โรคของถั่ว:โรคใบไหม้แห้ง

(bean and pea diseases)

พืชตระกูลถั่ว (Leguminosae) ที่จัดอยู่ในพืชผัก ในที่นี้ได้แก่พืชที่ใข้ส่วนของฝักและเมล็ดเป็นอาหาร เช่น ถั่วฝักยาว (Vigna sesquipedalis) ถั่วแขก (Phaseolus vulgaris) ถั่วพุ่ม (Phaseolus vulgaris var. humilis) ถั่วลันเตา (Pisum sativum) ถั่วพู (Psophocarpus tetragonolobus) ถั่วราชมาด (Limabean – Phaseolus lunatus) ถั่วเขียว (Phaseolus aureus) ถั่วเหลือง (Glycine max) และถั่วลิสง (Arachis hypogaea) เป็นต้น

สำหรับโรคที่เป็นกับถั่วต่างๆ เหล่านี้มือยู่ด้วยกันมากมาย หลายชนิด ทั้งที่เกิดจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ดินฟ้าอากาศ ธาตุอาหาร สารเคมี และเชื้อต่างๆ ทุกชนิดไม,ว่าจะเป็นรา แบคทีเรีย ไส้เดือนฝอย มายโคพลาสมา และไวรัส โดยแต่ละอย่างก็จะก่อให้เกิดความเสียหายและความรุนแรงมากน้อยต่างกันไปตามชนิดของโรค เชื้อ พันธุ์ถั่ว และสิ่งแวดล้อมขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม โรคต่างๆ ที่เป็นกับถั่วอาจแยกออกได้เป็น 3 พวก ตามลักษณะอาการ และส่วนของต้นถั่วที่ถูกเชื้อเข้าทำลาย

โรคที่เกิดบนใบและฝัก

โรคใบไหม้แห้ง (halo blight)

เป็นโรคซึ่งส่วนใหญ่พบบนถั่ว bean (Phaseolus) เช่น ถั่วแขก ถั่วพุ่ม ถั่วราชมาด ถั่วเขียว และถั่วเหลือง แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีรายงานความเสียหายเกี่ยวกับโรคนี้ แต่ในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และบางประเทศในเอเชียที่มีการปลูกถั่วดังกล่าว halo blight จัดเป็นโรคสำคัญและสร้างความเสียหายมากโรคหนึ่ง

อาการโรค

อาการที่เป็นลักษณะเด่นชัดของ halo blight ของถั่วจะสังเกตเห็นได้ที่ใบ โดยเริ่มจากจุดแผลช้ำฉ่ำนํ้า (water soaked) เล็กๆ ขึ้นก่อน ต่อมาจะค่อยๆ แห้งเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลหรือนํ้าตาลแดง ขนาดของแผลจะเป็นเพียงจุดอย่างเดิม ไม่ขยายโตขึ้นมากนัก ขณะเดียวกันหากบรรยากาศโดยรอบ เย็นและชื้นจะเกิดการตายขึ้นกับเซลล์ที่อยู่รอบจุดแผลอย่างกว้างขวางทำให้มีสีเหลืองหรือซีดจางลงที่เรียกว่า halo มองเห็นได้ชัดเจน บริเวณ halo ของแต่ละแผลจะกว้างมากขนาดที่ว่า แม้บนใบหนึ่งจะมีจุดแผลเกิดขึ้นเพียง 2-3 แห่ง halo ที่เกิดจะมีผลทำให้เซลล์แห้งตายทั้งใบถ้าเป็นมากๆ หรือหลายๆ ใบ ผลที่จะเกิดตามมา คือ ต้นพืชจะชะงักการเจริญเติบโต ต่อมาจะเหี่ยวเหลืองและแห้งตายทั้งต้นในที่สุด ในทางตรงกันข้าม ในขณะเกิดโรคหากอากาศร้อนและแห้ง อาการของโรคจะไม่รุนแรงนัก แผลที่เกิดจะเป็นเพียงจุดเฉยๆ ไม่มี halo ล้อม อาการไหม้แห้งจะไม่เกิดขึ้น

สำหรับอาการเหี่ยวและการชะงักงันจะพบในต้นกล้าหรือ ต้นอ่อน อันเนื่องมาจากการเป็น systemic ของเชื้อสาเหตุโรค หลังจากเกิดอาการจุดแผลขึ้นบนใบในตอนแรกแล้ว เชื้อซึ่งมีการทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ณ จุดดังกล่าว ก็จะถูกส่งกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของต้นตามท่อส่งนํ้า ซึ่งในที่สุดท่อเหล่านี้ก็จะถูกเชื้อทำลายให้เสียหายสูญเสียหน้าที่ไปด้วย อาการทำลายท่อนํ้านี้จะเห็นได้ชัดที่ใบอ่อนหรือใบที่อยู่ส่วนปลายๆ ของกิ่ง โดยจะเห็นเส้น vein เกิดอาการช้ำมีสีเขียวเข้มเด่นชัดขึ้นตัดกับสีของเนื้อใบซึ่งเหลืองซีดจางเป็นอาการที่หากดูเผินๆ แล้วจะคล้ายกับอาการโรคขาดธาตุอาหารหรือโรคใบด่างลายที่เกิดจากเชื้อไวรัส

นอกจากที่ใบแล้วหากการ infection เกิดขึ้นที่ฝักก็จะก่อให้เกิดแผลที่ค่อนข้างกลมลักษณะช้ำฉ่ำนํ้าสีเข้มขึ้นที่เปลือกนอกของฝัก ปกติแล้วแผลแต่ละแผลจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ถ้าเป็นมากๆ แผลเหล่านั้นอาจต่อเชื่อมกัน ทำให้เกิดเป็นแผลที่มีขนาดโตขึ้น แผลบนฝักจะไม่มีบริเวณ halo ล้อมรอบเหมือนที่ใบในกรณีที่เกิดโรคขึ้นที่ฝักด้วยนี้เชื้อจากบริเวณ ก็จะถูกส่งไปยังเมล็ดที่มีอยู่ โดยจะเคลือบอยู่ทั้งที่ผิวนอกของเปลือกและภายในเมล็ด ทำให้เกิดเป็น seed-borne ขึ้น

แผลทั้งที่ใบและฝักหากอากาศชื้นจะปรากฏเมือกของ แบคทีเรียเป็นนํ้าขุ่นเหนียวสีครีมหรือขาวขุ่นเกาะติดอยู่

สาเหตุโรค : Pseudomonas syringae pv.

phaseolicola

เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีลักษณะเป็นแท่ง ขนาดประมาณ 1.0 – 2.0 ไมครอน บางครั้งพบว่าเซลล์อาจมีลักษณะโค้งเล็กน้อย และเกาะติดกันเป็นสายเคลื่อนไหวได้โดยหาง 1 เส้น ซึ่งเกิดอยู่ที่ปลายเซลล์ เมื่อนำมาเลี้ยงบนอาหารเลี้ยงเชื้อ โคโลนีที่เกิดขึ้นจะมีสีเขียวเรืองแสงพ่ลูออเรส-เซ็นท์ อุณหภูมิที่เจริญเติบโตดีที่สุดอยู่ระหว่าง 20 – 23 °ซ.

โรค halo blight นี้ เมื่อเกิดเป็นกับพืชในแปลงแล้วหากสิ่งแวดล้อมเหมาะสม (อากาศชื้น อุณหภูมิ 20 – 27° ซ.) ระบาดแพร่กระจายไปยังต้นข้างเคียงอย่างรวดเร็วโดยการกระเซ็นของน้ำที่ใช้รดหรือน้ำฝนนอกจากนั้นการปฏิบัติต่างๆ กับต้นพืช เช่น การให้ปุ๋ย พรวนดิน การผูกทำค้าง ตัดแต่ง หรือเก็บเกี่ยวผลหากไปสัมผัสหรือถูกเข้ากับเมือกของเชื้อแบคทีเรียที่ซึมออกมาเกาะติดอยู่ตามแผลก็จะทำให้เกิดการระบาดขึ้นได้

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ หากไม่แน่ใจว่าเมล็ดที่ได้มาบริสุทธิ์หรือไม่ ให้ทำการฆ่าเชื้อที่อาจติดมาเสียก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่น 49 – 50° ซ. นาน 25 นาที หรือคลุกสารเคมีส่วนผสมของสารปรอท เช่น กราโนแซน หรือไทแรม เสียก่อน

2. ปัจจุบันมีผู้ทดลองนำเอายาปฏิชีวนะมาทดลองใช้ทั้งในการฆ่าเชื้อที่ติดมากับเมล็ดและฉีดพ่นให้กับต้นพืชในแปลงก็ปรากฏว่าได้ผลดีทั้งในการป้องกันและกำจัดโรค เช่น  ใช้สเตรปโตมายซินซัลเฟต 2,000 ppm. นาน 15-30 นาที สำหรับแช่เมล็ดและ 300 – 400 ppm. สำหรับฉีดพ่นกับพืช

3. สารเคมีพวกที่มีส่วนผสมของทองแดง เช่น คูปราวิท และบอร์โดมิกซ์เจอร์ ก็ปรากฏว่าใช้ในการป้องกันโรคนี้ได้ดีเเต่มีข้อเสียคือไปลดผลผลิตของถั่วจึงไม่ใคร่นิยมใช้

4. ทำลายวัชพืชพวกถั่วต่างๆ และต้นที่งอกนอกฤดูปลูกให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก