โรคของผัก:โรครากบวม

(club root)

โรครากบวมยังไม่มีรายงานความเสียหายในประเทศไทย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมในที่ปลูกผักส่วนใหญ่ไม่เหมาะต่อการเกิดและการระบาดของโรค เพิ่งจะมีผู้พบในผักกาดที่ปลูกบนสถานีทดลองเกษตรที่สูงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2527 แต่ก็ยังไม่มีการศึกษา และแยกเชื้อเพื่อยืนยันที่แน่นอน ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ได้มีรายงานโรคนี้ในภาคใต้ของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ในบางประเทศแถบยุโรปและอเมริกานับเป็นโรคสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับพืชพวกครูซิเฟอร์ และ mustard family เป็นอย่างมาก นอกจากนี้เชื้อสาเหตุ คือ Plasmodiophora brassicae ยังเป็นเชื้อพวกราเมือก (slime mold) ซึ่งมีลักษณะแปลกไปจากเชื้อโรคทั่วๆ ไป และยังมีอาการโรคที่คล้ายหรือดูเผินๆ แล้วเหมือนโรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม หากไม่พิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว อาจทำให้เข้าใจผิดได้จึงเป็น โรคที่น่าสนใจและควรแก่การศึกษาโรคหนึ่ง

อาการโรค

เนื่องจากการทำลายของโรคเกิดขึ้นกับส่วนของต้น หรือรากที่อยู่ใต้พื้นดิน อาการระยะเริ่มแรกจึงสังเกตเห็นได้ยากจนกว่าจะเป็นมากและถึงขั้นรุนแรงแล้วจึงปรากฏให้เห็นกับส่วนของต้นข้างบน โดยใบจะเริ่มแสดงอาการเหลืองเหี่ยวเฉาในตอนกลางวันที่อากาศร้อน ในต้นอ่อนหรือระยะกล้า หากรากถูกทำลายหมดต้นพืชอาจจะตาย สำหรับในต้นที่โตพ้นระยะกล้านอกจากจะแสดงอาการเหลืองและเหี่ยวเฉาแล้ว จะแคระแกรนหยุดการเจริญเติบโต ไม่ให้ดอกออกผล ในกะหล่ำปลีจะไม่มีการห่อตัว อาการเหลืองและเหี่ยวจะทวีมากขึ้นจนในที่สุดจะเหี่ยวอย่างถาวร ระยะนี้ถ้าถอนต้นขึ้นมาจากดินจะพบว่าส่วนรากจะมีอาการบวมพองโตขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ลักษณะคล้ายหัวมันสำปะหลัง เนื่องจากเชื้อที่เข้าไปอยู่ในรากกระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์ทั้งเพิ่มทวีจำนวนมากขึ้น (hyperplasia) และมีขนาดใหญ่ขึ้น (hypertrophy) กว่าเดิมมาก ผิวของรากที่บวมโตขึ้นนี้อาจมีลักษณะเป็นปุ่มปม ขรุขระไม่ราบเรียบ ลักษณะอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับรากเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดที่ต้นมีอยู่ก็ได้ เมื่อเป็นนานๆ รากที่บวมโตนั้นจะแตกออก หากมีเชื้อพวกแซพโพรไพท์ในบริเวณใกล้เคียงเข้าไปเกาะกินต่ออาจทำให้เกิดอาการเน่าติดตามมา

สาเหตุโรค : Plasmodiophora brassicae

เป็นพวกราเมือก (slime mold) ที่มีรูปร่างไม่คงที่ เนื่องจากไม่มีผนังเซลล์มีแต่เพียงชั้นของเยื่อ (membrane) บางๆ ห่อหุ้มตัวอยู่ ลักษณะเป็น plasmodium ซึ่งขยายพันธุ์ และเจริญเติบโตได้เฉพาะภายในเซลล์ของพืชที่มันเข้าไปอาศัยเกาะกินอยู่เท่านั้น เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ plasmodium ก็จะเปลี่ยนไปเป็นที่เกิดของสปอร์เล็กๆ เป็นจำนวนมาก และจะถูกปล่อยออกมาอยู่ตามดินบริเวณที่เป็นโรค เมื่อมีอาหารสิ่งแวดล้อมเหมาะสม หรือมีรากพืชให้เข้าทำลายก็งอกออกมาเป็น zoospore ที่เคลื่อนไหวได้โดยมีหาง (flagella) ยาวไม่เท่ากันสองเส้น zoospore จะเคลื่อนไหวได้ดีในน้ำ หรือที่มีความชื้นสูง หากไปสัมผัสกับรากขนอ่อนของพืชที่เป็นพืชอาศัย ก็จะทิ้งหางกลายเป็น amoeboid แล้วเจาะทะลุผ่านผิวของรากเข้าไปโดยตรง แล้วไปอาศัยอยู่ภายในเซลล์(intracellular) เปลียนรูปเป็น plasmodium แล้วทวีจำนวนเคลื่อนที่จากเซลล์หนึ่งเข้าไปอยู่ยังเซลล์อื่นๆ ใกล้เคียง เซลล์ที่ถูกเชื้อเข้าไปอาศัยอยู่ภายในจะขยายโตขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีการทวีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยทำให้ส่วนนั้นของพืชเกิดอาการบวมโตขึ้น เมื่อแก่ plasmodium จะกลายเป็น zoosporangia ซึ่งภายในจะเป็นที่เกิดของ resting spores เป็นจำนวนมาก เมื่อรากถูกทำลายจนแตกออกสปอร์พวกนี้ก็จะถูกปล่อยออกมาปะปนอยู่ตามดินรอการเข้าทำลายพืชต่อไป อย่างไรก็ดี หากไม่มีพืซให้เข้าทำลายสปอร์นี้ก็จะมีชีวิตอยู่ในดินได้นานถึง 7 ปี

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยทำให้เกิดโรค

ดินที่เปียกชื้นอย่างน้อย 1 วันก่อนการเข้าทำลายพืชและมีฤทธิ์เป็นกรดจะช่วยส่งเสริมความรุนแรงของโรคให้มีมากขึ้น สำหรับอุณหภูมิปรากฏว่าสปอร์ของเชื้อจะงอกได้ดีระหว่าง 18 – 25°ซ. ส่วนการเข้าทำลายพืชพบว่าอยู่ระหว่าง 12 -27°ซ.

การป้องกันกำจัด

1. กำจัดวัชพืชหรือพืชในตระกูล Cruciferae (ผักในตระกูลกะหล่ำต่างๆ) ให้หมดจากแปลงปลูกหลังเก็บเกี่ยวแล้ว

2. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชพวกกะหล่ำลงในดินที่เคยปรากฎโรคมาก่อน โดยเฉพาะดินแปลงเพาะกล้าหากจำเป็นต้องใช้ดินเก่าควรอบฆ่าเชื้อเสียก่อนโดยความร้อน หรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ดาโซเมท เมททิลโบรไมด์

3. แปลงปลูกควรให้มีการระบายน้ำที่ดีอย่าให้มีน้ำแฉะขังและควรปรับความเป็นกรด-ด่าง ของดินให้ค่อนมาทางด่างเล็กน้อย (ประมาณ pH 7.2) โดยการเติมปูนขาว (hydrated lime) ในปริมาณ 300-400 กิโลกรัมต่อไร่ และควรทำอย่างน้อย 6 อาทิตย์ก่อนปลูกพืช

4. ระวังเรื่องการใช้ปุ๋ยพืชสด เศษซากพืชที่นำมาใช้ต้องแน่ใจว่าไม่มีต้นที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน

5. รดต้นกล้าผักหลังจากย้ายปลูกแล้วด้วย สารเคมีเทอราคลอร์ 7-10 มล. ต่อนํ้า 1,000 มล. (1 ลิตร) 5-7 วัน