โรคของขิง

(diseases of ginger)

ขิงเป็นพืชผักในตระกูล Zingiberaceae รวมถึงพวก ข่า ขมิ้น กระชาย กระวาน ไพล เปราะหอม เป็นพืซที่จัดอยู่ในประเภทเครื่องเทศ (spices) ใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นอาหารรับประทานโดยตรง ปรุงแต่งรส และใช้ประกอบเป็นตัวยาสมุนไพรสำหรับรักษาโรคบางชนิดได้ โดยการนำเอาส่วนของต้นหรือแง่งที่อยู่ใต้ดิน (rhizomes) มาใช้ บรรดาพืชทั้งหมดในตระกูลนี้ ขิง (Zingiber officinale) จัดว่าสำคัญและนิยมปลูกมากที่สุดเพราะใช้ประโยชน์ได้มากและกว้างขวางกว่าเพื่อน นอกจากใช้ประกอบอาหารหรือรับประทานสดแล้ว ยังนำมาใช้ทำเป็นผลิตกัณฑ์ต่างๆ เช่น ในทางการแพทย์นำมาใช้เป็นองค์ประกอบของยาแก้โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปต่างๆ เช่น ขิงผง ชาขิง ขิงตาก ขิงดอง เป็นต้น จำหน่ายได้ทั้งในและส่งเป็นสินค้าออก ไปต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ปากีสถาน บังคลาเทศ มาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น ตะวันออกกลางเป็นมูลค่านับล้านๆ บาทในแต่ละปีจัดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ทำรายได้ให้กับผู้ปลูก ผู้ผลิตและประเทศ ได้อย่างดี ในประเทศไทยสามารถปลูกขิงและให้ผลได้ดีในเกือบทุกภาค ทั้งใต้ กลาง และเหนือ เช่นจังหวัดชุมพรประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี นครปฐม ปทุมธานี เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ และเชียงราย

อย่างไรก็ดี ขิงก็เช่นเดียวกับพืชผักทั่วๆ ไปเมื่อมีผู้นิยมปลูกแพร่หลายมากขึ้นก็ย่อมมีอุปสรรคและศัตรูต่างๆ ทั้งโรค และแมลงเกิดขึ้นตามมาทำความเสียหายทั้งรุนแรงและไม่รุนแรงอยู่เสมอในระยะ 5-6 ปี หลังๆ นี้ ดังจะได้กล่าวต่อไป โดยเฉพาะโรคต่างๆ บางชนิดที่สำคัญ

โรคเหี่ยวหรือแง่งเน่าที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (bacterial wilt or rhizome rot of ginger)

โรคเหี่ยวหรือแง่งเน่าของขิงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่จัดว่าสำคัญและสร้างความเสียหายให้กับการปลูกขิงในปัจจุบันมากที่สุดจะพบได้ทุกแห่งที่มีการปลูกขิง หากจะเทียบกับโรคอื่นแล้ว กล่าวว่าโรคนี้ทำลายขิงสูงถึง 40% ของโรคทั้งหมด

อาการโรค

อาการในระยะเริ่มแรกหลังจากถูกเชื้อเข้าทำลาย ใบแก่ที่อยู่ตอนล่างๆ จะเหี่ยวตกลู่ลง ต่อมาจะม้วนเป็นหลอด และเหลือง อาการจะค่อยๆ ลามจากล่างสูงขึ้นไปยังส่วนบน ในที่สุดใบจะม้วนและเหลืองแห้งทั้งต้น บริเวณโคนต้นและหน่อที่แตกออกมาใหม่จะมีลักษณะช้ำฉ่ำน้ำ ซึ่งต่อมาจะเน่าเปื่อยหักหลุดออกมาจากแง่งโดยง่าย แต่จะไม่มีกลิ่นเหม็น เมื่อตรวจดูที่ลำต้นจะพบว่าส่วนที่เป็นท่อนํ้าท่ออาหาร จะถูกทำลายเป็นสีคลํ้าหรือนํ้าตาลเข้ม และมีเมือกของแบคทีเรียเป็นของเหลวสีขาวข้นคล้ายนํ้านมซึมออกมาตรงรอยแผล หรือรอยตัดของต้นหรือแง่งขิงที่เป็นโรค สำหรับแง่งจากต้นที่เพิ่งแสดงอาการโรคในระยะแรกหากนำขึ้นมาผ่าออกดู จะพบรอยชํ้าฉ่ำนํ้าเป็นปื้นๆ โดยเฉพาะแง่งที่ยังอ่อน ต่อมาอาการจะทวีความรุนแรงทำให้เนื้อขิงเปื่อยยุ่ยและสีคลํ้าขึ้น อาการเหล่านี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาพที่อากาศชื้นและร้อน ตั้งแต่เริ่มแสดงอาการจนทำให้ต้นหักพับตาย จะใช้เวลา 5-7 วัน เป็นอย่างช้า แต่ถ้าเป็นอาการที่เหี่ยว หรือเน่าที่เกิดจากเชื้อราหรือเชื้ออื่นๆ อาการจะค่อยๆ เป็น โดยต้นจะเหี่ยว ใบเหลือง แคระแกรนในระยะต้นๆ หรือหากพืชจะตายก็อาจต้องใช้เวลานานเป็นเดือนหรือกว่านั้น และจะไม่พบเมือกเหนียวขาวขุ่นที่บริเวณลำต้นหรือแง่งที่เน่าเหมือน แบคทีเรีย

สาเหตุโรค : Pseudomonas solanacearum

เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกันกับที่ก่อให้เกิดโรคในมะเขือเทศ พริก มันฝรั่ง ยาสูบและผักอื่น นอกจาก P. solanacearum แล้วยังอาจมีชื่อเรียกออกไปเป็นอย่างอื่น (synonymy) อีกหลายชื่อดังตัวอย่าง

Bacillus solanancearum E.F. Smith (1896)

Bacterium solanacearum Chester (1898)

Bacillus nicotianae Uyeda (1904)

Phytomonas solanacearum (E.F. Smith) Bergey et al. (1923)

Xanthomanas solanacearum (E.F. Smith) Dowson (1930)

เป็นเชื้อที่มีคุณสมบัติความสามารถในการขยายพันธุ์ แพร่ระบาด การเข้าทำลายพืช การอยู่ข้ามฤดูปลูกและมีความต้องการสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับ P. solanacearum ของมะเขือเทศและพริก สำหรับในขิงการระบาดและการติดโรคที่สำคัญอย่างหนึ่งคือจากเชื้อที่ติดมากับแง่งหรือหน่อที่ใช้ทำพันธุ์ หากได้มาจากต้นหรือแหล่งที่มีโรคเกิดมาก่อน ส่วนการเข้าไปสู่ภายในพืชของเชื้อ ส่วนใหญ่ก็จะเข้าโดยผ่านทางแผลที่แง่ง หรือต้นและช่องเปิดธรรมชาติ เช่น lenticel ที่ราก เริ่มแรกจะเข้าไปอยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์ cortex และ pith จากนั้นก็จะแพร่ทวีจำนวนแล้วเข้าไปอยู่ใน vascular bundle ก่อให้เกิดการอุดตัน เหี่ยวและเน่าขึ้นในที่สุด

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้แง่งหรือท่อนพันธุ์ขิงที่สะอาดปราศจากเชื้อ หรือจากแหล่งที่ไม่เป็นโรค

2. หากไม่แน่ใจว่าแง่งหรือท่อนพันธุ์ที่ใช้สะอาดปราศจากโรคที่สำคัญก่อนปลูกควรล้างแง่งขิงด้วยน้ำจนสะอาดเสียก่อนและระวังอย่าให้เกิดแผลถลอกหรือรอยช้ำขึ้นกับผิวหรือเปลือก

3. หลีกเลี่ยงการปลูกขิงลงในดินที่มีโรคระบาดมาก่อนแม้จะในพืชอื่น เช่น มะเขือเทศ มันฝรั่ง พริก ยาสูบ มะเขือยาว ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม แม้แต่กล้วย

โรคเหี่ยวหรือแง่งเน่าที่เกิดจากเชื้อรา (fungal wilt or rhizome rot of ginger)

แม้ว่าโรคต้นเหี่ยวและแง่งเน่าของขิงที่เกิดจากเชื้อราจะไม่ระบาดกว้างกวางและสร้างความเสียหายรุนแรงเท่าที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็จัดว่าเป็นโรคที่บางครั้งอาจก่อหรือสร้างปัญหาให้กับผู้ปลูกในบางท้องถิ่นได้ ทั้งนี้เนื่องจากชนิดเชื้อราที่เข้าทำลายขิงและก่อให้เกิดโรคอาการคล้ายๆ กันนี้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ทั้ง Pythium Fusarium และ Sclerotium

ก. โรคเหี่ยวและเน่าที่เกิดจากเชื้อ Pythium

เชื้อ Pythium spp. ที่เข้าทำลายขิงตามรายงาน และเท่าที่ได้มีการศึกษากันมามีทั้ง Pythium aphaniderrmtm P. myriotylum และ P. vexans

การทำลายของเชื้อ Pythium spp. ส่วนใหญ่จะพบในดินปลูกซึ่งเป็นดินเหนียว แฉะ ที่มีการระบายนํ้าไม่ดี บริเวณกรุงเทพฯ ปทุมธานี จะพบโรคนี้ระบาดประปราย แต่ก็ไม่ถึงกับเสียหายรุนแรง

อาการของต้นขิงที่เกิดจากเชื้อ Pythium spp. คือใบเหลืองอาจเหี่ยวเฉาเล็กน้อยในเวลากลางวันที่อากาศร้อน การเจริญเติบโตหยุดชะงักหรือช้า เมื่อทำการขุดแง่งขิงขึ้นมาดูจะพบเส้นใยของเชื้อสีขาวขึ้นอยู่ตรงส่วนที่เน่าช้ำเป็นสีนํ้าตาลอ่อน บางครั้งอาจพบว่ามีอาการเน่าเละตามมาเนื่องจากมีเชื้อแบคทีเรียในดินเข้าทำลายเสริมทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้น

สำหรับเชื้อ Pythium spp. ที่พบทำลายขิงในประเทศไทยปัจจุบันยังไม่มีการจำแนกว่าเป็นชนิดใดแน่จากสามชนิดที่กล่าวในตอนแรก

การแพร่ระบาดและการเกิดโรค Pythium spp. เป็นเชื้อที่มีธรรมชาติและถิ่นกำเนิดอยู่ในดินนอกจากขิงแล้วยังสามารถทำลายพืชผักชนิดอื่นได้อีก เมื่อขึ้นทำลายพืชชนิดหนึ่งแล้วก็จะอาศัยเกาะกินเศษซากพืชและอินทรียวัตถุต่อไปได้อีกเป็นเวลานาน การระบาดที่สำคัญก็โดยติดไปกับดิน หรือน้ำที่ไหลชะล้างผ่านดินดังกล่าว บริเวณที่มีนํ้าแฉะหรือการระบายนํ้าเลวจะทำให้เกิดโรคได้ง่ายและเร็วขึ้น นอกจากนั้นแง่งขิงที่ใช้ทำพันธุ์หากได้มาจากแหล่งปลูกที่มีโรคอาจจะมีเชื้อปนอยู่ในดินที่เกาะติดมากับเปลือก เมื่อนำมาปลูกก็อาจเกิดโรคขึ้นได้

ข. โรคเหี่ยวและเน่าที่เกิดจากเชื้อ Fusarium

การทำลายของเชื้อ Fusarium sp.ในขิงต่างจาก Pythium sp. คือ ส่วนใหญ่จะพบในดินกรดที่มี pH ต่ำระดับ 5-6 ดินที่ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มาก โดยเฉพาะในดินที่มีลักษณะเป็นดินปนทรายที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ เมื่อเกิดโรคขึ้นบางครั้งอาจเสียหายรุนแรงทำให้ผลผลิตลดลงเป็นจำนวนมากจนถึงอาจไม่ให้ผลเลย

อาการโรคที่เกิดจากเชื้อ Fusarium sp. ลักษณะภายนอกก็คล้ายกับ Pythium sp. คือใบเหลืองต้นเหี่ยว แคระแกร็น เมื่อขุดค้นขึ้นมาดูจะพบแผลเน่าสีนํ้าตาล ทั้งที่บริเวณโคนต้น และที่แง่งขณะเดียวกันก็จะพบเส้นใยสีขาวขึ้นเจริญเติบโตอยู่ทั่วไปที่บริเวณ หากอากาศหรือดินมีความชื้นสูงอาจพบสปอร์ หรือโคนิเดียสีชมพูให้เห็นด้วย

เชื้อสาเหตุเป็นพวก Fusarium oxysporum ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเชื้อที่ระบาดแพร่หลายทำลายพืชได้กว้างขวางหลายชนิด

การเกิดโรคและการแพร่ระบาดก็เช่นเดียวกับราในดินทั่วๆ คือ โดยการที่สปอร์ติดไปกับดิน น้ำที่ชะพัดพาหรือนํ้าไหลและติดไปกับแง่งขิงที่ใช้ทำพันธุ์

ค. โรคเหี่ยวหรือเน่าที่เกิดจากเชื้อ Sclerotium

โรคเหี่ยวและแง่งเน่าของขิงที่เกิดจากเชื้อรา Sclerotium sp. เป็นโรคที่ค่อนข้างมีการระบาดกว้างขวาง และพบบ่อยกว่า Pythium sp. และ Fusarium sp. โดยเฉพาะในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร

อาการของขิงที่ถูกทำลายโดยเชื้อ Sclerotium sp.จะมีใบเหลืองเหี่ยวตายทั้งกอ ที่บริเวณโคนต้นถ้าดินมีความชื้นสูง พบเส้นใยสีขาวเจริญงอกงามอยู่ทั่วไป พร้อมทั้งมีเม็ดสเครอโรเทียสีขาวหรือสีนํ้าตาลลักษณะกลมขนาดหัวเข็มหมุดเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นด้วย ส่วนที่แง่งจะมีแผลเน่าสีนํ้าตาล พร้อมกับมีเส้นใยสีขาวปรากฏให้เห็นเช่นเดียวกัน และการเน่าที่เกิดจากเชื้อ Sclerotium sp. บางครั้งจะมีพวกแบคทีเรีย เข้าไปทำลายต่อก่อให้เกิดการเน่าเละติดตามมา

เชื้อสาเหตุ คือ Sclerotium rolfsii มีถิ่นกำเนิดและอาศัยอยู่ในดินเช่นเดียวกับสองชนิดที่กล่าวแล้ว แต่ Sclerotium rolfsii ไม่มีการสร้างสปอร์ขยายพันธุ์ และแพร่ระบาดได้โดยเส้นใยและการสร้างเม็ด sclerotia เจริญเติบโตและสร้างความเสียหายให้กับพืชได้ดีในดินที่ค่อนข้างเป็นกรดในสภาพดินเลว ที่มีลักษณะเป็นดินปนทรายเช่นเดียวกับ Fusarium sp. การทำให้เกิดโรคกับพืช ตลอดจนการแพร่ระบาดก็คล้ายกัน

การป้องกันกำจัด

เนื่องจากเชื้อราทั้ง 3 ชนิดมีธรรมชาติและถิ่นกำเนิดในดิน ตลอดจนมีการแพร่ระบาดและการเข้าทำลายก่อให้เกิดโรคกับพืชในลักษณะที่คล้ายกัน การป้องกันกำจัดโดยส่วนรวมจึงอาจกระทำได้ในรูปแบบอย่างเดียวกัน โดยทั่วๆ ไปแล้วการป้องกันกำจัดเชื้อโรคในดินให้หมดสิ้นโดยเด็ดขาด ค่อนข้างทำได้ยาก การใช้สารเคมีใดๆ เป็นสิ่งที่มักจะไม่แนะนำให้ปฏิบัติ เพราะมักไม่ได้ผลหรือไม่ก็สิ้นเปลืองมาก นอกจากดินที่มีปริมาณไม่มากนัก เช่น ในกระบะหรือแปลงเพาะกล้า เพราะเชื้อพวกนี้ส่วนใหญ่จะไม่อาศัยหรือเจริญ เติบโตอยู่เพียงแค่ผิวหน้าดิน อาจอยู่ลึกลงไปใต้ผิวดินได้หลายนิ้วโดยเฉพาะหากมีเศษซากพืชหรือมีอินทรีย์วัตถุให้มันอาศัยเกาะกิน สารเคมีที่ใช้จะไม่สามารถแทรกซึมลงไปฆ่าทำลายพวกนี้ได้หมด วิธีที่ดีที่สุดที่ควรทำคือการปรับสภาพของดิน เช่น เปลี่ยนดินเหนียวหรือดินที่เป็นทรายจัดให้เป็นดินร่วนซุย ไม่ขังหรืออุ้มนํ้า เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินให้คงที่อยู่เสมอ โดยการเติมปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกลงไปมากๆ การเปลี่ยน pH ของดินจากดินกรดให้เป็นด่างเล็กน้อย โดยการเติมปูนขาวลงไป ก็จะช่วยลดปริมาณการเจริญเติบโตของเชื้อ ตลอดจนช่วยลดการเข้าทำลายและการเกิดโรคลงได้บ้าง ขณะเดียวกันก็ควรเก็บทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคหรือแง่งขิงที่อาจมีหลงเหลืออยู่ในดินให้หมดหลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของเชื้อโรคต่อไป

โรคใบจุด (leaf spot)

โรคใบจุดของขิงที่เกิดจากเชื้อราเป็นโรคที่จะพบระบาดแพร่หลายทั่วไปในเกือบจะทุกแห่งที่มีการปลูก บางครั้งก็อาจจะกลายเป็นโรคที่ทำความเสียหายรุนแรงหากสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยและมีเชื้อแพร่ระบาดมาก มีผลทำให้ต้นโทรม ผลิตผลต่ำ แง่งมีขนาดเล็กนํ้าหนักเบา

เชื้อราจะเข้าทำลายทั้งต้นและใบขิง เริ่มจากจุดช้ำฉ่ำนํ้าสีเหลือง ต่อมาจะค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นเป็นแผลจุดวงกลมรีเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดไปจนครึ่งเซนติเมตร (1-5 มม.) เนื้อเยื่อตรงกลางจะแห้งบางเป็นสีขาวนวลหรือนํ้าตาลอ่อน ขณะเดียวกันก็จะพบว่ามีการสร้าง fruiting body เป็นจุดสีดำเล็กๆ ซึ่งเป็นที่เกิดของสปอร์ของราเกิดขึ้นที่บริเวณแผลด้วย จุดแผลเหล่านี้เมื่อเป็นนานๆ จะค่อยๆ บางลง จนในที่สุดจะขาดหลุดออกจากเนื้อใบทำให้เกิดอาการเป็นรูพรุนขึ้นทั่วไป ในฤดูฝนหรือช่วงที่มีความชื้นสูงรอบจุดแผลจะมีลักษณะช้ำฉ่ำน้ำสีเหลืองซีดเป็นวงคล้าย halo ล้อมอยู่โดย รอบ สำหรับที่ต้นและก้านใบแผลจะมีลักษณะเช่นเดียวกัน แต่จะไม่มีวง halo ล้อมรอบ ต้นและใบขิงที่แสดงอาการมากๆ จะโทรมใบเหลือง ขอบใบแห้ง มองเห็นได้จากระยะไกล แตกกอน้อย ให้แง่งและผลิตผลลดลง

สาเหตุโรค : Phyllosticta zingiberi

เป็นราพวก fungi imperfecti เมื่อเข้าทำลายพืชเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะมีการสร้างสปอร์หรือโคนิเดีย ลักษณะกลม หรือรูปไข่ภายใน fruiting body รูปนํ้าเต้าหรือคนโทที่ค่อนข้างกลม (pycnidia) ฝังอยู่ภายในเนื้อเยื่อของใบ สปอร์หรือโคนิเดียจะเกิดอยู่บนก้าน conidiophores สั้นๆ ที่เกิดอยู่ด้านล่างของ pycnidia เมื่อแก่ก็จะถูกดันให้หลุดออกมาภายนอก แล้วแพร่กระจายออกไปโดยลม น้ำที่สาดกระเซ็น หรือติดไปกับสิ่งที่เคลื่อนไหวด้ทุกชนิดเมื่อตกลงบนพืชได้รับความชื้นพอเพียงก็จะงอกก่อให้เกิดโรคขึ้นได้ใหม่ในเวลาอันรวดเร็วเพียง 2-3 วัน

การป้องกันกำจัด

1. เนื่องจากเชื้อ Phyllosticta sp. ก่อให้เกิดโรคกับต้นและใบพืช เชื้อจะมีลักษณะเป็น air-borne ปลิวอยู่ทั่วไปในอากาศ การป้องกันกำจัดโรคโดยการฉีดพ่นด้วยสารเคมีฆ่าเชื้อราต่างๆ เช่น   แคปแทน ไธแรม ซีเน็บ มาเน็บ ไดเทน เอ็ม 45 หรือเบนเลท อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นครั้งคราว หรือเมื่อมีการระบาดของโรคเกิดขึ้นทุกๆ 5-7วัน ก็จะช่วยลดความเสียหายของโรคลงได้

2. ขจัดทำลายวัชพืชที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับขิง พร้อมกับเศษซากต้น ใบขิงที่เป็นโรคให้หมดจากแปลงปลูก