แหล่งเลี้ยงผึ้ง

ผลิตภัณฑ์ผึ้ง
ประเทศไทยและประเทศอื่นในทวีปเอเชียได้รู้จักเก็บเกี่ยวนํ้าผึ้งจากผึ้งพื้นเมือง ได้แก่ผึ้งมิ้ม (APIS FLOREA) ผึ้งหลวง (APIS DOR SATA) และผึ้งโพรง (APIS CERANA) มาเป็นเวลานานนับศตวรรษ ซึ่งพบว่าผึ้งมิ้มและผึ้งหลวงนั้นไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นผึ้งเลี้ยง เพราะผึ้งทั้งสองชนิดนี้มีอุปนิสัยที่จะต้องสร้างรังในที่โล่ง ไม่สามารถปรับตัวให้ อาศัยอยู่ในภาชนะหรือหีบเลี้ยงที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ ส่วนผึ้งโพรงจะมีลักษณะการดำรงชีวิตที่แตกต่างออกไป โดยจะทำรังเป็นรวงซ้อนกันหลายๆ ชั้นตามโพรงไม้ ดังนั้นโดยทั่วๆ ไปแล้วผึ้งโพรงจะเป็นผึ้งเลี้ยงของเอเชีย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูลักษณะอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งของโลก ผลผลิตน้ำผึ้งจะมีประมาณปีละ 600,000 ตัน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผลผลิตที่ได้มาจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ (APIS MELUFERA) ประเทศผู้ผลิตรายสำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพโซเวียต สาธารณรัฐประชาชนจีน เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแทนซาเนีย จะเห็นว่าเขตของอุตสาหกรรมผึ้งกระจัดกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ตั้งแต่เขตอบอุ่น เขตร้อนชื้น และเขตร้อนแบบกึ่งทะเลทราย โดยผึ้งพันธุ์อันเป็นผึ้งพื้นเมืองของยุโรปและแอฟริกาใต้ถูกนำไปเผยแพร่และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ กันทั่วโลก และเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมผึ้งขึ้นมาทั่วโลก นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผึ้งและการเลี้ยงผึ้งพบว่า ปัจจุบันแหล่งสุดท้ายของโลกที่อุตสาหกรรมผึ้งยังรอการพัฒนาอยู่ก็คือ ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แนวโน้มของการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมผึ้งในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ให้ประสบความสำเร็จเป็นไปได้อย่างมาก ถ้านักวิชาการสามารถแก้ไขอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดการดูแลบริหารอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง และการเอาใจใส่ผึ้งให้ปลอดจากโรคและศัตรูรบกวน
ประเทศไทยเริ่มมีการเลี้ยงผึ้งพันธุ์จากต่างประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2496 โดยหลวงสมานวนกิจ ซึ่งได้สั่งผึ้งพันธุ์อิตาเลียนจากประเทศออสเตรเลียเข้ามาทำการเพาะเลี้ยงจำนวน 4 รังที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งได้มีการสอนนักศึกษาและทำการค้นคว้าวิทยาการต่างๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งไว้มากมายพอสมควร ซึ่งข้อมูลทำไว้ในสมัยนั้นนับว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้เริ่มทำการเลี้ยงผึ้งอย่างมาก ต่อจากนั้นจนถึงปี 2513 จึงมีผู้บุกเบิกการเลี้ยงผึ้งพันธุ์อิตาลีโดยเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซื้อพันธุ์ผึ้งมาจากไต้หวัน และจ้างผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวันมาเลี้ยงด้วย แนวความคิดนี้เริ่มจากผู้ประกอบธุรกิจขายยา ซึ่งยาหลายขนานจำเป็นต้องผสมน้ำผึ้งในสมัยนั้นนํ้าผึ้งที่พอจะหาได้คือนํ้าผึ้งป่า แต่เมื่อนำมาผสมยาบ่อยครั้งที่ยาเหล่านั้นขึ้นรา จึงคิดที่จะเลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตนํ้าผึ้งเอง
จนกระทั่งปี 2524 กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงผึ้งเพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรม กล่าวคือ ให้ผึ้งช่วยผสมเกสร ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงการนี้ประสบผลสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการจัดตั้งฝ่ายส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งขึ้นสังกัดกองป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งขึ้นในส่วนภูมิภาค 5 แห่ง คือจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น จันทบุรี และชุมพร นอกจากนั้น ยังได้มอบหมายให้หน่วยป้องกัน และกำจัดศัตรูพืชทั่วประเทศ 30 หน่วย ซึ่งสังกัดฝ่ายป้องกันและกำจัดศัตรูพืช สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคทั้ง 6 ภาค และสำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ ได้ศึกษา และส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในเขตรับผิดชอบของแต่ละหน่วย เพื่อเผยแพร่ให้แก่เกษตรกร ในระยะเริ่มต้นที่ศูนย์ส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งยังมีไม่เพียงพอ
ศูนย์ส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งได้ดำเนินการฝึกอบรมการเลี้ยงผึ้งให้แก่เกษตรกร และส่วนราชการอื่นๆ ที่สนใจ เป็นผลให้การเลี้ยงผึ้งได้รับความสนใจและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างของความสำเร็จก็คือ การเป็นแกนนำในการจัดตั้ง “กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ” ซึ่งต่อมาได้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ มีสมาชิกประมาณ 356 ราย จำนวนรังผึ้งของสมาชิกรวมทั้งหมด 20,000 รัง นอกจากนี้ สมาชิกยังได้รวบรวมสมาชิกจัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือขึ้นที่เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งแห่งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อให้การสนับสนุนด้านธุรกิจการตลาดแก่สมาชิกของสมาคมผู้เลี้ยงผึ้ง
ปัญหาประการสำคัญประการหนึ่งของผู้เลี้ยงผึ้งเป็นอุตสาหกรรมในระยะแรกก็คือ เครื่องมืออุปกรณ์ ดังนั้น ฟาร์มผึ้งเกษตรภายใต้การแนะนำส่งเสริมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการผลิต พัฒนาและออกแบบเครื่องมือที่ใช้เลี้ยงผึ้งมาโดยตลอด เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ไม่มีผู้ผลิตและจำหน่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตแผ่นรังเทียมซึ่งต้องใช้ขี้ผึ้งที่มีความบริสุทธิ์สูง ซึ่งขี้ผึ้งถูกนำมาเคี่ยวหลอมในถังสเตนเลส หลังจากนั้นจะนำไปเข้าเครื่องรีดเป็นแผ่นที่มีลักษณะและขนาดเหมือนกับฐานรังผึ้งที่ผึ้งสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อรีดแล้วจะนำมาตัดให้ได้ขนาดอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากที่ได้มีการพัฒนาการเลี้ยงผึ้งมาได้ระยะเวลาพอสมควร ผู้เลี้ยงผึ้งในประเทศเริ่มหันมาผลิตเกสรดอกไม้และนมผึ้งออกจำหน่ายไปพร้อมๆ กับนํ้าผึ้งด้วย โดยเจาะขยายตลาดในฐานะเป็นอาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งผลิตภัณฑ์เกสรดอกไม้และนมผึ้งสร้างรายได้อย่างงดงามให้กับกิจการเลี้ยงผึ้ง กล่าวกันว่ารายได้จากเกสรดอกไม้และนมผึ้งเป็นกำไรของผู้เลี้ยงผึ้ง ส่วนนํ้าผึ้งนั้นคือรายได้สำหรับใช้จ่ายเพื่อต้นทุนการผลิต
แหล่งเลี้ยงผึ้ง
แหล่งเลี้ยงผึ้งที่สำคัญของไทยอยู่ในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งเลี้ยงผึ้งที่สำคัญของประเทศและใหญ่ที่สุดของเอเชียอาคเนย์ เขตเลี้ยงผึ้งที่สำคัญดังกล่าวเป็นแหล่งของสวนลำไยและลิ้นจี่ ปัจจุบันนักเลี้ยงผึ้งมืออาชีพกว่าร้อยละ 90 เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทางภาคเหนือตอนบน สามารถผลิตนํ้าผึ้งจากลำไยเฉลี่ยปีละ 30 กิโลกรัม/รัง บางรายอาจจะผลิตได้สูงถึง 70-80 กิโลกรัม/รัง/ปี อย่างไรก็ตามถ้าเกษตรกรคิดว่าจะเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพ เมื่อพิจารณาถึงความคุ้มทุนแล้ว ผลผลิตที่ได้ไม่ควรตํ่ากว่า 25-30 กิโลกรัม/รัง/ปี
นํ้าผึ้งลำไยเป็นนํ้าผึ้งที่มีรสหอมหวาน และยังไม่เคยพบนํ้าผึ้งชนิดไหนที่จะหอมเป็นพิเศษเหมือนนํ้าผึ้งจากดอกลำไย ซึ่งในโลกนี้มีแหล่งที่ผลิตนํ้าผึ้งจากดอกลำไยเพียงไม่กี่แหล่ง ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม ซึ่งในเวียดนามตอนนี้การเลี้ยงผึ้งยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร แต่ถ้าจะกล่าวถึงคุณภาพของนํ้าผึ้งจากดอกลำไยของไทยจะมีคุณภาพดีที่สุดในโลก
ประเทศไทยสามารถผลิตนํ้าผึ้งได้ 30 กิโลกรัม/รัง/ปี ถือได้ว่าอยู่ในระดับผู้นำทีเดียว เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น ในอังกฤษและยุโรป ผลิตนํ้าผึ้งได้เฉลี่ย 20 กิโลกรัม/รัง/ปี เยอรมันผลผลิตนํ้าผึ้งเฉลี่ย 15 กิโลกรัม/รัง/ปี อิตาลีผลิตนาผึ้งได้เฉลี่ย 20 กิโลกรัม/รัง/ปี และสหรัฐอเมริกาผลผลิตนํ้าผึ้งเฉลี่ย 30 กิโลกรัม/รัง/ปี
การส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงผึ้งในภาคอื่นๆ แล้ว เกษตรกรจะต้องรู้ว่าผึ้งจะได้แหล่งอาหารมาจากที่ใด ปริมาณเพียงพอต่อการผลิตนํ้าผึ้งหรือไม่ และจะต้องจัดแผนการผลิตผลิตภัณฑ์ผึ้งในแต่ละปีว่าควรจะทำอะไรเมื่อไหร่เหมือนกับผู้เลี้ยงผึ้งในภาคเหนือ ซึ่งมีการจัดแผนการผลิตไว้ โดยจะต้องเริ่มผลิตนมผึ้งตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม จนสิ้นสุดเดือนตุลาคม หรืออาจถึงเดือนพฤศจิกายน จะรู้เป็นรายเดือนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง รู้ชนิดของพืชอาหาร ซึ่งหัวใจของการเลี้ยงผึ้งก็คือ แหล่งอาหาร ผู้เลี้ยงผึ้งจะเคลื่อนย้ายผึ้งเข้าไปหาแหล่งอาหารซึ่งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย พืชบางชนิดก็ได้แต่น้ำหวาน บางชนิดก็ให้แต่เกสร และบางชนิดก็ให้ได้ทั้ง 2 อย่าง ช่วงการบานของดอกไม้แต่ละชนิด แต่ละสถานที่จะบานในช่วงเวลาและฤดูกาลแตกต่างกันไป
ข้อมูลเกี่ยวกับดอกไม้ที่ให้อาหารแก่ผึ้งนั้น ยังมีการศึกษากันน้อยมาก ซึ่งมีข้อมูลที่ทราบเพียงเล็กน้อยในขณะนี้ได้แก่
1. พืชที่ให้น้ำหวานแก่ผึ้ง
1.1 พืชที่ให้นํ้าหวานในปริมาณมาก ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ สาบเสือ
1.2 พืชที่ให้น้ำหวานในปริมาณพอสมควร ได้แก่ ดอกนุ่น ดอกมะกอกน้ำ ดอกยูคาลิปตัส ดอกส้ม ดอกงิ้ว ยางพารา ดอกแคฝรั่ง ดอกยาง ดอกกาแฟ ดอกงา ดอกสตรอเบอร์รี่ ดอกฉำฉา ดอกมะพร้าว ดอกถั่วเหลือง ดอกกล้วย ดอกเงาะ ดอกแตง ดอกตะไคร้น้ำ ดอกพยอม ดอกรักป่า ดอกแพงพวยน้ำ ดอกหญ้างวงช้าง ดอกพิกุล ดอกพวงชมพู ดอกพวงแสด ดอกพุทรา ดอกทานตะวัน ดอกโคกกระสุน ดอกบานชื่น ดอกโหระพา ดอกต้นตีนตุ๊กแก ดอกผักกาด เป็นต้น
2. พืชที่ให้เกสรแก่ผึ้ง
2.1 พืชที่ให้เกสรในปริมาณมาก ได้แก่ ดอกไมยราพยักษ์ ดอกไมยราพ ดอกข้าวโพด ดอกข้าว ดอกเปล้าแดง ดอกเปล้าหลวง ดอกนุ่น
2.2 พืชที่ให้เกสรแก่ผึ้งพอสมควร ได้แก่ ดอกฟักทอง ดอกบัว ดอกกระถิน ดอกกระถินยักษ์ ดอกกระถินณรงค์ ดอกมะพร้าว ดอกชมพู่ ดอกทองกวาว ดอกผักขม ดอกถั่ว ดอกเหลืองอเมริกัน ดอกอ้อย ดอกอ้อ ดอกพง ดอกแขม ดอกทานตะวัน ดอกบัวตอง ดอกหางนกยูง ดอกผกากรอง ดอกอินทนิน ดอกดาวกระจาย ดอกฮอลิฮ็อก เป็นต้น
ในช่วงการบานของดอกไม้ชนิดต่างๆ นั้น แตกต่างกันออกไปตามสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม พืชที่สำคัญต่อการเลี้ยงผึ้งจะมีช่วงการบานดังนี้
ดอกลำไย ประมาณกุมภาพันธ์-เมษายน
ดอกสาบเสือ ประมาณธันวาคม-มกราคม
ดอกนุ่น ประมาณมกราคม-กุมภาพันธ์
ดอกกาแฟ ประมาณตุลาคม-พฤศจิกายน
ดอกทุเรียน ประมาณธันวาคม-มกราคม
ดอกลิ้นจี่ ประมาณมกราคม-มีนาคม
ดอกมะกอกนํ้า ประมาณเมษายน-พฤษภาคม
ดอกส้ม ประมาณเมษายน-พฤษภาคม ตลอดปี
ดอกเงาะ ประมาณกุมภาพันธ์-มีนาคม
การเลี้ยงผึ้ง โดยเฉพาะผึ้งพันธุ์ ผู้เลี้ยงพยายามลดต้นทุนให้ตํ่าลง โดยการจัดการรังผึ้งให้ได้ผลผลิตนํ้าผึ้งเพิ่มขึ้น เมื่อทำการเก็บเกี่ยวนํ้าผึ้งเสร็จแล้ว ก็เริ่มทำการผลิตรอแยลเยลลี่ ผลิตผึ้งนางพญา นำไขผึ้งเก็บไว้ขายและตั้งกับดักเกสร ดังนั้นการเลี้ยงผึ้งให้ประสบผลสำเร็จจะต้องมีการวางแผนการผลิตผลิตภัณฑ์ผึ้งในช่วงแต่ละปีที่ดีเพียงพอและอาจจะกล่าวได้ว่าการเลี้ยงผึ้งนั้นต้องใช้ค่าแรงมาก และเป็นงานที่ต้องการความประณีต และความชำนาญมาก
ขนาดของฟาร์มผึ้ง จะแบ่งตามจำนวนของรังผึ้งในฟาร์มนั้น กล่าวคือ ฟาร์มขนาดเล็กจะมีจำนวนรังผึ้งน้อยกว่า 100 รัง ฟาร์มขนาดกลางจะมีจำนวนรังผึ้ง 100-500 รัง และฟาร์มขนาดใหญ่จะมีจำนวนรังผึ้งมากกว่า 500 รัง
ลักษณะของรังผึ้ง
ในการสร้างรังผึ้งจะแบ่งหลอดรังเพื่อประโยชน์ใช้สอย 6 ประการ คือ
1. หลอดรังที่บรรจุน้ำผึ้ง หลอดรังที่บรรจุนํ้าผึ้งจะอยู่ส่วนเหนือสุดของรวงผึ้ง จะเห็นได้อย่างชัดเจนในฤดูน้ำผึ้งหลาก ผึ้งจะไปดูดนํ้าหวานจากเกสรดอกไม้มากลั่นเป็นนํ้าผึ้งบรรจุใส่หลอดเหล่านี้เต็มไปหมด โดยนํ้าผึ้งเหล่านี้ผึ้งจะเก็บไว้เป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนและผึ้งตัวผู้และผึ้งงาน ทั้งในฤดูดอกไม้บานและฤดูขาดแคลน และยังนำไปกลั่นเป็นไขผึ้งสำหรับสร้างหลอดรังเพื่อขยายรังให้ใหญ่ขึ้น
2. หลอดรังที่บรรจุเกสร หลอดรังบรรจุเกสรอยู่ถัดลงมาจากหลอดรังที่บรรจุน้ำผึ้ง เกสรดอกไม้เหล่านี้เป็นอาหารสำคัญอีกชนิดหนึ่งของผึ้ง โดยนับเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสำหรับทั้งผึ้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ความกว้างและลึกของหลอดรังที่บรรจุเกสรจะเท่าๆ กันกับหลอดรังที่บรรจุน้ำผึ้ง
3. หลอดรังที่เกิดผึ้งงาน หลอดรังชนิดนี้อยู่ถัดลงมาจากหลอดรังที่บรรจุเกสร จะมีพื้นที่กว้างกว่าหลอดรังชนิดอื่นๆ ผึ้งนางพญาจะตรวจดูว่าหลอดรังใดว่างจะวางไข่ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประชากรให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
4. หลอดรังทีเกิดผึ้งตัวผู้ โดยปกติแล้วหลอดรังชนิดนี้จะไม่ถูกสร้างขึ้น เพราะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากหน้าที่ของผึ้งตัวผู้ก็คือผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญาตัวใหม่เท่านั้น ดังนั้น หลอดรังผึ้งตัวผู้จะถูกสร้างขึ้นมาเมื่อจำนวนประชากรผึ้งในรังมีมาก และผึ้งต้องการจะแยกรังผึ้งงานที่มีหน้าที่สร้างรวงรังจะกัดหลอดรังที่เป็นหลอดเปล่า (หลอดรังที่เกิดผึ้งงาน) ออกแล้วช่วยกันสร้างหลอดรังผึ้งตัวผู้ตามขนาดของผึ้งตัวผู้ ซึ่งจะมีความกว้างกว่าหลอดรังผึ้งงานเล็กน้อย
5. หลอดรังที่เกิดผึ้งนางพญา หลอดรังประเภทนี้จะใหญ่และยาวเป็นพิเศษผึ้งงานจะสร้างไว้ตอนส่วนปลายของรวง และจะสร้างขึ้นในฤดูการขยายพันธุ์หรือในฤดูที่มีเกสรและนํ้าหวานของดอกไม้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งหลอดรังนี้ผึ้งจะสร้างรอแยลเยลลี่มาใส่เพื่อเป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนของผึ้ง
6. หลอดรังเปล่า เป็นหลอดรังที่ผึ้งสร้างขึ้นอยู่โดยรอบเป็นขอบของรัง หน้าที่ช่วยยึดหลอดรังอื่นไม่ให้อ่อนตัวหรือบิดเบี้ยว

ภาพจำลองของลักษณะทั่วไปของรังผึ้ง


ที่มา:ส่วนวิจัยเกษตรกรรม ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกสิกรไทย