แอสเตอร์:ไม้ดอกยอดนิยมปลูกได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

แอสเตอร์จัดเป็นไม้ดอกที่มีลักษณะคล้ายดอกเบญจมาศมาก เพียงแต่มีขนาดดอกเล็กกว่า แอสเตอร์มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น สำหรับบ้านเรามีชื่อเรียกดอกแอสเตอร์หลายชื่อ เช่น ดอกบานไม่รู้โรยฝรั่ง ดอกกระดาษ ดอกบานไม่ร่วงพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกมี 2 พันธุ์ ได้แก่

1.  พันธุ์พาวเดอร์พัฟท์ มีทรงพุ่มค่อนข้างเตี้ยคือสูงประมาณ 2 ฟุต ดอกโตขนาด 3-3.5 นิ้ว กลีบดอกสั้นบิดเล็กน้อย กลีบซ้อนกันแน่น พันธุ์นี้นิยมปลูกเพื่อตัดดอกหรือถอนทั้งต้น ปลูกได้ดีที่สุดในช่วงฤดูหนาว

2.  พันธุ์สีแดงไส้เหลือง ทรงพุ่มเตี้ยสูงประมาณ 2 ฟุต ดอกขนาดเล็กกว่าพาวเดอร์พัฟท์คือมีขนาด 1-1.5 นิ้ว กลีบดอกชั้นนอกมีสีแดงกลีบดอกชั้นในตรงกลางมีสีเหลือง ปลูกได้ตลอดปี นิยมปลูกเพื่อถอนต้นจำหน่าย ซึ่งใช้เวลาเพียง 3 เดือน

การขยายพันธุ์

แอสเตอร์นิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งสามารถเพาะได้โดยตรงในแปลงปลูกหรือจะเพาะในกระบะก่อนจึงย้ายต้นกล้าลงไปปลูกก็ได้ หากต้องการให้เมล็ดงอกเร็วขึ้นให้นำไปแช่น้ำอุ่นก่อนเพาะสัก 2-3 ชั่วโมง หรือจะนำเมล็ดไปแช่ในน้ำสกัดชีวภาพก่อนนำไปปลูกก็ได้ วิธีหลังนี้นอกจากจะทำให้เมล็ดงอกเร็วแล้วยังช่วยให้ต้นกล้ามีความแข็งแรงขึ้นด้วย

วิธีการเพาะเมล็ด

การเพาะเมล็ดในกระบะ ให้ใช้ขุยมะพร้าว ทราย ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยคอก อย่างละ 1 ส่วน หากเพาะในแปลงให้ปรับปรุงดินให้ร่วนซุยและค่อนข้างละเอียด เกลี่ยผิวดินให้สม่ำเสมอที่สุด

การเพาะให้ทำร่องขวางกระบะหรือแปลงเพาะลึก 0.5 ซม. แต่ละร่องห่างกันประมาณ 1 นิ้ว ใช้คีมคีบเมล็ดวางในร่องทีละเม็ด ระยะห่างพอควร กลบด้วยวัสดุเพาะหรือดินละเอียดบาง ๆ ใช้บัวรดน้ำที่ฝอยที่สุดจนชุ่ม คลุมกระบะหรือแปลงเพาะด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เพื่อช่วยรักษาความชื้น รดน้ำเช้า-เย็น ลงบนกระดาษ เมล็ดจะงอกภายใน 3-5 วัน เมื่อต้นกล้าสูงประมาณ 5-6 นิ้ว จึงย้ายกล้าไปปลูก ซึ่งควรปลูกในตอนเย็น และทำร่มเงาบังต้นกล้าจนกว่าต้นจะตั้งตัวได้

การเตรียมดินและแปลงปลูก

ก่อนปลูกควรมีการเตรียมดินหรือปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ มีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโต โดยขุดดินให้ลึกประมาณ 1 ฟุต แล้วตากดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ย่อยดินให้ละเอียดใส่อินทรีย์วัตถุที่สลายตัวแล้วอย่างเช่น เศษฟาง เปลือกถั่วลิสง ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยพืชสด เพื่อให้ดินมีความร่วนซุย สามารถเก็บความชื้นและมีการระบายน้ำดี ปรับค่า pH ของดินให้อยู่ระหว่าง 6.5-7

แปลงที่ใช้ปลูกแอสเตอร์อาจใช้วิธียกร่องแบบภาคกลาง หรือยกร่องเตี้ย ๆแล้วทำขอบแปลงให้สูงกว่าระดับแปลงเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลออกจากแปลงเวลารดน้ำ ก่อนปลูกควรรดน้ำดินให้ชุ่มทิ้งไว้ 1 วันก่อนปลูก ระยะปลูกระหว่างต้นและแถวประมาณ 25×25 ซม. หลังจากกลบดินเรียบร้อยแล้วควรคลุมแปลงปลูกและรดน้ำให้ชุ่มการคลุมแปลงจะช่วยรักษาความชื้นรักษาอุณหภูมิและช่วยป้องกันวัชพืช วัสดุที่ใช้คลุมแปลง เช่น ฟางข้าว เศษหญ้าแห้ง เปลือกถั่ว หรือวัสดุอื่นที่มี และในช่วงแรกของการนำต้นกล้าไปปลูกควรมีการพลางแสงให้ต้นกล้าด้วย

การให้น้ำ

หลังจากย้ายปลูกแล้วควรรดน้ำใช้ดินชุ่มมากพอที่จะซึมลงสู่ราก เพียงวันละครั้งในช่วงเช้า ซึ่งจะทำให้ต้นแอสเตอร์นำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าในช่วงเย็น นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคเชื้อราที่เกิดจากความชื้นได้อีกด้วย เมื่อแอสเตอร์เริ่มให้ดอกควรรดน้ำเฉพาะส่วนโคนต้น ระวังอย่าให้โดนดอกเพราะจะทำให้เกิดโรคได้ง่าย

การให้ปุ๋ย

ในระยะแรกของการปลูกแอสเตอร์ควรใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของลำต้น กิ่ง และใบ ในระยะนี้หากแอสเตอร์ขาดไนโตรเจนจะโตช้า ใบมีสีเหลือง กิ่งก้านยาว เล็ก และอ่อนแอ โดยให้ใส่ปุ๋ยครั้งแรกหลังย้ายปลูก 1 เดือน เมื่อแอสเตอร์เริ่มแทงช่อดอกควรให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงเพื่อเร่งดอก หลังใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรรดน้ำตามทันที หรือฉีดพ่นด้วยน้ำหวานหมักจากผลไม้ใช้ฉีดพ่นแบบฮอร์โมนพืชให้ผลในการบำรุงดีมาก โดยเฉพาะในช่วงที่พืชกำลังออกดอก แต่เมื่อดอกบานควรงดให้ปุ๋ย หากจำเป็นควรให้บริเวณโคนต้นระวังอย่าให้ถูกดอกเพราะจะทำให้สีดอกซีด ก้านดอกไม่แข็งแรง และบานไม่ทน

การเด็ดยอด

หากพบว่าต้นแอสเตอร์สูงชะลูดเกินไป ให้เด็ดยอดออกเสียบ้างเพื่อให้ต้นแตกกิ่งข้างเพิ่มขึ้นเป็นผลให้ได้จำนวนดอกเพิ่มตามมา ดอกที่ได้จะมีคุณภาพและบานพร้อม ๆ กัน การเด็ดยอดมักทำทันทีที่ต้นแม่ตั้งตัวได้ดีแล้ว วิธีการเด็ดยอดที่นิยมที่สุดคือเด็ดเอาส่วนยอดออกประมาณ 0.5-1 นิ้ว วิธีนี้จะทำให้ตาข้างแตกได้เร็วกว่าวิธีอื่น แต่การพิจารณาวาจะให้มีกิ่งดอกมากน้อยเพียงใด ควรคำนึงถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นแม่เป็นสำคัญ เพราะหากมีจำนวนกิ่งมากเกินไปดอกที่ได้อาจไม่มีคุณภาพในภายหลัง

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวแอสเตอร์ไปจำหน่ายเป็นไม้ตัดดอก นิยมใช้วิธีถอนทั้งต้นโดยไม่มีการตัดรากทิ้ง เวลาที่เหมาะสมที่สุดคือในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็น เมื่อนำไปใช้ประโยชน์รากจะทำหน้าที่ดูดน้ำไปหล่อเลี้ยงลำต้นและดอก ทำให้ดอกบานทนกว่า ตัดเฉพาะกิ่งดอกไปใช้ สำหรับต้นแอสเตอร์ที่พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว ให้สังเกตจากต้นที่มีดอกของส่วนยอดบานเต็มที่ แต่ดอกที่เกิดจากกิ่งแขนงยังตูมอยู่เล็กน้อย หลังจากถอนต้นแล้วให้นำรากไปล้างน้ำ เด็ดใบบริเวณโคนต้นออก 5-6 ใบมัดเป็นกำ ๆ ละ 2-3 ต้น แล้วห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ก่อนนำไปส่งตลาดต่อไป

โรค-แมลงและการป้องกันกำจัด

โรคของแอสเตอร์ที่สำคัญและพบมากได้แก่ โรคเหี่ยว โรครากปม โรครากเน่าโคนเน่า โรคราสนิม

1.  โรคเหี่ยว เกิดจากเชื้อราที่อาศัยอยู่ในดินหรือติดมากับเมล็ดพันธุ์ เป็นโรคที่พบมากและร้ายแรงที่สุด อาการของโรคหากเกิดในระยะที่เป็นต้นกล้า จะทำให้ต้นกล้าเหี่ยวเฉาและตายทั้งต้นในเวลาอันรวดเร็ว แต่หากเกิดเมื่อต้นเจริญเติบโตแล้ว จะแสดงอาการใบล่างมีสีเหลืองและเหี่ยว จากนั้นจะค่อย ๆลุกลามไปจนเหี่ยวทั้งต้นและตายในที่สุด

 

การป้องกัน สำหรับต้นที่เป็นโรคให้ถอนและขุดดินในหลุมไปเผา จากนั้นใช้ปูนขาวผสมน้ำราดลงไปในดินอีกครั้ง เมื่อพบว่าเกิดการระบาดของโรคนี้ขึ้นให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น โดยมีการปรับปรุงดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยคอก

2.  โรครากปม เกิดจากไส้เดือนฝอยในดิน อาการของโรคจะพบใบด่างเหลืองคล้ายอาการขาดธาตุอาหาร ต้นที่เป็นโรคจะแคระแกรนไม่ค่อยเจริญเติบโตแต่ไม่ถึงกับตาย ในวันที่อากาศร้อนมักมีอาการเหี่ยวเฉาเล็กน้อย  เมื่อถอนต้นจะพบรากปมเล็ก ๆ ทั่วไป

การป้องกัน อาจใช้วิธีปลูกดาวเรืองไว้รอบ ๆ แปลงหรือสลับแปลงปลูก เพราะรากของดาวเรืองจะมีสารที่ช่วยลดปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้ หรือใช้วิธีเพิ่มอินทรีย์วัตถุ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยชีวภาพที่จะเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยทำลายไส้เดือนฝอยตามธรรมชาติ หรือควรปลูกพืชอื่นสลับเพื่อตัดวงจร

3.  โรครากเน่าโคนเน่า เกิดจากเชื้อราที่อยู่ในดิน โดยเฉพาะดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี อาการของโรคที่พบคือ ใบจะเหลือง เหี่ยวโดยเฉพาะช่วงเวลาอากาศร้อน หากเป็นมากจะเหี่ยวแห้งทั้งต้น เมื่อขุดต้นขึ้นดูจะเป็นเส้นใย ราสีขาวที่โคนต้นและรากเน่าเปื่อย

การป้องกัน เมื่อพบว่าเกิดการระบาดของโรคนี้ขึ้นให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น โดยมีการปรับปรุงดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยคอก สำหรับต้นที่เป็นโรคให้ถอนและขุดดินในหลุมไปเผา จากนั้นใช้ปูนขาวผสมน้ำราดลงไปในดินอีกครั้ง

4.  โรคราสนิม เกิดจากเชื้อราร่ะบาดในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีน้ำค้างมาก อาการของโรคจะมีจุดสีส้มบริเวณท้องใบ เมื่อเคาะดูจะมีสปอร์ของเชื้อราคล้ายผงสนิมเหล็กหลุดออกมา ใบแห้ง และหลุดร่วงไปในที่สุด ต้นไม่ค่อยเจริญเติบโต

การป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในฤดูฝน หรือควรใช้ผ้าพลาสติกคลุมโรงเรือนที่ปลูก และทำลายต้นที่เป็นโรคโดยการนำไปเผา หากพบว่าเกิดการระบาดของโรคนี้ขึ้นให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นโดยมีการปรับปรุงดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยคอก

แมลงศัตรูแอสเตอร์ แมลงศัตรูแอสเตอร์ที่สำคัญ คือ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนเจาะดอก และไรแดง

การป้องกันกำจัด วิธีที่ดีที่สุดคือ ดูแลรักษาต้นแอสเตอร์ให้เจริญเติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง หมั่นกำจัดวัชพืชทำความสะอาดต้น บำรุงปุ๋ย กำจัดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลาย หรือฉีดพ่นน้ำหมักสะเดาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม ข่า ฟ้าทะลายโจร พริกขี้หนู หรือน้ำหมักชีวภาพเพื่อขับไล่แมลงศัตรูพืชทุก ๆสัปดาห์ ก่อนที่จะมีโรคแมลงรบกวนโดยควรทำในช่วงเช้าหรือหลังฝนตกหนัก และควรมีการปลูกพืชหมุนเวียนบำรุงดินชนิดอื่น เพื่อตัดวงจรของโรคแมลง และให้มีการใช้ประโยชน์จากดินอย่างเต็มที่ เพราะพืชแต่ละชนิดมีรากลึกและต้องการธาตุอาหารแตกต่างกัน