การบริหารโรคของถั่วลันเตา

รายละเอียดของเรื่องนี้ส่วนหนึ่งได้มาจากผลการวิจัยของ โครงการ พ-ผ 5.1.27 ซึ่งผู้เรียบเรียงได้รับงบประมาณอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคถั่วลันเตาเป็นระยะเวลา 3 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2527-2529 ซึ่งเวลาก็ได้ผ่านมากว่า 7 ปีแล้ว แต่ข้อมูลที่ได้รับโดยเฉพาะ เรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารโรคก็ยังไม่ล้าสมัยเกินกว่าที่จะนำมากล่าวถึง ซึ่งยังสามารถใช้เป็นแนวทางหรือนำไปเลือกปฏิบัติกับพืชถั่วลันเตาที่มีการปลูกอยู่ในปัจจุบันได้โดยตรง หรืออาจนำไปดัดแปลงใช้บริหารกับโรคพืชผักที่ใกล้เคียงกันได้อีกด้วย

ถั่วลันเตาเป็นพืชผักที่นอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการ สูงแล้ว ยังมีราคาจำหน่ายในตลาดที่ค่อนข้างสูง เพราะเป็นพืชที่ต้องการความดูแลอย่างพิถีพิถันจึงจะได้ผลผลิตดี แต่ปัญหาที่สำคัญของการเพาะปลูกถั่วลันเตาก็คือศัตรูพืชพวกโรคและแมลง โดยเฉพาะโรคนั้นเป็นอุปสรรคต่อการปลูกถั่วลันเตามากที่สุด ทั้งนี้โรคที่พบระบาดกับถั่วลันเตาตามแหล่งปลูกบางแห่งของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และกาญจนบุรี ในช่วงระหว่างมกราคม 2527 – มกราคม 2529 มีทั้งหมด 10 โรค คือ โรคที่เกิดจากราพิเทียม (Pythium diseases) โรครากเน่าที่เกิดจากราไรช้อกโทเนีย (Rhizoctonia root rot) โรคเซ้าท์เทิร์นไบลท์ เนื่องจากราสเคลอโรเทียม (southern blight paused by Sclerotium sp.) โรคเหี่ยวหรือเหลืองเนื่องจาก ราฟิวซาเรี่ยม (Fusarium wilt or yellow) โรคใบและฝักจุดหรือไหม้เนื่องจากราแอสโคคายต้า (Ascochyta leaf and pod spot or blight) โรคราแป้ง (powdery mildew) โรคเน่าเปียกเนื่องจากราโคอเนฟอร์ร่า (Choanephora wet rot) โรคด่างเหลืองเนื่องจากไวรัส (yellow mosaic virus) โรคใบฝอยเนื่องจากมายโคพลาสมา (phyllody caused by Mycoplasma) และโรครากปมเนื่องจากไส้เดือนฝอย (root knot nematode) สำหรับโรคอื่นๆ ที่มีรายงานว่าพบระบาดกับถั่วลันเตา (Hagedom, 1984) นอกเหนือไปจาก 10 โรคข้างต้นนั้นได้แก่

โรคที่เกิดจากเชื้อรา : โรคที่เกิดจากรามายโคสฟีเรลล่า และโฟม่า (Mycosphaerella and Phoma diseases) โรคใบจุดเนื่องจากราเซอริ์โคสปอร์ร่า (Cercospora leaf spot) โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose caused by Colletotrichum pisi) โรคไหม้ที่เกิดจากราอัลเทอร์นาเรีย ราเซพทอร์เรีย ราเคลโดสปอร์เรี่ยม ราพิเทียม และราสเตมฟายเลี่ยม (Altemaria, Septoria, Cladosporium, Pythium and Stemphylium blights) โรคใบดำ (black leaf caused by Fusicladium pisicola) โรคราสีเทา (gray mold caused by Botrytis cinereal โรคราสีขาว (white mold caused by Sclerotinia sclerotiorum) โรคราน้ำค้าง (downy mildew caused by Peronospora viciae) โรคราสนิม (rust caused by Uromyces pisi) โรครากเน่าที่เกิดจากราอฟาโนมายซีส และโรครากเน่าดำเนื่องจากราเทลาวิออฟซีส (root rot caused by Aphanomyces euteiches and black root rot by Thielaviopsis basicola)

โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย : ที่พบว่าเกิดระบาดกับถั่วลันเตาเป็นประจำมีเพียง 2 โรค คือ โรคใบไหม้(bacterial blight caused by Pseudomonas syringae pv. pi si) และโรคใบจุดสีน้ำตาล (bacterial brown spot caused by Pseudomonas syringae pv. syringae)

โรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย : โรคลำต้นปม (balb nematode caused by Ditylenchus dipsacf) โรครากแผล (root lesion nematode caused by Pratylenchus thornei and P. crenatus) โรคปุ่มปม (cyst nematode caused by Heterodera goettingiana) และโรคบริเวณรากเนื่องจาก spiral nematode (Helicotylenchus vulgaris)

โรคที่เกิดจากไวรัส : พบโรคที่เกิดจาก pea enation mosaic virus (PEMV), pea streak virus (PSV), bean leaf roll virus (BLRV), pea seedbome mosaic virus (PSbMV), alfalfa mosaic virus (AMV), red clover vein mosaic virus (RCVMV), spotted wilt virus, cucumber virus, tobacco ringspot virus, lettuce mosaic virus, white clover mosaic virus และ bean yellow mosaic virus (BYMV)

นอกจากนี้ก็มีรายงานเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากสาเหตุไม่มีชีวิต (abiotic diseases) เช่น โรค marsh spot (ขาดธาตุแมกนีเซียม) และโรคขาดธาตุอาหารสำคัญอื่นๆ อีกหลายโรค

ในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดเฉพาะโรคถั่วลันเตาที่พบใน ประเทศไทย (สุดฤดี และกิติพงษ์, 2528) และโรคสำคัญอื่นๆ ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะพบระบาดในประเทศไทยพอเป็นสังเขป ทั้งนี้วิธีการป้องกันกำจัดที่ได้แนะนำไว้ในแต่ละโรคจะสามารถ นำไปใช้ปฏิบัติในไร่ถั่วลันเตาได้ทันที เพราะหลายวิธีได้ผ่าน การศึกษาทดลองมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนับเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ เกี่ยวข้องกับการปลูกถั่วลันเตาโดยตรง

1. โรคที่เกิดจากราพิเทียม (Pythiumdiseases)

Pythium spp. เป็นราที่จัดว่าทำลายถั่วลันเตาด้ทุกระยะ ทำให้เกิดโรคเมล็ดเน่าและทำลายต้นอ่อนขณะยังไม่โผล่พ้นดิน ทำให้เกิดโรคเน่าคอดิน โรคเหี่ยว รากเน่า ลำต้นเน่า และโรคไหม้ซึ่งจะเกิดอาการชัดเจนบริเวณใบและต้นถั่วลันเตาที่โตเต็มที่แล้วในประเทศไทยขณะที่ทำการศึกษาวิจัยจะพบอาการในระยะที่ถั่วลันเตาเจริญเป็นต้นโตซึ่งควรเรียกว่าโรคไหม้ (Pythium blight) ที่ท้องที่อำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์

อาการโรค ถั่วลันเตาในขณะที่พบจะแสดงอาการเหี่ยว ใบล่างเริ่มเหลือง และไหม้ ต้นจะแคระแกร็นเมื่อเทียบกับพืชปกติ เมื่อถอนขึ้นมาดูพบระบบรากถูกทำลายไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร รากที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะมีสีนํ้าตาลอ่อนถึงเข้ม และเริ่มอาการเน่า อย่างไรก็ตาม เชื้อสาเหตุโรคนี้โดยทั่วไปสามารถทำให้เมล็ดและต้นอ่อนเน่าตายทำให้เกิดโรคเน่าคอดิน โรคเหี่ยว รากเน่า และลำต้นเน่ากับต้นกล้าที่เจริญโผล่พ้นดินขึ้นมาแล้ว ซึ่งเมื่อถอนต้นกล้าที่เป็นโรคเพียงเบามือก็จะหลุดจากดินมาได้โดยง่าย เพราะระบบรากถูกราชนิดนี้ทำลายอย่างรุนแรง โรคนี้จะขยายลุกลามออกไปยังบริเวณข้างเคียงอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าเป็นในระยะต้นกล้าก็จะเกิดล้มตายเป็นหย่อม ถ้าเป็นกับต้นที่โตแล้ว เช่น ที่พบตามท้องที่ อ.หล่มสัก ก็จะทำให้ถั่วลันเตายืนต้นแห้งตาย ซึ่งการที่ต้นไม้ล้มพับลงมา สาเหตุหนึ่งก็อาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงที่ถั่วลันเตาถูกขึ้นค้างค้ำไว้แล้วนั่นเอง

สาเหตุโรค เกิดจาก Pythium sp. ที่เมื่อนำไปพิสูจน์ โรคจะสามารถทำให้ถั่วลันเตาแสดงอาการเหี่ยวได้ในเวลา 3 วันหลังปลูกเชื้อและต่อมาอีก 10 วัน รากและลำต้นก็จะเน่าตายทั้งหมด ราชนิดนี้เจริญในอาหาร PDA ได้ดี เส้นใยมีลักษณะฟู สีขาวเจริญหนาแน่นเต็มจานเลี้ยงเชื้อภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ขณะอยู่ในอาหารเลี้ยงเชื้อจะสามารถสร้างได้ ทั้ง sporangium แบบ inflated filamentous ซึ่งเป็นระยะการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศที่เชื้อใช้เป็นเชื้อก่อโรค (inoculum) และ oospore ที่เป็นระยะการขยายพันธุ์แบบใช้เพศที่เชื้อจะใช้อยู่ข้ามฤดูได้ดี (กิตติพงษ์, 2531) อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเชื้อสาเหตุโรค Pythium diseases ที่เกิดกับถั่วลันเตานั้นมีอยู่หลายชนิด คือ P. ultimum, P. aphanidermatum, P. irregulare, P. spinosum, P. splendens, P. debaryanum, P. acanthicum, P. aquatile และ P. andrum (Hagedorn, 1984)

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค เชื้อจะเจริญ และเข้าทำลายเมล็ดถั่วลันเตาที่เพาะอยู่ในดินในช่วงอุณหภูมิที่ค่อนข้างกว้าง แต่เชื้อจะทำลายเมล็ดได้ดีขึ้นถ้าอากาศเย็น เพราะอุณหภูมิต่ำทำให้เมล็ดถั่วลันเตางอกช้า เชื้อจึงมีโอกาสทำลายเมล็ดได้มากขึ้น นอกจากนี้โรคจะเกิดรุนแรงขึ้น ถ้าดินมีความชื้นสูง เพราะเชื้อก่อโรคพวก zoospore และ conidium หรือ oospore จะงอกอย่างรวดเร็วภายในเวลา 1-3 ชั่วโมง และเข้าทำลายเปลือกหุ้มเมล็ดได้ในเวลาต่อมาทันที และหากเปลือกหุ้มเมล็ดมีแผลฉีกขาดจะเป็นเหตุให้มีสารระเหยออกมากระตุ้นให้เชื้อสาเหตุเข้าทำลายเมล็ดและต้นกล้าได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น (chemotaxis) โดยช่วงที่ต้นกล้าอ่อนแอต่อโรคนี้ที่สุดจะมีอายุระหว่าง 48-72 ชั่วโมง หลังงอก

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกเร็วกว่า 48-72 ชั่วโมง จะทำให้เมล็ดและต้นกล้าเกิดโรคน้อยลง

2. ใช้เมล็ดถั่วลันเตาสายพันธุ์ที่มีผิวเรียบจะเป็นโรคเน่าน้อยกว่าเมล็ดพันธุ์ที่มีผิวขรุขระเพราะเมล็ดพันธุ์ขรุขระ จะมีสารระเหยซึมออกมามากกว่าพวกผิวเรียบ

3. ใช้สายพันธุ์ที่เปลือกหุ้มเมล็ดสีเข้มจะเป็นโรคน้อยลง เพราะสีนั้นเป็นพิษต่อเชื้อสาเหตุ อย่างไรก็ตาม พบว่าสีของเมล็ดก็ไม่ใช่ลักษณะที่นักปรับปรุงพันธุ์พืชจะทำการถ่ายทอดหรือปรับปรุงได้ง่าย หรือพันธุ์ที่ต้านทานโรคเมล็ดเน่าก็จะไม่สัมพันธ์กับการต้านทานต่อโรครากเน่า จึงเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องเลือกไปปฏิบัติในพื้นที่เป้าหมายด้วยตนเอง

4. จัดการเกี่ยวกับระบบการเขตกรรมให้ดี โดยเฉพาะเรื่องการระบายน้ำและอากาศในแปลงปลูกไม่ให้มีน้ำท่วมขังหรือต้นกล้าขึ้นหนาแน่นมากเกินไป ทำการไถพรวนดินก่อนปลูกไม่ต่ำกว่า 1-2 ครั้ง เพื่อกำจัดเชื้อก่อโรคที่อาจตกค้างอยู่ตามดินให้ลดน้อยลง

5. หากอุณหภูมิในช่วงที่จะปลูกถั่วลันเตาค่อนข้างต่ำอาจจำเป็นต้องเพาะกล้าในดินอุ่นหรือดินที่เย็นน้อยกว่าเสียก่อนแล้วจึงย้ายกล้าลงแปลง ซึ่งวิธีนี้อาจเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก แต่ผลที่ได้ก็จะคุ้มทุนตรงที่นอกจากถั่วลันเตาจะแข็งแรงทนต่อโรคที่เกิดจากราพิเทียมแล้วยังสามารถรอดพ้นจากการทำลายของโรคบริเวณรากและโคนต้นอื่นๆ ได้ด้วย

6. อาจใช้สารเคมีควบคุมรา (fungicides) คลุกเมล็ดถั่วลันเตาก่อนปลูกควบคู่ไปกับการป้องกันกำจัดวิธีอื่นด้วย สารที่ใช้ก็มีทั้งชนิดสัมผัสและดูดซึม สารชนิดสัมผัสก็เช่น แคปแทน (captan) หรือเทอราคลอร์ (Terrachlor) ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม fenaminosulf อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนสารดูดซึมที่นิยมนำมาใช้คลุกเคล้าก็คือสารในกลุ่มของเมทาแลคซีล (metalxyl) เป็นต้น

7. ปัจจุบันมีรายงานว่าสามารถใช้ราแอนตาโกนิสท์ (antagonistic fungus) ที่มีชื่อว่า ไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma sp.) คลุกเมล็ดหรือใส่ลงไปในหลุมที่หยอดเมล็ดถั่วลันเตาไว้แล้ว จะช่วยป้องกันรากของถั่วลันเตาได้ประมาณ 30-35 วันหลังงอกทั้งนี้รูปแบบของราแอนตาโกนิสท์ ที่จะนำไปใช้ในลักษณะของการควบคุมโรคด้วยชีวินทรีย์เช่นนี้ จะต้องเหมาะสมจึงจะได้ผล ซึ่งผู้สนใจสามารถที่จะติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.จิระเดช แจ่มสว่าง ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2.โรครากเน่าโคนเน่าเนื่องจากราอฟาโนมายซีส (Aphanomyces root and hypocotyl rot)

โรคนี้ยังไม่มีรายงานว่าพบเกิดกับถั่วลันเตาในประเทศไทย

(สุดฤดี และกิติพงษ์, 2528) แต่มักมีรายงานว่าเกิดกับถั่วลันเตาตามแหล่งปลูกทั่วโลกเสมอ (Hagedorn, 1984) โดยจะพบควบคู่ไปกับ Pythium spp. แต่ Aphanomyces sp. จะทำการแยกเชื้อได้ยากตลอดจนมีการเจริญที่ช้ากว่า Pythium spp. มาก จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะมีเชื้อนี้ระบาดอยู่ตามแหล่งปลูกถั่วลันเตาของไทย แต่มีเหตุบางประการที่ทำให้วิจัยไม่พบดังกล่าว โรคนี้สามารถทำให้เกิดโรครากเน่ากับถั่วลันเตา ที่อาจทำความเสียหายให้ถึง 75-100% (Hagedorn, 1984)

อาการโรค จะมีลักษณะเช่นเดียวกับโรคเน่าคอดินของต้นกล้า เนื่องจาก Pythium spp. แต่โรคนี้จะไม่ทำลายเมล็ด หรือไม่ทำให้เกิดโรคเมล็ดเน่า (seed rot or pre-emergence damping-off) มักจะเกิดกับต้นกล้าที่งอกโผล่พ้นดินขึ้นมาแล้วแต่เป็นต้นกล้าที่ยังเล็กอยู่มาก หากเป็นต้นกล้าที่โตขึ้นมาจะประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำลายของ Pythium spp. หรือเชื้ออื่นมากกว่า อาการระยะแรกของโรคนี้จะทำให้รากเกิดแผลสีนํ้าตาลปนเหลืองหลังจากเชื้อเข้าไปในราก 3-4 วัน แผลจะขยายลุกลามทำลายระบบรากได้ทั้งหมด แผลมีลักษณะชุ่มน้ำไม่มีสี ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือชมพู ขณะเดียวกันรากก็จะกลายเป็นสีดำคลํ้าในที่สุดเนื่องจากมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นเข้าทำลายซํ้าทำให้รากอ่อนนิ่มและเน่า เนื้อเยื่อรอบรากแก้วจะเปื่อยหลุดเหลือแต่แกน ต้นกล้าจะชะงักการเจริญและถึงตาย ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม ราสาเหตุจะเจริญลุกลามจากบริเวณรากขึ้นมายังส่วนเหนือพื้นดินเห็นเป็นเส้นใยสีขาวชัดเจน พร้อมกันนั้นก็จะทำลายให้เกิดเป็น แผลเน่าสีนํ้าตาลขึ้นตามบริเวณดังกล่าว เมื่อแผลลุกลามไปถึงจุดเจริญหรือส่วนยอดก็จะทำให้ต้นกล้าเน่าตายทั้งหมด

สาเหตุโรค เกิดจาก A. euteiches f.sp. pisi Pfender & Hagedorn เป็นราที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับ Pythium spp. คือ สร้าง oospore ลักษณะรูปไข่ใช้อยู่ข้ามฤดู เมื่อถึงระยะประกอบ กิจกรรมก็จะงอกเป็นเส้นใย (hyphae) หรือ sporangium เข้าทำลายต้นกล้าถั่วลันเตา โดย sporangium นั้นมีลักษณะ คล้ายคลึงกับเส้นใยมาก จึงเป็นลักษณะที่แตกต่างจาก sporangium ของ Pythium spp. นอกจากนี้พบว่า zoospore ที่เกิดจาก sporangium ของ A. euteichesจะมีการ encysted หรือเข้าเกราะ (เคลื่อนที่ไปสักระยะหนึ่งแล้วหยุดและสลัด flagellae ทิ้ง) ถึง 2 ครั้ง จึงจะเข้าทำลายต้นกล้าถั่วลันเตาได้ ซึ่งก็แตกต่างไปจาก Pythium spp. ที่มี encysted zoospore เพียงครั้งเดียวก่อนเข้าทำลายพืช (infection) โดยครั้งแรกจะมีการเข้าเกราะที่ปากทางออกของ sporangium เป็นเวลา 1-3 ชม. (primary zoospores) จากนั้นจึงจะสร้าง secondary zoospores ที่มี flagella 2 เส้น ที่มีชีวิตได้นาน 4-5 วัน จนกว่าจะพบรากถั่วลันเตาและก่อให้เกิดการติดเชื้อขึ้น

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค เชื้อนี้จะพบ มากในดินร่วนปนทรายที่ชุ่มชื้น อุ้มน้ำ และในบริเวณที่มีการปลูกถั่วลันเตาติดต่อกันหลายฤดู โดยไม่มีการหมุนเวียนไปปลูกพืชอื่น หรือแม้แต่บริเวณที่เว้นการปลูกถั่วลันเตาไว้เป็นปีโดยมิได้ปลูกพืชอื่นทดแทน เมื่อย้ายกลับไปปลูกถั่วลันเตาอีกครั้งหนึ่งก็อาจมีโรคนี้ระบาดรุนแรงได้ เพราะ oospore ของเชื้อสาเหตุระบาดอยู่ข้ามฤดูในดินได้นาน 4-6 ปีนั่นเอง oospores เหล่านี้ยิ่งอยู่ในดินนานก็จะยิ่งมีความสามารถในการงอกเข้าทำลายถั่วลันเตา (germination) เพิ่มขึ้น เช่น ถ้าอยู่ข้ามฤดูเพียง 1 ปี จะมีความงอกเพียง 1% แต่ถ้าอยู่ในดินนาน 2-3 ปีการงอกจะเพิ่มขึ้นถึง 50% และเนื่องจากรานี้เป็นรานํ้า (water mold) ดังนั้นจึงชอบดินชุ่มชื้นที่มีนํ้าท่วมขัง เช่นเดียวกับโรคแรก การปลูกถั่วลันเตาในฤดูฝนจึงมีปัญหาเกี่ยวกับการระบาดของโรคนี้มากกว่าฤดูอื่น หรือแม้ว่าจะปลูกในฤดูแล้งแต่หากเกษตรกรรดน้ำให้ดินชุ่มชื้นติดต่อกันอยู่เสมอก็จะเกิดโรคนี้รุนแรงเช่นกัน เชื้อนี้ชอบดินที่มี อุณหภูมิสูงกว่า Pythium spp. เล็กน้อย โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญของ A. euteiches ประมาณ 28° ซ. และเชื้อจะงอกได้ดีในฤดูร้อนที่มีฝนตกชุก ข้อมูลเหล่านี้จึงน่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อนี้ระบาดกับถั่วลันเตาที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยได้ดี

การป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดที่ให้ผลดีที่สุด ได้แก่ การใช้วิธีการเขตกรรมที่เหมาะสมเช่นเดียวกับ Pythium diseases เช่น หลีกเลี่ยงการปลูกถั่วลันเตาในดินที่มีการเปื้อนปนของเชื้อสาเหตุ การจัดการระบายน้ำหรือการให้น้ำกับพืชอย่างเหมาะสม ตลอดจนการปลูกพืชหมุนเวียนจะช่วยลดการระบาดของโรคได้ ทั้งนี้ควรหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 6-7 ปีขึ้นไป กับพืชพวกมันฝรั่ง บีท ข้าวโพด หรือกะหล่ำปลี อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่สามารถใช้สารเคมีที่ให้ผลเช่นเดียวกับโรคแรกได้ โดยเฉพาะสาร metalaxyl นั้นไม่สามารถระงับการเจริญของเชื้อนี้เลย มีเพียงรายงานว่าสารควบคุมวัชพืชบางชนิด (herbicides) อาจมีผลทำให้โรคนี้ลดการระบาดลง แต่ก็ยังไม่มีงานทดลองยืนยันเพิ่มเติม นอกจากนี้ก็ควรปรับปรุงธาตุ อาหารบำรุงถั่วลันเตาให้เหมาะสมเพื่อให้รากแข็งแรงทนทาน ต่อเชื้อโรค หรือการลดปริมาณเชื้อโรคในดินให้น้อยลงก็ควรปฏิบัติควบคู่กันด้วย เช่น อาจใช้สารพวก chloropicrin หรือ chlorobro moproprene อบหรือรมดิน (fumigation) จะช่วยให้ถั่วลันเตารอดพ้นจากการทำลายด้วยโรคนี้ได้ประมาณ 2 ปี นอกจากนี้ก็มีรายงานว่า การใช้ปุ๋ยพืชสดที่ทำจากผักตระกูลกะหล่ำ (crucifers) คลุกดิน จะช่วยลดการระบาดของโรคลงได้เช่นกัน

3. โรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดจากราไรซ้อกโทเนีย (Rhizoctonia root rot)

ราชนิดนี้มีระบาดอย่างกว้างขวางกับพืชชนิดต่างๆ ทั่วโลก ไม่เฉพาะกับถั่วลันเตา มักจะพบเกิดระบาดควบคู่ไปกับรา Fusarium sp. เสมอในประเทศไทยพบโรคนี้ระบาดมากที่แปลงปลูกของสถานีทดลองพืชสวน ดอยมูเซอ จ.ตาก และพบระบาดทั่วไปที่แปลงปลูกของเกษตรกร อ.สันทราย และอ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบเกิดกับถั่วลันเตาพันธุ์ไต้หวันดอกสีขาวพันธุ์พื้นเมืองฝักเล็กดอกสีขาวและฝักใหญ่ดอกสีม่วง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกอยู่ในท้องถิ่นดังกล่าวขณะนั้น (สุดฤดี และกิตติพงษ์, 2528)

อาการโรค

เชื้อสาเหตุจะทำให้เกิดโรคได้ทั้งส่วนของเมล็ดและต้นอ่อน แต่ในระยะออกดอกและติดฝักก็สามารถพบการรบกวนจากเชื้อนี้ได้เช่นกัน อาการเริ่มแรกจะพบเกิดกับต้นกล้าตรงส่วนของ hypocotyl และ epicotyl เกิดเป็นแผลชุ่มนํ้าสีนํ้าตาลปนแดง หรือน้ำตาลเข้มบุ๋มลงไปจากผิว ต่อมาแผลมีลักษณะคล้ายเป็นสะเก็ดและเมื่อขยายลุกลามไปทุกด้าน โดยเฉพาะโดยรอบลำต้นก็จะทำให้พืชเหี่ยว ใบล่างนั้นเหลืองและจะลามขึ้นสู่ยอด ทำให้ต้นกล้าตายในที่สุด ในระยะที่ต้นพืชเหนือดินยังแสดงอาการเหลืองและเหี่ยวไม่มาก ส่วนของรากที่ถอนขึ้นมาตรวจสอบจะยังอยู่ในสภาพดีแต่ถ้าพืชแสดงอาการเหี่ยวชัดเจนจะพบว่าส่วนของเนื้อเยื่อรากภายใน (pith) ถูกทำลายหมดสิ้น ถั่วลันเตาที่ถูกปลูกเชื้อ (artificial inocu­lation) โดยวิธีตัดชิ้นวุ้นที่มี Rhizoctonia sp. เจริญอยู่ไปวางให้สัมผัสบริเวณโคนต้นจะเริ่มแสดงอาการภายใน 2 วัน หลังปลูกเชื้อ โดยพบจุดสีนํ้าตาลบริเวณรอบโคนต้นติดกับ ผิวดิน ต่อมาจะพบเส้นใยฟูสีขาวและเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล ต่อ จากนั้นจะมีการสร้างเม็ด sclerotium ซึ่งในระยะนี้ใบล่างของถั่วลันเตาเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองลามขึ้นด้านบน ลำต้น เริ่มหักพับและระบบรากถูกทำลายอย่างรวดเร็ว

สาเหตุโรค เกิดจาก Rhizoctonia solani Kuhn ซึ่งเจริญได้ดีบนอาหารเลี้ยงเชื้อราธรรมดา (PDA), มีเส้นใยค่อนข้างหยาบสีขาวปนน้ำตาล และมักจะพบผนังกั้นตามขวางเส้นใย (cross wall) เฉพาะบริเวณที่ใกล้กับเส้นใยที่มีการแตกแขนง ทั้งนี้การแตกแขนงของเส้นใยจะตั้งฉากจากเส้นใยเดิม เมื่อเส้นใยเจริญเต็มที่จะสร้างเม็ด sclerotiun รูปร่างค่อนข้างกลม ผิวไม่เรียบ สีนํ้าตาลถึงนํ้าตาลเข้ม เส้นใยของราสาเหตุโรคชนิดนี้จะมาเกาะประสานกันอย่างหลวมๆ มีลักษณะโครงสร้างคล้ายเส้นใยโป่งพองออกมาเรียก monilioid cell

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค โรคจะเกิดการระบาดมากในดินที่มีอุณหภูมิ 18° ซ. และอุณหภูมิของอากาศอยู่ในช่วงระหว่าง 21-25° ซ. และถ้าดินมีความชื้นสูง หรือดินชั้นบนมีอินทรีย์วัตถุมากจะทำให้เกิดโรคเน่ารุนแรงมากยิ่งขึ้น เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ตามดินได้นานในลักษณะของ sclerotia และแพร่ระบาดไปได้ดีโดยติดไปกับวัสดุเกี่ยวกับการปลูกทางการเกษตรทุกชนิดรวมทั้งเมล็ดถั่วลันเตา (seedborne) นอกจากนี้เชื้อสาเหตุโรคก็อาจจะอยู่ข้ามฤดูในพืชอาศัยยืนต้นอื่นหลายชนิด เพราะจัดเป็นเชื้อโรคที่มีพืชอาศัยกว้าง

การป้องกันกำจัด

การคลุกเมล็ดถั่วลันเตาด้วยสารเคมีก่อนปลูกเช่นเดียวกับโรครากเน่าหรือโรคเน่าคอดิน เนื่องจาก Pythiumsp. จะช่วยป้องกันเฉพาะโรคเมล็ดเน่า (seed rot หรือ pre­emergence damping-off) เนื่องจาก Rhizoctonia sp. เท่านั้น ไม่สามารถควบคุมได้กับกล้าถั่วลันเตาที่งอกออกมาแล้ว ทั้งนี้ หากต้นอ่อนงอกโผล่พ้นดินขึ้นมาแล้วมีรายงานว่าอาจใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราพวก PCNB หรือ quintozene ชนิดเม็ด อัตรา 14 กรัมโรยลงบนผิวดินรอบโคนต้นในพื้นที่ปลูกถั่วลันเตา 7 ตารางเมตร จะช่วยป้องกันโรคโคนเน่าระยะต้นอ่อนหรือต้นโตที่เกิดจากราชนิดนี้ได้

การป้องกันกำจัดในลักษณะอื่นสามารถปฏิบัติได้เช่นเดียวกับโรค Pythium diseases รวมทั้งการใช้เชื้อ Trichoderma sp. คลุกเมล็ด หรือหยอดหลุมก่อนปลูกถั่วลันเตาซึ่งเป็นการควบคุมโรค โดยชีววิธีที่มีรายงานว่าได้ผลในต่างประเทศ

4. โรคโคนเน่าหรือต้นไหม้หรือเซ้าท์เทิร์นไบลท์ เนื่องจากราสเคลอโรเทียม (Scierotium stalk rot or southern blight)

โรคนี้จะทำลายพืชต่างๆ ทั้งใบเลี้ยงเดี่ยวและคู่ที่เจริญอยู่ ตามเขตร้อนชื้นและกึ่งร้อนชื้นของโลกได้กว้างขวางไม่ต่ำกว่า 500 ชนิด (species) โดยจะก่อให้เกิดความเสียหายมากกับพืชในตระกูลถั่ว (legumes) มะเขือ-พริก (solanaceous crops) แตง (cucurbits) ตลอดจนพืชผักอื่นๆ ที่นำไปปลูกหมุนเวียนกับพืชตระกูลถั่ว เป็นโรคที่มีชื่อเรียกแตกต่างออกไปตามแหล่งระบาดและชนิดพืชที่ถูกทำลายอีกหลายชื่อ เช่น crown rot, southern wilt หรือ southern stem rot นอกเหนือไปจากชื่อที่ขึ้นหัวข้อโรคไว้ข้างต้น ในประเทศไทยขณะที่ทำการสำรวจจะพบในทุกแหล่งที่มีการปลูกถั่วลันเตา แต่จะพบระบาดมากกับถั่วลันเตาพันธุ์ไต้หวันดอกสีขาวที่ปลูกอยู่ ณ สถานีวิจัยพืชสวนปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

อาการโรค

จะใกล้เคียงกับการทำลายของ Rhizoctonia sp. โดยเชื้อ สามารถเข้าทำลายถั่วลันเตาได้ทุกระยะ ทำให้ใบเลี้ยงหรือใบ ด้านล่างเหลืองและมีลักษณะชุ่มนํ้า การติดเชื้อครั้งแรกมัก เกิดขึ้นที่โคนต้นระดับดินแล้วจึงลุกลามลงลำต้นใต้ดิน ทำให้รากเน่าดำ ใบเหี่ยวหุบลู่ลง เชื้อสาเหตุจะเจริญขึ้นมาบนลำต้น และผลิตได้ทั้ง oxalic acid, pectic enzymes และ cellulolytic enzyme จนสามารถเข้าไปรบกวนระบบท่อน้ำ ท่ออาหารได้ ทำให้ลำต้นเหนือพื้นดินเน่าดำ ถ้าดินมีความชุ่มชื้นสูงแผลจะลุกลามเน่าไปโดยรอบโคนต้น ต้นถั่วเหี่ยว แห้งและตาย ที่บริเวณโคนต้นถั่วเป็นโรคจะพบเส้นใยสีขาว และเม็ด sclerotia ของเชื้อสาเหตุที่มีขนาดไม่ค่อยสม่ำเสมอ โดยมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ปะปนกัน ซึ่งไม่ค่อยกลมเหมือน sclerotia ของ Rhizoctonia sp. เม็ด sclerotia เหล่านั้นจะมีสีขาวปนน้ำตาลในระยะแรกที่เกิดขึ้นใหม่ ต่อมาจึงกลายเป็นสีนํ้าตาลเข้ม ต้นถั่วที่ได้รับการปลูกเชื้อทดลองจะเริ่มแสดงอาการภายใน 2 วัน โดยจะพบแผลสีน้ำตาลทั้งที่บริเวณรากและโคนต้น ในระยะเวลาต่อมาเชื้อจะเจริญสร้างเส้นใย และเม็ด sclerotia ขึ้นปกคลุมและทำลายต้นอ่อนเกือบ ทั้งหมด ทำให้ถั่วลันเตาที่ทำการทดลองตายภายในเวลา 5 วัน หลังปลูกเชื้อ (สุดฤดี และกิตติพงษ, 2528)

สาเหตุโรค เกิดจาก Scierotium rolfsii Sacc. เชื้อนี้เจริญได้ดีบน PDA พบเส้นใยที่ค่อนข้างหยาบ สร้าง clamp connection ในเส้นใยหลัก (main hyphae) พบเส้นใยที่แตกแขนงออกมาครั้งแรก (secondary hyphae) ทำมุมแหลมกับ main hyphae และเส้นใยที่แตกแขนงออกมาครั้งที่ 2(tertiary hyphae) จะทำมุมฉากกับ secondary hyphae เชื้อสร้างเม็ด scierotium ค่อนข้างกลมคล้ายเมล็ดผักกาด เม็ด scierotium ที่ยังอ่อนอยู่จะมีสีขาว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เมื่อโตเต็มที่จะมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค เชื้อสาเหตุ เจริญได้ดีในสภาพอุณหภูมิและความชื้นสูง ถั่วลันเตาที่มีทรงพุ่มใบล่างสัมผัสและปกคลุมดิน บริเวณโคนต้นมีร่มเงาและความชื้นตลอดเวลา จะทำให้โรคเกิดรุนแรง และถั่วลันเตาที่ปลูกในดินร่วนปนทรายจะเกิดโรคนี้ระบาดมากกว่าดินชนิดอื่น หรือดินชุ่มชื้นที่มีอินทรีย์วัตถุปะปนอยู่มากก็จะทำให้เกิดโรครุนแรงเช่นกัน ซึ่งก็อาจเป็นเพราะสภาพดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยข้ามฤดูของ sclerotia เชื้อสาเหตุได้นานหลายเดือน ทั้งนี้หาก sclerotia นั้นอยู่ในดินชุ่มอุ้มนํ้าตามลำพังโดยไม่มี หรือเกาะติดกับอินทรีย์วัตถุแล้วจะฝ่อตายอย่างรวดเร็ว แต่จะทนต่อระบบย่อยอาหารของสัตว์เลี้ยงต่างๆ ที่กินเข้าไปได้ เมื่อถูกปล่อยออกมาทางระบบขับถ่ายก็จะก่อให้เกิดโรคได้ดังเดิม เชื้อเจริญได้ที่อุณหภูมิค่อนข้างกว้าง ระหว่าง 15-37° ซ. แต่ที่เหมาะสมคือ 30° ซ. ดังนั้นโรคนี้จึงไม่เกิดหรือเกิดน้อยมากกับพืชที่เจริญอยู่ในเขตอบอุ่นถึงเย็น การฉีดพ่นนํ้าที่มีกำลังแรงให้กับถั่วลันเตา ก็มีส่วนที่จะทำให้โรคระบาดไปทั่วพื้นที่ปลูกอย่างรวดเร็ว

การป้องกันกำจัด

การลดการระบาดของโรคนี้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะ เกี่ยวข้องกับการนำหลักการเขตกรรมที่เหมาะสม (cultural methods) มาใช้บริหารดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการปลูกถั่วลันเตาให้พ้นจากปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค เช่น อย่าให้โคนต้นมีร่มเงาหรือชุ่มชื้นติดต่อกันตลอดเวลา หรือหากมีการให้น้ำกับพืชก็จะต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นการช่วยแพร่ระบาดโรคให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือไม่ควรพรวนดินให้ไปสัมผัสโคนต้นพืช เพราะจะเป็นการชักนำเชื้อให้เข้าทำลายพืชได้เร็วยิ่งขึ้น หรือควรเลี่ยงไปปลูกถั่วลันเตาขณะอุณหภูมิในดินค่อนข้างอุ่นถึงเย็น จะลดการติดเชื้อลงได้

2. หากจำเป็นต้องปลูกถั่วลันเตาซํ้าในที่เดิม ก่อนที่จะปลูกฤดูใหม่ควรไถพรวนและพลิกดินลึกไม่ต่ำกว่า 20-25 ซม. เพื่อกลบหรือฝังทิ้งเศษซากพืชและเมล็ด sclerotia ของเชื้อสาเหตุ ตลอดจนป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคนี้ได้มีโอกาสสัมผัสกับโคนต้นและรากถั่วลันเตา นอกจากนี้หากเม็ด sclerotia บนผิวดินถูกแสงแดดจัด (อุณหภูมิ 35-40° ซ.) นานประมาณ 1 สัปดาห์ขึ้นไปก็อาจตายได้

3. เนื่องจากเชื้อสาเหตุชนิดนี้มีพืชอาศัยอ่อนแอต่อโรคที่กว้างมาก จึงควรมีระบบการป้องกันกำจัดวัชพืชควบคู่กันไปด้วย เช่น อาจจะมีการใช้สารควบคุมวัชพืช หรือใช้แรงงานมือถอนทิ้งทันทีที่โผล่แทรกซ้อนขึ้นมา ไม่ควรใช้วิธีการไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืชขณะถั่วลันเตาเจริญอยู่ในแปลงปลูก เพราะจะเป็นช่องทางให้เชื้อก่อโรคเข้าทำลายพืชอาศัยหลักได้ง่าย

4. มีรายงานว่าการใส่ปุ๋ยหมักหรืออินทรีย์วัตถุลงไปในดินจะช่วยลดความรุนแรงของโรคและเพิ่มผลผลิตของพืชได้ดี (Hall, 1991) รวมทั้งการปลูกพืชหมุนเวียนระหว่างถั่วลันเตาสลับกับพืชพวกข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือพืชตระกูลหญ้าอื่นๆ จะช่วยลดการระบาดของโรคได้ แต่กำจัดเชื้อให้หมดไปจากดินที่เคยเป็นโรคมาก่อนไม่ได้

5. การใช้วิธีควบคุมโรคโดยจุลินทรีย์เช่นเดียวกับ 3 โรคแรกก็สามารถปฏิบัติได้ในลักษณะของการควบคุมเชื้อที่ติดมากับเมล็ดและอยู่ในดิน (seed and soil treatments) ด้วยการใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีลักษณะข่ม (antagonistic microbes) ซึ่งในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยออกมาแล้วทั้งใน และต่างประเทศ

6. หากจะใช้สารเคมีควบคุมเชื้อสาเหตุโรคในดิน เช่นเดียวกับโรคแรกก็อาจได้ผลบ้างโดยเฉพาะสารในกลุ่มของ fenaminosulf แต่ทั้งนี้ควรให้แบบปล่อยไปตามร่อง (furrow) หรือโรยบนผิวดินระหว่างแถวพืชจะให้ผลดีกว่าการให้ในลักษณะอื่น

5. โรคเหี่ยวหรือรากเน่าเนื่องจากราฟิวซาเรี่ยม (Fusarium wilt or root rot)

โรคนี้เกิดกับถั่วลันเตาได้ทุกระยะ ถ้าเกิดในระยะต้นอ่อน จะเรียกโรครากเน่าหรือโคนเน่า (root or foot rot) แต่ขณะที่ทำการศึกษาวิจัยจะพบเกิดกับต้นโตซึ่งก่อให้เกิดอาการเหี่ยวหรือเหลือง (wilt or yellow) พบระบาดกับถั่วลันเตาไต้หวันดอกสีขาวและพันธุ์พื้นเมืองฝักเล็กดอกสีขาว อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และ อ.หล่มสัก และ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

อาการโรค จะเริ่มพบในใบล่างที่อยู่ใกล้โคนต้นเริ่มเหลือง ขอบใบม้วนงอลงด้านใต้ ถ้าเกิดขึ้นในระยะต้นอ่อนถั่วลันเตาจะแคระแกร็นปล้องบริเวณโคนต้นจะหนาใบและลำต้นเปราะ ถ้าเป็นกับต้นโตใบที่อยู่ล่างสุดจะเหลืองเหี่ยวและลุกลามชี้ไปจนถึงส่วนยอดใบจะร่วงก่อนกำหนดหากโรคระบาดรุนแรงก็จะเกิดอาการเหี่ยวแห้งตายทั้งต้น ถ้าเชื้อเข้าทำลายในระยะเริ่มสร้างฝักจะทำให้ฝักไม่ติดเมล็ด และฝักมีลักษณะแบน ในช่วงที่ใบเริ่มเหลืองหรือม้วนงอลงด้านล่างโดยที่ยังไม่ร่วงหรือแห้งนั้น หากถอนรากขึ้นมาสำรวจจะพบว่าถั่วลันเตายังมีระบบรากที่สมบูรณ์เช่นเดียวกับพืชปกติ แต่จะมีรากฝอยเกิดขึ้นมากกว่าเดิม และหากผ่าตามยาวดูลำต้นหรือรากภายใน จะพบเนื้อเยื่อของท่อนํ้าท่ออาหารเปลี่ยนจากเขียวเป็นนํ้าตาล เมื่อโรคส่วนเหนือพื้นดินรุนแรงเกิดอาการเหลืองเหี่ยวเป็นหย่อมๆ ทั่วแปลงปลูก จะพบอาการโคนต้นเริ่มยุบตัวและต้นอาจล้มฟุบได้หากถั่วลันเตายังไม่ขึ้นค้าง ส่วนของรากในระยะนี้จะมีสีน้ำตาลแดงจนถึงดำเป็นทางยาวและเน่าแห้งตายในที่สุด จากการทดลองถั่วลันเตาที่ได้รับการปลูกเชื้อด้วยโคนีเดียของเชื้อสาเหตุ (conidial suspension) จะเกิดอาการใบล่างเหลืองเหี่ยวภายในระยะเวลา 10 วัน

สาเหตุโรค เกิดจาก Fusarium oxysporum f.sp. pisi

(Linford) Synder & Hensen มีเส้นใยขาวใสเมื่อเจริญบน PDA สร้าง chlamydospore รูปกลมทั้งในลักษณะเดี่ยว หรือเป็นคู่ติดต่อกันระหว่างเส้นใย (intercalary chlamy- dospore) อาจพบเกิดฃึ้นที่ปลายเส้นใยที่แตกแขนงออกไปจากเส้นใยหลักบ้าง (terminal chlamydospore) เชื้อนี้พบว่าสร้าง conidiaได้ทั้ง macroconidia และ microconidia ที่มีสีใส โดยโคนีเดียขนาดใหญ่จะมีผนังกั้น 1-5 อัน มีรูปร่างแบบเรียวโค้งปลายแหลมทั้ง 2 ด้าน (fusiform) โคนีเดียขนาดเล็กมีเซลล์เดียว ลักษณะเป็นรูปไข่ (oval-ellipsoid) เชื้อนี้มีอยู่ 2 สายพันธุ์ (races) ทำให้ถั่วลันเตาแต่ละพันธุ์ ultivars or varieties) เป็นโรครุนแรงแตกต่างกัน ทั้งนี้ race 1 จะก่อให้เกิดโรคเหี่ยวรุนแรงมากกว่า race 2 โดย race มักจะเข้าทำลายต้นอ่อนมากกว่าต้นที่มีอายุแล้ว และก่อให้เกิดอาการเหี่ยวที่ไม่รุนแรง (โรค near wilt) อย่างไรก็ตามถึงแม้โรค wilt ซึ่งเกิดจาก race 1 และ near wilt เกิดจาก race 2 จะเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน คือ F.oxysporum f.sp. pisi แต่การป้องกันกำจัดเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์นี้จะแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องของพันธุ์ต้านทานโรค เช่น ถั่วลันเตาที่ต้านทานต่อ race 1 จะอ่อนแอต่อ race 2 เป็นต้น

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค เชื้อสาเหตุอาศัยอยู่ในดิน (soil inhabitant) ได้นานกว่า 10 ปีในรูปของ lamydospore จึงสามารถแพร่ระบาดไปตามวัสดุที่เกี่ยวข้องกับการปลูกและเจริญเติบโตของพืชได้ดีรวมทั้งจะติดไปกับเมล็ดพันธุ์ถั่วลันเตาด้วย (seed borne) เชื้อจะแทงผ่านเข้าสู่พืชตามรากฝอยหรือโคนต้นได้โดยตรง หรือหากรากและลำต้นถั่วลันเตามีแผลอยู่แล้วก็จะยิ่งช่วยให้เชื้อเข้าสู่พืชได้ดียิ่งขึ้น โรคจะระบาดรุนแรงกับถั่วลันเตาที่ปลูกอยู่ตามที่ลุ่มมากกว่าที่ดอน และพบเกิดในดินที่มีสภาพเป็นกรดมากกว่าดินด่าง แต่ในดินที่เป็นด่างเชื้อนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ (survive) อย่างไรก็ตามในช่วงที่เชื้อจะก่อให้เกิดโรค (penetration and colonization) นั้นไม่ต้องการความชื้นในดินแต่อย่างไร คือ ในสภาพดินแห้งก็เกิดการติดเชื้อได้ (infection) แต่เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วโรคจะระบาดรุนแรง (disease development and severity) ก็ต่อเมื่อดินมีความชื้นอยู่ด้วยเท่านั้น สำหรับอุณหภูมิที่จะช่วยทำให้โรคเจริญได้ดีค่อนข้างกว้าง โดยอยู่ประมาณ 20-30 ∘ซ.

