แมลงศัตรูผักกับการป้องกันและกำจัดโดยไม่ใช้สารเคมี

1.  หนอนใยผัก ตัวบิน,จรวด

เป็นหนอนที่ชอบกัดกินใบพืชพวกกะหล่ำผักกาด ยกเว้นผักกาดหอม(ผักสลัด)

การกัดกินจะต่างจากหนอนชนิดอื่น คือจะกัดกินใบผิวด้านล่างใบ จนเหลือแค่ใยขาว มักเข้าไปกัดกินยอดผักที่กำลังเจริญเติบโต หรือกะหล่ำที่กำลังห่อหัว ทำให้ยอดลีบ กินใบหุ้มกะหล่ำ และกินใบผักผ่อนจนเป็นรูพรุน

ผีเสื้อจะวางไข่เป็นกลุ่มใต้ใบ ไข่มีสีเหลืองอ่อนเหมือนเกล็ดปลา ใช้เวลา 3-4 วัน จึงฟักออกเป็นตัวหนอนสีเขียวขนาดเล็กมาก ตัวหนอนจะใช้เวลากัดกินใบพืชนานถึง 14 วัน จึงเข้าดักแด้ เข้าดักแด้นาน 3-5 วัน ก็จะออกมาเป็นผีเสื้อ วางไข่ได้อีกประมาณ 7 วันจึงตาย รวมวงจรชีวิตประมาณ 26 วัน วงจรชีวิตสั้นมาก การระบาดของหนอนชนิดนี้จึงรุนแรงเป็นพิเศษ

การวางไข่ จะวางไข่ติดกัน 2-5 ฟองไว้ใต้ใบผัก ไข่มีขนาดเล็กสีเหลืองค่อนข้างกลมแบน ผักหนึ่งใบ จะพบไข่หนอนนี้มากมาย

หนอนจะมีสีเขียวอ่อน เทาอ่อน สีเขียวปนเหลือง หนอนตัวโตเต็มที่จะยาวประมาณ 1 ซม. หัวท้ายแหลม ส่วนท้าย มีปุ่มยื่นออกไป 2 แฉก เมื่อถูกตัวจะดีดออก และทิ้งตัวลงดินโดยการสร้างใย

ดักแด้มีขนาด 1 ซม. โดยจะสร้างใยบาง ๆ ติดกับใต้ใบ

แม่ผีเสื้อมีขนาดเล็ก หนวดกลมตรง(คล้ายแมงข้าวลีบในยุ้งข้าว) สีเทา ตรงกลางสันหลังมีแถบสีเหลืองเป็นประกายคล้ายแฉกสายฟ้า เห็นได้ชัดเวลาหุบปีก เกาะตามใต้ใบ แต่จะยกหัวขึ้น ช่วงที่เป็นผีเสื้อจะไข่ได้ถึง 300 ฟอง

วิธีป้องกันและการควบคุม

1.  หมั่นตรวจจับไข่ และตัวอ่อน จับแม่ผีเสื้อ โดยใช้กับดักกาว หรือไฟล่อ

2.  อนุรักษ์แตนเบียน(รูปร่างเหมือนมดคันมีปีก) เพราะแตนเบียนสามารถดูดน้ำเลี้ยงตัวหนอน และทำลายไข่ของตัวหนอนได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยมันจะวางไข่ของมันใส่ตัวหนอน ภายใน 10 วัน ตัวอ่อนของแตนเบียนก็จะออกมาจากไข่ของหนอนใยผัก(แม่แตนเบียน 1 ตัว ให้ลูกแตนเบียนได้ครั้งละ 200 ตัว ใน 20 วัน ถ้าเราไม่ฉีดพ่นสารเคมีใด ๆ ก็จะมีแตนเบียนในธรรมชาติที่คอยทำลายไข่ผีเสื้อหนอนใยผักถึง 20,000 ตัว)

3.  ปลูกดาวเรือง มะเขือเทศ ผสมในแปลงผักกาด หรือกะหล่ำ เวลาเดินตรวจแปลงให้ขยี้ใบดาวเรือง มะเขือเทศให้มีกลิ่นออกมาไล่แมลง

4.  ใช้สมุนไพร ดาวเรือง น้อยหน่า สะเดา มะเขือเทศ ไหลแดง หรือหนอนตายหยาก ฉีดพ่นใต้ใบเวลาพลบค่ำหรือเช้าตรู่ หนอนนี้มีการปรับปรุงตัวเองได้เร็ว ไม่ควรพ่นใช้สมุนไพรชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ เพราะจะทำให้หนอนดื้อยาได้

5.  ใช้แบคทีเรียทรูชิไซด์ หรืออาร์โกน่า ที่ยังไม่เสื่อมคุณภาพผสมกับสารจับใบฉีดพ่นใต้ใบ แต่ไม่ค่อยเหมาะสมนักเพราะแพง ทำเองไม่ได้ต้องใช้เป็นจำนวนมาก

2.  หนอนกระทู้ผัก

จะเกาะกินใบผัก ยอดอ่อน กัดในซากกลีบใบ พวกกะหล่ำ ผักกาด คะน้า กะหล่ำดอก มะเขือเทศ ถั่วพู ผักสวนครัวและใบดอกอีกหลายชนิด โดยระยะแรกจะเกาะกินกันเป็นหมู่ กินผิวใบจนบางใสหรือพรุนไปหมด แต่เมื่อลอกคราบแล้วจะเริ่มกระจายตัวชอบหากินในตอนกลางคืน กลางวันจะหลบอยู่ในดิน

หนอนชนิดนี้สังเกตง่าย ตัวจะอ้วน ป้อม ผิวหนังเรียบ คล้ายหนอนกระทู้หอม มีสีต่าง ๆ กัน ส่วนหัวมีจุดสีดำใหญ่ตรงปล้องที่ 3 ถ้าหนอนตัวใหญ่จะเห็นไม่ชัด เมื่อลอกคราบสัก 2 ครั้งจะเห็นแถบดำที่คอชัด ลำตัวจะเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อน เกิดลายเส้นหรือจุดสีดำหรือสีแกมเทา มีลายสีดำเป็นแถบพาดไปตามความยาวของลำตัว

ไข่จะวางเป็นกลุ่ม ๆ โดยมีขนสีน้ำตาลปกคลุมไว้ ไข่ใหม่ ๆ จะมีสีขาวนวล และจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและสีดำใกล้จะฟักเป็นตัว ไข่มีอายุประมาณ 3-7 วัน

หนอนโตเต็มที่จะมีขนาด 3-4 ซม.เคลื่อนไหวหากินอย่างช้า ๆ เวลากลางคืน เป็นหนอนนาน 7 วัน จึงเข้าดักแด้ใต้ผิวดินตามรอยแตกของดิน หรือกองขยะ

ดักแด้มีสีน้ำตาลดำ ยาว 1.5 ซม. อายุดักแด้ประมาณ 7-12 วัน ก็จะออกมาเป็นตัวแม่ผีเสื้อกลางคืน แม่ผีเสื้อเมื่อกางปีกเต็มที่จะกว้างประมาณ 3 ซม. ปีกคู่หน้ามีจุดสีน้ำตาลเข้มมีลวดลายเต็มปีก ส่วนปีกคู่หลังสีขาวบาง ลำตัวมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ ตัวเมียตัวหนึ่งไข่ได้ 200-300 ฟองรวมชีวิตจากไข่เป็นผีเสื้อประมาณ 1 เดือน

การป้องกันและควบคุม

1.  ตรวจดูแปลงปลูกพืชเป็นประจำ ถ้าพบเห็นไข่หรือหนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ ก็เก็บทำลายเสีย

2.  ถ้ามีการระบาดของหนอนนี้ ในการปลูกพืชครั้งต่อไปควรทำความสะอาดแปลงพรวนดิน ตากดิน เพื่อทำลายดักแด้ของหนอนชนิดนี้และเปลี่ยนมาปลูกพวกแถงดีกว่า

3.  รักษาแมลงตัวห้ำ มวนเพชรฆาต ไว้ในแปลงผักให้มากที่สุด

4.  ปลูกกระเทียม แซมกับผัก

5.  ทำแนวผกากรองสลับกับแนวไม้พุ่มตระกูลถั่วรอบพื้นที่ที่ปลูกผัก

6.  ใช้สมุนไพรฉีดพ่น สมุนไพรที่ใช้ได้ผลดีคือ กระเทียม ว่านน้ำ ไหลแดง สลอด ผกากรอง (ถ้าเป็นหนอนกระทู้กัดต้นสะเดาจะได้ผลดี)

3.  หนอนคืบกะหล่ำ หนอนเขียว,หนอนคืบ

เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน ตัวไม่ใหญ่นัก แต่กินจุ ตัวยิ่งโตยิ่งกินจุ จะกัดกินใบกะหล่ำ คะน้า โดยเหลือแต่เส้นใยไว้ เมื่อเกิดระบาดจะทำลายผักอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามหนอนชนิดนี้จะไม่หลบซ่อนตัว มองเห็นได้ง่ายตามใบ ทั้งด้านบนและใต้ใบ

ตัวหนอนมีสีเขียวอ่อน (ตอนที่ตัวยังเล็กจะมีสีจาง และมีเส้นสีขาวพาดยาวไปตามตัว) ตัวโต ไม่มีลวดลายมากนัก เวลาเคลื่อนไหวจะงอตัว และคืบระหว่างขาปล้องสุดท้ายและตรงกิ่งกลางลำตัว

แม่ผีเสื้อจะวางไข่เป็นเมล็ดกลมสีขาวนวลที่ใต้ใบ โดยวางเดี่ยว ๆ 3 วัน ต่อมาไข่จะฟักออกมาเป็นตัวหนอนใส ๆ หนอนจะแทะกินผิวใบด้านล่าง และตัวจะเริ่มเขียวขึ้น เมื่อโตเต็มที่จะยาวถึง 4 ซม. เป็นหนอนได้ 3 อาทิตย์ จะเข้าดักแด้โดยถักใยคลุมไว้ใต้ใบ

ดักแด้แรก ๆ จะมีสีเขียวอ่อน ต่อมาจะค่อย ๆ กลายเป็นสีน้ำตาล จากนั้นอีก 1 อาทิตย์ก็จะกลายเป็นผีเสื้อกลางคืน สีเทาดำขนาด 3 ซม. เมื่อกางปีกออกเต็มที่ ตรงกลางปีกคู่หน้าจะมีจุดสีขาวข้างละจุด ผีเสื้อจะออกวางไข่ประมาณ 1 อาทิตย์ก็ตาย ช่วงที่เป็นผีเสื้อจะวางไข่ได้อีกนับ 100 ฟอง

การป้องกันและการควบคุม

1.  หมั่นตรวจดูไข่ หรือหนอนในระยะแรก แล้วจับทำลาย เพราะถ้าปล่อยให้หนอนโตขึ้นจะทำลายผักเสียหายมาก

2.  รักษาแมลงช้างปีกใส และมวนเพซรฆาต ให้อยู่ในแปลงผักให้มากที่สุด

3.  ใช้กับฟีโรโมนล่อแม่ผีเสื้อ หรือใช้ไฟล่อกับดักกาวเหนียว

4.  ถ้ามีจำนวนมากจนจับออกไม่ไหวให้ใช้สมุนไพร พริก มะเขือเทศ ยาสูบ ไหลแดง หรือหนอนตายหยาก ฉีดพ่นวันเว้นวัน

5.  ใช้สารแบคทีเรียทรูชิไซด์ หรืออาร์โกน่า ซึ่งมีขายอยู่ (และยังไม่เสื่อมคุณภาพ) ฉีดพ่นอัตรา 30 กรัม

4.  หนอนใยกะหล่ำ หนอนเจาะยอดกะหล่ำ

เป็นหนอนผีเสื้อที่กัดกินใบกะหล่ำปลี และผักกาดขาวปลี เป็นรูพรุนไปทั่ว โดยจะทิ้งใบและมูกตามใบและลำต้น โดยจะทิ้งใบและมูกตามใบและลำต้น และเจาะเข้าไปในหัวและถักใบกะหล่ำหรือผักกาดขาวปลีหุ้มตัวมัน จากนั้นจะกัดกินใจกลางของกะหล่ำหรือผักกาดขาวปลี

ผีเสื้อของหนอนนี้จะวางไข่ใต้ใบพืช ไข่จะฟักตัวเป็นหนอนภายใน 4 วัน และหนอนจะตั้งต้นกินใบผักไปประมาณ 2-3 อาทิตย์ จึงจะเข้าดักแด้ ตามรูในผักที่เจาะไว้ประมาณ 7-10 วัน ก็จะออกมาเป็นผีเสื้อวางไข่อีกครั้ง

การป้องกันและการควบคุม

1.  เก็บทำลายซากผักที่โดนหนอนทำลายโดยการนำไปทำปุ๋ยหมัก ความร้อนจากกองปุ๋ยจะฆ่าหนอนและไข่หนอนให้ตาย

2.  ฤดุต่อไปให้เปลี่ยนไปปลูกพืชพวก พริก ถั่ว หรือแตง

3.  ทางที่ดีให้รักษาแมงมุม ซึ่งเป็นตัวห้ำคอยจับกินผีเสื้อและหนอน และรักษาแตนเบียนไข่ที่จะช่วยทำลายไข่ผีเสื้อก่อนที่จะออกมาเป็นหนอน

4.  หากระบาดในระยะแรกใช้สะเดากำจัดได้ผล แต่ต้องฉีดพ่นให้ถูกตัวหนอน จึงต้องพ่นตอนที่ หนอนออกหากิน เช่น ตอนพลบค่ำ หรือตอนเช้าตรู่

5.  แมลงหวี่ขาว

แมลงหวี่ขาวจะมีลักษณะคล้ายไรขาวมาก เป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวแก่และตัวอ่อนจะดูดน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบเป็นจุดด่างต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองขอบใบหงิกงอโค้งลง ใต้ใบจะพบตัวอ่อนอยู่รวมกันเป็นแผ่นบาง ๆ หัวเท่าเข็มหมุดเกาะดูดอยู่เต็ม

เมื่อดูดน้ำเลี้ยงแล้วจะถ่ายมูลไว้ตามใบ ซอกใบ ทำให้ใบมีรอยช้ำ และรอยสกปรก เนื่องจากเชื้อราดำเกิดกับมูลที่แมลงหวี่ขาวถ่ายไว้ ถ้าระบาดมาก ๆ ใบจะร่วงและไม่เกิดดอก ผลผลิตจะลดลง

นอกจากนี้แมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรคผักจากเชื้อไวรัส โรคใบหงิกเหลืองของมะเขือเทศอีกด้วย

ใบผักประเภทใบ มักพบในผักกาดขาวปลีห่อ(ลุ้ย)เมื่อเข้าไปแล้วใบผักจะหงิก

การป้องกันและการควบคุม

1.  ใช้กับดักกาวเหนียว

2.  รมควันไล่

3.  อนุรักษ์ แตนเบียน แมงมุม แมลงปอ ฯลฯ

6.  หมัดกระโดด ด้วงหมัดผัก

เป็นด้วง ซึ่งแมลงปีกแข็งตัวเล็กมากประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ชอบกัดกินใบผักจนเป็นรูพรุน เช่น ผักกาด ผักฮ่องเต้ ตัวอ่อนเป็นหนอนในดินจะกัดกินชอนไชทำลายรากพืชที่มีกลิ่นแรง เช่น ผักกาดหัว (หนอนด้วย จะมีขาคู่หน้า 1 คู่ ไม่เหมือนหนอนผีเสื้อที่มีขามาก)

ด้วงหมัดผัก จะวางไข่ในดิน บริเวณใกล้ต้นพืชที่เป็นอาหารของมัน ตัวหนอนมีสีขาวใส เมื่อโตเต็มที่จะยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร เมื่อกลายเป็นต่อด้วง หากถูกกระทบหรือมีการสะเทือน มันจะกระโดดโดยอาศัยขาดีดตัวออกไปได้ไกลมาก จึงเรียกว่าหมัดกระโดดก็มี

ด้วงหมัดผักนี้มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีแถบลายสีน้ำตาลอ่อนพาด 2 แถว และชนิดสีน้ำเงินเข้ม มักระบาดในที่ที่ปลูกผักกาด ผักฮ่องเต้ หรือกะหล่ำเป็นประจำซ้ำ ๆ แปลง โดยไม่มีพืชอื่นปลูกหมุนเวียนหรือผสม ตอนเช้าจะเชื่องช้า ถ้าจะจับหรือพ่นสมุนไพรต้องออกไป 6-7 โมงเช้า ถ้าแดดออกจะหลบลงดิน

การป้องกันและการควบคุม

1.  เตรียมดินให้ดี ไถพรวนและตากดิน 5-7 วัน ถ้าเป็นแปลงเพาะกล้า ควรอบดินโดยนำดินมาวางบนสังกะสี หรือถัง 200 ลิตร สุมไฟไว้ข้างล่าง อบไว้ 6 ชั่วโมง เพื่อทำลายไข่ตัวอ่อนหรือดักแด้ในดิน แล้วจึงค่อยผสมขี้เถ้าแกลบและปุ๋ยหมัก

2.  เปลี่ยนไปปลูกผัก พวกพริก หรือถั่วแทน

3.  ใช้สมุนไพรพวก ว่านน้ำ มะเขือเทศ ยาฉุน สะเดา ราดลงบนแปลงขณะเตรียมดิน ตากแดด แต่จะใช้ฉีดพ่นในขณะระบาด ไม่ค่อยได้ผล

4.  รักษา กบ เขียด อึ่งอ่าง ให้มีใน แปลงให้มากที่สุด พอด้วงกระโดด เขียดก็งับ

ว่านน้ำสูตรสมุนไพรไล่แมลง

วิธีที่ 1 นำเหง้ามาบดให้เป็นผง 30 กรัมผสมกับน้ำ 4 ลิตร แล้วตั้งทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง หรือต้มนานประมาณ 45 นาที ทิ้งไว้ให้เย็นนำไปฉีดพ่นฆ่าแมลง

วิธีที่ 2 นำเหง้ามาบดให้เป็นผงคลุกเคล้ากับเมล็ดพันธุ์ที่แห้งดีแล้ว ในอัตราส่วนเมล็ดพันธุ์ 50 กก. ต่อว่านน้ำ 1 กก. สามารถป้องกันแมลงในโรงเก็บได้

วิธีที่ 3 นำเหง้าของว่านน้ำมาบดให้ละเอียดผสมกับขมิ้นที่บดละเอียดอย่างละครึ่งกิโลกรัม แล้วเติมน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ 1-2 วัน นำสารที่กรองได้ไปฉีดพ่นเพื่อขับไล่แมลงวันตามกองขยะ และยังนำไปฉีดพ่นตามแปลงผัก เพื่อป้องกันแมลงรบกวน

7.  เพลี้ยอ่อน

เพลี้ยอ่อนมีหลายชนิด ทุกชนิดจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชในระยะกล้า หรือขณะที่ต้นผักยังอ่อน ถ้าระบาดมากต้นเหี่ยวเฉา ใบซีดเหลือง หงิกงอ ไม่เจริญเติบโต

อาศัยตามซอกใบ และถ่ายมูลออกมาทำให้เกิดราดำมาเกาะตามส่วนต่าง ๆ ของพืช ทำให้ใบพืชไม่สวย และยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสมาระบาดในต้นพืชด้วย

ตรงที่เพลี้ยอ่อนระบาด จะสังเกตง่ายที่ไหน เพราะมีเพลี้ยอ่อนที่ไหนจะมีมดที่นั้น เพราะมดจะอาศัยกินน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนขับถ่ายออกมา ระบาดมากในช่วงฤดูแล้งอากาศร้อน แต่ถ้าฝนตกปริมาณจะลดลง

ลักษณะของเพลี้ยอ่อน เพลี้ยอ่อนกะหล่ำจะมีสีเหลือง ส่วนเพลี้ยอ่อนผักกาดจะมีสีเขียวแกมเหลือง มีทั้งชนิดที่มีปีก และไม่มีปีก ถ้ามีปีกที่ท้องด้านบนจะมีรอยด่างสีดำ เพลี้ยพวกนี้เคลื่อนไหวช้า และชอบอยู่รวมเป็นกลุ่ม

การป้องกันและการควบคุม

1.  รักษาตัวห้ำพวกด้วงเต่าลายจุด ด้วงเต่าลายหยัก ตั๊กแตนตำข้าว แมลงช้างปีกใส แมลงวันเซอร์ฟิด

2.  ใช้ขี้เถ้า (ถ้าเป็นขี้เถ้าจากไม่ไผ่ผุ ยิ่งดี) เอาขี้เถ้าไปสาดในแปลงผักในตอนเช้าตรู่ที่ยังมีน้ำค้างจับที่ใบผัก

3.  ปลูกดาวเรืองปนลงในแปลงผักกาด ผักฮ่องเต้ และผักกาดหัว

4.  ใช้สมุนไพร น้อยหน่า น้อยโหน่ง แต่จะออกฤทธิ์ช้า  2-3 วัน จึงจะเห็นผล โดยใช้ผลดิบ ใบ ราก ถ้าได้เมล็ดยิ่งดี บดแล้วใส่ถุงตาข่ายแช่น้ำสักครู่ นำไปฉีดจะให้ผลดี สมุนไพร กระเทียม ยาสูบ พริก สะเดา สลอด น้ำเยี่ยววัว ก็ใช้ได้

พริกสูตรสมุนไพรไล่แมลง

1.  นำพริกที่ป่นละเอียด 1 ขีด ผสมน้ำ 1 ลิตร คนให้เข้ากันดีแล้วกรองด้วยผ้า ผสมน้ำคั้นจากพริกนี้ 1 ส่วน ในน้ำสบู่ 5 ส่วนก่อนนำไปฉีด การผสมน้ำสบู่จะช่วยให้จับเกาะใบพืชได้ดีขึ้น

2.  ในการนำไปใช้ควรทดลองแต่น้อย ๆ ก่อน เพราะสารละลายที่เข้มข้นเกินไปจะทำให้ใบไหม้ หากพืชเกิดอาการดังกล่าวให้ผสมน้ำเพื่อให้เจือจาง และควรใช้อย่างระมัดระวัง อาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังของผู้ใช้

3.  สำหรับการใช้เพื่อยับยั้งเชื้อไวรัส ไม่มีรายงานการใช้ในไร่นา แต่มีรายงานในห้องวิทยาศาสตร์ว่าใช้น้ำคั้นจากใบและดอกของพริกไปฉีดพ่นก่อนจะมีการระบาดของไวรัส สามารถป้องกันต้นพืชจากไวรัสได้ผลดีกว่านำไปฉีด เมื่อพืชเกิดโรคไวรัสแล้ว

8.  เพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็ก จะใช้ปากเขี่ยและดูดน้ำเลี้ยงตามยอด ตามดอก และใบอ่อน ซึ่งจะทำให้ใบยอดสั้น ใบห่อ พื้นใบเป็นคลื่น ผิวด้าน หลังใบ ก้านใบ ก้านดอก หรือส่วนยอดจะเป็นรอยกร้านสีน้ำตาล หากระบาดรุนแรงต่อเนื่องจะทำให้พืชผักชะงักการเจริญเติบโต ยอดจะแห้ง ใบและดอกจะร่วง

เพลี้ยไฟมักระบาดทั่วไปในช่วงฤดูแล้ง-ร้อน-ต้นฤดูฝน สภาพที่อากาศร้อนแล้ง มักเกิดในระยะฝนทิ้งช่วงนาน ๆ

รูปร่าง นิสัย พฤติกรรมการกินอยู่

ตัวแก่ของเพลี้ยไฟ ลำตัวจะผอม ขนาดเพียง 1 มิลลิเมตร ตัวมีปีกเรียวยาว 2 คู่ มีขนบาง ๆ ตัวหนุ่มสาว มีสีน้ำตาลอ่อน สีเหมือนฟางข้าว ตัวอ่อนจะมีรูปร่างเหมือนตัวหนุ่มสาว แต่ไม่มีปีก สีจางกว่าตัวหนุ่มสาว  เพลี้ยไฟทุกระยะการเติบโต จะดูดน้ำเลี้ยงทำลายพืช พบอยู่ตามมุมก้านใบ ใต้ใบ ดอกทั้งตูมและบาน การเคลื่อนไหวค่อนข้างเชื่องช้า

ไข่ ตัวแม่จะวางไข่ไว้ตามเส้นใบ ตัวอ่อนเมื่อออกจากไข่จะลอกคราบเป็นระยะ ๆ เมื่อโตเต็มที่จะเข้าพักตัวตามพื้นดินแล้วออกเป็นตัวหนุ่มสาว หากสภาพแวดล้อมแห้งแล้ง เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ตัวเมียจะมีมากกว่าตัวผู้ ทำให้การระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยจะแพร่กระจายออกบินไปตามกระแสลมเคลื่อนย้ายตัวมันในขณะที่มีอุณหภูมิสูง แดดจัด

การป้องกันและการควบคุม

1.  เพลี้ยไฟเป็นแมลงตัวเล็ก ต้องสังเกตให้ดี ในช่วงฝนไม่ตกอากาศแห้งเป็นเวลานาน ต้องตรวจดู ถ้าพบตัวอ่อนมากกว่าตัวหนุ่มสาว แสดงว่าระบาดมานาน ต้องหากำจัด คือถ้าพบเพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวหนุ่มสาว 10 ตัวต่อยอด ควรกำจัดทันที (ตรวจโดยจับยอดพริกเคาะกับกระดาษหรือผ้าดำแล้วตรวจนับ)

2.  เพลี้ยชนิดนี้เป็นอันตรายต่อพริก ช่วงอายุ 1 ถึง 1 เดือนครึ่ง มากในช่วงนี้ควรบำรุงรักษาต้นพริกให้ดีควรให้น้ำอย่างเพียงพอ และคลุมดินรักษาความชุ่มชื้น และใส่ปุ๋ยหมักบำรุงต้น กำจัดหญ้า เพื่อให้ต้นพืชแข็งแรง

3.  กรณีที่ระบาดรุนแรง ใช้สารธรรมชาติหลายชนิด ฉีดพ่น เช่น

–  ใช้เมล็ด ใบสะเดา แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน ผสมน้ำอีก 1 เท่าแล้วนำไปฉีดพ่น

–  นำแป้ง (แป้ง 2 ถ้วย กับน้ำ 5-10 ขวด คนให้เข้ากัน) ฉีดให้ถูกเพลี้ยในช่วงเช้า (8 โมงเช้า) วันที่ท้องฟ้าแจ่มใส รอจนถึงเที่ยงวัน เมื่อแดดร้อนจัดแป้งที่ผสมน้ำที่ติดบนตัวหนอนไร หรือเพลี้ย ก็จะดูดน้ำจากตัวหนอน แล้วหนอนก็จะตาย

–  ขี้เถ้า สาดขี้เถ้าในช่วงเช้าที่ใบพืช ที่ยังมีน้ำค้างเกาะในตอนเช้า หลักการเดียวกับการใช้แป้ง

–  ใช้ฉี่วัว รวบรวมฉี่วัวแล้วนำไปหมักตากแดดประมาณ 2 อาทิตย์ นำไปผสมน้ำอีก 1 เท่า แล้วนำไปฉีดพ่นเพลี้ย ไม่ควรใช้แบบเข้มข้น เพราะจะทำให้ใบพืชไหม้ได้

4.  อนุรักษ์ แมลงตัวห้ำ ตัวเบียน เช่น แมงมุม แมงใบ้ แมงช้างปีกใส ด้วงเต่าลายจุด และลายหยัก ตั๊กแตนตำข้าว เป็นต้น

9.  ไรขาว

ไรเป็นศัตรูพืชที่สำคัญชนิดหนึ่ง ไรจะดูดน้ำเลี้ยงจากต้นพืช ทำให้ใบยอดหดสั้นลง ใบที่โตจะหนาไม่เรียบ ก้านใบยาวเปราะหักง่าย ใบจะม้วนงอลงด้านล่าง จะทำให้ใบยอดบิดหยิก ใบยอดจะเป็นฝอยแห้งและร่วง ต่อมาใบอ่อน-ดอก ก็จะร่วงแตกใหม่ หากมีการระบาดของไรอย่างรุนแรงหรือประจำจะทำให้ต้นพืชแคระแกร็น ไม่ออกดอกออกฝัก

พบระบาดตลอดปี ถั่ว มะม่วง มะเขือเทศ โหระพา และไม้ดอกหลายชนิด และเป็นศัตรูสำคัญของพริก

รูปร่าง นิสัย และพฤติกรรมการกินอยู่

ไรขาว มีขนาดเล็กมาก ต้องใช้แว่นขยายดู ตัวจะกลมรี ขาวใสคล้ายหยดน้ำ มองเห็นเหมือนเป็นจุดน้ำมันเมื่อต้องแสงแดด ส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ใบและยอดอ่อน มีขา 4 คู่ อายุการเจริญเติบโตตั้งแต่ไข่ถึงตัวเต็มวัย 3-5 วัน ระยะไข่จะทนต่อการฉีดพ่นยามากกว่า ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ระบาดได้ดีในช่วงที่มีฝนตกชุกติดต่อกัน แล้วมาแห้งและร้อนทันที

การป้องกันและการควบคุม

1.  ใช้แว่นขยายส่องดูตัว หากพบตัวอ่อน ตัวหนุ่มสาวจำนวนมาก ควรหาทางป้องกัน ถ้าไม่มีแว่นขยาย ก็ให้สังเกตดู ว่าใบเริ่มหนา และยอดมีสีน้ำตาลแดง และมีกลุ่มคล้ายผงชอล์กสีขาวเคลื่อนไหวอยู่ที่ใบก็ให้หาทางกำจัดได้

2.  ในช่วงฤดูฝน ซึ่งมักอยู่ในระยะพริกกำลังตกพุ่ม ต้องสนใจหมั่นดูให้บ่อย ๆ หมั่นตรวจยอดพริก หากเห็นอาการให้รีบแก้ไข

3.  ปลูกพริกให้ชิดกัน หรือมีพืชอื่นแซม เพื่อให้มีความชื้นสูง ไรขาวจะลดลง

4.  การระบาดส่วนใหญ่จะระบาดในช่วงที่ผักกำลังเจริญเติบโต ป้องกันโดยการใช้กาบมะพร้าวเผากำมะถัน(มาด) ให้มีกลิ่น ไปไล่ไร

5.  กรณีที่เริ่มระบาดพบเห็นแล้ว ใช้กำมะถันผงละลายน้ำ อัตรา 5-6 ช้อนแกง กับน้ำ 20 ขวด พ่นให้ทั่วใต้ใบและในพุ่ม พริกพ่นเป็นชุด 2-3 วันติดต่อกัน หากพบว่าไรเบาบางลงก็ให้หยุดชั่วคราว กำมะถันผงใช้ได้ผลในการควบคุมปริมาณไรในระยะแรกเริ่ม และฝนตกไม่ชุก การพ่นไม่ควรในเวลาที่แดดจัด เพราะจะทำให้ต้นพริกไหม้ได้ หรือใช้ฉี่วัวหมักก็ได้ผลเช่นกัน

6.  ต้นพริกที่อายุน้อย เมื่อถูกไรขาวทำลายจนยอดหงิกรุนแรง และใบอ่อนร่วง หากใช้กำมะถันฉีดพ่นได้ทัน ยอดจะแตกออกมาและออกดอกมากกว่าเดิม

10.  หนอนเจาะผล ผลเน่าดำ

ถ้าเกิดในพริก ผลจะมีสีไม่สม่ำเสมอ ร่วงก่อนที่จะสุก สังเกตดูให้ทั่ว จะพบรูเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากหนอนแมลงวันชนิดหนึ่งทำลายที่เจาะผลและกิ่ง และทำให้เกิดการเน่าภายในผล ระบาดอย่างรวดเร็ว ต้องรีบกำจัดทันทีที่พบผลพริกร่วง หรือรูจากการเจาะของหนอน

ถ้าเกิดในมะเขือ เมื่อหนอนแมลงวันเจาะผลมะเขือแล้ว ผลจะเน่าเป็นแผลสีน้ำตาล แผลขยายใหญ่จนอาจทำให้มะเขือเน่าหมดผล บนแผลที่เน่ามีเส้นใยสีขาวนวลขึ้นบาง ๆ

การป้องกันและการควบคุม

1.  ใช้กับดักกาวเหนียว หรือน้ำมันขี้โล้ ทากระป๋องสีเหลือง (กระป๋องน้ำมันดีเซลล์) ดักจับแมลงวัน แม่ผีเสื้อหนอน

2.  ปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย โปร่ง มีปุ๋ยอินทรีย์สมบูรณ์

3.  ตัดกิ่งที่เป็นโรคและผลเน่าออกไปทำลายเสีย แล้วพ่นด้วยน้ำปูนใสเข้มข้น ในอัตราผสมน้ำปูนใส 1 ส่วน น้ำ 3 ส่วน หรือใช้ปูนขาวและขี้เถ้าจากไม้เนื้อแข็งอย่างละครึ่งกิโล ผสมกับน้ำ 1 ปี๊บ คนให้เข้ากัน กรองเอาเศษขยะออก แล้วไปฉีดพ่นพืชที่ถูกแมลงวันเจาะทำลาย

4.  อนุรักษ์ห้ำ ตัวเบียนในแปลง