การใช้ประโยชน์จากต้นโชน

(Forking Fern)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dicranopteris lineris (Burm.f.) Underw var. linearis
ชื่อวงศ์ GLEICHENIACEAE
ชื่ออื่น โชนใหญ่ กูดกิน กูดเกี๊ยะ (เชียงใหม่), โชน (ชุมพร), สือลัง (มลายู)
ลักษณะทั่วไป เฟิร์นดินขนาดใหญ่ ขึ้นตามพื้นดิน เหง้าอยู่ใต้ดิน ลึกยาวและเลื้อยไปได้ไกลมีขนละเอียดสีนํ้าตาลอ่อนปกคลุมส่วนที่อยู่ ใต้ดินสีน้ำตาลเกือบดำ ตอนบนสีฟางข้าวมีขนสีนํ้าตาลอ่อนปกคลุม


ใบ ใบแบบขนนกขนาดใหญ่ซ้อนกัน 3-4 ชั้น ปลายใบจะเจริญ ออกไปเรื่อยๆ เนื้อใบบางเกลี้ยง ใบย่อยคู่ล่างสุดใหญ่กว่าคู่อื่นๆ ขอบใบจักเว้าแฉกๆ แฉกอยู่ชิดกัน แฉกที่ปลายใบเล็กหรือเห็นไม่ชัด เส้นกลางใบด้านล่างมีขนตามช่อง กลุ่มอับสปอร์ยาวแคบมักอยู่ที่ปลายเส้นกลางใบใกล้ขอบใบและขอบใบจะม้วนลง
นิเวศวิทยา พบตามพื้นที่ชายเขา ได้รับแสงแดดเต็มวัน สามารถ เจริญเติบโตได้ในดินหลากหลายชนิด ที่ระบายนํ้าได้ดีความชื้นได้สูง มีอินทรีย์วัตถุมาก
การใช้ประโยชน์ ยอดอ่อน ดองหรือกินเป็นผัก ใบแก่ฟอกขาว และย้อมสีทำใบไม้แห้งประดับ
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ราก ต้มเป็นยาขับปัสสาวะ สงบประสาท และช่วยการหมุนเวียนของโลหิต เหง้า มีรสขมเป็นแป้ง ถ้ากินมากจะเป็นพิษสะสมต่อลำไส้ ต้มรวมกับหน่ออ่อน ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย