แอฟริกันไวโอเล็ต:การปลูกและการขยายพันธุ์

แอฟริกันไวโอเล็ตมีต้นเป็นกอกะทัดรัด มีก้านใบยาว ใบเรียงกันในลักษณะรัศมีของวงกลม แผ่นใบปรกรอบกระถาง เมื่อมีดอกจะชูดอกดกเป็นกลุ่มก้อนขึ้นเหนือใบ เมื่อนำไปวางประดับไว้ที่ใดก็สะดุดตา ปัจจุบันมีจำหน่ายเป็นไม้กระถางที่ได้รับความนิยมมาก แต่คนที่สนใจปลูกมักนึกกลัวในตอนแรก กลัวว่าจะเลี้ยงได้ไม่งามหรือซื้อมาแล้วจะมาทำต้นตายเสีย อันที่จริงแอฟริกันไวโอเล็ตเป็นไม้ดอกกระถางที่เลี้ยงง่ายและทนทานพอสมควร สามารถปลูกได้ในที่มีแสงน้อย ถ้าอ่อนแอหรือเลี้ยงยากคงอยู่ไม่ได้ ผู้ปลูกเพียงแต่เรียนรู้นิสัยและความต้องการพื้นฐานก็จะสามารถเลี้ยงให้ได้ดอกพรูไว้ประดับบ้าน

แอฟริกันไวโอเล็ตมีทรงพุ่มเตี้ย ใบมีก้านยาวและอวบนํ้า มีขนเล็กๆ ปกคลุมกระจายทั่วใบ ทำให้ดูคล้ายกำมะหยี่ ช่อดอกแทงออกจากซอกใบ ต้นสามารถให้ดอกได้ตลอดปีไม่ขึ้นกับความสั้นยาวของวันหรืออุณหภูมิ

ใบของแอฟริกันไวโอเล็ตมีรูปร่างแตกต่างกันได้ถึง 10 แบบ ทั้งขอบใบเรียบ เป็นคลื่น ขอบใบหยัก สีเขียวอ่อน เขียวแก่ เขียวอมดำหรือด่างเขียว-ขาวหรือเขียว-เหลือง

ดอกมีลักษณะต่างๆ มากมายทั้งดอกชั้นเดียว ดอกซ้อนน้อยชั้น และดอกซ้อน มีสีพื้น เช่น ขาว ชมพู แดง ม่วงแดง ม่วงนํ้าเงิน และสองสีในดอกเดียวกันคือสีที่กล่าวมาแล้วสีใดสีหนึ่งกับสีขาวในดอกเดียวกัน เช่นขีดประขาว ขลิบริมกลีบสีขาว หรือใจกลางดอกมีสีเข้มและจางลงมาที่ปลายกลีบหรือกลีบดอกคู่บนสีเข้มและจางลงมาที่กลีบดอกคู่ล่าง

แอฟริกันไวโอเล็ตกระถางหนึ่งอาจมีราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าซื้อมาแล้วรู้วิธีปลูกและเลี้ยงดู รู้วิธีขยายพันธุ์ซึ่งทำได้ง่ายจะเพิ่มจำนวนต้นได้อีกมาก ถ้าเพื่อนซื้อสีอื่นก็อาจจะขยายพันธุ์มาแบ่งกันหรือนำไปแลกกันทำให้สนุกและกลายเป็นต้นไม้ที่มีราคาไม่แพง

ประวัติ

เมื่อปี ค.ศ .1892 Walter Saint Paul Illaire ชาวเยอรมันผู้ครองแคว้นแอฟริกาตะวันออก เป็นคนแรกที่พบต้นแอฟริกันไวโอเล็ตที่ตันกันยิกาซึ่งอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร 8 องศา เขาสั่งต้นไม้นี้ไปให้บิดาของเขาที่เยอรมัน บิดาได้นำไปให้นักพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคือ Herman Wendland ซึ่งได้เขียนอธิบายลักษณะของแอฟริกันไวโอเล็ตไว้ในหนังสือ Gartenflora ฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน 1893 และให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saintpaulia ionantha เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ

ตันกันยิกาซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของแอฟริกันไวโอเล็ตมีอากาศแบบเขตร้อนมี 2 ฤดู ฤดูร้อนเริ่มจากเดือนตุลาคมไปถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงไม่เกิน 32.2°ซ ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศสูงกว่า 90℅ ฤดูฝนเริ่มจากเดือนมิถุนายนไปถึงเดือนกันยายน ในช่วงนี้มีอากาศอบอุ่นและมีฝนตกบ่อยๆ บางทีมีพายุฝน ฝนตกแรง พอฝนตกแล้วแดดออกจ้าและอากาศร้อนทันที อุณหภูมิเวลากลางวันและกลางคืนไม่แตกต่างกันมากนัก แอฟริกันไวโอเล็ตจึงเป็นพืชที่อยู่ได้สบายในที่ที่มีอุณหภูมิสม่ำเสมอ เนื่องจากอากาศไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจึงไม่มีระยะพักตัวและสามารถให้ดอกได้ตลอดปี ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม

แอฟริกันไวโอเล็ตสามารถขึ้นได้เเถบเทือกเขาของป่าทึบจนถึงใกล้ระดับนํ้าทะเลหรือบริเวณสูงจากระดับนํ้าทะเลกว่า 2,000 เมตรก็อยู่ได้ที่บริเวณเทือกเขา Usambara มีความยาวถึง 180 กิโลเมตร อยู่สูงจากระดับนํ้าทะเลกว่า 3,000 เมตร มีแอฟริกันไวโอเล็ตขึ้นอยู่เรียกกันว่า Usambara violets

จากรายละเอียดสภาพถิ่นกำเนิดของแอฟริกันไวโอเล็ตตามที่กล่าวมานี้คงทำให้ผู้อ่านเชื่อว่า แอฟริกันไวโอเล็ตสามารถเติบโตได้ดีในเมืองไทยซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากถิ่นกำเนิด คือ ตันกันยิกาเท่าใดนัก และไม่จำเป็นต้องปลูกในห้องปรับอากาศตามที่บางคนเข้าใจ

เครื่องปลูก

ในธรรมชาติ แอฟริกันไวโอเล็ตขึ้นอยู่บนอินทรียวัตถุหยาบ ๆ ที่สะสมอยู่บนพื้นผิวป่าทึบและในซอกหิน ดังนั้น การที่จะปลูกแอฟริกันไวโอเล็ตด้วยดินเปล่าๆ หรือดินผสมทรายจึงไม่ถูกต้องนัก

รากของแอฟริกันไวโอเล็ตต้องการอากาศ การมีช่องว่างระหว่างอนุภาคของอินทรียวัตถุในเครื่องปลูกเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้นแอฟริกันไวโอเล็ตจะโทรมเร็ว ถ้าเครื่องปลูกแน่นหรือเมื่อเครื่องปลูกมีนํ้าขังนอกจากนั้นรากของแอฟริกันไวโอเล็ตไม่ทนทานต่อเกลือของแร่ธาตุต่าง ๆ ที่สะสมอยูในเครื่องปลูกและในนํ้าที่ใช้รด มีผู้แนะนำให้ใช้น้ำฝนที่สะอาดรดเพื่อให้ต้นเติบโตดีที่สุด

อินทรียวัตถุที่ใช้ผสมเป็นเครื่องปลูกได้ ได้แก่ ใบไม้ที่ผุดีแล้ว ขุยมะพร้าว ทราย ถ่านหักๆ เปลือกถั่วที่ผุดีแล้ว ถ่านแกลบเก่าๆ ผู้ปลูกควรเลือกสิ่งที่หาง่ายและสะดวกสัก 2-3 ชนิดมาผสมกัน เช่น ใบไม้ผุ ขุยมะพร้าว และทรายอย่างละเท่าๆ กัน หรือดินร่วน ใบไม้ผุกับทราย อย่างละเท่าๆ กันหรือขุยมะพร้าว ทราย เปลือกถั่วป่นอย่างละเท่าๆ กัน จะใส่ดินในเครื่องปลูกด้วยก็ได้ ควรใส่แต่น้อย มิฉะนั้นจะทำให้เครื่องปลูกแน่น

กระถาง

ที่นิยมใช้มีสองชนิดคือ กระถางดินและกระถางพลาสติก กระถางดินเหนียวมีการถ่ายเทอากาศดี แลกเปลี่ยนความชื้นได้ดี แต่มีน้ำหนักมาก ปลูกได้ไม่นานนักมีตะไคร่จับที่ผิวนอกของกระถาง ทำให้ดูไม่สวย ส่วนกระถางพลาสติก มีนํ้าหนักเบาและไม่มีตะไคร่จับ แต่ถ้าใช้เครื่องปลูกที่ค่อนข้างแน่น จะระบายน้ำยากและไม่ถ่ายเทอากาศด้วย เมื่อปี 2532 น.ส.ชนิกา ศรีสวัสดิ์ ได้ทดลองหาเครื่องปลูกที่เหมาะสมสำหรับปลูกแอฟิรีกันไวโอเล็ตในกระถางพลาสติก พบว่าการใช้ขุยมะพร้าวกับทรายอย่างละเท่า ๆ กันแล้วให้ปุ๋ยออสโมโคททำให้ได้จำนวนดอกมากและได้ดอกเร็วด้วย จะสังเกตได้ว่าเครื่องปลูกที่ใช้กับกระถางพลาสติกต้องโปร่งมาก

การให้นํ้า

รากของแอฟริกันไวโอเล็ตบอบบางเป็นฝอยและจะได้รับอันตรายถ้าขาดความชื้น เครื่องปลูกจึงต้องชื้นอยู่โดยตลอดด้วยการให้นํ้าทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง นํ้าที่ให้ควรเป็นน้ำสะอาดและไม่เย็นจัด ถ้าใช้นํ้าเย็นจัดรดใบจะด่างเป็นจุดสีขาว วิธีให้น้ำสามารถให้ได้ 3 วิธีคือ แบบให้นํ้าจากด้านบน แบบให้นํ้าซึมขึ้นทางก้นกระถาง และการให้นํ้าแบบหยด

การให้นํ้าจากด้านบน ใช้สายยางหรือบัวรดนํ้า ให้น้ำที่โคนต้น ไม่ควรรดจนโชกโดยเฉพาะตรงกลางกอเพราะจะทำให้เน่าง่าย

การให้นํ้าจากด้านล่าง ทำได้โดยเอากระถางแอฟริกันไวโอเล็ตวางในอ่างตื้นๆ ที่ใส่นํ้าไว้รอให้นาซึมขึ้นมาถึงผิวหน้าของเครื่องปลูกจึงยกกระถางขึ้นจากนํ้า ผู้ปลูกบางคนใช้จานรองกระถางและให้น้ำมากจนน้ำขังในจานรอง น้ำจะแทนที่อากาศในเครื่องปลูกทำให้รากไม่เจริญและตายไป การให้นํ้าวิธีนี้ ทำให้น้ำไม่ค้างในทรงพุ่มหลีกเลี่ยงการเน่า แต่น้ำจะพาเกลือในเครื่องปลูกขึ้นมาสะสมที่ขอบและผิวหน้าของเครื่องปลูกซึ่งเป็นอันตรายเพราะแอฟริกันไวโอเล็ตมีต้นเป็นกอเตี้ยติดดิน วิธีการให้นํ้าที่ดีจึงควรให้ทั้งสองแบบสลับกัน และไม่ควรให้นํ้ามากเกินไปเพราะจะทำให้รากเน่าหรือต้นเน่ากลางกอ

สำหรับวิธีที่ 3 คือการให้นํ้าแบบหยดนั้นเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูง แต่มีประสิทธิภาพดี และประหยัดน้ำ ควรใช้เมื่อผลิตแอฟ่ริกันไวโอเล็ตเป็นจำนวนมากจะช่วยประหยัดแรงงานด้วย

ถ้าจะไม่อยู่บ้านหลายวัน ควรรดน้ำให้ชุ่ม วันรุ่งขึ้นคลุมด้วยถุงพลาสติกขนาดใหญ่แล้วมัดปากถุงไว้เพื่อเก็บความชื้น บางคนไม่กล้ารดนํ้าถูกใบ ทำให้ใบมีฝุนจับ ในธรรมชาตินั้นแอฟริกันไวโอเล็ต เคยได้รับฝนชะล้างใบให้สะอาด ผู้ปลูกก็ควรให้นํ้าแบบนั้นด้วยเป็นครั้งคราว แต่ถ้าใบเปียกแล้วระวังอย่าให้ได้รับแดดโดยตรง

ข้อควรระวังคือ ผู้ปลูกมักให้นํ้าบ่อยและมากเกินไป เนื่องจากทราบมาว่าควรรดนํ้าวันละ 1-2 ครั้ง แต่บางวันอากาศชื้นเครื่องปลูกไม่แห้งนัก ผู้ปลูกก็ยังรดน้ำให้อีกทำให้เครื่องปลูกแฉะเกินไป ขอให้สังเกตว่าถ้าผิวหน้าเครื่องปลูกชื้นอย่างทั่วถึง แสดงว่าเครื่องปลูกข้างล่างยังชื้นมาก ไม่จำเป็นต้องรดน้ำอีก ถ้าให้นํ้ามากเกินไปจะมีตะไคร่จับผิวหน้าเครื่องปลูกด้วย สำหรับผู้ปลูกมือใหม่ ก่อนจะรดน้ำลองเอามือแตะดินว่าชุ่มมากน้อยเพียงไรทุกกระถาง แล้วกะให้น้ำตามความชื้น ต้นไหนชื้นแล้วก็ให้แต่น้อยหรือไม่ให้เลย ถ้าหน้าดินเริ่มแห้งจึงรดน้ำใหม่ ต้นไหนแห้งมากก็ให้น้ำมาก ระวังอย่าให้นํ้าขังบนใบและกลางกอ ถ้าเห็นว่านํ้าขังให้เอียงกระถางให้น้ำไหลลง

การให้ปุ๋ย

เมื่อต้นยังเล็ก แอฟริกันไวโอเล็ตต้องการปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง ปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่เพิ่มเกลือในดินเช่น ปุ๋ยปลาใช้ได้ดีมาก มีผู้ใช้ปุ๋ยออสโมโคท สูตร 14-14-14 ในอัตรา 1.5 กรัม คลุกกับดินปลูก 1 กระถางก็ใช้ได้ดี หรือจะใช้ปุ๋ยเกล็ดของเชลล์พร้อมธาตุรองละลายน้ำรดให้อาทิตย์ละครั้งก็ได้

อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ

ในหนังสือการปลูกไม้ดอกของต่างประเทศ กล่าวถึงอุณหภูมิที่แอฟริกันไวโอเล็ตต้องการว่า อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 15-20 °ซ แต่ถ้าดูจากถิ่นกำเนิดจะเห็นว่าสภาพอุณหภูมิไม่ต่างจากเมืองไทย และแอฟริกันไวโอเล็ตที่มีจำหน่ายในเมืองไทยก็ได้รับการปลูกเลี้ยงในสภาพเมืองไทยนี้เอง แอฟริกันไว­โอเล็ตสามารถเติบโตได้ดีในบ้านเราด้วยโดยไม่ต้องเลี้ยงในห้องที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และถ้าอากาศเย็นเกินไปเช่นฤดูหนาวที่สถานีของโครงการหลวงอินทนนท์ (ความสูง 1,300 เมตรเหนือระดับนํ้าทะเล) แอฟริกันไวโอเล็ตจะพักตัว ต้นโทรมและเติบโตใหม่ในฤดูร้อนที่นั้นด้วยซ้ำ

อนึ่งถ้าอุณหภูมิสูงเกินไป ใบจะตก ก้านใบอ่อน พอย้ายไปหรือได้รับอุณหภูมิเย็นเหมาะสม ก้านใบจะแข็ง ใบตั้งไม่ปรกขอบกระถาง

นอกจากอุณหภูมิแล้วความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเป็นปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่ง ในถิ่นกำเนิด ของแอฟริกันไวโอเล็ตมีฝนตกบ่อยและเป็นป่าที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 70℅ สภาพที่เราปลูกแอฟริกันไวโอเล็ตจึงต้องมีความชื้นค่อนข้างสูง ถ้าความชื้นสัมพัทธ์มีเพียง 60℅ แอฟริกันไวโอเล็ตจะให้ดอกน้อยลง และถ้าต่ำกว่า 50℅ ขอบใบจะม้วนลงล่าง อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ จึงต้องเหมาะสมและมีการถ่ายเทอากาศดีด้วยเพื่อลดการเป็นโรคแต่ไม่ใช่มีลมโกรกแรงเกินไป

ถ้าที่ปลูกมีความชื้นต่ำอาจเพิ่มให้โดยวางกระถางปลูกบนกรวดเม็ดใหญ่ในกระบะ แล้วใส่นํ้าในกรวดให้น้ำระเหยขึ้นมา หรือฉีดพ่นบริเวณรอบต้นด้วยน้ำเป็นละอองฝอยละเอียด แต่อย่ามากเกินไป จนน้ำเกาะบนใบเป็นหยด

แสง

แอฟริกันไวโอเล็ตสามารถเติบโตได้ดีในที่มีแสงน้อย ถ้าได้รับแสงมากเกินไปใบจะเหลือง ต้นชะงักการเติบโต ต้นเป็นพุ่มแน่น ดอกมีสีซีดลง แต่ถ้ามีแสงน้อยเกินไปก้านใบจะยาวเก้งก้าง ใบชี้ตั้งขึ้นเพื่อพยายามหาแสง ใบมีสีเขียวเข้มและให้ดอกน้อย

ถ้ามีเครื่องวัดแสงแอพ่ริกันไวโอเล็ตต้องการแสงประมาณ 1,000-1,100 ฟุตเทียน(ประมาณ 500 ลักซ์) มีคำแนะนำให้ลองใช้ฝ่ามือวางเหนือต้น 4 นิ้ว ถ้าเกิดเงาบางๆ แสดงว่ามีแสงพอ ถ้าไม่มีเงาเลยแสดงว่าแสงน้อยเกินไป วิธีที่ดีที่สุดคือดูจากใบ ถ้าใบยาวเก้งก้าง สีเขียวเข้มและให้ดอกห่างๆ แสดงว่าแสงน้อยเกินไปหรือถ้าปลูกแล้วใบไม่เหลือง และให้ดอกดีก็แสดงว่าแสงตรงที่ปลูกนั้นใช้ได้ โดยเฉพาะแดดอ่อน ๆ ตอนเช้าเหมาะสำหรับแอฟริกันไวโอเล็ตมาก

ถ้าวางกระถางแอพ่ริกันไวโอเล็ตไว้ริมหน้าต่าง ทรงพุ่มจะเอนเข้าหาแสงทำให้เสียทรงต้น ให้หมุนกระถางแต่ละด้านเข้าหาแสงบ้างเพื่อรักษาสมดุลของพุ่ม

ถ้าต้องการให้แสงเพิ่ม ให้ใช้หลอดไฟนีออน (fluorescent tube) ซึ่งให้แสงสีขาวและเย็น ขนาด 40 วัตต์วางเหนือต้น 8-12 นิ้ว ไม่ควรใช้หลอดไฟชนิดมีไส้(incandescent) เพราะจะให้แสงที่ร้อนเกินไป เปิดไฟให้วันละ 12-16 ชั่วโมง แอฟริกันไวโอเล็ตพวกที่มีใบสีเขียวเข้มและดอกซ้อนต้องการแสงมากกว่าพวกดอกชั้นเดียวสีขาวและสีชมพู

โปรดอย่าลืมว่าถ้ามีฝุ่นจับที่ใบของแอฟริกันไวโอเล็ตจะตัดแสงที่ใบพืชควรได้รับ จึงควรล้างใบบ้างเป็นครั้งคราว

การขยายพันธุ์

แอฟริกันไวโอเล็ตขยายพันธุ์ด้วยการปักชำใบ และการเพาะเมล็ด

การปักชำใบ เลือกใบที่อยู่กลางๆ กอ อย่าเลือกใบที่อยู่รอบนอกของต้น เพราะเป็นใบแก่ซึ่งจะออกรากช้า ถ้าเป็นใบอ่อนเกินไปก็จะให้ต้นผอม อ่อนแอ เมื่อเลือกใบได้แล้วตัดใบติดโคนก้านใบ มาด้วยอย่างน้อย 1 นิ้ว นำไปชำในเครื่องปลูกหรือชำในนํ้าก็ได้

ถ้าชำในเครื่องปลูกรดนํ้าให้เครื่องปลูกชื้นมาก ๆ แล้วชำก้านใบไปลึกสัก 2 นิ้ว ชำให้ก้านใบเอียงประมาณ 45 ° รักษาเครื่องปลูกให้ชื้นเสมอโดยใช้ถุงพลาสติกคลุมกระถางหรือกระบะ แล้วมัดปากถุงหรือใช้ไม้คํ้าให้เป็นโครง 4 ด้านแล้วพับปากถุงสอดไว้ใต้กระบะ ใน 3 เดือนต่อมาจะได้ต้นเล็กๆ เกิดขึ้นตรงระดับดิน เมื่อใบของต้นใหม่มีขนาด 1/4 – 1/2 นิ้ว ก็นำออกมาปลูกได้ ต้นใหม่นี้จะให้ดอกใน 4-5 เดือน

แอฟริกันไวโอเล็ตสามารถเกิดต้นใหม่ได้ในนํ้า ถ้าจะชำในนํ้าควรใช้น้ำสะอาดหรือนํ้าฝนใสในขวดเล็ก ๆ ปิดปากขวดด้วยกระดาษฟอยล์หรือกระดาษไขแล้วรัดรอบปากขวดไว้ เจาะรูบนกระดาษฟอยล์แล้วจุ่มก้านใบลงไปกะให้ก้านจมในนํ้าอย่างน้อย 1 นิ้ว จะชำหลายๆ ใบในขวดเดียวกันก็ได้ รักษาระดับน้ำให้คงที่ให้โคนก้านใบจมอยู่ในนํ้าเสมอ วางไว้ในห้องที่มีแสงสว่าง ในสองเดือนต่อมาจะเกิดรากของต้นใหม่แล้วจึงเกิดต้นใหมในเดือนที่สาม ถัามีรากยาวประมาณ 1/4 – 1/2 นิ้ว เอาขึ้นจากน้ำมาชำในเครื่องปลูกจะได้ต้นใหม่เร็วกว่าชำอยู่ในนํ้าโดยตลอด

การชำใบในเครื่องปลูกออกรากช้าแต่ไม่กระเทือนเวลาย้ายปลูกและได้ระบบรากดีกว่า ส่วนการชำในน้ำนั้นมีข้อได้เปรียบในเรื่องได้รับความชื้นเต็มที่ ใบไม่เหี่ยวและออกรากได้เร็วกว่า

บางครั้งเมื่อได้ต้นใหม่แล้ว ตัดโคนก้านอีกครั้งยังเอาไปชำได้ต้นใหม่อีกถ้าใบยังสดอยู่

การเพาะเมล็ด

ถ้าต้องการเก็บเมล็ดเอง ให้ผสมพันธุ์แอฟริกันไวโอเล็ตโดยสังเกตว่าเมื่อกลีบดอกร่วง เกสรตัวผู้จะแก่ และเมื่อเกสรตัวเมียมีเมือกเหนียวๆ ให้ใช้เข็มเขี่ยเปิดอับเกสร แล้วแตะเกสรตัวผู้ลงบนเกสรตัวเมีย ใน 7 วันต่อมาต้นจะติดฝัก กว่าฝักจะแก่ให้นำเมล็ดมาเพาะได้ใช้เวลาตั้งแต่ 5-9 เดือน ฝักมีลักษณะยาวเรียว เมื่อเห็นก้านของฝักเป็นสีนํ้าตาลและเริ่มบิดแสดงว่าเมล็ดแก่แล้ว เด็ดฝักมาวางในจานตื้น ๆ ให้เมล็ดแห้งประมาณ 1 อาทิตย์ เมล็ดจะกระจายออกจากฝัก

นำเมล็ดมาหว่านในเครื่องปลูกชื้นๆ หรือเพาะในกล่องพลาสติกสีเหลี่ยมเล็กๆ และตื้น เมล็ดงอกใน 2 อาทิตย์และโตพอสำหรับย้ายปลูกได้ใน 2 เดือน และจะให้ดอกชุดแรกใน 6-9 เดือน หลังจากย้ายปลูก

ปัญหาที่พบ

แมลง

ที่สำคัญที่สุดคือไรแดงที่ชื่อ Cyclamen mite ดูดนํ้าเลี้ยงจากใบทำให้ใบบิดเบี้ยว ใบผิดรูป ต่อมาจะหยุดให้ดอก

เพลี้ยไฟ ดูดนํ้าเลี้ยงจากดอก ทำให้เกิดทางสีขาวบนดอกโดยเฉพาะดอกสีเข้ม นอกจากนั้น จะช่วยผสมเกสรทำให้ดอกร่วงเร็ว

เพลี้ยอ่อน ดูดนํ้าเลี้ยงจากดอกและใบ

เพลี้ยแป้ง ดูดนํ้าเลี้ยงจากบริเวณโคนใบและด้านล่างใบ

โรค

โรคราสีเทา ทำให้ดอกนิ่มลงและกลายเป็นสีนํ้าตาล

โรคไวรัส ทำให้ใบเกิดอาการด่าง และบิดเบี้ยว

อาการผิดปกติอื่นๆ

ขอบใบมีสีซีด ดอกร่วง ก้านใบเน่า เกิดจากการมีเกลือสะสมในเครื่องปลูกมากเกินไป

การประกวดและการตัดสิน

แอฟริกันไวโอเล็ตที่ส่งเข้าประกวดควรปลูกอยู่ในกระถางที่สะอาด ใบสะอาดไม่มีฝุ่นจับและแข็งแรงไม่มีแมลงหรือโรครบกวน กลุ่มดอกสดสะอาดไม่มีดอกโรยปนอยู่

African Violet Society of America มีหลักการตัดสินแอฟริกันไวโอเล็ต ดังนี้

การจัดเรียงของใบและ symmetry. ของต้น    30 คะแนน

ความพรูของดอก                                       25 คะแนน

การเลี้ยงดู                                                 20 คะแนน

ขนาดและรูปทรงของดอก                            15 คะแนน

สี                                                              10 คะแนน

รวม                                                 100 คะแนน