การป้องกันกำจัด

จัดเป็นโรคที่ควบคุมได้ยาก เพราะเชื้อสาเหตุเจริญในดินที่มีระดับความเป็นกรดและด่างค่อนข้างกว้าง การปลูกพืชหมุนเวียนระหว่างพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อสาเหตุก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเชื้ออยู่ในดินได้เป็นเวลานานแม้จะไม่มีการปลูกถั่วลันเตาอีกเลยก็ตาม

มีการทดลองใช้สารเคมีบางชนิดคลุกเมล็ดถั่วลันเตาก่อนปลูกพอจะยับยั้งอาการโรคเหี่ยวเนื่องจากเชื้อสาเหตุชนิดนี้ลงได้บ้าง เช่น ใช้ benomyl คลุกเมล็ดพบว่า สามารถหยุดการทำงานของเอนไซม์ cutinase ที่เชื้อขับออกมาเพื่อละลายผนังชั้นนอกของถั่วลันเตา (ส่วนของ hyocotyl) จึงทำให้เชื้อแทงผ่านเข้าไปในพืชได้น้อย หรือไม่ได้เลย ช่องทางที่พืชจะติดเชื้อได้จึงเหลือเฉพาะบริเวณรากเท่านั้น

ในต่างประเทศมีการปรับปรุงพันธุ์ถั่วลันเตาให้ต้านทาน ต่อเชื้อโรคนี้ออกมาจำหน่ายเป็นการค้าให้กสิกรใช้ปลูกกันอย่าง กว้างขวาง ซึ่งมีผลในการลดการเกิดโรคได้ดี อย่างไรก็ตามหากนำพันธุ์เหล่านั้นมาปลูกในประเทศไทยเพื่อให้ได้ผลผลิตในระดับที่น่าพอใจเช่นเดียวกันก็อาจเป็นไปไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดเรื่องสภาพแวดล้อม แต่ถ้าเป็นไปในลักษณะของการผสมข้ามกับพันธุ์ที่มีอยู่แล้วในประเทศในลักษณะของการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม (conventional breeding) หรือนำมาปรับปรุงตามแนวทางของพันธุ์วิศวกรรม (genetic engineering as classical breeding) ก็นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเริ่มปรับปรุงพันธุ์ถั่วลันเตาในประเทศไทยให้ต้านทานต่อโรค Fusarium wilt

6. โรคใบและฝักจุดหรือไหม้เนื่องจากราแอสโคคายต้า (Ascochyta leaf and pod spot or blight)

ในช่วงที่ทำการศึกษาวิจัยจะพบโรคนี้ระบาดมากตามแปลงปลูกถั่วลันเตาของเกษตรกรทุกแห่งที่ทำการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นที่ อ.เมือง อ.หล่มศักดิ์ จ.เพชรบูรณ์ อ.เมือง อ.สันทราย อ.สารภี จ.เชียงใหม่ อ.เมือง จ.ลำพูน อ.เมือง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ จ.ตาก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี โดยจะพบเกิดกับถั่วลันเตาพันธุ์ไต้หวันดอกสีขาว ดอกสีม่วง พันธุ์พื้นเมืองดอกสีขาวฝักเล็กและดอกสีม่วงฝักใหญ่ โรคนี้หากเป็นรุนแรงจะทำให้ผลผลิตของถั่วลันเตาลดลงมากกว่า 40% และเนื่องจากมีเชื้อราไม่ต่ำกว่า 3 ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคนี้ หากเข้าทำลายถั่วลันเตาร่วมกันแล้วจะทำให้ผลผลิตลดลง ถึง 50-57% (Hagedorn, 1989) โรคนี้จัดเป็นโรคที่สำคัญที่สุดของถั่วลันเตาที่ปลูกอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2527-2529 (สุดฤดี และกิตติพงษ์, 2528)

อาการโรค โรคนี้จะเข้าทำลายถั่วลันเตาได้ตั้งแต่ขณะเป็นต้นกล้าไปจนกระทั่งออกดอกและติดฝัก และสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วน ทั้งราก โคนต้น ใบ ฝัก ลำต้น กิ่งก้าน และมือเกาะ ลักษณะอาการในระยะแรกจะพบจุดสีม่วงปนดำ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดบนใบ ใบเลี้ยง ลำต้น และฝัก แผลที่เกิดบนใบจะเริ่มต้นจากแผลขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 0.5 ซม. และยังมองไม่เห็นขอบแผลชัดเจนนัก จะพบที่ใบล่างมากแล้วจึงลามขึ้นมายังใบยอด เมื่อสภาพแวดล้อมของอากาศเหมาะสมคืออากาศค่อนข้างเย็นและความชื้นสูง แผลเหล่านี้จะขยายกว้างออกไป ทำให้แผลมีลักษณะเป็นวงแหวนซ้อนกันค่อนข้างกลมสีม่วงปนน้ำตาล เข้มสลับกับสีนํ้าตาลอ่อน เส้นผ่าศูนย์กลางของแผลจะ ขยายออกไปเป็น 7-12 ซม. เนื้อเยื่อบริเวณแผลมีความบาง มากกว่าใบปกติ ตรงกลางแผลเป็นจุดสีม่วงปนนํ้าตาลเข้ม จุดนั้นอาจจะนูนเป็นสะเก็ดแข็งในขณะที่รอยแผลที่ล้อมรอบสีจะจางลง เชื้อจะสร้าง pycnidia ซึ่งเป็นที่ผลิต spores เห็นเป็นจุดสีดำปะปนอยู่บนแผลเล็กน้อย ในที่สุดใบก็จะร่วงก่อนกำหนดหรือแห้งตาย เชื้อนี้สามารถเข้าทำลายบนช่อดอกก่อให้เกิดแผลจุดขนาดเล็กบนกลีบดอก หากระบาดมากดอกก็จะเหี่ยวแห้งลู่ลง อาการโรคจะขยายลุกลามไปที่กิ่ง ก้านและลำต้น เกิดเป็นแผลเน่าสีเข้มที่บริเวณข้อ (nodes) ใบที่เจริญติดอยู่กับข้อที่เน่าจะเหี่ยวหดย่นและแห้งหรืออาจร่วงก่อนกำหนดแม้จะไม่มีจุดแผลอยู่บริเวณใบเลยก็ตาม สำหรับแผลที่เกิดตามปล้อง (internode) กิ่งก้าน และมือเกาะ จะมีลักษณะไหม้เป็นทางยาวสีม่วงเข้ม เมื่อแผลตามปล้องขยายกว้างออกจะรวมกันเกิดเป็นแผลรอบลำต้นและทำให้ถั่วลันเตาตาย ฝักถั่วลันเตาที่เป็นโรคนี้ลักษณะรูปร่างจะผิดปกติ เพราะมีการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ ถ้าเชื้อเข้าทำลายขณะฝักยังอ่อนจะพบแผลจุดขนาดเล็กจนถึงเกิดแผลเป็นสะเก็ด กว้างบุ๋มลึกลงไป เมื่อฝักถั่วมีอายุมากขึ้น แผลเหล่านี้จะเห็นเป็นสีม่วงชัดเจน แต่ไม่พบลักษณะเรียงเป็นวงซ้อนกัน เหมือนอาการบนใบ ถั่วลันเตาฝักสดที่เกิดแผลจุดขนาดเล็กลุกลามไปทั่วทุกพื้นที่จะแลดูสกปรกไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เชื้อที่เข้าทำลายบนฝักนี้จะลุกลามไปทำให้เมล็ดเกิดการติดเชื้อได้ เมล็ดเป็นโรคจะเหี่ยวย่นและมีสีเปลี่ยนแปลงไปจากปกติเกิดอาการเมล็ดด่าง ถ้านำเมล็ดที่มีเชื้อโรคติดปะปนอยู่ไปปลูกทำพันธุ์เมล็ดอาจจะเน่าไม่งอก หรือถ้าเมล็ดงอกแล้วเชื้อที่ติดอยู่จะทำให้เกิดแผลตรงตำแหน่งของใบเลี้ยง ทำให้เกิดโรคโคนเน่าได้ ซึ่งมักจะทำให้ต้นอ่อนตายก่อนที่จะโผล่พ้นดิน แต่ถ้าต้นกล้างอกพ้นดินแล้ว แผลจะเกิดขึ้นบนส่วนของลำต้นเหนือพื้นดิน ซึ่งก็สามารถทำให้ถั่วลันเตาตาย ได้เช่นกัน หรือถ้าถั่วลันเตามีอายุมากขึ้น เชื้อนี้ก็สามารถทำลายที่ส่วนรากได้อีก (สุดฤดี และกิตติพงษ์, 2529)

สาเหตุโรค จากการศึกษาของ สุดฤดี และ กิตติพงษ์ (2528) พบว่าสาเหตุโรคนี้ในประเทศไทย คือ Ascochyta pinodes Jones เชื้อจะสร้าง pycnidia สีน้ำตาลเข้มถึงดำ

รูปกลมเดี่ยวๆ ฝังอยู่ในเนื้อเยื่อพืชอาศัย เมื่อนำไปเลี้ยงใน ห้องปฏิบัติการจะเจริญได้ดีในอาหาร Coon’s agar และสร้าง pycnidia ทั้งบนผิวและฝังอยู่ในอาหารเลี้ยงเชื้อ ภายใน pycnidium มี conidia บรรจุอยู่เป็นจำนวนมาก conidia เป็นรูปไข่เรียวและรี (ellipsoid) สีใส มีผนังกั้น 1-3 อัน แต่จากการศึกษาพบว่ามีผนังกั้นเพียง 1 อันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนที่มีผนังกั้นจะคอดเล็กน้อย เมื่อเลี้ยงเชื้อในสภาพปกติบน Coon’s agar จะเจริญเต็มจานเลี้ยงเชื้อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง  9 มม. ในเวลา 20 วัน โคโลนีค่อนข้างกลม เส้นใยไม่ฟูเจริญได้ทั้งบนผิวและฝังจมลงไปในอาหารเลี้ยงเชื้อ เชื้อจะสร้าง pycnidia หลังจากเจริญบนอาหารไปแล้ว 5 วัน โดยจะสร้างเรียงเป็นวงซ้อนขนานกันออกไปเรื่อยๆ conidia จะเริ่มงอก หลังจากบ่มในน้ำกลั่นนาน 5 ชม. การงอกนี้จะมีทั้งงอกเพียงด้านใดด้านหนึ่งของ conidia หรืองอกออกเป็น germ tube ได้ที่ปลายทั้ง 2 ด้าน ตลอดจนงอกที่ด้านข้างของ conidia  นั้นได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจาก A.pinodes จะก่อให้เกิดโรคนี้ แล้วยังมีรายงานว่า Mycosphaerella pinodes (Berk & Blox.)  Versterfr.(เป็น perfect stage ของ A. pinodes) A. pisi Libert และ Phoma medicaginis var. pinodella (Jones) Boerma ก็ก่อให้เกิดอาการโรคกับส่วนต่างๆ ของถั่วลันเตาได้เช่นเดียวกัน แต่กว่า 70% จะเกิดเนื่องมาจากเชื้อชนิดแรก (Hagedorn, 1984)

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค เชื้อสามารถ เจริญติดไปกับเมล็ดได้นาน 4-7 ปี ในลักษณะของเส้นใยที่จะทำให้ถั่วลันเตาเป็นโรคระบาดได้หากใช้เมล็ดนั้นทำพันธุ์ นอกจาก pycnidia แล้วเชื้อยังสร้าง chlamydospores ที่มีผนังหนาทนต่อสภาพแวดล้อมใช้อยู่ข้ามฤดูตามเศษซาก ถั่วลันเตาเป็นโรคได้นาน โดยจะไม่มีการอยู่ข้ามฤดูในพืชอาศัยอื่นที่นอกเหนือจากซากพืชถั่วลันเตาดังกล่าว สภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็น หรืออุณหภูมิประมาณ 28° ซ. ความชื้นสูง ท้องฟ้าสลัว มืดครึ้ม หรือมีฝนตกพรำๆ จะช่วยส่งเสริมให้โรคระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น

การป้องกันกำจัด

1. เนื่องจากเศษซากถั่วลันเตาเป็นแหล่งสะสมเชื้อก่อโรค (source of inoculum) ที่สำคัญจึงต้องทำการเผา หรือขุดหลุมฝังให้หมดหรือทำการไถพรวนแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอเพื่อกลบซากพืชและเชื้อโรคเหล่านั้นไปด้วย

2. หากไม่สามารถกำจัดเชื้อสาเหตุโรคให้หมดไปจากพื้นที่ปลูกด้วยวิธีอื่นได้อาจจำเป็นต้องใช้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียนเข้าไปช่วยจัดการ โดยใช้พืชพวกข้าวโพด หรือกลุ่มธัญญพืชอื่นปลูกหมุนเวียนสลับไม่ต่ำกว่า 5-7 ปีขึ้นไป ลดปริมาณเชื้อในดินลงได้

3. เมล็ดเป็นแหล่งติดเชื้อที่สำคัญของโรคนี้มากที่สุด จึงควรเลือกเมล็ดที่สะอาดปราศจากการเปื้อนปนของเชื้อสาเหตุทำพันธุ์ ถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์เองก็ต้องเลือกจากต้นที่แข็งแรงไม่เป็นโรค หากไม่ทราบแหล่งผลิตเมล็ดแม่นอนก็ควรจำกัดเชื้อที่อาจติดมาด้วยการนำไปคลุกสารเคมีควบคุมเชื้อราบางชนิดก่อนปลูก เช่น systemic fungicides พวก triforine หรือ benomyl อัตรา 400 กรัมต่อเมล็ด 100 กก. หรือพวก contact fungicides เช่น captan หรือ mancozeb อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พอจะลดการติดเชื้อที่เมล็ดลงได้

4. จากการทดลองของสุดฤดี และ กิตติพงษ์ (2528 และ 2529) พบว่าการใช้ triforine, captafol, zineb 900 หรือ copper oxychloride อย่างใดอย่างหนึ่งฉีดคลุมต้นถั่วลันเตาเป็นระยะจะให้ผลดีในการลดอาการโรค ขณะเดียวกันก็เพิ่มผลผลิตมากกว่าต้นที่ไม่มีการฉีดสารเคมีดังกล่าว ทั้งนี้ยังพบอีกว่าการใช้ benomyl ฉีดควบคุมโรคนี้ในสภาพไร่จะได้ผลน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสารอีก 4 ชนิดที่กล่าวมา

5. ยังไม่พบรายงานถั่วลันเตาพันธุ์ต้านทานต่อโรคนี้ แต่มีถั่วเมล็ดยาวพันธุ์เลี้อยบางชนิด (scarlet runner bean) ที่ต้านทานต่อโรค Ascochyta leaf spot ได้ดี จึงอาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถใช้ปลูกเป็นพืชหมุนเวียนหรือสลับ และปรับปรุงดิน เพื่อลดปริมาณเชื้อก่อโรคได้ในเวลาเดียวกัน

7. โรคราแป้ง (Powdery mildew)

เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการปลูกถั่วลันเตาในประเทศไทยมาก พบระบาดอย่างกว้างขวางในทุกแปลงปลูก ที่ทำการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และกาญจนบุรี เกิดกับถั่วลันเตาได้ทุกพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ที่มีปลูกในท้องที่เกษตรขณะนั้น คือ พันธุ์ไต้หวันดอกสีขาว ดอกสีม่วง พันธุ์พื้นเมืองดอกสีขาวฝักเล็กและดอกสีม่วงฝักใหญ่ (สุดฤดี และ กิตติพงษ, 2528)

อาการโรค โรคราแป้งจะเข้าทำลายถั่วลันเตาได้ทุกระยะ ตั้งแต่อายุยังน้อยไปจนกระทั่งออกดอกและติดฝัก อาการในระยะแรกจะเกิดเป็นจุดผงสีขาวเล็กกระจายเป็นหย่อมๆ แต่ละหย่อมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-10 มม. ต่อมาเชื้อโรคจะสร้างเส้นใยและสปอร์สีขาวมีลักษณะคล้ายแป้งฝุ่น เป็นจำนวนมากขึ้น สปอร์และเส้นใยเหล่านี้จะสามารถแผ่ขยายเจริญครอบคลุมไปตามส่วนผิวต่างๆ ของถั่วลันเตา เหนือพื้นดินได้ทั้งหมด สำหรับที่ใบนั้นเชื้อสามารถเข้าทำลายได้ทั้งผิวใบด้านบนและล่าง แต่จะพบเกิดขึ้นมากเฉพาะที่ส่วนผิวด้านบนใบ (upper surface) โดยจะเริ่มพบอาการที่บริเวณใบล่างของลำต้นก่อน แล้วจึงจะลุกลามไล่ขึ้นสู่ใบด้านบนหรือใบยอด ราชนิดนี้จะมีการเจริญเฉพาะที่ผิวพืชเท่านั้น และจะส่งโครงสร้างเฉพาะ haustoria เข้าไปทำหน้าที่ดูดแย่งแร่ธาตุอาหารในเซลล์พืช ทำให้ใบและส่วนต่างๆ ของถั่วลันเตาบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ซึ่งถ้าอาการรุนแรงโดยเชื้อเจริญครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ จะพบว่าใบเป็นสีม่วงปนน้ำเงินในขั้นต้น ในที่สุดจะเกิดอาการเหลืองซีด ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาล เพราะเกิดการตายของเซลล์พืช และอาจพบอาการใบร่วง ก่อนกำหนดในระยะนี้ได้ ถ้าเชื้อเข้าทำลายในระยะออกดอก หรือก่อนเริ่มออกฝัก จะทำให้ต้นแคระแกรนติดฝักน้อยหรือไม่ติดเลย ขนาดฝักและเมล็ดจะเล็กลงหรืออาจติดฝักได้บ้าง แต่ฝักที่ติดก็จะไม่สร้างเมล็ด ทำให้ฝักกลวงหรือแฟบและแห้งตาย ฝักที่เชื้อเข้าทำลายในระยะแรกจะพบเส้นใยสีขาวขึ้นคลุมเช่นเดียวกับใบ ซึ่งจะทำให้ฝักเสื่อมคุณภาพบิดเบี้ยว เสียรูปทรงแคระแกร็นและอาจหลุดร่วงก่อนติดเมล็ด ซึ่งเป็นเหตุให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก เมล็ดจากฝักเป็นโรคนอกจากจะมีขนาดเล็กลงแล้วยังเกิดอาการเมล็ดด่างเป็นสีน้ำตาลปนเทา ทำให้เมล็ดเสื่อมคุณภาพ และเปอร์เซ็นต์ความงอกลดอีกด้วย เชื้อราที่ติดไปกับเมล็ดจะแพร่ระบาดและก่อให้เกิดโรคกับถั่วลันเตาฤดูใหม่ได้ดี ลำต้น กิ่งก้าน มือเกาะ มีลักษณะอาการโรคเหมือนกับที่ใบและฝัก และถ้าโรคระบาดรุนแรง จะพบอาการปล้อง (internode) ที่สั้นลง ซึ่งแสดงว่าลำต้น เริ่มแคระแกรน ถั่วลันเตาที่ได้รับการปลูกเชื้อโดยวิธีใช้ส่วนของต้นถั่วลันเตาที่เกิดโรครุนแรงมาสัมผัสและเขย่าเชื้อก่อโรคลงที่ต้นถั่วปกติจะเริ่มแสดงอาการหลังปลูกเชื้อ 5-7 วัน (สุดฤดี และ กิตติพงษ์, 2529)

สาเหตุโรค ในประเทศไทยพบว่าเกิดจาก Oidium sp. ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อราสาเหตุผลิตเฉพาะ conidia (conidial stage or imperfect stage) โดยมี perfect stage หรือระยะที่มีการสืบพันธุ์แบบใช้เพศ คือ Erysiphe pisi Syd. หรือ E. polygoni DC. ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อสาเหตุมักไม่ค่อยสร้างหรือพบบนถั่วลันเตาและเศษซากพืชเป็นโรคมากนัก

เส้นใยของ Oidium sp. มีสีใสและมีผนังกั้นขวาง (septa) เจริญอยู่บนผิวพืชเป็นกระจุก มี conidiophores เป็นก้านเดี่ยวๆ เซลล์เดียวไม่มีผนังกั้นชูขึ้นไปบนอากาศ conidia เป็นแบบ meristem arthospores คือ ด้านปลายก้านชูจะเจริญขาดหลุดออกเป็นท่อน แต่ละท่อนนั้นคือ conidia 1 อัน conidia ที่เจริญเต็มที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายรูปไข่ คือ ตรงกลางป่องหัวท้ายเรียวแคบ และมีความยาวมากกว่าความกว้าง (barrel-shaped conidia or cylendical conidia) conidia ขณะที่ยังอ่อนอยู่และเพิ่งสร้างจะติดกันเป็นลูกโซ่ และมีสีใส

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค โรคราแป้งจะทำความเสียหายให้ถั่วลันเตาอย่างหนักในสภาพอากาศอบอุ่นค่อนข้างเย็น หรือตอนกลางวันที่มีปริมาณความชื้นในอากาศต่ำ แต่ความชื้นในดินสูงและพอตกค่ำหรือกลางคืน อากาศต้องเย็นพอที่จะทำให้เกิดหยดนํ้าค้างได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม พบว่าถั่วลันเตาที่ปลูกช่วงกลางหรือปลายฤดูหนาว จะเป็นโรคราแป้งมากกว่าที่ปลูกต้นฤดู หรือผลผลิตจะเสียหายมากถ้าโรคระบาดในระยะที่ถั่วลันเตากำลังออกดอกหรือเริ่มติดฝัก โดยมักจะเริ่มพบอาการโรคเมื่อถั่วลันเตาอายุได้ 1 เดือนไปแล้ว เชื้อนี้อยู่ข้ามฤดูตามเศษซากพืชเป็นโรคในดินหรืออาจอยู่ข้ามฤดูตามวัชพืชที่ขึ้นใกล้เคียงตลอดจนอาศัยติดอยู่ในเมล็ดที่สามารถถ่ายทอดโรคโดยผ่านทางเมล็ดได้ ประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ของเมล็ดที่แสดงอาการโรค (Hagedorn, 1984) การแพร่ระบาดของโรคเกิดได้ดี โดยลมจะช่วยนำพา conidia พัดกระจายไปในอากาศและเมื่อตกลงพืชอาศัยที่เหมาะสมก็จะงอก (germinated) ได้ ภายใน 24 ชม. และหากสภาพแวดล้อมช่วยส่งเสริม คือ มีความชื้นพอเหมาะ (humid conditions) แต่ไม่ถึงกับแฉะ (wet condition) และอุณหภูมิค่อนข้างเย็นแล้ว โรคจะเกิดขึ้นภายใน 5-7 วัน หลังจากเชื้อตกลงไปบนพืช (สุดฤดี และกิตติพงษ์, 2529)

การป้องกันกำจัด

1. การปลูกถั่วลันเตาในตอนต้นฤดูจะหลีกเลี่ยงโรคราแป้งได้ดีกว่าปลูกกลางหรือปลายฤดูหนาว เช่น ปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถั่วลันเตาจะเป็นโรคน้อยกว่าการปลูกในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์

2. เชื้อสาเหตุมีการสะสมอยู่ในเศษซากพืชเป็นโรคและตามวัชพืชที่เจริญอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จึงควรกำจัดทิ้งให้หมดหลังจากสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวและจะเริ่มปลูกใหม่อีกครั้งหนึ่ง

3. เมล็ดถั่วลันเตาเป็นแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง จึงควรทำการคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราเพื่อลดปริมาณการติดเชื้อให้น้อยลงก่อนเพาะเมล็ด สารเคมีที่มีรายงานว่าใช้ได้ผล คือ สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราที่มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งคลุกเมล็ดและฉีดคลุมต้น (foliage spray) นอกจากนี้ก็อาจใช้ systemic fungicides พวก triforine หรือ benomyl คลุกเมล็ดถั่วลันเตาเพื่อกำจัดเชื้อทั้งที่ติดมากับเมล็ด และตกค้างอยู่ในดินรอบเมล็ดนั้นได้ หรืออาจใช้วิธีทางกายภาพ โดยนำเมล็ดไปแช่นํ้าอุ่น 122°ฟ นาน 30 นาที ก็พอจะลดปริมาณเชื้อที่ติดมากับเมล็ดได้บ้าง

4. จากการทดลองของ สุดฤดี และ กิตติพงน์ (2528) พบว่า triforine และ benomyl ที่ใช้ฉีดคลุมต้นถั่วลันเตาจะช่วยลดการระบาดของโรคราแป้งได้ดี นอกจากนี้ ก็มีรายงานว่า สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราพวก tridemorph หรือ carbendazim และสารที่เข้าสารประกอบกำมะถัน เช่น dinocap สามารถควบคุมโรคราแป้งในถั่วลันเตาได้ ตลอดจนพบว่าสารสกัดจากขิงหรือกระเทียมก็ให้ผลในการลดความรุนแรงของโรคได้เช่นกัน

8. โรคราสนิม (Rust)

โรคนี้ไม่พบระบาดกับถั่วลันเตาในช่วงที่สุดฤดี และ กิตติพงษ์ (2528) ทำการศึกษา แต่ก็มีรายงานว่าเป็นโรคที่เกิดกับถั่วลันเตาในประเทศไทยได้เช่นกัน (จุมพล และ อนงค์,2516)

อาการโรค มักเกิดอาการที่ใบถั่วลันเตาเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าระบาดรุนแรงก็จะพบได้ทุกส่วนของพืชที่อยู่เหนือพื้นดิน โดยมีจุดหรือตุ่มค่อนข้างกลมสีน้ำตาลปนแดงเกิดขึ้นตามผิวใบทั้งด้านบนและล่าง จุดหรือตุ่มที่มักจะนูนขึ้นมาจากผิวใบเล็กน้อย (pustule) นั้นคือกลุ่มของสปอร์เชื้อสาเหตุนั้นเอง ตุ่มเหล่านี้จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่เท่าหัวเข็มหมุดจนถึง 1-2 มม. ในระยะแรกจุดแผลที่เริ่มเกิดจะพบเจริญเป็นหย่อมอยู่ประปรายทั่วไป แต่ในเวลาไม่เกิน 7 วัน ต่อมาหากสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะเกิดกลุ่มสปอร์ลุกลามมากขึ้นจนอาจเจริญคลุมผิวใบเกือบทั้งหมด ใบที่เป็นโรคมากก็จะเหี่ยวและแสดงอาการใบร่วงก่อนที่จะถึงเวลาก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อผลผลิตของถั่วลันเตาในที่สุด

สาเหตุโรค เกิดจากรา 2 ชนิด คือ Uromyces flibae (Persoon) de Bary และ U. pisi (Persoon) de Bary สำหรับในประเทศไทยนั้นมีรายงานว่าเกิดจากเชื้อชนิดแรก (จุมพล และ อนงค์, 2516) ในขณะที่ชนิดหลังมักพบว่าก่อให้เกิดโรคกับถั่วลันเตาที่ปลูกทางซีกโลกตะวันตกโดยเฉพาะแถบทางยุโรป เชื้อ 2 ชนิดนี้มีชีพจักรแตกต่างกัน กล่าวคือ  ชนิดแรกเป็นพวก autoecious rust ที่สามารถเจริญครบวงจรได้บนพืชอาศัยหลักคือถั่วลันเตาชนิดเดียวเท่านั้น (สร้าง dikaryotic spores ได้ 2 ชนิดขึ้นไปบนพืชอาศัยหลัก) ในขณะที่ชนิดหลังเป็น heteroecious rust ที่จะเจริญครบวงจรได้ต้องอาศัยทั้งถั่วลันเตา (primary host-พืชอาศัยหลัก) และพืชพวก Euphorbia sp. (alternate host-พืชอาศัยรอง) ร่วมด้วย

U. fabae จะสร้าง uredial stage หรือ uredospores ได้หลายครั้งระหว่างฤดูปลูก uredospores มีรูปร่างยาวรี สีน้ำตาลปนแดงและผิวจะขรุขระ (echinulate) มี 3-4 germ pores ส่วน teliospores ซึ่งจะมีผนังหนากว่า มีรูปร่างกลม หรือรูปไข่เซลล์เดียว และติดอยู่ที่ปลายก้านชู (stalk) อย่างไรก็ตาม รายงานในประเทศไทยขณะนั้นพบว่าเชื้อมีการสร้าง เฉพาะ uredospres (จุมพล และ อนงค์, 2516)

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค โรคจะระบาดรุนแรงกับถั่วลันเตาที่ปลูกในแถบอบอุ่นหรือกึ่งร้อนชื้น หรือในฤดูปลูกที่มีอากาศอบอุ่น (16-25° ซ.) และชื้น ทั้งนี้ถ้าผิวใบถั่วลันเตามีความชื้นเคลือบอยู่นาน 10-18 ชม. ขึ้นไป จะเหมาะสมต่อการติดเชื้อมากที่สุด โดย urediospores จะงอกทำลายพืชได้ภายใน 6-8 ชม. ต่อจากนั้นก็จะสร้าง sori ให้ปรากฏตามผิวใบภายใน 7-9 วัน

การป้องกันกำจัด

1. เนื่องจากเชื้อสาเหตุเป็น autoecious macrocyclic rust จึงอาจใช้วิธีปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อกำจัดเชื้อก่อโรคที่อาจตกค้างอยู่ตามเศษซากพืช หรือต้นอ่อนที่แตกแขนงออกมาจากตอถั่วลันเตาเดิมของฤดูปลูกที่แล้ว (volunteer peas) ให้หมด

2. ปรับเปลี่ยนเวลาปลูกถั่วลันเตาให้เหมาะสม อาจเลี่ยงไม่ให้พืชพบกับสภาพของฤดูปลูกที่ผิวใบต้องชื้น ติดต่อกันเป็นเวลานานหรืออุณหภูมิเหมาะสมต่อการติดเชื้อ (16-25 °ซ.) ทั้งนี้พบว่าที่ 24 °ซ.โรคจะเกิดระบาดรุนแรง แต่ที่ 15 หรือ 28° ซ. โรคจะเกิดน้อยหรือไม่เกิดเลย

3. มีรายงานการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราที่ได้ผลในการควบคุมโรคหลายชนิดเช่นสารพวก chlorothalonil, carbamate และ mancozeb โดยฉีดพ่น คลุมต้นไว้เป็นระยะทุก 7-10 วันจนกว่าถั่วลันเตาจะติดฝัก

4. ในต่างประเทศมีรายงานเกี่ยวกับพันธุ์ต้านทานโรคราสนิมซึ่งก็ใช้ได้ไม่กว้างขวางนัก เพราะมีความสำคัญ หรือใช้ได้เฉพาะบางแหล่งปลูกเท่านั้น เนื่องจากพันธุ์ถั่วลันเตาดังกล่าวไม่สามารถต้านทานเชื้อสาเหตุได้ทุกสายพันธุ์ (races) เพราะมีเชื้อ U. fabae ระบาดอยู่เป็นจำนวนหลายสายพันธุ์ด้วยกันนอกจากนี้พันธุ์นั้นจะต้องเป็นพันธุ์คุ้มกันโรค (immune varieties) จริงๆ (ไม่เกิดอาการโรคเลย) จึงจะช่วยทำให้ผลผลิตไม่ลดลงในสภาพการปลูกที่มีโรคระบาด หากเป็นพันธุ์ต้านทานได้ปานกลาง (resistance or moderate resistance) ที่ราสนิมสามารถเข้าทำลายและก่อให้เกิดอาการโรคได้บ้าง การระบาดนั้นก็ยังจะทำให้ผลผลิตลดลงไปเมื่อเปรียบเทียบกับพืชปกติ

9. โรคเน่าเปียก (Wet rot)

ในขณะที่มีการศึกษาวิจัยจะพบระบาดมากกับถั่วลันเตาที่ ปลูกอยู่บริเวณ อ.เมือง และ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ตลอดจน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยเกิดกับถั่วลันเตาได้ทุกพันธุ์ที่ปลูกอยู่ในละแวกนั้น เช่น ถั่วลันเตาพันธุ์ไต้หวันดอกสีขาว ดอกสีม่วง พันธุ์พื้นเมืองดอกสีขาวและดอกสีม่วงฝักเล็ก

อาการโรค โรคนี้จะระบาดกับถั่วลันเตาได้ทุกระยะและเชื้อสาเหตุสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืชที่อยู่เหนือดิน ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ยอดอ่อน ดอก ฝัก กิ่ง ใบและมือเกาะ แต่มักจะเกิดรุนแรงกับส่วนของยอดหรือบริเวณที่ยังอ่อนอยู่ เป็นส่วนใหญ่ โดยจะพบอาการเน่าช้ำแฉะเป็นสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ พร้อมกับทำให้ส่วนของพืชที่ถูกทำลายบิดเบี้ยว ผิดรูป โดยเฉพาะถ้าเกิดที่ใบก็จะทำให้ขอบใบม้วนงอลงด้านล่างหรือถ้าใบที่ถูกทำลายนั้นยังอ่อนมากโดยยังไม่คลี่บานเต็มที่ เชื้อสาเหตุก็จะทำให้เกิดการเน่าลีบและไม่สามารถเจริญไปเป็นใบปกติได้ ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมอาการเน่าจะลุกลามขยายออกไปได้เรื่อยๆ จนทำให้ทุกส่วนเกิดเน่าช้ำฉ่ำนํ้าแต่ไม่มีกลิ่น พร้อมกันนั้นก็จะพบกลุ่มเส้นใยสีขาว ลักษณะหยาบพร้อมด้วย spores สีเทาเข้มหรือดำเจริญอยู่ บนปลายก้านสั้นๆ (sporongiophore) ที่ชูขึ้นมาจากผิวเห็นเด่นชัดเจนทั่วแผลที่เกิดการเน่าช้ำในทุกส่วน เมื่อเชื้อลุกลามไปยังบริเวณข้อก็จะก่อให้เกิดรอยแผลเน่าเป็นสีนํ้าตาลเข้มลุกลามไปทุกทิศทาง และมักจะทำให้ใบที่ติดอยู่ตรงข้อนั้นเน่าและร่วงก่อนเวลาด้วย อาการโรคที่ลำต้น นอกจากจะเกิดรอยแผลเน่าชํ้าแล้วอาจเกิดมีรอยแตกแยกขึ้นมาได้ ทั้งนี้ไม่ว่าอาการเน่าจะเกิดขึ้นที่ส่วนใดจะทำให้ส่วนนั้นเหี่ยวแห้งยุบตัวหรือลีบเล็กลงในที่สุด และในขณะเดียวกัน ส่วนของ spores ที่ชูขึ้นมาเป็นขุยนั้นก็จะยังคงฟูอยู่เช่นเดิม โดยไม่มีการยุบลง ไปเหมือนเนื้อเยื่อพืช เมื่อถั่วลันเตาถูกปลูกเชื้อด้วยสาเหตุ โรคพบว่าที่บริเวณยอดอ่อนของพืชแสดงอาการเน่าภายใน เวลา 3 วัน และต่อมาอาการเม่าก็จะลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของต้นอย่างรวดเร็ว

สาเหตุโรค เกิดจาก Choanephora cucurbitarum (Berkeley & Ravenal) Thaxter เชื้อรานี้สร้างได้ทั้ง sporangiospores ที่เกิดอยู่ใน sporangium และ sporangiolum ซึ่งเกิดอยู่ด้านปลายของ sporangiophore ที่ต่างก้านกัน ทั้งนี้ sporangium จะเป็นแบบ columellate เกิดบน sporangiophore ที่มีปลายโค้งงอ ภายในเป็นที่เกิดของ sporangiospores สีน้ำตาลปนดำ ลักษณะเป็นทรงรูปไข่ ตรงกลางป่องเล็กน้อย แล้วยาวเรียวลงไปที่หัวและท้ายของ sporagniospores นั้น ที่ผนังจะมีเส้นขีดสีเข้ม (strait wall) และมี appendage ติดเป็นกระจุกอยู่ที่ปลายทั้ง 2 ข้างของ sporagriospores ส่วน sporangiolum นั้น ภายในมีเพียง spore เดียว จึงอาจเรียกโครงสร้างส่วนนี้ว่า conidia ได้ โดย sporangiolum จะสร้างอยู่บน sporangiophore ที่มีด้านปลายโป่งออกเป็นโครงสร้างรูปกลมเรียกว่า primary vesicle จาก primay vesicle จะมีก้านสั้นๆ แตกออกไป โดยรอบหลายก้าน ที่ปลายก้านเหล่านี้จะโป่งออกเป็น secondary vesicle ซึ่งโดยรอบเป็นที่เกิดของ monosporous sporangiolum (conidia) ที่มีสีน้ำตาลปนดำ รูปทรงคล้ายคลึงกับ sporangiospores แต่ขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย รวมทั้งผนังก็มีเส้นขีด เช่นเดียวกัน แต่ไม่มี appendage เหมือนกับ sporangiospores (กิตติพงษ, 2531)

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค สปอร์ที่ถูกสร้างขึ้นจะแพร่กระจายระหว่างฤดูปลูก โดยลม แมลง หรือติดไปกับหยดกระเด็นของนํ้าเมื่อตกลงบนพืชอาศัยที่มีความชื้นเคลือบผิวใบถั่วลันเตาอย่างต่อเนื่อง สปอร์ก็จะงอกในเวลาเพียง 2-4 ชม. และภายในเวลา 3 วัน โรคก็เจริญเต็มที่และแสดงอาการออกมาให้ปรากฎ โรคนี้จะระบาดมากขณะที่อากาศมีความชื้นสูง ครึ้มฟ้าครึ้มฝน และโดยเฉพาะช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน และเนื่องจากเชื้อสาเหตุมีพืชอาศัยกว้างมาก นอกจากก่อให้เกิดโรครุนแรงกับถั่วลันเตาแล้วยังสามารถทำลายพืชอื่นๆ ได้มากชนิด จึงเป็นเหตุให้เชื้อสาเหตุระบาดรุนแรงทั้งปี อนึ่ง พบว่าถั่วลันเตาแต่ละพันธุ์ที่มีปลูกเป็นการค้าในประเทศไทยมีความทนทานต่อโรคนี้แตกต่างกัน โดยถั่วลันเตาพันธุ์ฝักใหญ่ดอกสีม่วงจะเป็นโรคนี้รุนแรงมากกว่าพันธุ์ฝักเล็กดอกสีขาว

การป้องกันกำจัด

1. เชื้อสาเหตุจะตกค้างและอยู่ข้ามฤดูในเศษซาก ถั่วลันเตาเป็นโรคตลอดจนพืชที่เจริญอยู่บริเวณใกล้เคียง จึงควรทำลายหรือเผาทิ้งให้หมด

2. อาจใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดเดียว กับที่ใช้ควบคุมโรคใบจุดใบไหม้ของถั่วลันเตา (Ascochyta leaf spot or blight) ฉีดพ่นคลุมต้น จะช่วยลดการระบาดของโรคลงได้ ทั้งนี้ในช่วงก่อนและหลังฝนตกเล็กน้อยควรกระทำการฉีดพ่นให้ถี่ขึ้นกว่าปกติ

3. ควรหลีกเลี่ยงการปลูกถั่วลันเตาพันธุ์อ่อนแอต่อโรคโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประวัติการระบาดของโรคอย่างรุนแรงมาก่อน

10. โรคราสีเทา (Gray mold)

โรคนี้ไม่พบกับถั่วลันเตาในช่วงที่ทำการศึกษาวิจัย แต่ เนื่องจากเชื้อสาเหตุเป็นราที่มีรายงานว่าระบาดอย่างกว้างขวาง ตามพื้นที่การเกษตรของประเทศไทย และก็เป็นโรคที่เข้าทำลายถั่วลันเตาได้ (Hagedorn,1984) จึงนำรายละเอียดบางประการมาสรุปอย่างสั้นๆ ไว้ที่นี้ด้วย

อาการโรค ส่วนของถั่วลันเตาที่ถูกทำลายมากที่สุดคือดอกซึ่งเป็นส่วนที่บอบบางและเกิดการบอบช้ำเป็นแผลได้ง่าย ซึ่งเป็นช่องทางเหมาะสมที่เชื้อสาเหตุจะใช้เข้าทำลายได้ดี ลักษณะอาการระยะแรกไม่ค่อยชัดเจน อาจพบแผลสีเทาเป็นรอยขีดขนาดเล็ก หรืออาจมีลักษณะวงกลมกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของพืชที่ถูกเชื้อเข้าทำลาย แผลมีลักษณะชุ่ม หรือเป็นตุ่มใสเกิดขึ้นก่อน ถ้าอาการเกิดที่ใบอาจพบลักษณะแผลเรียงเป็นวงซ้อนกันในระยะต่อมา แต่บนกลีบดอกมักไม่พบอาการดังกล่าว และเนื่องจากเชื้อสาเหตุสามารถผลิต enzyme ย่อย pectin ของพืชได้ จึงทำให้แผลมีลักษณะเน่าเยิ้มเป็นเมือกเล็กน้อย อาการที่เกิดบนลำต้นมักพบแผลยาวเรียว ถ้าอากาศชื้นจะมองเห็นอาการไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เนื่องจากเชื้อสาเหตุจะสร้าง conidia เป็นกลุ่มปกคลุมแผลไว้ทั้งหมด ต่อมาส่วนที่เป็นโรคจะแห้งและมีสีเทา ถ้าเชื้อเข้าทำลายดอกและเลยไปยังฝักอ่อนจะก่อให้เกิดแผลขนาดเล็ก รูปไข่ สีน้ำตาล ลักษณะเป็นเมือก ชุ่มนํ้าบนฝัก แผลขยายกว้างออกไป แผลที่เจริญเต็มที่แล้วมีสีเทา และบางส่วนของแผลบุ๋มลึก บางครั้งพบ sclerotia เป็นจุดสีดำขนาดเล็ก ความเสียหายอาจจะเป็นเฉพาะบางส่วนหรือเป็นทั้งฝักลักษณะเด่นของโรคนี้คือ แผลในระยะแรกมีลักษณะชุ่มนํ้า เขียวแกมเทา ต่อมาจะพบสีขาวเนื่องจากเส้นใยของเชื้อสาเหตุ เจริญคลุมแผลนั้น กลุ่มเส้นใยสีขาวนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือดำอีกเมื่อมีการสร้าง conidia และ/หรือ sclerotia เกิด แต่ถ้าอากาศชื้นสูงเกินไป เชื้อจะสร้างเฉพาะเส้นใยเป็นจำนวนมากกว่าที่จะผลิต conidia ทำให้มองเห็นเป็นกลุ่มเส้น สีขาวที่มีรอยเปื้อนสกปรกครอบคลุมเนื้อเยื่อพืชเป็นโรค ทั่วไป

สาเหตุโรค เกิดจาก Botrytis cinerea Perx. Ex Fr. (Hagedorn, 1984) ซึ่งเป็น conidial stage หรือ imperfect stage โดย perfect stage ของเชื้อนี้คือ Sclerotinia fuckeliana (de Bary) Fuckel อย่างไรก็ตาม มีรายงาน โรคในลักษณะเดียวกัน (gray mold) ที่เกิดกับพืชตระกูลถั่วเมล็ดรี (beans) คือ Botryotinia fuckeliana (de Bary) Whetzel ซึ่งเป็น perfect stage โดยมี conidial stage ที่คล้ายกับ Botrytis cinerea มาก (Hall, 1991)

B. cinerea มีเส้นใยสีใสเรียวยาว และจะคอดเล็กน้อย ตรงบริเวณที่มีผนังกั้น โดยเซลล์ที่อยู่ปลายสุดของ conidiophore มีลักษณะกลมและมีขนาดใหญ่กว่าเซลล์อื่น conidia มีสีใสถึงน้ำตาลอ่อน มีลักษณะยาวเรียว จนกระทั่งรูปร่างกลมเกาะกันอยู่ที่ด้านปลายของ conidiophores ส่วน sclerotia จะมีสีดำที่มีขนาดและรูปร่างแตกต่างปะปนกัน และมักจะถูกสร้างขึ้นบนเนื้อเยื่อพืชเป็นโรคเมื่อสภาพแวดล้อมเย็นและแห้ง จึงเป็นโครงสร้างที่เชื้อนี้ใช้อยู่ข้ามฤดูได้ดี ทั้งนี้ conidia และเส้นใยบนซากพืชเป็นโรคก็จะมีชีวิตอยู่ได้นาน เท่าที่ซากเหล่านั้นยังสลายตัวไม่หมด

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค ส่วนของดอกถั่วลันเตาจะอ่อนแอต่อการถูกทำลายของเชื้อมากที่สุด และกลายเป็นแหล่งของเชื้อก่อโรคที่จะลุกลามไปสู่ฝัก ใบ และลำต้น โดยเฉพาะช่วงที่ดอกมีน้ำหวานติดอยู่ด้วยจะยิ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อเร็วขึ้น ทั้งนี้สภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อสาเหตุ คือ มีอุณหภูมิ 16-21° ซ.ความชื้นสัมพัทธ์ 100% ซึ่งสภาวะเช่นนี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ภายในเวลาไม่เกิน 24 ชม. เมื่อการติดเชื้อเกิดขึ้นแล้ว โรคก็จะเจริญต่อไปได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความชื้นหรือหยดน้ำที่บริเวณผิวพืช โดยสามารถสร้าง conidia ใหม่ขึ้นมาได้เป็นจำนวนมากภายใต้สภาพอุณหภูมิและความชื้นที่ค่อนข้างกว้างในเวลาเพียง 2-3 วันหลังจากเกิดการติดเชื้อ conidia เหล่านี้จะถูกสร้างอย่างต่อเนื่องทั้งจากบนต้นถั่วลันเตาขณะเป็นโรค หรือจาก sclerotia ที่ตกอยู่ตามดิน ดังนั้นดอกที่ร่วงหล่นลงไปสัมผัสก็จะเกิดการติดเชื้อและกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อก่อโรคให้เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ปัจจัยที่ทำให้โรคเกิดได้ง่ายจึงเกี่ยวข้องกับขนาดของต้นถั่วลันเตาที่จะมีใบติดหรือคลุมดิน ตลอดจนการให้นํ้าที่เป็นเหตุให้ผิวพืชเปียกชื้นอย่างต่อเนื่อง

การป้องกันกำจัด

1. เนื่องจากสภาพอากาศโดยเฉพาะความชื้นที่ผิวพืชเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรคจึงต้องใช้วิธีเขตกรรม (cultural methods) บริหารโรค เช่น หลีกเลี่ยงสภาพการปลูกถั่วลันเตา ที่จะทำให้ต้นขึ้นเบียดแน่นเกินไปจนเป็นอุปสรรคไม่ให้ลมพัดผ่าน ลดการให้ปุ๋ยไนโตรเจนอย่าใส่มากเกินไป และเพิ่มโปแตสเซียมจะช่วยให้ส่วนของดอกและฝักแข็งแรงทนทานต่อการติดเชื้อ ตลอดจนไม่ควรให้น้ำกับถั่วลันเตาพร่ำเพรื่อมากเกินไปและวิธีการให้นํ้าก็ต้องเหมาะสม อาจจะเป็นลักษณะให้ปล่อยไปตามร่องแทนที่จะฉีดพ่นคลุมเหนือต้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ conidia แพร่ระบาดไปทั่วพื้นที่อย่างรวดเร็ว

2. เนื่องจากเชื้อนี้มีพืชอาศัยกว้างขวาง จึงควรกำจัดวัชพืชหรือพืชบริเวณใกล้เคียงทิ้งให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อสาเหตุนอกฤดูปลูกซึ่งจะกลายเป็นแหล่งเชื้อก่อโรคที่สำคัญในการปลูกถั่วลันเตาฤดูต่อไป

3. กำจัด sclerotia ที่อาจค้างอยู่ตามดิน ซึ่งจะกลายเป็นเชื้อก่อโรคในฤดูปลูกใหม่ด้วย การไถกลบลงใต้ดิน ลึกลงไปพร้อมกับวัชพืชรอบแปลงปลูก ก็จะช่วยลดการระบาดของโรคลงได้มาก รวมทั้งการปลูกพืชหมุนเวียนพวกข้าวโพดหรือพืชตระกูลธัญญพืชอื่นซึ่งมักไม่ค่อยเกิดการติดเชื้อจากโรคนี้ ก็จะช่วยลดปริมาณเชื้อตกค้างตามดินได้เช่นกัน

4. อาจใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราที่เป็นสารดูดซึมพวก benomyl หรือ dichlofluanid จะช่วยลดอาการโรคให้น้อยลงและควรทำการฉีดพ่นเป็นระยะโดยเฉพาะในช่วงก่อนออกดอกเล็กน้อยไปตลอดระยะเวลาที่ดอกกำลังบาน จะช่วยป้องกันการระบาดของโรคได้

11. โรครากปมเนื่องจากไส้เดือนฝอย (Root knot nematode)

ไส้เดือนฝอยที่มีรายงานจากต่างประเทศว่าเข้าทำลาย ถั่วลันเตามีทั้งที่ก่อให้เกิดอาการเป็นปุ่มปมที่ลำต้นและราก ตลอดจนรากเป็นแผล (Hagedorn, 1984) แต่ขณะที่ทำการ ศึกษาวิจัยจะพบเฉพาะอาการโรครากปมเท่านั้น (สุดฤดี และ กิตติพงษ์, 2528)

อาการโรค โรคนี้จะแสดงอาการที่ส่วนรากและลำต้น สังเกตได้จากต้นถั่วลันเตาที่ถูกไส้เดือนฝอยเข้าทำลายจะเจริญข้าจนถึงกับชะงักการเจริญและเกิดการแคระแกร็นในที่สุดระบบส่งน้ำและอาหารของพืชถูกทำลาย ตลอดจนไปจำกัดการสังเคราะห์ cytokinins และ gibberellins รวมทั้ง สารที่เกี่ยวข้องกับขบวนการ metabolism ของพืช จากอาการลำต้นส่วนเหนือพื้นดินดังกล่าว เมื่อถอนรากขึ้นมาตรวจสอบจะพบมีปุ่มตะปุ่มตะป่ำผิดปกติจำนวนมาก มีขนาดเล็ก ใหญ่ปะปนกันตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-10 มม. ปมเหล่านี้ จะมีขนาดใหญ่หรือพองออกมาจากด้านในของเนื้อเยื่อพืช เมื่อผ่าปมออกมาศึกษาลักษณะภายในด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบไส้เดือนฝอยอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้รากหยุดชะงักการเจริญเติบโต มีการแตกสาขาน้อยลงและรูปร่างของรากโค้งงอบิดเบี้ยว ถ้าปมที่รากเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยในระยะแรกอาการอาจจะยังไม่ปรากฏที่ใบหรือลำต้น ต่อเมื่อเกิดปมมากขึ้นซึ่งก็คือเชื้อสาเหตุเข้าไปอาศัยและทำลายรากมากขึ้น ใบถั่วลันเตาจึงจะแสดงอาการเหี่ยว เหลือง ต้นแคระแกร็น ดอก และฝักไม่สมบูรณ์และส่วนของใบอาจจะเกิดอาการร่วง ก่อนเวลาหรือแห้งตาย ผลผลิตลดลงเห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้ใน บริเวณพื้นที่ปลูกถั่วลันเตาจะพบต้นที่ถูกทำลายเหล่านั้น เกิดอาการใบซีดเหลือง ต้นเตี้ยแคระเป็นหย่อมๆ ทั่วแปลง

สาเหตุโรค จากงานวิจัยในต่างประเทศมีรายงานว่าเกิด จากไส้เดือนฝอยหลายชนิดด้วยกัน คือ Meloidogyne incognita (Kofoid & White) Chit., M.javanica (Treub) Chit., M. hapla Chit. และ M. arenaria (Neal) Chit. ทั้งนี้ในเขตร้อนจะพบการระบาดของ M. incognita และ M. javanica มากกว่าชนิดอื่น

สำหรับในประเทศไทยจากการศึกษาของสุดฤดี และ กิตติพงษ์ (2528) พบว่าโรครากปมถั่วลันเตาในขณะนั้นเกิดจาก M. javanica (Treub) Chit. โดยเมื่อตัดส่วนก้นตามขวางออกมาตรวจสอบจะพบรอยย่น (perineal pattern) ที่เป็นลักษณะเฉพาะของไส้เดือนฝอยชนิดนี้ เมื่อไส้เดือนฝอยเพศเมียที่เข้าไปอยู่ภายในรากเจริญเต็มวัยจะมีลักษณะอ้วนกลมโป่งพองเช่นเดียวกับไส้เดือนฝอยรากปมชนิดอื่นที่เข้าทำลายพืชอาศัยต่างๆ เมื่อถึงระยะเจริญพันธุ์ก็จะออกไข่ที่มีถุงเมือกเหนียวห่อหุ้มไว้กันแห้ง (gelatinous matrix) ส่งออกมานอกราก จำนวนไข่ในแต่ละถุงนี้(egg sac) อาจมีถึง 1,000 ฟอง เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะมีทั้งหมด 4 ระยะจึงจะโตเป็นตัวเต็มวัย พบว่าตัวอ่อนระยะที่ 2 เป็นระยะที่จะเข้าทำลายพืชอาศัย โดยไปเจริญในระยะที่ 3 และ 4 ต่อในรากพืช

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค ไส้เดือนฝอยพวกนี้จะมีชีวิตอยู่ในดินได้นานหรือไม่เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับชนิดของไส้เดือนฝอย ระยะเวลาการพัฒนาเป็นตัวอ่อน ลักษณะโครงสร้างของดิน ความชื้น อุณหภูมิและปริมาณออกซิเจนในดินเป็นต้น ทั้งนี้ความชื้นของดินที่จะช่วยให้ตัวอ่อนระยะที่ 2 เข้าทำลายพืชได้ดีอยู่ประมาณ 40-68% ในขณะที่ไส้เดือนฝอยจะมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็วในดินที่แห้งหรือแฉะ (ดินอิ่มตัว หรือน้ำท่วม) แม้กระทั่งไข่ที่ถูกน้ำท่วมเป็นเวลานานและขาดออกซิเจนก็จะตายได้เช่นกัน นอกจากนี้อุณหภูมิก็เป็นปัจจัยสำคัญในการฟักไข่ การติดเชื้อ การขยายพันธุ์ และการดำรงชีวิตของไส้เดือนฝอยในดิน โดยถ้าอุณหภูมิต่ำมากจะทำให้ปริมาณของ M. javanica ลดลง อย่างรวดเร็ว ดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีการระบายน้ำดีจะช่วย ส่งเสริมการเกิดโรคให้รุนแรงยิ่งขึ้น ในขณะที่ถั่วลันเตาที่ปลูกในดินเหนียว 40% หรือดินเนื้อละเอียด 60% จะไม่ค่อยเกิดโรครากปมระบาดนัก เชื้อจะแพร่ระบาดได้ทั้งในรูปของไข่ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยติดไปกับส่วนของพืช วัสดุปลูก หลังการเคลื่อนย้ายดินและเครื่องมือการเกษตรต่างๆ

การป้องกันกำจัด

1. การบริหารโรคนี้ด้วยการปฏิบัติทางเขตกรรมที่เหมาะสมหลายวิธีร่วมกันจะช่วยลดปริมาณการเปื้อนปนของสาเหตุโรคในดินให้น้อยลงได้ เช่น ใช้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียนซึ่งถึงแม้จะได้ผลน้อย แตกพอจะลดปริมาณสาเหตุลงได้โดยต้องใช้ถั่วลันเตาทนโรค (resistant peas) ปลูกสลับกับพืชตระกูลหญ้า ซึ่งไม่ใช่พืชอาศัย (nonhosts) เป็น เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีขึ้นไป

2. อาจทำการปลูกพืชที่เป็นพิษกับไส้เดือนฝอยสลับกับการปลูกถั่วลันเตา เท่าที่มีรายงานก็ได้แก่ ดาวเรือง (Targetes minuta L.) พืชตระกูลหญ้า เช่น Crotalar. spectabilis Roth หรือ Indigofera hirsuta L. จะลดปริมาณของสาเหตุโรครากปมในดินได้ดี

3. ดินที่มีการระบาดของโรคต่อเนื่องควรจะเว้นการปลูกพืชทุกชนิดไว้สักระยะหนึ่ง โดยอาจปล่อยแปลงทิ้งไว้นานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป และควรปรับปรุงดินด้วยการไถแปลงให้ลึกกว่าปกติ ทำการกำจัดวัชพืชทิ้งให้หมด รวมทั้งการไขน้ำท่วมแปลงนานเป็นเดือน จะช่วยลดปริมาณไส้เดือนฝอยในดินนั้นลงได้

4. มีรายงานว่าการใช้ราที่เป็น parasite ของทั้งไข่และตัวเต็มวัยไส้เดือนฝอยชนิดนี้ คือ Paecilomyces lilacinu (Thom) R.A. Samson จะลดการติดเชื้อโรครากปมจากไส้เดือนฝอยในพืชตระกูลถั่วได้ดี (Hall, 1991)

12. โรคที่เกิดจากไวรัส (Viral diseases)

ไวรัสที่ทำลายถั่วลันเตามีอยู่หลายชนิด ดังได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น แต่ที่พบว่ามีความสำคัญและระบาดอย่างกว้างขวาง ไปตามแหล่งปลูกถั่วลันเตาทั่วโลกมี 4 ชนิด คือ Pea Enatio Mosaic Virus (PEMV) Pea Stunt (เกิดจาก RCVMV Bean Yellow Mosaic Virus (BV-2) และ Pea Strea ซึ่งเกิดจากการทำลายของ BV-2 ร่วมกับ Pea Stunt Viru (PSV) ซึ่งโรคแต่ละชนิดจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน และเชื้อต่างก็มีพืชอาศัยอยู่ข้ามฤดูได้ในพืชตระกูลถั่วอื่นๆ ได้ใกล้เคียงกัน รวมทั้งมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะถ่ายทอดโรคได้ เช่นเดียวกันด้วย สำหรับอาการโรคไวรัสที่พบในประเทศไทย ขณะทำการศึกษาระหว่าง 2527-2529 นั้นยังไม่ได้ทำการแยกชนิดว่าเกิดจากไวรัสกลุ่มใด เพียงแต่พบอนุภาคไวรัสท่อนยาวคดโค้ง (flexuous rod) อยู่ในใบถั่วลันเตา เป็นโรคหลังจากนำไปตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์อีเล็กตรอน (สุดฤดี และ กิตติพงษ์, 2528)

อาการโรค อาการโรคไวรัสถั่วลันเตาที่พบในประเทศไทย ในช่วงที่ สุดฤดี และ กิตติพงษ์ (2528) ทำการศึกษาคือ อาการเหลืองและด่างเป็นบริเวณกว้าง เหลือบริเวณสีเขียวเป็นหย่อมเล็กน้อย เส้นสำเลียงน้ำตามใบจะมีสีซีดจาง ใบเป็นโรคจะหนากว่าปกติเล็กน้อยแต่รูปทรงไม่เปลี่ยนแปร อาการเห็นได้ชัดเจนทั้งใบอ่อนและใบแก่ ถ้าโรครุนแรง อาการด่างจะลุกลามไปยังฝักด้วย การออกดอกและการติดฝักจะลดลง ขนาดของฝักก็จะเล็กลงด้วย ถ้าอาการรุนแรง จะพบลักษณะฝักบิดเบี้ยวโค้งงอ จำนวนเมล็ดในแต่ละฝัก ตลอดจนการแตกกิ่งจะน้อยกว่าปกติ

สำหรับอาการที่เกิดจากไวรัสสำคัญทั้ง 4 ชนิดข้างต้นนั้นพอสรุปได้ดังนี้ (Hagedorn, 1984)

ถั่วลันเตาที่ถูก PEMV ทำลายจะเกิดอาการเด่นชัดคือ ใบเหลืองและที่ขอบจะบิดเบี้ยวเป็นหลุมหรือแอ่ง (enation) และถ้าโรคระบาดรุนแรงจะทำให้ฝักบิดเบี้ยวและแตกแยกออกจากกันก่อนที่จะแก่ ถ้าเป็นการทำลายของ RCVMV จะพบว่าเส้นใบจะเริ่มเกิดอาการซีดต่อมาจะพบอาการยอดแตกออกเป็นกระจุก (rosetting) ต้นแคระแกร็นโดยส่วนของปล้องจะอ้วนสั้น ถั่วลันเตาติดฝักน้อยและฝักที่ได้ก็มีลักษณะผิดปกติขาดคุณภาพ สำหรับ BYMV (BV-2) จะทำให้เกิดอาการด่างเหลืองสลับเขียวเป็นหย่อมๆ ทั่วทั้งใบ และกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตทางด้านยอดมากกว่าด้านข้าง ลำต้น จึงเกิดการยืดยาว ผอมเรียวกว่าปกติ และถ้าถั่วลันเตาถูกทั้ง BV-2 และ RCVMV ทำลายร่วมกันแล้วจะเกิดอาการรุนแรงมากจะทำให้ใบเหลือง เหี่ยว จนถึงกับทำให้ส่วนยอดแห้งตาย ฝักจะมีสีน้ำตาลปนม่วงและเกิดอาการแฟบไม่ติดเมล็ด ในขณะที่บริเวณลำต้นจะเกิดแผลเป็นขีดสีน้ำตาลปนม่วงเกิดขึ้น เช่นกัน

สาเหตุโรค จากอาการโรคที่เกิดในประเทศไทยดังกล่าวนั้น จะพบไวรัสที่มีรูปทรงเป็นท่อนยาวคดโค้ง (flexuous rod) เป็นสาเหตุโรค ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบร่วมกับอาการที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ แล้วจะใกล้เคียงกับเชื้อ BYMV มากที่สุด ซึ่งเชื้อนี้ทำลายพืชตระกูลถั่วได้อย่างกว้างขวางหลายชนิด

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค เชื้อไวรัสชนิดนี้ ถูกถ่ายทอดได้ดีโดยเพลี้ยอ่อนมากกว่า 20 ชนิดด้วยกัน โดย จัดเป็นไวรัสชนิด nonpersistent virus ที่เพลี้ยอ่อนจะใช้เวลาดูดรับเชื้อจากต้นถั่วลันเตาเป็นโรคไม่นานนัก (ไม่กี่นาทีจนถึงหลายชั่วโมง) ต่อจากนั้นก็สามารถนำไปถ่ายทอดสู่ถั่วลันเตาต้นใหม่ได้ทันที ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ทันเวลาด้วยวิธีการใช้สารฆ่าแมลง นอกจากจะถ่ายทอดได้ด้วยเพลี้ยอ่อนแล้วยังสามารถถ่ายทอดได้ด้วยวิธีกล (mechanical transmission) อีกด้วย

การป้องกันกำจัด

1. กำจัดพืชอาศัยทุกชนิดที่เจริญอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงให้หมด เพื่อตัดวงจรไม่ให้ทั้งไวรัสและเพลี้ยอ่อนมีชีวิตอยู่ข้ามฤดูไปทำลายพืชฤดูใหม่ต่อไปได้

2. การใช้ถั่วลันเตาพันธุ์ต้านทานโรคปลูกจะช่วยลดการระบาดของโรคไวรัสได้ดีที่สุด

3. ฉีดพ่นหรือป้องกันไม่ให้มีเพลี้ยอ่อนเข้าไปรบกวนในไร่ถั่วลันเตาซึ่งการควบคุมปริมาณแมลงในไร่นั้นในหลายๆ กรณี การใช้วิธีเขตกรรมต่างๆ เข้าช่วยจะลดการระบาดของแมลงปากดูดลงได้ดีกว่าการใช้สารฆ่าแมลง

4. ควบคุมปริมาณปุ๋ยหรือธาตุอาหารต่างๆ ในถั่วลันเตาให้เหมาะสมจะช่วยลดอาการของโรคลงได้

13. โรคใบฝอย (Phyllody)

