โกงกางใบใหญ่

(Red Mangrove)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhizophora mucronata Poir.
ชื่อวงศ์ RHIZOPHORACEAE
ชื่ออื่น กงกอน (เพชรบุรี, ชุมพร), โกงกางนอก กงกางนอก
(เพชรบุรี), กงเกง (นครปฐม), กางเกง พังกา พังกาใบใหญ่ (ภาคใต้). โกงกางใบใหญ่ (ภาคใต้). ลาน (กระบี่)
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 30-40 ม. มีรากเสริมออกมา เหนือโคนต้น 2-7 ม.รากแตกจากโคนต้นและค่อยๆ โค้งจรดดินไม่หัก เป็นมุมดังเช่นรากคํ้ายันของโกงกางใบเล็ก ทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำแคบๆ เปลือกต้นหยาบสีเทาคล้ำจนถึงดำแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาวและตามขวางทั่วไป


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบคู่ล่างจะหลุดร่วงไปเหลือกลุ่มใบที่ปลายกิ่ง รูปรีถึงรีกว้าง กว้าง 5-13 ซม. ยาว 8-24 ซม. แผ่นใบหนา มีจุดเล็กๆ สีดำกระจัดกระจายทั่วไปทางด้านล่าง ก้านใบยาว 2.5-6 ซม. สีเขียว หูใบแคบ ปลายแหลมยาว ประกบกันเป็นคู่ระหว่างคู่ใบเห็นได้ชัดที่ปลายกิ่ง ยาว 5-9 ซม. สีเขียวหรือชมพูเรื่อๆ ร่วงง่าย
ดอก สีขาวหรือเหลืองอ่อน ช่อดอกออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอก ยาว 3-7 ซม. แตกแขนงสั้นๆ มีดอกย่อย 2-12 ดอก ก้านดอกยาว 0.4-1 ซม. ดอกตูมรูปไข่ มีใบประดับรองรับที่ฐานดอกโคนใบประดับติดกัน ปลายแยกเป็น 2 แฉก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง 0.5-0.8 ซม. ยาว 1.2-1.5 ซม. ต่อมาปลายกลีบจะโค้งลงเกือบแนบ ก้านดอก กลีบดอก 4 กลีบ ร่วงง่าย รูปใบหอกยาว 0.6-1 ซม. ขอบกลีบ มีขนหนาแน่น


ผล คล้ายรูปไข่ปลายคอด กว้าง 2-3.5 ซม. ยาว 3-8 ซม. สีน้ำตาลอมเขียว ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปทรงกระบอก หรือ “ฝัก” เรียว ค่อนข้างตรง ยาว 30-65 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4-1.9 ซม. ปลายเรียวแหลมยาว ผิวเป็นมัน สีเขียว มีตุ่มขรุขระทั่ว
นิเวศวิทยา พบตามป่าชายเลนตามฝั่งทะเลทั่วไป ขึ้นเป็นกลุ่ม เดียวล้วนๆ ในที่มีดินเลนอ่อนและลึก บริเวณฝั่งแม่นํ้าหรือคลองด้านนอก ที่ติดกับทะเลที่มีตะกอนของสารอินทรีย์สะสมมาก
การใช้ประโยชน์ ต้นใช้ทำเสาและหลักในที่นํ้าทะเลขึ้นถึงมีความ ทนทานใช้ทำกลอน หลังคาจาก รอด ตง อกไก่ของบ้านตามชายทะเล ใช้ทำถ่าน เปลือกให้สีนํ้าตาล ใช้ย้อมผ้า แห อวน หนัง ฯลฯ
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร นํ้าจากเปลือกใช้ชะล้างแผล ห้ามเลือด กินแก้ท้องร่วง แก้อาการบิด
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย