดด 7 วัน ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตรให้แปลงห่างกัน 50 ซม. ขุดร่องลึก 15 ซม. ตามความยาวแปลง 2 ร่อง ระยะห่างจากกัน 75 ซม. โรยปุ๋ยขี้ไก่ลงร่องตามด้วย ปุ๋ย 15-15-15 แล้วใช้ดินกลบร่อง คลุมแปลงด้วยผ้าพลาสติค (ขนาดกว้าง 120 ซม.) และใช้ดินทับริมไว้ให้แน่นหนา ทั้งนี้เพื่อป้องกันวัชพืชขึ้น และลดการเข้าทำลายของแมลงเจาะแผ่นพลาสติคทำหลุมปลูกห่างกันหลุมละ 30 ซม.ย้ายกล้าปลูก โรย ฟูราดาน บริเวณต้นแล้วรดน้ำ ทำค้างวิธีเดียวกับปลูกแตงกวาญี่ปุ่น อย่าปลูกให้ลึกเกินไป และระวังอย่าให้กล้าเสียหาย
ช่วงการดูแลรักษา
การตัดแต่งกิ่งใบ ต้องให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เมื่อขณะย้ายปลูก พืชมีใบจริง 3-5 ใบ และจะเติบโตอย่างรวดเร็ว (6-8 ซม./วัน) ต้องเด็ดกิ่งข้างที่แตกใหม่ทิ้งทุกวัน ตั้งแต่ข้อที่ 1 ถึง 9 คอยนับให้ดี ใช้เวลาประมาณ 10 วัน ให้ไว้ผลตั้งแต่ 10-15 เป็นต้นไป โดยเลี้ยงกิ่งข้างซึ่งมักจะติดผลในข้อที่ 1-2 ของกิ่งข้างนั้นๆ แล้วเด็ดยอดโดยเหลือใบในข้อถัดไปของกิ่งข้าง และเริ่มจะติดผลเมื่ออายุได้ 10-30 วันเลือกผลที่ลักษณะดีที่สุด เก็บเลี้ยงไว้เพียง 4 ผลในระยะแรก ปลิดผลที่ไม่ต้องการทิ้ง ตัดแต่งกิ่งข้างต่อไปเมื่อกิ่งแตกข้อที่ 16-25 หลังจากข้อที่ 25 ให้ตัดยอดทิ้ง จากผลเลี้ยงเก็บไว้ 4 ผล เมื่อได้ขนาดเท่าฟองไข่ไก่ ให้เลือกผลลักษณะดีที่สุด เก็บเลี้ยงไว้เพียง 1 หรือ 2 ผล เพื่อให้ต้นพืชแข็งแรง หมั่นตรวจสอบทุกวันว่าผูกติดลำต้นกับค้างเรียบร้อยดี
เมื่อผลได้ขนาดเท่าฟองไข่ไก่ ใช้เชือกผูกตรึงลำต้นกับค้าง ไม่ให้ผลหล่นทอดตัวบนดิน ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อผล ถ้ามีปัญหาแมลงวันแตง
หลังย้ายปลูก 5 วัน ใส่ปุ๋ยครั้งแรกใช้สูตร 21-0-0 แล้วรดน้ำหลังย้ายปลูกได้ 20 วัน ใส่ปุ๋ย 15-15-15 โดยวิธียกแผ่นพลาสติคคลุมบริเวณโคนต้นให้สูงขึ้นเล็กน้อยแล้วหว่านปุ๋ยรอบๆ ต้น ไม่ต้องกลบดินในระยะเริ่มติดผล ประมาณ 30 วันหลังย้ายปลูก (พันธุ์  Sunday) หรือ 40 วัน หลังย้ายปลูก (พันธุ์ Jade Dew) ใส่ปุ๋ย 13-13-21 โดยใช้วิธีปล่อยน้ำเข้าร่องทางเดินระหว่างแปลงจนชุ่ม แล้วหว่านปุ๋ยตามร่อง (ไม่ใช้วิธีใส่ปุ๋ยลงใต้แผ่นคลุมพลาสติคหรือใส่ที่ต้น) หลังจากนั้นใช้ปุ๋ย 0-0-60 ผสมน้ำรดพร้อมการฉีดพ่นยา หรือใช้ปุ๋ย 0-0-50 หว่านตามร่องทางเดิน ฉีดพ่นยาเมื่อมีปัญหาโรคหรือแมลง ให้น้ำทุก 3 วัน ในช่วงฤดูร้อน หรือเมื่อดินแห้งเกินไป
ข้อควรระวัง
1. ดูแลเอาใจใส่เรื่องการตัดแต่งกิ่งใบให้ถูกวิธี การเก็บเลี้ยงผลจำนวนมากเกินไป จะทำให้แต่ละผลมีขนาดเล็ก ขาดรสหวาน(เกรดต่ำ) และทำให้ต้นอ่อนแอ โรคและแมลงเข้าทำลายได้ง่าย
2. ถ้าไม่จัดการผูกต้นกับค้างตั้งแต่ระยะแรก จะทำให้ลำต้นโค้งลงอาจทำให้คุณภาพของผลลดลง
3. ห้ามใช้มีดตัดแต่งกิ่งใบ เพราะอาจนำเชื้อไวรัสจากต้นหนึ่งไปแพร่อีกต้นหนึ่งได้
ช่วงการเก็บเกี่ยว
เริ่มเก็บเกี่ยวเมื่ออายุได้ 50 วัน (Sunlady) หรือ 75 วัน (Jade Dew) ขณะที่
1. ผลเริ่มสุก ผิวเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นขาวและเหลือง
2. เริ่มมีร่องเกิดรอบขั้วผล
3. เมื่อผลเริ่มมีลายขึ้นเต็มผิว
4. เมื่อขนบนผลแตงร่วง
5. เมื่อดมผลแล้วได้กลิ่นสุกหวาน พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้
ถ้าขั้วผลแห้งหักหลุด แสดงว่าผลแตงสุกเกินไป ขนาดของผลแตง ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและพันธุ์ที่ปลูก ไม่ใช่ตัวกำหนดการเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวให้พิจารณาจากคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้น เกษตรกรมักเก็บตั้งแต่ผลแตงยังอ่อนเกินไป ทำให้เสียราคาหรือมีเกรดต่ำ ควรบริโภคภายหลังการเก็บเกี่ยว 2 วัน การเก็บใช้มีดตัดให้เหลือขั้วติดไว้ ช่วยให้ผลแตงคงความสดไว้ได้ ให้เก็บเกี่ยวทุก 3 วัน
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่