แนวทางการปลูกไม้ผลในพื้นที่ดินเปรี้ยว

ไม้ผลส่วนใหญ่จะทำการปลูกในบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมโดยธรรมชาติ เช่น ดินมีลักษณะเป็นดินร่วน การระบายน้ำดีไม่ท่วมขัง ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH)ของดินเหมาะสม  สภาพภูมิอากาศและการกระจายของฝนพอเหมาะ เป็นต้น แต่พื้นที่ดังกล่าวมีค่อนข้างจำกัด  และปัจจุบันความต้องการพื้นที่การเกษตรขยายตัวมากขึ้นเนื่องจากอัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ในระดับสูง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกไม้ผลในพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตสูง  โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ที่เกิดจากการทับถมกันของตะกอนน้ำกร่อย มีปฏิกิริยาเป็นกรดจัดที่เกิดจากธาตุกำมะถันในรูปสารประกอบที่เป็นกรดเรียกว่า ดินเปรี้ยว มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช ดินเปรี้ยวดังกล่าวมีพื้นที่กว้างขวางครอบคลุมจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางคือ นครนายก พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สระบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี สมุทรปราการ นครปฐม สุพรรณบุรี นนทบุรี และกรุงเทพฯ คิดเป็นพื้นที่ดินเปรี้ยวประมาณ 5.5 ล้านไร่ และอยู่ในเขตชลประทานมีระบบควบคุมน้ำได้ทั้งปี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1.25 ล้านไร่ ลักษณะของดินเปรี้ยวที่สำคัญที่พบเห็นได้ง่ายคือ ดินมีความเป็นกรดจัด ดินชั้นบนมีสีดำหรือเทาดำถัดลงไปจะพบสีสนิมเหล็กปะปนอยู่ และมีจุดประหรือรอยสีเหลืองอ่อนเหมือนฟางข้าว (Jarosite) ในดินชั้นล่างลึกจากผิวดินประมาณ 25-150 เซนติเมตร

ดินเปรี้ยวเป็นดินที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการปลูกพืช เนื่องจากปัญหาที่สำคัญคือ

1.  ดินเปรี้ยวมีกรดสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก  ทำให้ธาตุอาหารของพืชที่มีอยู่ในดินถูกจำกัด และเปลี่ยนแปลงไปในรูปที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือใช้ประโยชน์ได้น้อย

2.  ดินเปรี้ยว จะมีธาตุบางอย่างเช่น เหล็ก อะลูมินั่ม ละลายออกมาถึงระดับที่เป็นพิษต่อพืชได้ ทำให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี

3.  ดินเปรี้ยวเป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ มีธาตุอาหารพืชประเภทไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม อยู่เป็นปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช

4.  เนื้อดินเปรี้ยวเป็นดินเหนียว อัดตัวกันแน่น ทำให้น้ำซึมและการระบายถ่ายเทของอากาศเป็นไปได้ยาก ดินแข็งมากเมื่อแห้งและเป็นโคลนเหนียวมากเมื่อเปียก ทำให้การเตรียมดินลำบาก

5.  ดินเปรี้ยวทำให้จุลินทรีย์ประเภทที่สร้างอาหารให้แก่พืชไม่สามารถทำงานได้

การจัดการดินกรดจัด

การจัดการดินกรดจัดสามารถทำได้หลายวิธีตามความจำเป็นและความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ภาวะสังคม หรือตามลักษณะการใช้ประโยชน์ดินกรดจัดและชนิดของพืชที่ปลูก โดยมีหลักการที่สำคัญ เพื่อลดความเป็นกรดและปริมาณของสารเป็นพิษในดิน ป้องกันการเกิดกรดจัดเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการเพิ่มธาตุอาหารพืชที่จำเป็นในดินในรูปของปุ๋ยให้แก่พืชด้วย วิธีการต่าง ๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.  การล้างดิน  เป็นการล้างกรดและสารเป็นพิษอื่น ๆ ออกไปจากดิน ซึ่งสามารถใช้ได้ผลดีพอสมควรในบริเวณที่มีน้ำอย่างเพียงพอ ชาวสวนส้มในบริเวณดินกรดจัดในภาคกลางของประเทศไทย ได้ทำการยกร่องเพื่อปลูกส้มโดยการใช้รถแทรกเตอร์ไถหน้าดิน แล้วกวาดเอาหน้าดินไปรวมไว้ในแถวกลางของเนิน แล้วขุดร่องเอาดินล่างมากันไว้ข้าง ๆเนิน แล้วจึงทำการปลูกส้มกลางเนิน เมื่อให้น้ำแก่ส้มเหล่านี้โดยใช้เรือ  น้ำจะล้างเอากรดและสารพิษต่าง ๆ ลงไปในคลอง เมื่อน้ำในคลองใส แสดงว่ามีความเป็นกรดอยู่มากชาวสวนจะระบายน้ำทิ้ง แล้วรับน้ำจากคลองชลประทาน ซึ่งเป็นน้ำปกติ (pH=7)เข้ามาใหม่ โดยวิธีนี้ชาวสวนสามารถปลูกส้มได้รับผลสำเร็จโดยไม่จำเป็นต้องใช้ปูนแต่อย่างใด โดยจะยกเป็นร่องลึกได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความลึกของ pyrite (FeS2) เป็นสารประกอบทำให้เกิดกรดแฝงที่แลกเปลี่ยนได้ภายในดิน กรดส่วนนี้เองคือตัวการที่ทำให้ดิน “กรดจัด” ถ้า pyrite อยู่ลึกสามารถขุดร่องได้สูง  ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดียิ่งขึ้น  แต่ถ้าได้มีการใส่ปูนและใส่ปุ๋ยร่วมด้วยแล้ว  ก็สามารถจะได้ที่ดินนั้นปลูกผลไม้หรือผักได้ดียิ่งขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ในขณะนี้ได้มีผุ้ประกอบธุรกิจที่ดินได้นำพื้นที่ดินเปรี้ยวในบริเวณดังกล่าวมาปรับปรุงพื้นที่ใหม่  จัดสวนเกษตรบ้างหรือจัดสร้างสนามกอล์ฟบ้าง มีหลายรายที่ดำเนินการโดยไม่ได้ศึกษาพื้นที่และคุณสมบัติของดินเปรี้ยว หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์  โดยการขุดดินเพื่อจัดทำทะเลสาบน้ำจืด  บางครั้งลึกมากกว่า 10 เมตร  (ซึ่งมีสารประกอบพวก pyrite ปริมาณมากขึ้นตามระดับความลึก  ลักษณะเป็นกรดแฝงเมื่อมีปฏิกิริยาเพิ่มอ๊อกซิเจน  จะเกิดเป็นดินกรดจัดมาก) และนำดินดังกล่าวไปถมในพื้นที่สวนอื่นเพื่อจะปลูกพืชจัดทำสวนเกษตร ปรากฎว่าพืชดังกล่าวไม่สามารถเจริญเติบโตได้ นอกจากนั้นแล้ว เมื่อให้น้ำแก่ต้นพืชหรือฝนตกน้ำจะชะล้างดินกรดเหล่านี้ลงไปในทะเลสาบที่สร้างขึ้นมา  ทำให้น้ำมีคุณสมบัติเปรี้ยวจัดพืชและสัตว์น้ำไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้  บางครั้งน้ำในทะเลสาบล้มท่วมไร่ นา สวน ทำความเสียหายเป็นที่เดือดร้อนต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก

2.  การควบคุมระดับน้ำใต้ดิน วิธีนี้เหมาะสำหรับการใช้ประโยชน์ดินกรดจัดที่เกิดใหม่หรือที่มีแร่ไพไรท์อยู่ใกล้กับผิวดิน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้แร่ไพไรท์ถูกเปลี่ยนให้เป็นกรดในดินชนิดนี้ เมื่อมีการระบาดน้ำออกไปจะเกิดปฏิกิริยาการเป็นกรดอย่างรุนแรง  การควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะจะทำให้เกิดสภาพการขาดอ๊อกซิเจน และทำให้สารประกอบต่าง ๆ ของเหล็กรวมทั้งกรดที่เกิดขึ้นบางส่วนถูกลดอ๊อกซิเจน (reduced) กลับไปสู่สภาพเดิมที่ไม่เป็นพิษต่อพืชได้ ในประเทศมาเลเซียได้มีการปรับปรุงพื้นดินกรดจัดที่ใช้ปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเริ่มปลูกในปี 1951 เนื่องจากพบว่าเมื่อปลูกไปได้ประมาณ 3-5 ปี จะแสดงการขาดธาตุอาหารชะงักการเจริญเติบโต เหี่ยว ใบซีด และแห้งก่อนกำหนด โดยทำการขุดคลองระบายน้ำเพิ่มขึ้น และคลองระบายน้ำที่มีอยู่เดิมก็มีการขุดลอกให้ลึกขึ้น  ทั้งนี้เพื่อล้างสารประกอบซัลเฟตต่าง ๆ ออกไปในปี 1961 ร่วมกับใส่ปูนเพื่อแก้ความเป็นกรดของดิน แต่ปรากฎผลในทางตรงกันข้ามกับที่คาดไว้กล่าวคือ ก่อนที่จะมีการปรับปรุงสวนปาล์มให้ผลผลิตเฉลี่ย 15.17 ตันต่อเฮกตาร์  แต่เมื่อปรับปรุงด้วยการระบายน้ำ ปรากฎว่าผลผลิตลดลงจนถึง 6.03 ตันต่อเฮกตาร์ในปี 1965 จากการวิเคราะห์ดินอย่างละเอียดจึงพบว่ามี pyrite ซึ่งยังไม่ถูกเติมออกซิเจน (oxidize) อยู่เป็นปริมาณมากในดินบริเวณดังกล่าว แนวการปรับปรุงจึงเปลี่ยนใหม่เป็นการปิดกั้นทางระบายน้ำ เพื่อควบคุมและยกระดับน้ำใต้ดินในปี 1966 เพื่อป้องกันการ oxidation ซึ่งเป็นผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทันทีเป็น 9 ตันต่อเฮกตาร์ในปีถัดมา และเป็น 18 ตันต่อเฮกตาร์ภายในระยะเวลา 3 ปีหลังจากปรับปรุงและรักษาผลผลิตอยู่ในระดับนี้ต่อไปอีกประมาณ 4 ปี ในการรักษาระดับน้ำนี้มีการระบายน้ำทิ้งเป็นบางครั้ง เพื่อกำจัดสารพิษต่าง ๆ ที่สะสมอยู่ การระบายน้ำครั้งนี้จะทำเมื่อจำเป็นประมาณ 1-2 ครั้ง ในระหว่างฤดูฝนเมื่อมีน้ำมากพอ  โดยพยายามรักษาระดับน้ำหรืให้มีน้ำอยู่ในคลองระบายน้ำตลอดทั้งปี  การทดลองเปรียบเทียบการระบายน้ำในสวนมะพร้าวในดินกรดจัดในประเทศมาเลเซียก็ให้ผลผลิตในทำนองเดียวกันนี้คือ แปลงที่ควบคุมระดับน้ำให้เหมาะสมจะให้ผลผลิตมะพร้าวสูงในระยะยาว เมื่อเทียบกับแปลงที่มีการระบายน้ำและระบายน้ำอย่างอิสระ

ในพื้นที่บริเวณภาคกลางตอนใต้ของประเทศไทย  ได้เปลี่ยนพื้นที่นาดินกรดจัดยกร่องปลูกส้มเขียวหวานมีระบบชลประทานตลอดปี ต้องมีการควบคุมน้ำในท้องร่องให้คงที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไปเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งและมีการระบายน้ำออกจากแปลง เมื่อสังเกตเห็นว่าน้ำในท้องร่องมีลักษณะใส แล้วนำน้ำชลประทานเข้าแปลง  จนกระทั่งต้นส้มเขียวหวานเจริญเติบโตพอสมควรพร้อมที่จะออกดอกติดผล  ชาวสวนต้องการให้ส้มเขียวหวานออกดอกติดผลพร้อม ๆ กันโดยวิธีกักน้ำกล่าวคือ ระบายน้ำออกจากท้องร่องจนแห้งประมาณ 15-30 วัน พื้นดินบนท้องร่องจะแห้งมากจนแตกระแหง อากาศจะเข้าแทนที่โอกาสที่สารประกอบที่ทำให้เกิดกรดแฝง (ไพไรท์) มีปฏิกิริยาเติมอ๊อกซิเจน (oxidize) จะทำให้ดินเปรี้ยวจัดขึ้นจะเห็นว่าในสวนส้มบางรายที่มีการกักน้ำนานเกินไปเพื่อต้องการให้ส้มออกดอกติดผลมากส้มจะติดผลดกตามความต้องการ แต่ปรากฎว่าต้นส้มบางต้นไม่สามารถอยู่ได้ถึงผลส้มแก่ จะแสดงอาการเหี่ยวเฉาที่เรียกว่า “ส้มเพลีย” ซึ่งเกิดจากพืชไม่สามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเพียงพอ หรืออาจจะเกิดจากดินกรดเพิ่มขึ้น ธาตุบางอย่าง เช่น อลูมินั่ม เหล็ก ละลายออกมากเกินไปจนเป็นพิษกับต้นพืชได้  จะเห็นว่าสวนส้มในบริเวณนี้มักจะมีอายุการให้ผลผลิตสั้น แต่มีชาวสวนบางรายจะไม่ใช้วิธีกักน้ำ แต่ใช้วิธีห่างน้ำกล่าวคือ เมื่อต้องการจะให้ออกดอกจะลดปริมาณน้ำในท้องร่องลงเล็กน้อย และงดการให้น้ำประมาณ 7-15 วัน จึงทำการขึ้นน้ำในท้องร่องและให้น้ำปกติ ส้มจะออกดอกติดผลไม่ดกมากนัก แต่สามารถทำให้ออกดอกติดผลได้ปีละหลายครั้ง การปฏิบัติเช่นนี้ส้มจะมีอายุการให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

3.  การใส่ปูนร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีในบริเวณพื้นที่ดินกรดจัดภาคกลาง ดินบริเวณนี้เป็นดินกรดจัดที่มีอายุประมาณ 5,000-7,000 ปี แร่ไพไรท์ซึ่งอยู่ใกล้กับผิวดินจะถูกเติมอ๊อกซิเจน (oxidize) ให้เปลี่ยนไปเป็นกรดและสารประกอบอื่น ๆ จนเกือบหมด จากการสำรวจของ Van Breeman ปรากฎว่าพบไพไรท์น้อยมากในระดับที่ลึกไม่เกิน 1 เมตรจากผิวดิน ดังนั้นจึงยากแก่การถูก oxidize ต่อไป การใส่ปูนจึงเป็นการแก้ปฏิกิริยาของกรด และสารประกอบอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์เป็นกรดที่ยังเหลือตกค้างอยู่ในบริเวณดินบนเท่านั้น ปูนที่ใส่จึงมีผลตกค้างอยู่เป็นระยะเวลานาน จากการศึกษาวิจัยการปรับปรุงดินเปรี้ยวทำได้โดยการใส่วัสดุประเภทสารประกอบจำพวกปูนเช่น ปูนขาว

ผลของการใช้ปุ๋ยเคมีและปูนขาวอัตราต่าง ๆ ต่อผลผลิตและคุณภาพของส้มเขียวหวานเริ่มตกผลที่ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี

ตำรับปุ๋ย ผลผลิต(กิโลกรัมต่อต้น)
ปูนขาว

500

(กก./ไร่)

ปูนขาว

1,000

(กก./ไร่)

เฉลี่ย

0-0-0

35.6 38.7 37.2

250-200-600

40.0 32.5 36.3
500-200-600 51.7 35.2 43.5
750-200-600 20.2 28.0 24.1
500-100-600 40.4 31.2 35.8
500-300-600 42.7 68.0 54.4
500-200-300 43.4 43.8 43.6
400-200-900 39.7 40.4 40.1
750-300-900 28.5 46.3 37.4
เฉลี่ย 38.0 40.6 39.2

ปูนมาร์ล หินปูนบด หรือเปลือกหอยเผา ลงในดินเปรี้ยว สารประกอจำพวกปูนเหล่านี้มีคุณสมบัติช่วยลดความเป็นกรดในดิน ลดปริมาณธาตุที่เป็นพิษต่อพืช เพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารหลักและเพิ่มธาตุอาหารรองให้แก่พืช และทำให้ดินเปรี้ยวมีลักษณะซุยขึ้น ช่วยให้จุลินทรีย์ในดินทำงานดีขึ้นทำให้ดินมีสภาพเหมาะสมกับการเพาะปลูก หลังจากการปรับปรุงดินแล้ว  การใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ พืชสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ ผลผลิตที่ได้เพิ่มมากขึ้น  จากการศึกษาวิจัยการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปูนขาวต่อการเจริญเติบโต ผลผลิต และคุณภาพของส้มเขียวหวานที่เริ่มตกผลอายุประมาณ 3 ปีครึ่ง ที่อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ปรากฎว่าใช้ปูนขาวอัตรา 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับดินปลูกส้มเขียวหวานในบริเวณนี้และปุ๋ยเคมีที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูงคือให้ปุ๋ยอัตรา 500-300-600 กรัมต่อต้นปี (N – P2O5 – K2O) ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 54.4 กิโลกรัมต่อต้น

การพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวเพื่อปลูกไม้ผลนั้นจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะการปรับปรุงดินเปรี้ยว เพื่อปลูกพืชอื่นนอกจากทำนาแล้วจะต้องใช้งบประมาณพัฒนาเป็นจำนวนมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ กล่าวคือ การปรับปรุงพื้นที่นาให้เป็นสวน จำเป็นต้องมีการสร้างคันล้อมกั้นน้ำขนาดใหญ่  เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน  การยกร่องสวนในบริเวณดินเปรี้ยวควรจะพิถีพิถันในการสงวนหน้าดินเอาไว้ให้อยู่กลางร่องให้มากที่สุด  โดยพยายามเอาดินชั้นล่างไว้ตรงข้างร่องให้มากที่สุด เนื่องจากดินล่างจะเป็นดินที่มีความเป็นกรดอย่างรุนแรง ดินชั้นล่างลักษณะมีจุดประสีเหลืองถึงสีเหลืองฟางข้าว และยิ่งมีมากเท่าใดจะเป็นตัวบอกความเป็นกรดที่รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น  ขนาดของร่องสวนกว้างประมาณ 6-6.7 เมตร คูน้ำกว้าง 1.3-2 เมตร ลึก 0.75-1.0 เมตร ในกรณีดินเป็นกรดอย่างรุนแรงมาก ๆ เช่น มี pH ต่ำกว่า 4.0 ควรมีการใส่ปูนในอัตราประมาณ 1 ตันต่อไร่ โดยหว่านให้ทั่วทั้งผิวดินบนร่องสวนแล้วพรวนให้เข้ากับดินให้ดีที่สุด เมื่อฝนตก หรือรดน้ำจะทำให้ปูนขาวฆ่าฤทธิ์ความเป็นกรดของดินได้ และสิ่งที่สำคัญและจำเป็นจะต้องใช้สำหรับดินเหนียวจัดนี้ ได้แก่ อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักผสมกับดินบนร่องสวนหรือบริเวณหลุมปลูกจะช่วยทำให้ดินชุ่มชื้นไม่แน่นทึบและระบายน้ำได้ดีด้วย ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักยังช่วยป้องกันมิให้ปุ๋ยฟอสเฟตจากปุ๋ยเคมีถูกตรึงในดิน แต่จะช่วยให้ปุ๋ยเคมีอยู่ในดินได้นานเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ดีขึ้น

เรื่อง  ประเทือง  ลักษณะวิมล

กองปฐพีวิทยา  กรมวิชาการเกษตร