โรคของผักบุ้ง

(diseases of Chinese water convolvulus)

ผักบุ้ง (Ipomoea aquatica) ตามธรรมชาติเป็นพืชน้ำขึ้นและเจริญเติบโตในลักษณะลอยทอดลำต้นแผ่กระจายบนผิวน้ำ แต่ก็มีบางชนิดที่เจริญงอกงามได้ดีบนบก มีทั้งที่ขึ้นเองในธรรมชาติ และมีผู้นำเอามาปลูกเป็นการค้า เป็นพืชผักที่มีผู้นิยมบริโภคกว้างขวาง เพราะนำมาปรุงหรือประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิดทั้งสุกและดิบ มีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะไวตามินเอสูง ช่วยเกี่ยวกับสายตาทำให้สามารถมองเห็นได้ดีในที่มืด และก็เช่นเดียวกับผักอื่นทั่วๆ ไป ผักบุ้งก็มีศัตรูและโรคหลายชนิดขึ้นทำลายเกาะกินก่อให้เกิดความ เสียหายอยู่เสมอ โดยเฉพาะผักบุ้งจีนซึ่งมีผู้ปลูกและบริโภคมากที่สุด มีโรคที่จัดว่าสำคัญที่สุดและควรจะกล่าวถึง คือ

โรคสนิมขาว (white rust or white blister)

ในบรรดาโรคต่างๆ ที่เป็นกับผักบุ้งทั้งไทยและจีน โรคสนิมขาวนับเป็นโรคที่แพร่หลายและสร้างความเสียกายมากที่สุดจะพบได้ในเกือบทุกแห่งและทุกท้องถิ่นที่มีการปลูกโดยเฉพาะผักบุ้งจีน

อาการโรค

อาการโรคสนิมขาวในผักบุ้งที่พบทั่วๆ ไปแบ่งออกได้เป็นสองแบบ ตามลักษณะการเข้าทำลายและอาการที่แสดงออก คือ อาการเฉพาะแห่ง เป็นอาการที่แสดงออกในลักษณะเปิดโดยจะเกิดขึ้นตรงจุดที่เชื้อเข้าทำลาย เริ่มจากจุดเซลล์ตายสีเหลืองซีดขึ้นที่ด้านบนของใบก่อน หลังจากนั้นต่อมาอีก 2-3 วัน ที่ด้านในตรงกันจะเกิดแผลลักษณะเป็นกระจุกสีขาว ซึ่งเป็นกลุ่มของสปอร์ (sorus) มองดูเป็นตุ่มนูนเล็กๆ ขนาดประมาณ 1-2 มม. เกิดขึ้นทั่วไป อย่างไรก็ตามตุ่มเหล่านี้หากเกิดมากๆ อาจต่อเชื่อมกันกลายเป็นแผลใหญ่ทำให้มีขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน เมื่อเกิดแผลตุ่มสีขาวขึ้นนั้นผิวด้านบนของใบซึ่งแสดงอาการซีดเหลืองในตอนแรกก็จะโป่งพองออกเป็นปุ่มปมคล้ายผิวมะระ ไม่ราบเรียบเหมือนใบปกติ ส่วนใหญ่แล้วอาการเฉพาะแห่งนี้จะเกิดและพบมากกับใบ แต่ในบางครั้งก็จะเกิดกับส่วนของต้นและก้านใบได้เช่นกัน ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นอาการแพร่กระจายที่เกิดขึ้นจากการที่เชื้อเข้าไปอยู่ภายในต้นพืช ซึ่งจะทำให้พืชแสดงอาการผิดปกติในลักษณะการสร้างเป็นปุ่มปมหรือบวมพองโตขึ้นที่เรียกว่ากอลล์ (gall) ขึ้นกับส่วนของลำต้น กิ่งก้าน การเกิดโรคแบบแพร่กระจาย หรือ gall ยังแยกออกได้เป็นอีก 2 แบบ คือ cerebriform gall คือ การบวมพองโตออกของลำต้น ตรงบริเวณข้อปล้องและโคนต้นคล้ายกับโรคคราวน์กอลล์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย บางครั้งก็อาจจะเกิดขึ้นที่ก้านดอก กอลล์พวกนี้เมื่อขยายโตเต็มที่หรือเมื่อเป็นนานๆ ก็จะแตกเปิดออก แต่จะไม่มีกลุ่มของสปอร์ (sorus) เกิดให้เห็นเหมือนพวกอาการเฉพาะแห่ง สำหรับการเกิดกอลล์อีกแบบหนึ่ง เรียกว่า bud gall ซึ่งเกิดจากการทำลายส่วนของ auxillary bud ในแบบแพร่กระจาย ทำให้ตาที่งอกหรือแตกออกมาใหม่มีอาการผิดปกติ เช่น มีจำนวนมากมายหลายตา ส่วนของลำต้นอ้วนหนาปล้องหดสั้นใบที่เกิดมีขนาดและรูปร่างผิดปกติ อาจบิดเบี้ยวหรือหยักเป็นคลื่น นอกจากนั้น bud gall จะมีการสร้างสปอร์เช่นเดียวกับแบบเฉพาะแห่งโดยจะเกิดกลุ่มของ sorus สีขาวเป็นจุดๆ ทั้งบนใบและกิ่งก้านของตาที่ผิดปกติเหล่านั้น

ต้นผักบุ้งที่เกิดโรคสนิมขาวนี้มักจะไม่รุนแรงถึงตาย ถ้าเป็นตั้งแต่ยังเล็กอยู่ ก็อาจเพียงแต่ชะงักการเจริญเติบโตต้นไม่สมบูรณ์ สำหรับในต้นโตความเสียหายก็เพียงแต่ทำให้เกิดความไม่น่าดู ผู้บริโภคอาจจะรังเกียจ ราคาตก

สาเหตุโรค : Albugo ipomoeae-aquaticae

เป็นราชั้นต่ำใน Class Oomycetes เป็น obligate parasite จะมีชีวิตและเจริญเติบโตได้เฉพาะบนพืชที่มีชีวิตเท่านั้น เป็นพวกที่ต้องการความชื้นสูงในการเจริญเติบโตและเข้าทำลายพืช ทั้งนี้ เพราะสปอร์ (sporangium) จะต้องงอกออกเป็น zoospores ก่อนที่จะเข้าทำลายพืช ซึ่งในช่วงนี้อาจต้องใช้ความชื้นถึง 100% สำหรับอุณหภูมินั้น A. ipomoeae- aquaticae งอกและเจริญได้ดีในช่วงของอุณหภูมิตั้งแต่ 10 – 35° ซ. แต่จะดีที่สุดที่ระหว่าง 28 – 30° ซ.

สำหรับการอยู่ข้ามฤดูและการระบาดของเชื้อเนื่องจากเป็น obligate parasite ส่วนใหญ่จะอยู่ข้ามฤดูโดยอาศัยในวัชพืช พวกเดียวกันหรือผักบุ้งป่าซึ่งมีอยู่มากมายและทั่วไปในบ้านเรา นอกจากนั้นก็อาจจะอยู่ในรูปของ oospores ที่มีผนังหนา ซึ่งมักจะสร้างขึ้นในตอนปลายหรือใกล้ๆ จะหมดฤดูปลูก สปอร์พวกนี้จะติดอยู่กับเศษซากพืชที่เป็นโรคหรือหล่นอยู่ตามดิน

การระบาดระหว่างฤดูปลูก ส่วนใหญ่จะเกิดจากสปอร์แรงเจียปลิวไปตามลม นํ้าที่สาดกระเซ็นหรือนํ้าไหล แมลง และสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิด

การป้องกันกำจัด

1. เก็บทำลายต้นใบและเศษซากพืชที่เป็นโรคให้หมดจากแปลงปลูก รวมไปถึงพวกวัชพืชและผักบุ้งป่าที่มีอยู่ในบริเวณรอบๆ

2. หลีกเลี่ยงการปลูกผักบุ้งซํ้าลงในดินหรือแปลงปลูกที่เคยมีโรคเกิดมาก่อน หรือปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 2-3 ปี

3. ระวังเรื่องการให้น้ำกับพืชโดยเฉพาะขณะมีโรคระบาดไม่ควรใช้โพงสาดแรงๆ หรือใช้เครื่องพ่นฉีดพ่นที่มีความดันสูง เพราะจะทำให้เชื้อหรือสปอร์กระจายจากจุดที่เกิดไปยังต้นอื่นๆ ข้างเคียงได้ การให้นํ้าควรให้ในตอนเช้า หรือขณะที่ยังมีแสงแดด เพื่อให้นํ้าระเหยแห้งจากต้นและใบพืชโดยเร็ว

4. หากมีโรคเกิดกับต้นผักบุ้งขณะปลูกให้เก็บทำลายต้นตอที่เป็นโรคให้หมด แล้วฉีดพ่นต้นอื่นๆ ที่เหลือด้วย สารเคมีฆ่าเชื้อรา เช่น ไดเทนเอ็ม 45 มาเน็บ ริดโดมิล 25 และเบนเลท อย่างใดอย่างหนึ่ง ทุก 5-7 วัน ก็จะป้องกันโรคไม่ให้เกิดและลดความเสียหายลงได้ ข้อควรจำในการใช้สารเคมีเหล่านี้ คือ ควรรีบทำก่อนที่โรคจะเกิดหรือแพร่ระบาดออกไปอย่างกว้างขวาง