โป๊ยเซียน:แมลงศัตรูโป๊ยเซียน

เรื่อง:ไสว  บูรณพานิชพันธุ์

ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์

ม.เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50200

ปัจจุบันโป๊ยเซียนเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่กำลังได้รับความนิยมและปลูกเลี้ยงกันอย่างกว้างขวาง  ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากได้มีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ที่ให้ดอกขนาดใหญ่และมีสีสันสวยงาม  ตลอดจนใบและลำต้นที่สวยงามมากกว่าสายพันธุ์ที่เคยพบเห็นหรือเคยปลูกเลี้ยงมาก่อน  อีกทั้งเชื่อกันว่าโป๊ยเซียนเป็นไม้มงคลให้โชคลาภแก่ผู้ปลูกเลี้ยงด้วย  ในการปลูกเลี้ยงโป๊ยเซียนปัญหาที่พบเสมอ ๆ เช่นเดียวกับการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ก็คือ ปัญหาอันเนื่องมาจากการเข้าทำลายของแมลงศัตรู  ถึงแม้จะมีคำกล่าวให้ได้ยินบ่อยครั้งว่าโป๊ยเซียนเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงง่ายไม่ค่อยมีศัตรูรบกวน ซึ่งก็เป็นจริงในสมัยแรก ๆ ที่ยังปลูกเลี้ยงกันไม่มากนัก  แต่ในปัจจุบันผู้ปลูกเลี้ยงได้ทวีจำนวนมากขึ้นและผู้ผลิตเพื่อการค้ามีการขยายทั้งปริมาณและพื้นที่ปลูกเพื่อสนองความต้องการของตลาด  ในขณะเดียวกันปัญหาอันเนื่องมาจากแมลงศัตรูพืชที่เข้ามาทำความเสียหายให้กับโป๊ยเซียนที่ปลูกอยู่ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย  ทั้งนี้อาจเนื่องเพราะแมลงเหล่านี้มีอาหารกินอย่างอุดมสมบูรณ์และต่อเนื่องตลอดเวลา  อีกทั้งการปฏิบัติดูแลรักษาของผู้ปลูกเลี้ยงบางครั้งเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แมลงศัตรูโป๊ยเซียนขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณทำความเสียหายให้กับโป๊ยเซียนขึ้นมาได้

แมลงศัตรูโป๊ยเซียนเท่าที่ผู้เขียนได้พบเห็นมาตามแหล่งปลูกโป๊ยเซียนต่าง ๆ และเท่าที่ประสบด้วยตนเองขณะทำการปลูกเลี้ยงโป๊ยเซียนมาได้ประมาณ 2 ปี มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน และที่มีความสำคัญ มี 3 ชนิด คือ

เพลี้ยไฟ (Thrips)

ในปี พ.ศ.2537 ที่ผ่านมาโป๊ยเซียนที่ปลูกตามที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทยแสดงอาการใบและดอกลาย ผู้ปลูกเลี้ยงได้สันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นานา บางรายก็ว่าเป็นอาการที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อไวรัส บางรายก็ว่าเกิดจากไส้เดือนฝอย  ในส่วนของผู้เขียนเองก็ได้ปลูกเลี้ยงโป๊ยเซียนไว้จำนวนหนึ่ง เกือบทุกต้นก็ว่าได้ที่เกิดอาการใบและดอกลาย  กว่าจะพบว่าเกิดจากสาเหตุอะไรโป๊ยเซียนที่ปลูกไว้ก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมเต็มที การพบก็เป็นการบังเอิญโดยที่ตัดกิ่งโป๊ยเซียนที่แสดงอาการใบลายไปปักชำ แล้วใช้ขวดพลาสติกที่ใช้บรรจุน้ำอัดลมขนาด 2 ลิตร ตัดปากขวดออกแล้วครอบกิ่งชำนั้นไว้ 3-4 วัน ให้หลังสังเกตพบว่าใบของโป๊ยเซียนเหลืองและร่วงหล่นไป  จึงเปิดครอบพลาสติกออกได้พบเพลี้ยไฟจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่บนกิ่งชำนั้น เมื่อพบว่าสาเหตุคืออะไร  การแก้ไขปัญหาใบและดอกลายก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงพ่นสารกำจัดแมลง 1-2 ครั้ง ก็สามารถขจัดปัญหาเรื่องใบและดอกลายออกไปได้หมด

เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 1-1.2 มิลลิเมตร ตัวเมียวางไข่ไว้ในเนื้อเยื่อของใบอ่อน ตัวอ่อนมีรูปร่างเรียวยาว สีเหลืองอ่อน เพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเข้าทำลายโป๊ยเซียนโดยการใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อใบอ่อนและดอกอ่อนให้ช้ำก่อนแล้วจึงใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงเป็นอาหาร เมื่อใบและดอกอ่อนที่ถูกทำลายเจริญเติบโตมีขนาดเพิ่มขึ้น รอยแผลที่เกิดจากการดูดกินก็ขยายใหญ่ขึ้นด้วย เห็นเป็นรอยขีดเป็นทางสีน้ำตาล ลวดลายไม่แน่นอนบนใบและดอกที่ถูกทำลาย โป๊ยเซียนต้นที่ถูกทำลายอย่างรุนแรง จะชะงักการเจริญเติบโต และหากส่งเข้าประกวดก็จะสูยเสียความงามในส่วนของใบไป

เพลี้ยไฟโป๊ยเซียนพบได้ทุกแห่งที่มีการปลูกโป๊ยเซียน การแพร่ระบาดมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน  หากผู้ปลูกเลี้ยงพบลักษณะอาการใบและดอกลายให้ใช้สารกำจัดแมลงพ่นให้ทั่วโดยเฉพาะบริเวณยอด ใบอ่อนและดอกอ่อน สารกำจัดแมลงที่แนะนำให้เลือกใช้ได้แก่

1. เมทโธมิล (methomyl)

มีชื่อการค้าว่า แลนเนท (Lannate) มีลักษณะเป็นผง ความเข้มข้น 40℅ ใช้ในอัตรา 15-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรและที่อยู่ในรูปของของเหลว มีชื่อการค้าว่า แลนเนท แอล (Lannate L) มีความเข้มข้น 18℅ ใช้ในอัตรา 30-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

2. โมโนโครโตฟอส (monocrotophos)

มีชื่อทางการค้าว่า อโซดริน 60 (Azodrin 60℅ WSC) ใช้ในอัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

3.  คาร์โบซัลแฟน (carbosulfan)

มีชื่อการค้าว่า พอสซ์ (Posse 20℅ EC) ใช้ในอัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

หนอนคืบ (Semi-looper)

  • หนอนคืบกินใบโป๊ยเซียน  เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของโป๊ยเซียนอีกชนิดหนึ่ง มักพบเข้ากัดกินใบโป๊ยเซียนในช่วงฤดูฝน  หนอนคืบชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันดีของเกษตรกรผู้ปลูกละหุ่งในชื่อว่า หนอนคืบละหุ่ง (castor semi-looper – Achaea janata (Linnaeus)) เพราเป็นแมลงศัตรูตัวร้ายของละหุ่ง  ในโป๊ยเซียนความสำคัญก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  โดยที่แมลงชนิดนี้แพร่ขยายพันธุ์ได้เร็ว ตัวหนอนมีขนาดใหญ่ กินจุ สามารถกินใบอ่อนของโป๊ยเซียนให้หมดต้นและเคลื่อนย้ายไปกินต้นอื่นได้อีก และบางครั้งอาจกัดกินส่วนยอดด้วย ทำให้โป๊ยเซียนเติบโตได้ไม่สมบูรณ์

ตัวเต็มวัยของหนอนชนิดนี้เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง สีน้ำตาลอ่อนปนเทา ความกว้างเมื่อกางปีกออกวัดได้ 4-4.5 เซนติเมตร ตัวเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ในเวลากลางคืนตามใต้ใบอ่อนหรือกลีบดอก ตัวเมียตัวหนึ่ง ๆ สามารถวางไข่ได้ถึง 4-5 ร้อยฟอง หนอนขนาดเล็กมีสีน้ำตาล เมื่อโตขึ้นมีสีเข้มข้น ส่วนหัวมีสีดำ และข้างแก้มทั้งสองข้างมีสีขาว ลำตัวด้านข้างมีลายสีน้ำตาลพาดตามความยาวลำตัวและมีจุดสีดำข้างละ 10 จุด เวลาเคลื่อนที่ไปหนอนจะคืบส่วนหัวออกไปข้างหน้าก่อนแล้วยกลำตัวให้โค้งขึ้น ใช้ส่วนขาที่อยู่ท้ายสุดของลำตัวเกาะชิดกับส่วนหัวแล้วจึงคืบส่วนหัวออกไปใหม่ หนอนเมื่อโตเต็มที่มีขนาดยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร จากนั้นจึงลงมาเข้าดักแด้ตามพื้นดินและออกเป็นผีเสื้อต่อไป

หนอนคืบเมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ จะแทะเล็มส่วนของผิวใบหรือผิวดอกด้านล่างให้เป็นรอย และถ่ายมูลไปตกไว้ตามใบล่าง ๆ สังเกตได้ชัดเจน  ส่วนหนอนที่โตแล้วจะกัดกินใบให้แหว่งเว้าหรือเหลือแต่เพียงก้านใบ หากพบร่องรอยการทำลาย  ให้ตรวจหาหนอนซึ่งมักจะซ่อนตัวอยู่ตามใต้ใบหรือลำต้น เมื่อพบให้ใช้มือจับออกไปทำลายทิ้ง  หากพบหนอนในปริมาณมากหรือมีการระบาดรุนแรงเกินกำลังที่ใช้มือจับไปทำลาย  ให้ใช้สารกำจัดแมลงพ่นให้ทั่วต้น  สารกำจัดแมลงที่ใช้ได้ผลดีคือ

1.  คาร์บาริล (carbaryl) มีชื่อการค้าว่า เซฟวิน 85 (Sevin 85℅ WP) ใช้ในอัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

2.  เมทโธมิล (methomyl) มีชื่อการค้าว่า แลนเนท (Lannate) มีลักษณะเป็นผง ความเข้มข้น 40℅ ใช้ในอัตรา 15-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และที่อยู่ในรูปของของเหลวมีชื่อการค้าว่า แลนเนท แอล (Lannate L) มีความเข้มข้น 18℅ ใช้ในอัตรา 30-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

แมลงหวี่ขาว (Whitefly)

  • แมลงหวี่ขาวที่ลงทำลายโป๊ยเซียเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไปในอีกชื่อหนึ่งว่า แมลงหวี่ขาวยาสูบ (tobacco whitefly – Bemisia tabaci(Gennadius)) แมลงหวี่ขาวทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณด้านใต้ใบโป๊ยเซียน  ใบที่ถูกทำลายมาก ๆ จะมีขนาดเล็กและเหลืองร่วงก่อนกำหนด  นอกจากนี้แมลงหวี่ขาวยังขับถ่ายน้ำหวานออกมาตกลงมาบนใบที่อยู่ข้างล่างซึ่งน้ำหวานที่ถ่ายออกมานั้นเป็นอาหารอย่างดีของราดำ  ราดำจึงเจริญขึ้นปกคลุมใบ ทำให้ใบสกปรกและการสังเคราะห์แสงลดน้อยลง โป๊ยเซียนจึงเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร

แมลงหวี่ขาวเป็นแมลงปากดูขนาดเล็ก ปีกมีสีขาวซึ่งปกคลุมไปด้วยผงคล้ายแป้งสีขาว ขนาดเมื่อกางปีกออก มีความกว้างของปีก 1.5-2 มิลลิเมตร ตัวเมียวางไข่ด้านใต้ใบอ่อน ตัวอ่อนเมื่อฟักออกจากไข่จะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณที่วางไข่นั้น ตัวอ่อนมีลักษณะกลมรี แบนราบติดกับผิวใบ เมื่อโตเต็มที่จึงเข้าดักแด้และออกเป็นตัวเต็มวัยต่อไป

มักพบเห็นแมลงหวี่ขาวเข้าทำความเสียหายให้กับโป๊ยเซียนในช่วงที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้ง หากพบการระบาด สารกำจัดแมลงที่แนะนำให้ใช้ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟสามารถใช้ได้ผลดีกับแมลงหวี่ขาวเช่นกัน นอกจากนี้การกำจัดวัชพืชบางชนิดเช่น สาบเสือ หญ้าฟองสบู่ ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชอาหารของแมลงหวี่ขาวให้หมดไปจากบริเวณที่ปลูกโป๊ยเซียน ก็เป็นการช่วยลดปริมาณแมลงหวี่ขาวที่จะเคลื่อนย้ายมายังต้นโป๊ยเซียนที่ปลูกอยู่ด้วย

แมลงศัตรูโป๊ยเซียนชนิดอื่น ๆ ที่พบเข้าทำความเสียหายให้กับโป๊ยเซียนเป็นบางครั้งบางคราวในปริมาณไม่มากนัก เช่น แมลงหวี่ขาว (spiraling whitefly – Aleurodicus disperses (Russell)) เพลี้ยแป้ง (mealybug) เพลี้ยอ่อน (aphid) หนอนบุ้ง (hairy caterpillar) หนอนด้วงปีกแข็ง (white grub) หนอนกระทู้ (cutworm) และหนอนม้วนใบถั่วเหลือง (soybean leafroller – archips micacaena(Walder)) เป็นต้น  ซึ่งถ้าหากสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวนต่อการเจริญเติบโต และการแพร่พันธุ์ ประกอบกับการดูแลของผู้ปลูกเลี้ยงโป๊ยเซียนไม่ดีพอด้วยแล้ว แมลงเหล่านี้บางชนิดอาจจะกลาย เป็นแมลงศัตรูสำคัญของโป๊ยเซียนขึ้นมาได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

1.  กองกีฏและสัตววิทยา 2537 คำแนะนำการใช้สารกำจัดแมลงและสัตว์ศัตรูพืช ปี 2537

กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ 236 หน้า

2.  ไสว  บูรณพาณิชพันธุ์ 2536

แมลงศัตรูพืชไร่ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่ 311 หน้า

.