แมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งที่สำคัญ

ปิยรัตน์  เขียนมีสุข,อนันต์  วัฒนธัญกรรม, องุ่น  ลิ่ววานิช, วิชุดา  นิธิอุทัย กองกีฎและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร

หน่อไม้ฝรั่ง เป็นพืชผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน น้ำเกลือแร่ และวิตามิน เป็นพืชที่ปลูกมานานแล้วในประเทศไทย แต่เริ่มมีบทบาทสำคัญต่อเสรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงและสามารถปลูกได้ดีตลอดปี แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ชลบุรี นนทบุรี และระยอง ในปัจจุบันจัดเป็นพืชผักที่นับวันความต้องการหน่อไม้ฝรั่งเพิ่มมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจัดเป็นพืชผักส่งออกที่สำคัญพืชหนึ่งทั้งในรูปผลผลิตสดและอาหารแปรรูปเช่น หน่อไม้ฝรั่งบรรจุกระป๋อง ซึ่งมีตลาดที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย

ปัญหาที่สำคัญมากประการหนึ่งในการปลูกหน่อไม้ฝรั่งคือ แมลงศัตรู ซึ่งพบระบาดทำลายในแปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ก่อให้เกิดความเสียหาย ผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ

เพลี้ยไฟ

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

เพลี้ยไฟเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญมากของหน่อไม้ฝรั่ง ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายโดยใช้ปากเขี่ยดูดน้ำเลี้ยงที่ช่อดอกและกาบใบ การทำลายในระยะแรกถ้าไม่สังเกตดี ๆ จะมองไม่เห็น พืชที่ถูกทำลายรุนแรงจะแคระแกรน ช่อดอกมีสีเหลืองซีด กาบใบบริเวณลำต้นมีสีน้ำตาลและเหี่ยวเห็นได้ชัด หน่อไม้ฝรั่งที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายนี้มีปัญหาสำคัญในการส่งไปจำหน่ายต่างประเทศเนื่องจากมีเพลี้ยไฟติดไปกับหน่อไม้ฝรั่งทำให้ต่างประเทศไม่รับซื้อ

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวอ่อนของเพลี้ยไฟมีรูปร่างเรียวตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายกันแต่ตัวอ่อนไม่มีปีก ตัวเต็มวัยมีขนาด ๑.๑๓ มิลลิเมตร สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ส่วนมากจะมีสีเหลืองอ่อน บางตัวอาจจะมีสีน้ำตาลอ่อนซึ่งเกิดจากจุดสีน้ำตาลที่กระจายตามแผ่นแข็งบริเวณหัว อก และท้อง บางครั้งพบว่าจุดสีที่รวมตัวกันมักมีลักษณะเป็นแถบสีน้ำตาลเข้มพาดบริเวณส่วนท้อง ตัวเมียวางไข่ในเนื้อเยื่อพืชกลุ่มละ ๑๕ ฟอง ตัวเมีย ๑ ตัว สามารถวางไข่ ๒๘-๕๐ ฟอง วงจรชีวิตประมาณ ๑๑-๑๓ วันคือ ระยะไข่ ๓-๕ วัน ตัวอ่อนมี ๒ ระยะ ระยะตัวอ่อน ๕ วัน ระยะก่อนเข้าดักแด้ ๑-๒ วัน ปกติมักจะพบในดิน ส่วนระยะดักแด้ ๒ วัน ตัวเต็มวัยมีอายุ ๒๐ วัน – ๔ เดือน หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้น

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด

เพลี้ยไฟชนิดนี้พบระบาดทั่วไปในพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น อินเดีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา อาฟริกา และออสเตรเลีย เป็นต้น ในประเทศไทยพบระบาดรุนแรงในช่วงฤดูร้อนหรือสภาพอากาศร้อนแห้งแล้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ในแหล่งปลูกหน่อไม้ฝรั่งที่หุบกระพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

การระบาดของเพลี้ยไฟไม่ได้เกิดจากการอพยพเข้ามา แต่จะเกิดจากการเพิ่มปริมาณขึ้นเอง และพบว่าปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิที่ต่ำกว่า ๕๐ องศาฟาเรนไฮท์จะลดปริมาณของเพลี้ยไฟ เพลี้ยไฟจะเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วในสภาพอากาศแห้งแล้ง และจะลดลงภายหลังฝนตก

พืชอาหาร

เพลี้ยไฟเป็นแมลงศัตรูที่มีพืชอาหารกว้างพบทำลายพืชได้มากกว่า ๓๐๐ ชนิด เช่น หอม กระเทียม ฝ้าย ทานตะวัน น้ำเต้า บวบ ป่าน ปอ กัญชา มะเขือ ถั่ว กะหล่ำ ยาสูบและมะเขือเทศ เป็นต้น

การป้องกันกำจัด

๑.  การใช้กับดักกาวเหนียว แขวนหรือปักไว้ในแปลงเพื่อตรวจดูว่าเริ่มมีการทำลายของเพลี้ยไฟในแปลงพืชหรือยัง ซึ่งจะช่วยในแง่ทำนายระบาด เพราะดังที่กล่าวมาแล้วเพลี้ยไฟมีขนาดลำตัวเล็กอาจไม่ทันสังเกตเห็นการเข้าทำลายในระยะเริ่มแรก

๒. ถ้ามีการระบาดจำเป็นต้องใช้สารเคมี พวกคาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ ๒๐℅ อีซี) ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร และเนื่องจากเพลี้ยไฟมีวงจรชีวิตสั้นมาก ในระยะที่มีการระบาดสูงควรฉีดพ่นสารเคมีติดต่อกันโดยใช้ช่วงพ่น ๕ วันครั้ง ติดต่อกัน ๓-๔ ครั้ง และควรพ่นในเวลาเช้าระหว่าง ๘.๐๐-๑๐.๐๐ น. เพราะเพลี้ยไฟบินในเวลากลางวัน (เพลี้ยไฟมีช่วงการบิน ๘,๐๐-๑๓.๐๐ น.)

หนอนกระทู้กัดต้น

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนกระทู้กัดต้นเป็นแมลงศัตรูที่ทำลายหน่อไม้ฝรั่งโดยหนอนจะอาศัยอยู่ใต้ดินเวลากลางวันใกล้ ๆ ต้นพืชและออกมากัดกินพืชในเวลากลางคืน โดยจะทำลายเฉพาะโคนต้นที่กำลังเจริญเติบโตส่วนมากจะกัดจนต้นขาด ก่อใหเกิดความเสียหาย ถ้าเป็นต้นใหญ่อาจจะกัดกินภายใน ซึ่งผลจากการทำลายจะทำให้หน่อไม้ฝรั่งไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการและผลผลิตลดลง

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนมีขนาดกางปีกกว้าง ๔ ซม. ปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลขอบปีกมีสีดำ ปีกคู่หลังมีสีขาวไข่มุก ส่วนขอบปีกและเส้นปีกมีสีน้ำตาล ตัวเต็มวัยเริ่มวางไข่หลังผสมพันธุ์ ๔-๖ วัน โดยจะวางเป็นฟองเดี่ยว ๆ หรือกลุ่มเล็ก ๆ บนดินที่มีความชื้น บนใบวัชพืชหรือพืชอาหารไข่มีลักษณะกลมยอดแหลม ขนาด ๐.๕ มิลลิเมตร มีสีขาวครีมและจะกลายเป็นสีแดงเรื่อ ๆ แกมเหลืองก่อนฟักจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ระยะไข่ประมาณ ๒-๓ วัน หนอนมี ๖-๗ ระยะประมาณ ๓ สัปดาห์ โดยหนอนวัยแรก ๆ มีสีเขียวแกมเหลืองอ่อน หัวสีดำ หนอนที่มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ ๔-๕ ซม. มีสีเทาดำ หรือดำแดง เป็นมัน ส่วนปล้องของลำตัวในแต่ละข้างจะมีตุ่ม ๔ ตุ่มหรือมากกว่าอยู่บริเวณด้านหลัง ระยะดักแด้ ๒ สัปดาห์ โดยจะเข้าดักแด้ในดินลึกประมาณ ๒-๓ ซม. ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ ๒ สัปดาห์

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด

พบระบาดทั่วไปในพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น ในยุโรปพบระบาดในประเทศไอร์แลนด์ โปรตุเกส บุลกาเรีย รูมาเนีย นอร์เวย์ และฟินแลนด์ ส่วนในเอเซียพบระบาดที่อินเดีย ศรีลังกา เกาหลี จีน นอกจากนี้ยังพบระบาดในทวีปอาฟริกา อเมริกา และออสเตรเลีย เป็นต้น ในประเทศไทยพบระบาดรุนแรงในช่วงฤดูร้อนประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน

พืชอาหาร

พืชอาหารได้แก่ พืชตระกูลกะหล่ำ ยาสูบ ข้าวโพด ฝ้าย พืชตระกูลถั่ว มะเขือเทศ มันฝรั่ง มันเทศ หอม เป็นต้น

การป้องกันกำจัด

๑.  ทำลายวัชพืชเป็นแหล่งวางไข่ของผีเสื้อ

๒.  ในแปลงที่สามารถให้น้ำได้ควรทดน้ำเข้าแปลงเพื่อให้หนอนออกจากที่หลบซ่อนแล้วเก็บทำลายเสีย

๓.  กรณีที่มีการระบาดของหนอนจำนวนมาก ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงพวกไพรีทรอยด์ เช่น แอมบุช ๒๕℅ อีซี. อัตรา ๑๐-๒๐ ซีซี ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร ฉีดบริเวณโคนต้น พ่น ๒-๓ ครั้ง ทุก ๕-๗ วัน

หนอนกระทู้ผัก

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนกระทู้ผักเป็นแมลงที่มีพืชอาหารมากมาย พบทำลายทั้งในพืชผัก พืชไร่ และผลไม้ ในกรณีของหน่อไม้ฝรั่งการทำลายที่ก่อให้เกิดความเสียหายเกิดจากตัวโตกัดกินหน่อไม้ฝรั่งที่กำลังเติบโต ทำให้เกิดรอยแหว่งเป็นรูลึก และหน่อไม้ฝรั่งเสียคุณภาพ

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

แม่ผีเสื้อวางไข่เป็นกลุ่มคลุมด้วยขนสีน้ำตาลอ่อน ระยะไข่ ๓-๔ วัน ก็จะฟักเป็นตัวหนอน หนอนในระยะแรก ๆ อยู่รวมกัน ลักษณะของหนอนสังเกตได้ง่ายมีลักษณะลำตัวอ้วนผิวหนังเรียบ ลายสีดำ ตัวโตเต็มที่ประมาณ ๓-๔ วัน ระยะหนอน ๑๐-๑๔ วัน เข้าดักแด้ในดิน ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ขนาด ๑.๕ ซม. ระยะดักแด้ ๗-๑๐ วัน ผีเสื้อขนาดกางปีกกว้าง ๓ ซม. ปีกคู่หน้ามีลวดลายสีน้ำตาลดำ ปีกคู่หลังมีสีขาว

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด

มักพบทำลายหน่อไม้ฝรั่งเสมอ ๆ ไม่จำกัดฤดูกาล

พืชอาหาร

มีพืชอาหารมากมายหลายชนิดทั้งพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผักต่าง ๆ

การป้องกันกำจัด

หนอนกระทู้ผักสามารถป้องกันกำจัดได้ไม่ยาก เมื่อพบกลุ่มไข่หรือหนอนที่เพิ่งออกจากไข่มาทำลายเสีย หากปล่อยให้หนอนโตเกินระยะวัย ๓ หนอนจะแยกย้ายหลบซ่อนตัวกัดเจาะเป็นรูลึกในหน่อ หรือบริเวณโคนต้น หากจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงควรใช้สารไพรีทรอยด์สังเคราะห์อย่างใดอย่างหนึ่ง อัตรา ๒๐ ซีซี หากมีการระบาดใช้ช่วงพ่น ๕-๗ วัน

แมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งอื่น ๆที่ควรสนใจ

หนอนเจาะสมอฝ้าย

ตัวหนอนทำลายโดยการกัดกินต้นหน่อไม้ฝรั่ง

หนอนบุ้ง

ตัวหนอนทำลายหน่อไม้ฝรั่งโดยกัดกินก้านและใบของหน่อไม้ฝรั่ง

หนอนคืบ

ตัวหนอนทำลายโดยการกัดกินใบของหน่อไม้ฝรั่ง

แมลงค่อมทอง

ตัวเต็มวัยกัดกินหน่อไม้ฝรั่ง

ด้วงงวง

ตัวเต็มวัยกัดกินต้นหน่อไม้ฝรั่ง