โรคนี้พบมีการระบาดเพียงเล็กน้อยที่แปลงปลูกพืชทดลอง สถานีวิจัยพืชสวนปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยแสดงอาการกับถั่วลันเตาพันธุ์ไต้หวันดอกสีขาว

อาการโรค ถั่วลันเตาที่เป็นโรคจะพบว่าลำต้น กิ่งก้าน ใบ มือเกาะมีขนาดเล็กลงใบและ/หรือยอดจะแตกกิ่งมากผิดปกติ กิ่งที่แตกออกมาจะมีขนาดเล็กรวมกันเป็นกลุ่มและไม่เจริญเติบโตเป็นใบที่มีขนาดปกติสมบูรณ์ รวมทั้งไม่มีการออกดอก และติดฝักต้นจะแคระแกร็นแต่ไม่ตายใบส่วนอื่นจะซีดเหลือง ในบางครั้งส่วนที่จะเจริญเป็นดอกก็จะแตกเป็นกระจุกมีลักษณะคล้ายใบ และไม่พัฒนาไปเป็นดอก

สาเหตุโรค จากการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อสาเหตุโดยวิธีการทางไวรัสไม่พบอนุภาคใดๆ ของไวรัสอยู่ปะปนในอาการใบฝอยถั่วลันเตาเหล่านั้น ดังนั้นจึงพอสรุปจากลักษณะอาการโรคดังกล่าวได้ว่ามีสาเหตุมาจากมายโคพลาสมา (Mycoplasmalike organism-MLOs) มากกว่าสาเหตุอื่น

MLOs มีลักษณะใกล้เคียงกับแบคทีเรีย ไม่มี cell wall มีแต่ cell membrane จึงมีรูปร่างได้หลายแบบเจริญอยู่เฉพาะในส่วนของ seive elements และ phloem parenchyma ของพืชอาศัย มีความต้านทานต่อปฏิชีวนะสารพวก penicillin แต่อ่อนแอต่อ tetracycline

สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค เชื้อสามารถ ถ่ายทอดได้ดีโดยเพลี้ยจั๊กจั่น และมีพืชตระกูลถั่วอื่นอีกหลาย ชนิดที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อนี้ได้

การป้องกันกำจัด

1. การเลือกระยะเวลาปลูกให้เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของแมลงพาหะเป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้

2. ใช้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียนมาบริหารในกรณีที่โรคเกิดรุนแรงต่อเนื่องหลายฤดูปลูก

3. อาจจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงเข้าช่วยเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคให้น้อยลง

4. มีรายงานในประเทศญี่ปุ่นว่าการใช้ oxytetra cycline ฉีดพ่นพืชตระกูลถั่วที่เป็นโรคใบฝอย จะช่วยลดอาการโรคในแปลงปลูกได้

5. การจัดการเกี่ยวกับโรคนี้ด้วยวิธีอื่นๆ สามารถกระทำได้เช่นเดียวกับโรคที่เกิดจากไวรัส

การบริหารโรคถั่วลันเตา (Pea disease manage­ment)

เนื่องจากถั่วลันเตามีปัญหาเรื่องการระบาดของโรคต่างๆ หลายชนิด ดังรายละเอียดที่ผ่านมา การป้องกันกำจัด หรือลดความเสียหาย เนื่องจากการทำลายของโรคเหล่านั้นให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการบริหารโรคอย่างมีแผนรอบคอบรัดกุม โดยยึดหลักเสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่ให้ผลในการควบคุมโรคสูงทั้งนี้วิธีที่นำมาใช้บริการในแปลงถั่วลันเตาจะต้องสามารถควบคุมโรคได้หลายชนิดและป้องกันการระบาดของโรคต่างๆ ได้ตลอดอายุของถั่วลันเตาคือตั้งแต่เพาะเมล็ด หรือเริ่มปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว แต่การใช้วิธีการป้องกันกำจัดโรคพืชวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียวไปบริหารการปลูกถั่วลันเตาให้ปลอดโรคทุกชนิดคงจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ถ้าไม่นำทุกวิธีมาใช้ปฏิบัติร่วมกันให้สอดคล้อง อย่างเหมาะสมเป็นขั้นตอน ซึ่งก็ได้แก่ การบริหารโรคด้วยวิธีผสมผสานนั่นเอง (Integrated disease management)

การบริหารโรคถั่วลันเตาด้วยวิธีผสมผสานโดยย่อประกอบ ด้วยการเลือกใช้เมล็ดที่ปราศจากโรคมาทำพันธุ์ตั้งแต่แรกเริ่ม และนำไปปลูกในพื้นที่ที่ไม่เคยมีโรคระบาดมาก่อน ซึ่งจาก รายละเอียดของโรคถั่วลันเตาที่กล่าวมาจะพบว่ามีเชื้อโรคหลายชนิดติดไปกับเมล็ดหรืออยู่ข้ามฤดูและถ่ายทอดโรคโดยผ่านทางเมล็ดได้ดี การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ได้ต้นกล้าแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคในดิน (soil borne) ตลอดจนมีแนวโน้มว่าจะรอดพ้นจากการถูกทำลายของโรคเหนือดิน (air borne) ได้ด้วย สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่จะปราศจากการเปื้อนปนของเชื้อโรคอย่างแท้จริงนั้นจะต้องผลิตขึ้นมาภายใต้การตรวจตราดูแลของนักโรคพืช (plant pathologists) อย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน รวมไปถึงการออกประกาศนียบัตรรับรองการปลอดโรคด้วย หากเกษตรกรมีการเก็บเมล็ดจากแปลงปลูกฤดูปัจจุบันไว้ ทำพันธุ์ด้วยตนเอง ควรเลือกเก็บจากต้นที่ไม่มีโรคใดๆ เข้า ทำลายเลย ซึ่งอาจจำเป็นต้องทำเครื่องหมายแยกไว้ให้เด่นชัด ทั้งนี้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งใดก็ตาม หากไม่ทราบประวัติการผลิตหรือไม่แน่ใจว่าปราศจากการเปื้อนปนของเชื้อโรคสำคัญหรือไม่ ก็ต้องทำการกำจัดเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ด (seed treatment) เสียก่อนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะสมหรือใช้มากกว่าหนึ่งวิธีร่วมกัน เช่น การแช่ในน้ำอุ่น (hot water seed treatment) หรือสารเคมี หรือคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีคลุกเมล็ดโดยเฉพาะ (chemical seed treatment or dressing) หรือคลุกด้วยจุลินทรีย์ข่ม (antagonistics) หรือจุลินทรีย์ที่เป็น parasites ของเชื้อโรค ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลทั้งการลดปริมาณเชื้อก่อโรคที่ติดมากับเมล็ด ตลอดจนป้องกันเชื้อโรคในดินไม่ให้ทำลายเมล็ดหรือต้นกล้าที่เริ่มงอก

พื้นที่ที่จะใช้เป็นแหล่งปลูกถั่วลันเตาก็ไม่ควรปลูกซํ้าใน แหล่งที่มีโรคระบาดรุนแรงมาก่อน หรือมีเศษซากพืชเป็นโรค ตกค้างอยู่ ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งของเชื้อก่อโรคที่สำคัญในฤดูปลูกถัดไป นอกจากนี้แหล่งปลูกนั้นก็ไม่ควรมีเชื้อโรคพว Fusarium sp. ปะปนอยู่ด้วย เพราะเชื้อนี้อยู่ในดินได้เป็นเวลานาน และจะทำลายถั่วลันเตาให้เป็นโรคเสียหายร้ายแรง ติดต่อกันไปทุกฤดูปลูก จึงอาจต้องเลี่ยงไปใช้พื้นที่ปลูกอื่นแทน พร้อมกันนั้นก็ทำการปรับปรุงดินด้วยการนำวิธีต่างๆ มาใช้บริหารจนมั่นใจว่ากำจัดเชื้อดังกล่าวหมดไปจากพื้นที่เป้าหมายแล้วจึงค่อยกลับไปปลูกถั่วลันเตาฤดูใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้การบริหารที่จะช่วยลดการเปื้อนปนของ Fusarium sp ในดินก็ปรากฏอยู่ในรายละเอียดตอนแรกแล้ว นอกจากนี้หากบางท้องที่มีการระบาดของไส้เดือนฝอย ก่อนจะเริ่มปลูกถั่วลันเตาฤดูใหม่ก็ต้องกำจัดไส้เดือนฝอยเหล่านั้นให้หมดไปจากพื้นที่เสียด้วยการปลูกถั่วลันเตาก็ไม่ควรปลูกติดต่อกัน ไปหลายฤดูในพื้นที่เดิม เพราะจะเป็นเหตุให้ปริมาณเชื้อโรคต่างๆ มีการสะสมมากขึ้น ควรใช้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียนเข้ามาร่วมบริหารด้วย พืชที่จะนำมาปลูกหมุนเวียนกับถั่วลันเตาจะต้องไม่เป็นพืชในตระกูลถั่วด้วยกัน หรือไม่ใช่พืชเกี่ยวข้องใกล้ชิดที่จะกลายเป็นพืชอาศัยของเชื้อโรคจากถั่วลันเตาได้ พืชที่ควรนำมาหมุนเวียนได้แก่พืชในตระกูลธัญญพืซ เช่น ข้าวโพด เศษซากถั่วลันเตาที่กองทับถม ตลอดจนวัชพืชหรือพืชอาศัยอื่นที่ตกค้างอยู่ในแปลงปลูก หรือบริเวณใกล้เคียง ก็ต้องกำจัดทิ้งหรือเผาทิ้งให้หมด เป็นการป้องกันไม่ให้มีส่วนของเชื้อโรคปลิวระบาดแพร่กระจายอยู่ในบรรยากาศของแปลงปลูกใหม่ ดินที่เคยมีประวัติเป็นโรคระบาดต่างๆ ก็ควรทำการฆ่าเชื้อโรคในดินหรือลดปริมาณการเปื้อนปนของเชื้อโรคในดินให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยวิธีต่างๆ ทั้งใช้สารเคมีอบฆ่าเชื้อ และวิธีการเขตกรรม อื่นๆ เช่น การไถดินให้ลึกกว่าปกติเพื่อเป็นการฝังหรือกำจัดเชื้อก่อโรคไม่ให้มีโอกาสได้สัมผัสกับส่วนต่างๆ ของพืชทั้งส่วนใต้และเหนือดิน หรือการพลิกดินตากแดดหรือผึ่งอากาศ 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ ตลอดจนการไขน้ำท่วมแปลง จะช่วยลดปริมาณเชื้อก่อโรคบางชนิดได้ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ดินบริเวณนั้นต้องมีการระบายนํ้าที่ดี เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากราพิเทียมและโรคราก หรือโคนเน่าต่างๆ

ในกรณีที่แหล่งปลูกนั้นมักมีโรคใบจุด ใบไหม้ โรคราแป้งและโรคเน่าเปียกซึ่งเป็นโรคสำคัญของถั่วลันเตาระบาดทุกปี การปลูกถั่วลันเตาฤดูใหม่ในพื้นที่เดิม ต้องเลือกใช้พันธุ์ต้านทานหรือทนโรค และเมื่อพืชเจริญพันระยะต้นกล้าโดยปราศจากการถูกทำลายด้วยโรคต่างๆ มาช่วงหนึ่งแล้ว ต้องจัดระยะเวลาและตารางพ่นสารเคมีควบคุมโรคให้รัดกุมเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้อาการโรคที่สำคัญเหล่านี้ปรากฎเสียก่อน โดยเฉพาะสำหรับโรคราแป้งนั้นหากสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการระบาดของโรค เริ่มย่างกรายครอบคลุมแปลงปลูก ควรรีบฉีดพ่นสารเคมีให้ถี่เป็นระยะติดต่อกันไป สำหรับตารางฉีดสารเคมีนี้จะต้องคำนึงถึงสารชนิดอื่นนอกเหนือจากสารที่ใช้ทางด้านโรคพืชด้วย เช่น พ่นสารฆ่าแมลง สารควบคุมวัชพืช หรือสารที่เกี่ยวข้องกับการเจริญของพืช โดยเฉพาะสารฆ่าแมลงอาจจำเป็นต้องใช้กับถั่วลันเตาเป็นระยะด้วย เพราะแมลงหลายชนิดเป็นพาหะแพร่ระบาดไวรัสและมายโคพลาสมาที่สำคัญของถั่วลันเตา ทั้งนั้นเพื่อเป็นการลดเวลาและค่าใช้จ่าย ควรผสมสารทุกชนิดที่จะใช้กับถั่วลันเตาลงในถังฉีดสาร (sprayer) เดียวกัน เพื่อฉีดพ่นให้ถั่วลันเตาพร้อมกันและในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ต้อง ศึกษาเรื่องของการรวมกันได้ของสารเคมี (compatible pesticides) และบริเวณหรือส่วนเดียวกันของพืชที่จะใช้ placement compatibility) ให้ละเอียดก่อนลงมือปฏิบัติด้วย

เมื่อถั่วลันเตาเข้าสู่ระยะเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะการเก็บเกี่ยว ฝักสด หากสามารถปฏิบัติได้ควรรีบนำฝักสดที่เพิ่งเก็บเกี่ยว ไปควบคุมด้วยระบบห้องเย็นทันที (7-10° ซ.) จะเป็นสิ่งที่ดี และเหมาะสมมาก เพราะนอกจากจะช่วยยับยั้งการเกิดโรคที่ฝัก เนื่องจากเชื้อที่ติดมาจากในไร่แล้ว ยังจะช่วยรักษาสภาพฝักให้สดกรอบเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สถานที่หรือห้องเย็นที่ใช้เก็บฝักสดหรือส่วนของเมล็ดรอไว้ก่อนที่จะนำสู่ตลาดหรือผ่านขั้นตอนการบรรจุหีบห่อ จะต้องทำความสะอาดรวมทั้งการฆ่าเชื้อในห้องเก็บดังกล่าวให้ดีก่อน นำผลิตผลไปไว้ด้วย ซึ่งวิธีที่นิยมปฏิบัติกันก็มักจะได้แก่ การใช้สารเคมีอบหรือรมห้องเก็บเหล่านั้น โดยก่อนที่จะมีการใช้สารเคมีต้องเก็บกวาดเศษซากพืชนำไปเผาและล้างพื้นที่หรือภาชนะเก็บให้สะอาดเสียก่อนแล้วจึงตามด้วยสารเคมี สารเคมีที่สามารถใช้ได้ก็มีหลายชนิด เช่นcopper sulfate, formaldehyde หรือ chloropicrin อย่างใดอย่างหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า การบริหารโรคพืชด้วยวิธีผสมผสานนั้นวิธีการป้องกันกำจัดโรคพืชต่างๆ จะถูกนำมาปฏิบัติร่วมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ปราศจากโรค การปฏิบัติทางการเขตกรรม เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การทำความสะอาดเศษซากพืชและวัชพืช การควบคุมโรค โดยชีววิธี การใช้วิธีปรับสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิในโรงเก็บ การใช้สารเคมีทั้งฉีดพ่นและคลุกเมล็ด การใช้พันธุ์พืชทนโรค ซึ่งวิธีต่างๆ ที่นำมาบริหารจะครอบคลุมถึงหลักการป้องกันกำจัดโรคพืชได้ครบทุกข้อ ทั้งการหลีกเลี่ยงจากเชื้อโรค (Exclusion) การกำจัดเชื้อโรค (Eradication) การปรับปรุงพันธุ์พืชต้านทานโรค (Development of disease resistance plants) การป้องกันโรค (Protection) และการรักษาโรค (Therapy) ซึ่งถ้าสามารถปฏิบัติเช่นนี้ได้เป็นประจำทุกครั้ง จะทำให้การปลูกถั่วลันเตาปลอดจากโรคชนิดต่างๆ อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ได้ผลผลิตที่สูงทั้งคุณภาพและปริมาณ อันเป็นจุดประสงค์หลักของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรมทุกคน

ที่มา:สุดฤดี  ประเทืองวงศ์