โกงกางใบเล็ก


ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhizophora apiculata Blume
ชื่อวงศ์ RHIZOPHORACEAE
ชื่ออื่น โกงกาง (ระนอง), โกงกางใบเล็ก (ภาคกลาง), พังกาทราย (กระบี่), พังกาใบเล็ก (พังงา)
ลักษณะทั่วไป ไม้ขนาดกลางถึงใหญ่สูง 20-40 ม. เปลือกสีเทาดำ ผิวเปลือกเรียบแตกเป็นร่องเล็กตามยาวของลำต้นเด่นชัดกว่าร่องตามขวาง เรือนยอดแคบรูปปิรามิด รอบๆ บริเวณโคนต้นมีรากคํ้าจุนทำหน้าที่ พยุงลำต้น และมักมีรากอากาศ ซึ่งเกิดจากกิ่งตอนบนเป็นจำนวนมาก


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับทิศทางกัน แผ่นใบรูปรี หรือรูปขอบขนาน แกมรี ใบกว้าง 4-8 ซม. ยาว 7-18 ซม.โคนใบสอบเข้าหากันคล้ายรูปลิ่ม ปลายใบแหลมมีติ่งแหลมอ่อน เส้นกลางใบด้านท้องใบสีแดงเรื่อๆ ก้านใบอ่อนสีแดง ยาว 1.5-3.5 ซม.หูใบที่ปลายยอดสีชมพูถึงสีแดง ยาว
4-8ซม.ใบเกลี้ยงผิวใบด้านล่างสีเขียวอมดำมีจุดสีดำเล็กๆ กระจายอยู่เต็มท้องใบ


ดอก ช่อดอกที่ง่ามใบ ช่อหนึ่งๆ มี 2 ดอก ก้านช่อดอกใหญ่ ยาว 0.6-2 ซม. ไม่มีก้านดอกย่อย กลีบเลี้ยงรูปไข่สีเขียวอมเหลือง 4 กลีบ เว้าเข้าด้านใน ปลายแหลมกว้าง 0.6-0.8 ซม. ยาว 0.8-1.5 ซม. กลีบดอก 4 กลีบร่วงง่ายรูปใบหอก ออกดอกเดือน ก.ย.-ม.ค.
ผล รูปผลแพร์กลับ ผิวหยาบ ยาว 2-3 ซม. สีน้ำตาลเข้ม จะงอก ตั้งแต่ผลยังติดอยู่บนต้นลำต้นใต้ใบเลี้ยงเรียกว่า“ฝัก”มีผิวเรียบสีเขียว กว้าง 1-1.2 ซม. ยาว 20-40 ซม. เมื่อฝักแก่ส่วนของใบแรกที่ยื่นออกมา ยาว 1-2 ซม. ที่อยู่ระหว่างผล และฝักแก่สีน้ำตาลแดงหลุดหล่นได้เอง ฝักแก่เดือน เม.ย.-ธ.ค.
นิเวศวิทยา พบตามป่าชายเลนตามฝั่งทะเลทั่วไป เป็นกลุ่มเดียวล้วนๆ ในบริเวณที่มีดินเลนอ่อนค่อนข้างลึกและมีนํ้าทะเลท่วมถึงตลอดเวลา
การใช้ประโยชน์  ต้นใช้ทำเสาและหลักในที่น้ำทะเลขึ้นถึงมีความทนทาน ใช้ทำกลอนหลังคาจาก รอด ตง อกไก่ของบ้านตามชายทะเล ใช้ทำถ่าน เปลือกให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมผ้า แห อวน หนัง
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร น้ำจากเปลือกใช้ชะล้างแผลห้ามเลือด กินแก้ท้องร่วง แก้บิด
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย