โรคกาบใบจุดสีน้ำตาลของข้าวโพด

(Brown spot of corn)
โรคนี้พบระบาดทั่วไปในทวีปอเมริกา และเอเซียสำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในแหล่งปลูกข้าวโพด โดยข้าวโพดไม่ได้รับความเสียหายให้เห็นแน่ชัด แต่เข้าใจว่าอาจทำให้ผลผลิตของข้าวโพดลดลง
อาการโรค อาการโรคเริ่มเป็นจุดขนาดเล็ก สีเหลือง ที่กาบใบและต้นที่อยู่เหนือดิน ต่อมาจุดขยายใหญ่ขึ้น และเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลเข้ม ขนาดแผลไม่แน่นอน หากเป็นโรครุนแรง ลำต้นอาจแตกพับได้
เชื้อสาเหตุ : Physoderma maydis
เส้นใยประกอบด้วยเซลแบบ multinucleate rhizomycelium เซลขยายใหญ่สร้าง sporangia สีน้ำตาล เพื่อให้กำเนิด zoospores ประมาณ 20 – 50 อัน ในแต่ละ sporangium โดย zoospores มี flagellum 1 อัน ซึ่งจะงอกให้ rhizomycelium ใหม่ต่อไป

วงจรของโรค เชื้ออยู่ข้ามฤดูในดินและในเศษซากพืช ที่เป็นโรคในรูปของ sporangia เมื่อมีความชื้นและแสงสว่างเหมาะสม sporangia จะงอกให้ zoospores ซึ่งสามารถเคลื่อนที่บนใบพืชที่เปียกได้ แล้วจะงอกแทงผ่านเข้าไปเจริญในเซลข้าวโพดที่ยังอ่อนอยู่เป็น rhizomycelium และเกิดเป็น sporangia ใหม่ในเวลาต่อมา โรคนี้อาจเจริญครบวงจรได้ภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ดังนั้นตลอดฤดูปลูกอาจเจริญครบวงจรได้หลายครั้ง
การควบคุมโรค การปฏิบัติทางการเกษตรที่ถูกต้อง อาจช่วยลดการเกิดโรคได้ และเชื่อว่าข้าวโพดพันธุ์ลูกผสม มีความต้านทานต่อโรคได้ดีกว่า
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช