แมงลัก:พืชที่ปลูกง่ายรายได้พอควร

สุมิตรา  คงชื่นสิน

ภาควิชาพฤกษศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แมงลัก เป็นพืชที่พบในเขตอบอุ่นของโลก จากความสูงระดับน้ำทะเลไปจนถึง ๑,๘๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าดิบชื้นของทวีปอาฟริกา อเมริกาใต้ และเอเซียบริเวณประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

ประโยชน์ของแมงลักคือ นำใบมาใช้ประกอบอาหารเพื่อปรุงแต่งกลิ่นและรส เมล็ดใช้ทำเป็นขนมหวานที่นิยมรับประทานในหน้าร้อน ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของแมงลักคือใช้เป็นสมุนไพร โดยใช้ได้ทั้งส่วนใบ เมล็ด ราก และทั้งต้น มีสรรพคุณในการบำบัดรักษาโรคต่างๆได้แก่ เป็นยาระบายแก้จุกเสียด ขับลมในลำไส้ แก้ไอ แก้หวัด หลอดลมอักเสบ รักษาโรคทางเดินอาหารเป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

แมงลักเป็นไม้ล้มลุก

ลำต้นตั้งตรงสูงประมาณ ๗๐-๑๓๐ ซม.

ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเป็นคู่ตรงข้ามมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือรูปรี ปลายใบและฐานใบแหลม ขอบใบเรียบหรือหยักเป็นฟันเลื่อย มีขนตามขอบใบและเส้นใบ ขนาดใบกว้างประมาณ ๐.๙-๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕-๕ ซม.

ดอกเป็นช่อที่ยอด ช่อดอกประกอบด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมากอยู่รวมกันเป็นวงรอบแกนช่อเป็นชั้นๆ ชั้นละ ๖ ดอก แต่ละช่อยาวประมาณ ๕-๔๖ ซม. ที่ดคนดอกมีใบประดับรองรับ ใบประดับเป็นรูปไข่ ปลายแหลมมีขนยาวตามขอบ กลีบเลี้ยงสีเขียวรูประฆัง โคนกลีบเชื่อมกัน กลีบดอกเป็นรูปปากเปิด สีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันยาวประมาณ ๓ มิลลิเมตร เกสรตัวผู้มี ๔ อัน เกสรตัวเมียมี ๑ อัน รังไข่มี ๔ พู

ผลเป็นแบบผลแห้ง ขนาดเล็กมักจะเรียกกันว่าเมล็ด มีสีน้ำตาลเกือบดำ รูปรีมี ๔ เมล็ด ขนาดกว้างประมาณ ๐.๗-๑.๓ มิลลิเมตร และยาวประมาณ ๑.๖-๒.๓ มิลลิเมตร

คุณสมบัติของเมล็ดแมงลัก

เมล็ดแมงลักเมื่อถูกน้ำเปลือกนอกจะพองออก เป็นเมือกสีขาว หนาและโปร่งแสง การพองตัวของเมล็ดแมงลักจะเกิดขึ้นทันที เมื่อถูกน้ำส่วนใหญ่เกิดในช่วงเวลา ๑๐ นาที ถึง ๑ ชั่วโมง หลังจากนี้ยังพองตัวได้อีกแต่ช้าลง การพองตัวจะหยุดลงหลังจากผ่านไป ๑๒ ชั่วโมง ถ้าทิ้งไว้นานต่อไปสารเมือกบางส่วนจะย่อยหลุดออกจากเมล็ด ปริมาตรน้ำที่สามารถดูดได้มากที่สุดคือ ๒๖ ลูกยบาศก์เซนติเมตรต่อเมล็ด ๑ กรัม(ประมาณ ๗๘๐ เมล็ด) ขนาดของเมล็ดเมื่อพองตัวเต็มที่จะกว้างประมาณ ๓.๔-๔.๖ มิลลิเมตร และยาวประมาณ ๔.๑-๕.๐ มิลลิเมตร

เมือกของเมล็ดแมงลักประกอบด้วยสายของเม็ดแป้งจำนวนมากมายเรียงตัวกันแน่นอยู่ในแนวตั้งกับเปลือกของเมล็ดจำนวนของเม็ดแป้งในแต่ละสายมีประมาณ ๕๐-๗๐ เม็ด

เมล็ดแมงลักใช้เป็นยาระบายได้ดี เนื่องจากองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเมล็ดแมงลักเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายย่อยไม่ได้ จึงเป็นกากอาหารช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้และจะถ่ายออกมากับอุจจาระ นอกจากนี้สารเมือกยังทำให้ลื่น กากอาหารจึงไม่เกาะลำไส้ แต่มีข้อเสียคือต้องใช้ในปริมาณมาก และต้องให้พองตัวเต็มที่ก่อนรับประทาน เพราะถ้ามีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการพองตัว จะทำให้ท้องอืดและอุจจาระแข็ง

สารเมือกที่ได้จากการพองตัวของเมล็ดแมงลัก สามารถสกัดออกมาได้โดยการปั่นด้วยเครื่องตีไข่ เมื่ออบให้แห้งจะเป็นผงเมือกที่มีคุณสมบัติพองตัวในน้ำได้ดี มีความหนืดสูง จึงนำมาใช้ทำยาระบายและใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมยา โดยใช้เป็นสารช่วยแขวนตะกอนหรือสารช่วยยึดเกาะในการเตรียมผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งการใช้ผงเมือกจากเมล็ดแมงลักทำได้ง่ายมีราคาถูกและมีคุณสมบัติดีเมื่อเทียบกับสารอื่นๆที่มีคุณสมบัติทำนองเดียวกันที่ต้องสั่งจากต่างประเทศ

การปลูก

แมงลักเป็นพืชที่ขึ้นได้ในดินแทบทุกประเภทที่มีการระบายน้ำได้ดี การปลูกแมงลักเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ด ปลูกกันมากในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง จากการที่ผู้เขียนเดินทางไปสำรวจและเก็บรวบรวมพันธุ์แมงลักในจังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ และ พ.ศ. ๒๕๓๒ พบว่ามีปลูกมากในตำบลวังเย็น ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง และตำบลหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย

การปลูกแมงลักทำโดยการเพาะเมล็ดในแปลงเพาะชำ ในช่วงปลายฤดูฝนราวต้นเดือนกันยายน จะมีการดูแลและให้น้ำเป็นอย่างดี เมื่อต้นกล้าอายุได้ประมาณ ๓ สัปดาห์ จึงย้ายลงปลูกในแปลงที่ไถดินเตรียมไว้แล้ว ในการนำกล้าลงปลูกจะตัดยอดและปลายรากที่ยาวเกินไปออกบ้าง เพื่อให้แมงลักแตกยอดได้เร็วและมาก ถ้าในช่วงปลูกมีฝนน้อยจะใช้วิธีขุดหลุมปลูก แต่ถ้าฝนมาก ดินแฉะก็เพียงแต่ใช้ไม้จิ้มดินให้เป็นช่อง ฝังรากลงไปแล้วกดให้แน่น

เกษตรกรจะปลูกแมงลักตามหลังพืชไร่ เช่นข้าวโพด หรือปลูกแซมพริก โดยลงมือปลูกแมงลัก เมื่อเริ่มเก็บเกี่ยวพริกได้

แมงลักเป็นพืชที่ทนความแห้งแล้งได้ดีพอควร เพราะหลังจากปลูกแล้ว ถ้ามีฝนตกอีกเพียง ๒-๓ ครั้ง ก็เพียงพอโดยแมงลักจะอาศัยแต่เพียงน้ำค้างในตอนกลางคืน และถ้ามีฝนตกมากเกินไปจะเป็นผลเสียอีกด้วย คือ ทำให้แมงลักมีลักษณะที่เรียกว่า “ต่อยอด” คือเมื่อฝนตกในขณะที่จะแตกใบอ่อนขึ้นมาอีกจะทำให้การเกิดช่อดอกช้าลง และแก่ไม่สม่ำเสมอ และถ้ามีฝนตกในขณะที่เมล็ดแมงลักเริ่มแก่จะทำให้เมล็ดร่วงจากช่อดอกไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้

การดูแลรักษา

การดูแลต้นแมงลักมีเพียงการฉีดสารฆ่าแมลง ๑-๒ ครั้ง ในระยะออกดอกถ้ามีแมลงศัตรูระบาดมาก และกำจัดวัชพืชบ้างในระยะแรกเท่านั้นไม่มีการให้ปุ๋ย

การเก็บเกี่ยว

แมงลักจะเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุประมาณ ๓ ๑/๒ เดือน การเก็บเกี่ยวเริ่มในราวกลางเดือนธันวาคม ระยะที่จะเก็บเกี่ยวสังเกตได้จากช่อดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของต้น การเก็บเกี่ยวทำโดยตัดทั้งต้นตรงโคน แล้วนำมาวางตากแดดโดยวางนอนหรือคว่ำต้นลง จากนั้นก็จะมัดหลายๆต้นรวมกันเป็นฟ่อน ทิ้งไว้ให้แห้งดีทั่วกัน

การกระเทาะเมล็ดจะทำโดยการฟาดให้เมล็ดหลุดร่วงจากดอก แต่เนื่องจากในขณะที่ช่อดอกแห้งกลีบเลี้ยงจะปิดทำให้เมล็ดหลุดออกยาก แต่ถ้ากลีบเลี้ยงได้รับความชื้นจะเปิดออกเมล็ดจะหลุดออกมาง่าย

การทำให้กลีบเลี้ยงเปิด เกษตรกรใช้วิธีนำฟ่อนของต้นแมงลักจุ่มลงในถังน้ำหรือบ่อน้ำประมาณ ๑๐ วินาที หรือใช้น้ำฉีดไปที่ฟ่อนแมงลักก็ได้ จากนั้นนำมาวางคว่ำผึ่งไว้ประมาณ ๑/๒ – ๑ ชั่วโมง จึงฟาดเอาเมล็ดออกในบางแห่งใช้วิธีวางคว่ำตากน้ำค้างตอนกลางคืนแล้วฟาดเอาเมล็ดออกในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น การให้ช่อดอกแมงลักถูกน้ำต้องให้พอดี เพราะถ้าเปียกมากเกินไปเมล็ดจะพองเสียหาย แต่ถ้าแห้งเกินไปเมล็ดจะหลุดออกมาได้ยาก

ลานสำหรับฟาดแมงลักมักจะปูพื้นด้วยผ้าพลาสติกหรือใช้มูลวัวมูลควายผสมน้ำยาลานซึ่งจะช่วยลดความชื้นที่พื้นได้ดีกว่าปูด้วยผ้าพลาสติกบนลานดังกล่าวจะทำเป็นม้าไม้ยกขึ้นในแนวเฉียง คนฟาดจะจับโคนต้นแมงลักฟาดลงไปบนไม้นั้น เมล็ดแมงลักจะหลุดร่วงออกจากดอกโดยง่าย แต่ยังมีกลีบเลี้ยงหลุดร่วงปนลงมาบ้าง รวมทั้งเศษใบและก้านดอก จึงต้องนำมาร่อนด้วยตะแกรง ๒-๓ ครั้ง โดยครั้งแรกใช้ตะแกรงหยาบช่องขนาด ๑x๑ ตารางเซนติเมตร แล้วจึงร่อนอีกครั้งด้วยตะแกรงช่องขนาด ๑/๒x๑/๒ ตารางเซนติเมตร ครั้งสุดท้ายเป็นการฝัดเอาเศษผงเล็กๆ ออกหรือใช้พัดลมเป่าออกก้จะทำให้เร็วขึ้น

ผลผลิตเมล็ดแมงลัก

ผลผลิตเมล็ดแมงลักจะได้ประมาณ ๑๒๐-๑๓๐ กก./ไร่ หรือน้อยกว่านี้ขึ้นกับปริมาณของฝน แต่จากการปลูกแมงลักในแปลงทดลองพบว่าสามารถให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง ๑๕๐ กรัมต่อต้น ซึ่งจะทำให้ผลผลิตสูงกว่าที่เกษตรกรปลูกถึง ๔-๕ เท่า

ราคารับซื้อเมล็ดแมงลักในต้นฤดูประมาณ ๑๔-๑๕ บาท/กก. บางครั้งสูงถึง ๒๐ บาท/กก. แต่ถ้าเป็นช่วงปลายฤดู ราคาจะตกลงอยู่ราว ๑๐-๑๒ บาท/กก.

เมล็ดแมงลักที่รับซื้อไปนั้นส่วนใหญ่นำไปขายเพื่อใช้รับประทานและใช้เป็นยา นอกจากนี้ยังส่งขายต่างประเทศแถบเอเซียบ้าง

การปลูกแมงลักนับว่าเป็นการลงทุนค่อนข้างต่ำ เกษตรกรจะเสียเงินเพียงค่าจ้าง ไถก่อนปลูก และค่าสารฆ่าแมลงเท่านั้น ส่วนการปลูก และการเก็บเกี่ยวมักจะเป็นการใช้แรงงานในครอบครัว เกษตรกรส่วนหนึ่งจึงนิยมปลูกแมงลักเพราะขายได้เร็ว ราคาพอสมควร และเป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมากนัก