โรคของคึ่นฉ่าย

(diseases of celery)

คึ่นฉ่ายจัดอยู่ในประเภทผักปรุงรสรับประทานได้ทั้งสุกและดิบ (สด) ในประเทศไทยปัจจุบันที่นิยมปลูกมีอยู่กันสองชนิด คือ ชนิดต้นเล็ก ซึ่งปลูกกันมาดั้งเดิมเป็นพันธุ์พื้นเมืองซึ่งนำเข้ามาจากประเทศจีนเรียกว่าคึ่นฉ่ายจีน หรือคึ่นฉ่ายเฉยๆ รับประทานได้ทั้งต้นและใบมีกลิ่น รส หอม ฉุน ส่วนอีกชนิดหนึ่งมีขนาดของต้นสูงใหญ่กว่า ก้านใบยาวแข็ง เรียกว่าคึ่นฉ่ายเทศหรือคึ่นฉ่ายฝรั่ง เพิ่งนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ เข้าใจว่าจะเป็นระหว่างสงครามเวียดนาม เนื่องจากระยะนั้นมีทหารต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการใน บริโภคสูงขึ้น ขณะนั้นยังไม่มีการปลูกอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งต้นทำให้มีราคาค่อนข้างสูง ต่อมาจึงได้มีผู้นำเอาเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาทดลองปลูกในแถบจังหวัดภาคเหนือ เช่น เพชรบูรณ์ และเชียงใหม่ ปรากฏว่าได้ผลดี จึงทำการปลูกติดต่อกันมาจนปัจจุบัน พวกนี้มีรส กลิ่นอ่อนกว่าชนิดแรก นิยมรับประทานเฉพาะส่วนที่เป็นก้านใบเท่านั้น อย่างไรก็ดีทั้งสองชนิดทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ต่างก็อยู่ใน species เดียวกันคือ Apium teolens var. dulce พวกต้นใหญ่เข้าใจว่าจะเป็นพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาขึ้นมาจากพวกที่มีต้นเล็กนั้นเอง ทำให้มีขนาดรูปร่างผิดแปลกไปจากเดิม

สำหรับโรคของผักคึ่นฉ่ายทั้งสองชนิดก็คล้ายๆ กันคือมีทั้งโรคของต้น ใบ และราก แต่ที่สำคัญและจะกล่าวถึงก็ได้แก่

โรคใบจุดไหม้ที่เกิดจากแบคทีเรีย

(bacterial blight)

รายงานการพบโรคนี้ครั้งแรกมีขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1909 จากรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาก็พบว่ามีโรคนี้เกิดระบาดทำความเสียหายให้กับคึ่นฉ่ายในเกือบทุกท้องถิ่นที่มีการปลูก

อาการโรค

อาการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ใบ โดยเริ่มจากจุดเซลล์ตายเล็กๆ สีเหลืองสดขึ้นก่อน แล้วค่อยขยายโตขึ้น ตอนกลางเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลพร้อมกับเกิดวงแหวนสีเหลืองซีด (halo) รอบ จุดแผลโดยทั่วๆ ไปจะมีลักษณะกลม แต่ก็มีบางจุดมีรูปร่างเป็นเหลี่ยมขนาด 3 – 4 มม. โดยประมาณ ในกรณีที่เป็นรุนแรงใบทั้งหมดที่มีอยู่อาจถูกทำลายเกิดแผลขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการเหลืองแล้วแห้งตายทั้งต้น

สาเหตุโรค: Pseudomonas s vringae pv. apii

เป็นเชื้อแบคทีเรียที่จะเข้าทำลายเฉพาะคึ่นฉ่ายหรือผักใน genus Apium เท่านั้นเมื่อเข้าทำลายพืชก็จะสามารถไปอาศัยเกาะติดอยู่กับเมล็ดที่เกิดจากต้นพืชดังกล่าวได้ทั้งภายในและบนผิวของเปลือกโดยจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 ปี พอเพียงที่จะอยู่ข้ามฤดู และแพร่ระบาดไปยังที่ต่างๆ ที่เมล็ดนั้นได้ถูกนำไป นอกจากเมล็ดแล้วเชื้ออาจติดอยู่กับเศษซากต้นพืชที่ปล่อยหรือร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดินพวกนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 ปี เช่นกันในระหว่างนั้นหากมีการปลูกพืชซํ้าลงไปอีกก็จะกลับขึ้นมาก่อให้เกิดโรคได้อีกสำหรับการระบาดระหว่างต้นในแปลงปลูกส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อหรือเมือก (slime) ของแบคทีเรียที่ซึมออกมาเคลือบหรือเกาะติดอยู่ตามแผลถูกน้ำชะพัดพาแมลง เครื่องมือกสิกรรม เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของผู้ที่เข้าไปปฏิบัติงานต่างๆ กับต้นพืช เชื้อจะเข้าไปภายในพืชต้นใหม่โดยผ่านทางช่องปากใบ แล้วไปเจริญอยู่ระหว่างเซลล์ หลังจากนั้นต่อมาอีก 2-3 วันจึงจะแสดงอาการจุดแผลขึ้น อย่างไรก็ดีการที่เชื้อ P. syringae pv. apii จะก่อให้เกิดโรคหรือเข้าไปทำลายพืชได้นั้นต้องการ ความชื้นที่ค่อนข้างสูง ต้องมีหยดหรือฝ้าของน้ำเกาะฉาบอยู่ที่ผิวใบพืชที่จะเข้าทำลายนานไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง โรคนี้จึงมักจะเกิดและระบาดในฤดูฝนโดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกพรำ เมฆหมอกหรือน้ำค้างจัด สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะที่สุดจะอยู่ระหว่าง 20-25°ซ.

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ หากไม่แน่ใจก่อนนำไปปลูกควรจุ่มแช่ในนํ้าอุ่น 49-50°ซ. 20-25 นาทีเชื้อที่อาจติดมาทั้งภายในและนอกเมล็ดจะถูกทำลายหมด

2. หลังเก็บเกี่ยวแล้วควรเก็บทำลายเศษซากพืช โดยเฉพาะที่เป็นโรคให้หมดจากแปลงปลูกรวมทั้งต้นที่งอกขึ้นมาเองหลังฤดูเพราะอาจเป็นที่อาศัยของเชื้อต่อมาได้

3. หากเกิดโรคขึ้นระหว่างปลูกให้ใช้สารเคมีที่มีธาตุทองแดงเป็นส่วนผสม เช่น คูปราวิท ค็อปปิไซด์หรือ บอร์โดมิกซ์เจอร์ ฉีดพ่นอาทิตย์ละครั้ง อาจช่วยลดความเสียหายลงได้

โรคต้นและใบไหม้ที่เกิดจากเชื้อ Septoria (Septoria late blight)

มีผู้พบและรายงานเกี่ยวกับโรคนี้ครั้งแรก จากประเทศอิตาลีเมื่อราวปี คศ. 1840 และจากนั้นต่อมาอีก 50 ปี คือในปี 1890 จึงได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อสาเหตุ ปัจจุบันจะพบโรคนี้ระบาดทั่วไปในทุกแห่งที่มีการปลูกคึ่นฉ่ายนับเป็นโรคสำคัญที่สร้างความเสียหายให้ผักประเภทนี้มากโรคหนึ่ง

อาการโรค

พบว่ามีเชื้อ Septoria ถึง 2 ชนิดที่เข้าทำลายคึ่นฉ่าย คือ Septoria apii และ Septoria apii graveolentis โดยจะก่อให้เกิดอาการคล้ายๆ กันจะต่างก็ตรงที่ขนาดของแผลเท่านั้น

Septoria apii เมื่อเข้าทำลายคึ่นฉ่ายจะเริ่มจากเกิดจุดแผลเล็กๆ สีเหลืองขึ้นก่อน ต่อมาจะค่อยๆ ขยายโตขึ้นกลายเป็นแผลสีนํ้าตาลซีดออกเหลือง หรือเทาส่วนขอบจะมีสีดำ หรือคลํ้าเล็กน้อย เมื่อโตเต็มที่แผลอาจมีขนาดใหญ่ 10 – 12 มม.โดยประมาณ อากาศยิ่งชื้นมากแผลก็จะยิ่งโต ต่อมาจะมีการสร้าง fruiting body คือ pycnidia ลักษณะเป็นจุดดำเล็กๆ ขึ้นทั่วไปตอนกลางๆ ของแผล แผลจุดที่เกิดจาก S.apii นี้แม้จะเกิดขึ้นเพียง 2-3 แผล บนใบหนึ่งๆ แตกอาจมีผลทำให้ส่วนของเนื้อใบที่เหลือ เหลืองแห้งตายทั้งใบ

สาเหตุโรค: Septoria apii และ Septoria apii graveolentis

เชื้อราทั้งสองชนิดมีความแตกต่างในการเข้าทำลายพืชจะสังเกตเห็นได้ที่อาการที่พืชแสดงออกดังได้กล่าวแล้ว คือ S. apii นั้น เมื่อเข้าทำลายพืชจะเกิดแผลที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ (10-12 มม.) มีการสร้าง fruiting body ที่มีขนาดเล็กกว่าและจำนวนน้อยกว่าบนแผลหนึ่งๆ ส่วนใหญ่ จะพบเกิดขึ้นตอนกลางๆ ของแผลมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง โดยเฉลี่ยวัดได้ประมาณ 65-69 ไมครอน มีขนาดของปาก หรือช่องที่ปล่อยให้สปอร์หลุดออกมาภายนอกที่เรียกว่า ออสติโอล (ostiole) โตไม่เกิน 1 ใน 4 ส่วนของพิคนิเดีย สปอร์มีลักษณะเป็นเส้นตรงยาวเรียวอาจมีผนังกั้นแบ่งออกเป็นเซลล์ย่อยถึง 4 เซลล์หรือไม่มีเลยก็ได้ขนาดของสปอร์ราว 1-2.5 X13.5 -34.5 ไมครอน

สำหรับการอยู่ข้ามฤดูปลูก ทั้ง S. apii และ S. apii graveolentis มีการสร้างพิคนิเดียฝังติดอยู่กับเปลือกของเมล็ด

เมื่อนำไปปลูกหรือทำพันธุ์ สปอร์ที่อยู่ภายในก็จะถูกปล่อยออกมาก่อให้เกิดการ infection กับต้นที่งอกใหม่ได้ ส่วนเส้นใยที่ขึ้นเกาะกินอยู่บนต้นพืช เมื่อพืชตายก็จะปะปนอยู่กับเศษซากพืชที่ถูกปล่อยไว้ตามดินพวกนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อมาได้อีกราว 2-3 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าวหากมีการปลูกขึ้นฉ่ายซํ้าลงไปอีกก็จะกลับขึ้นมาทำลายพืชก่อให้เกิดโรคขึ้นอีก

การแพร่ระบาดและการเข้าทำลายพืช

เมื่อได้รับความชื้นพิคนิเดียที่เกิดอยู่ตามบริเวณแผลจะบวมพองโตขึ้น ก่อให้เกิดแรงดันภายในซึ่งจะดันเอาสปอร์ที่มีอยู่ให้หลุดออกมาทางปาก ostiole สปอร์ที่เปียกชื้นจะเกาะติดไปกับเครื่องมือกสิกรรม แมลง สัตว์บางชนิด หรือสิ่งที่ไปถูกต้องสัมผัส ตลอดจนน้ำทั้งนํ้าฝนและน้ำที่ใช้รด แพร่กระจายออกไปตามที่ต่างๆ เมื่อตกลงบนพืชได้รับความชื้นพอเพียงก็จะงอกเป็นเส้นใยจากนั้นก็จะแทงทะลุผ่านเข้าไปในพืชได้ทั้งโดยตรงทางผิว epidemis และช่องเปิดธรรมชาติ ระยะฟักตัวจะกินเวลาประมาณ 9-12 วัน แต่ถ้าอากาศมีความขึ้นสูงมากๆ ประกอบกับพืชอ่อนแอระยะอาจสั้นขึ้นไม่ถึง 9 วันก็ได้

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงการปลูกคึ่นฉ่ายซํ้าลงในดินหรือแปลงปลูกที่เคยมีโรคเกิดขึ้นมาก่อน

2. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ โดยเฉพาะการใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บใหม่ๆ ไม่ถึง 2 ปี หากมีเชื้อติดมาด้วยก็อาจเป็นอันตรายกับต้นที่งอกใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นเมล็ดที่มีอายุนานเกินกว่า 2 ปีขึ้นไป เชื้อที่ติดมาอาจจะตายหมด หรือไม่ก็อ่อนแอจนไม่สามารถที่จะถ่ายทอดหรือไปก่อให้เกิดโรคกับต้นใหม่ได้อีกต่อไป อย่างไรก็ดีหากไม่แน่ใจหรือต้องการให้ต้นที่งอกใหม่ปลอดภัยจากเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดก็ให้นำเมล็ดไปจุ่มแช่ในนํ้าอุ่น 48-49 ∘ซ. นาน 30 นาที เสียก่อนจึงค่อยนำไปเพาะ

3. ในกรณีที่เกิดโรคกับพืชขึ้นในแปลงปลูกหรือแปลงกล้า ก็ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เมื่อพืชโตหรือแข็งแรงพอที่จะปลอดภัยจากพิษของสารเคมีที่ใช้ ชนิดของสารเคมีที่ใช้ได้ผลและแนะนำให้ใช้กับโรคนี้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น  บอร์โดมิกซ์เจอร์ 10:5:100 สลับกับแมนเซทดี 50-70 กรัม ต่อนํ้า 20 ลิตรทุก 7-10 วันต่อครั้งหรือ 3-5 วัน ในกรณีที่เป็นโรครุนแรงและสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย นอกจากนั้นก็มี แคปแตน ไธแรม และซีเน็บ ในอัตราส่วนและระยะเวลาที่ใช้เท่ากันข้อควรระวังคือไม่ควรใช้สารเคมีเหล่านี้ภายใน 14 ก่อนเก็บเกี่ยว เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้

การป้องกันกำจัดโรคที่ให้ผลควรทำในตอนต้นฤดูปลูก ขณะที่พืชยังอายุน้อยๆ หรือทันทีที่พืชต้นใดต้นหนึ่งเริ่มแสดงให้เห็น ยังไม่มีการสร้างสปอร์ซํ้าแพร่กระจายออกไปมากนัก

โรคต้นเหลืองที่เกิดจากเชื้อ Fusarium (Fusarium yellow)

เป็นโรคที่ทำลายส่วนของต้นและรากของคึ่นฉ่ายที่มักจะพบเห็นเสมออีกโรคหนึ่งของคึ่นฉ่าย

อาการของโรค

เหตุที่ถูกเรียกว่าโรคเหลืองก็เนื่องจากอาการที่พืชแสดงออก คือหลังจากถูกเชื้อเข้าทำลายส่วนที่เป็นสีเขียวของพืชจะหายไปหมดเกิดอาการเหลืองซีดจาง หากเป็นในขณะที่ยังเป็นต้นอ่อนอาจรุนแรงทำให้ตายทั้งต้น ส่วนใบ ต้นแก่หรือโตเต็มที่อาการที่แสดงออกนอกจากเหลืองซีดก็คือแคระแกร็น ชะงักงัน หยุดการเจริญเติบโต แต่ไม่ถึงกับตายดังเช่นต้นอ่อนพวกนี้จะมีกิ่ง ต้นเปราะหักง่าย และมักจะมีรสขมหากต้องการตรวจเพื่อให้ทราบแน่ว่าเป็นโรคที่เกิดจาก Fusarium หรือไม่ ให้ถอนต้นพืชที่สงสัยขึ้นมาดูจะพบว่าส่วนของราก และโคนบริเวณที่ติดกับพื้นดินจะถูกทำลายเน่าเสียเป็นสีดำ หรือน้ำตาล เมื่อผ่าต้นออกดูตามยาว จะเห็นอาการเน่าเช่นเดียวกับภายในต้นบางครั้งจะกินลามสูงขึ้นมาจนถึงใบและเส้นใบ โดยส่วนที่เน่าเสียจะมีสีเหลือง แดงหรือดำ แล้วแต่ความรุนแรงของโรค

สาเหตุโรค: Fusarium oxysporum f. sp. apii

เชื้อรานี้เมื่อเกิดโรคขึ้นครั้งหนึ่งเชื้อจะมีชีวิตอยู่ในดินต่อมาได้อีกนานหลายปี ยิ่งหากมีการปลูกพืชซํ้าลงในดินอีกก็จะเกิดโรคติดต่อกันไปได้เรื่อยๆ ขณะขึ้นเกาะกินหากพืชยังไม่ตายจะไม่ใคร่พบว่ามีการสร้างสปอร์ ต่อเมื่อพืชตายจึงจะมีการสร้างสปอร์รูปโค้งหรือจันทร์เสี้ยวปรากฏให้เห็นอยู่ ตามบริเวณเนื้อเยื่อที่ตายและเน่าเปื่อยเพื่อการระบาดและแพร่กระจายต่อไป

การเข้าทำลายพืช

จากสปอร์เมื่องอกเป็นเส้นใยแล้วก็จะเข้าไปภายในพืช โดยผ่านทางรากขนอ่อนไปเจริญเติบโตอยู่ภายในท่อส่งนํ้า ก่อให้เกิดการอุดตันขึ้นทำให้ไม่สามารถลำเลียงนํ้าอาหารขึ้น ไปเลี้ยงต้นได้เป็นปกติ ทำให้พืชแคระแกร็นชะงักการเจริญเติบโตและเหลืองในที่สุด ตั้งแต่ราเริ่มส่งเส้นใยเข้าไปในพืช จนกระทั่งแสดงอาการผิดปกติให้เห็นทั้งหมดจะใช้เวลาราว 20 วัน

เชื้อ F. oxysporum f. sp. upii สามารถเจริญเติบโตได้ดี ในดินที่มีความชื้นเพียงเท่าที่พืชขึ้นและเจริญเติบโตได้ ส่วนในการเข้าทำลายพืช (infection) นั้นค่อนข้างจะชอบดินแห้งมากกว่าดินที่เปียกชื้น ส่วนอุณหภูมิพบว่าโรคเกิดดี้ระหว่าง 20-32° ซ โดยเฉพาะที่ 28 °ซ จะดีที่สุด

การป้องกันกำจัด

1. รักษาดินปลูกให้สะอาดอยู่เสมอโดยเฉพาะดินแปลงกล้าหากไม่แน่ใจว่ามีเชื้อปะปนอยู่หรือไม่ ควรทำการอบฆ่าเชื้อเสียก่อนโดยอาจจะใช้ไอน้ำเดือดหรือสารเคมีต่างๆ เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ คลอโรพิคริน เมทิลโบรไมด์ และเทอราคลอร์

2. ควรงดหรือหลีกเลี่ยงการปลูกคึ่นฉ่ายซ้ำลงในดินที่เคยมีโรคมาก่อน

3. เลือกใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค

โรคก้านใบแตก (crack stem หรือ boron deficiency)

เป็นโรคสำคัญที่แพร่หลายและรู้จักกันดีที่สุด จะพบได้ในเกือบทุกท้องถิ่นที่มีการปลูกคึ่นฉ่าย แม้ว่าจะไม่ใช่โรคระบาดที่เกิดจากเชื้อหรือสิ่งที่มีชีวิตเช่นโรคอื่นๆ โรค ก้านใบแตกมีสาเหตุมาจากการขาดธาตุโบรอนซึ่งเป็นธาตุจำเป็นและสำคัญสำหรับคึ่นฉ่ายเช่นเดียวกับกะหล่ำปลีหรือกะหล่ำดอก อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นและทำความเสียหายให้เฉพาะกับคึ่นฉ่ายฝรั่งที่มีต้นโตก้านใบใหญ่เท่านั้น มักจะไม่ปรากฏในคึ่นฉ่ายจีนที่มีต้นเล็ก อาจจะมีบ้างก็น้อยหาได้ยาก

อาการของโรคก้านใบแตกหรือการขาดธาตุโบรอนของคึ่นฉ่ายจะเริ่มจากเกิดรอยแยกขึ้นที่ผิวของก้านใบตามขวางเป็นขีดๆ หรือเส้นเล็กๆ ยาวประมาณ 2-3 มม. เปลือกหรือผิวที่แตกออกจะม้วนงอกสับไปข้างหลัง ทำให้ก้านใบแลดูมีลักษณะเป็นขุยหรือแผลสะเก็ดเล็กๆ ขึ้น ต่อมาเมื่อโรครุนแรงขุยเหล่านี้จะหายไป เกิดเป็นแผลสีน้ำตาลขึ้นแทน ขนาดขยายโตและยาวขึ้นแต่ก็จะเป็นตามขวางกับก้านใบเช่นเดิม นอกจากอาการสำคัญดังกล่าวนี้แล้ว คึ่นฉ่ายที่ขาดโบรอน ยังอาจแสดงอาการอื่นๆ อีก เช่น รากไม่สมบูรณ์เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือไม่ก็เกิดแผลสีส้มเปลือกล่อนลอกหลุดออกโดยง่าย ปลายกุด ขอบใบไหม้ ก้านแข็ง เปราะหักง่ายและมีรสขม