โรคของมะนาว

(diseases of lime)

มะนาวแม้จะมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นเช่นเดียวกับไม้ผลต่างๆ แต่ประโยชน์และลักษณะการใช้มะนาวกลับมาอยู่ในหมู่ของพืชผัก เพราะมีรสเปรี้ยวจัด ไม่นิยมบริโภคทั้งลูก ส่วนใหญ่จะนำมาประกอบหรือปรุงแต่งรสอาหาร หรือไม่ก็นำมาแปรรูปทำเป็นมะนาวดอง มะนาวแช่อิ่ม มะนาวตากแห้ง เป็นต้น ในรูปของ preserved food จัดเป็นอาหารผักที่จำเป็นชนิดหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของชาวไทยทุกครัวเรือน

มะนาวเป็นพืชตระกูลส้มมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus aurantifolia Swingle มีโรคและศัตรูต่างๆ เช่นเดียวกับส้มทั่วๆ ไป แต่ที่นับว่าสำคัญและควรจะกล่าวถึงก็ได้แก่

โรคหูดหรือแคงเคอร์ (canker of lime)

โรคหูดหรือแคงเคอร์จัดเป็นโรคสำคัญที่ระบาดทำความเสียหายให้กับพืชในตระกูลส้มเกือบทุกชนิด เช่น มะกรูด มะนาว ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มเกลี้ยง ส้มเช้ง ส้มซ่า โดยเฉพาะมะนาวจัดเป็นพืชตระกูลส้มที่อ่อนแอและง่ายต่อการเกิดและติดโรคนี้มากที่สุด จะพบได้ทุกแห่งทุกภาคที่มีการปลูกมะนาวแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นกับมะนาวทุกต้นที่ขึ้นและเจริญเติบโตอยู่ในประเทศไทย เป็นโรคที่ชาวสวนทุกคนรู้จักคุ้นเคยกันดี แต่ไม่มีผู้ใดทราบหรือมีหลักฐานชัดเจนระบุว่าโรคนี้เกิดมาจากที่ใดและเมื่อไร แต่เดิมในระยะแรกๆ ที่มีการกล่าวถึงโรคนี้เรียกว่าโรคขี้เรื้อนหรือโรคขี้กลาก

อาการโรค

โรคแคงเคอร์จะเกิดและเป็นได้กับทุกส่วนของต้นมะนาวที่อยู่เหนือพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นใบ ต้น กิ่งก้าน ดอก และผล

บนใบ อาการระยะแรกจะเริ่มจากจุดเซลล์ตายเล็กๆ ขนาดหัวเข็มหมุด ลักษณะใสและฉ่ำนํ้า ต่อมาจะขยายโตขึ้นกลายเป็นแผลสะเก็ดนูน ค่อนข้างกลม และมีสีน้ำตาลคล้ายฟองน้ำ ตอนกลางจะเป็นแอ่งบุ๋มลง บางครั้งทำให้แลดูคล้ายกับเป็นแผลมีขอบ และแข็ง แต่ก็จะหลุดล่อนออกได้ง่าย ปกติแล้วแผลแต่ละแผลจะมีขนาดไม่โตนักประมาณ 2-3 มม. แต่ถ้าเกิดมากๆ แผลเหล่านั้นอาจจะมาต่อเชื่อมกันทำให้เกิดเป็นแผลใหญ่ และมีรูปร่างไม่แน่นอนขึ้น ส่วนใหญ่แล้วแผลจะเกิดขึ้นทั้งสองด้านของใบตรงกัน และมีสิ่งบ่งชัดอีกอย่างหนึ่ง คือ รอบแผลจะมีบริเวณเซลล์ตายสีเหลือง (halo) ล้อมรอบอยู่

บนต้นกิ่งและก้าน ส่วนใหญ่แผลมักจะเริ่มเป็นมาตั้งแต่ยังเป็นกิ่งอ่อน มีลักษณะอาการและการเกิดคล้ายกับที่ใบ แต่เมื่อเป็นนานจะขยายลามออกไปจนรอบ หรือไม่ก็ยาวไปตามกิ่ง แผลจะฟูนูนแข็งเป็นสะเก็ดและมีสีน้ำตาลเช่นกัน แต่จะไม่มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ เช่น ที่ใบ

บนผลมะนาว อาการก็คล้ายๆ กับที่ใบและกิ่งก้าน ลักษณะเป็นแผลสะเก็ดสีน้ำตาลผิวขรุขระ ตรงกลางเป็นแอ่งยุบลง เมื่อเริ่มเป็นจะมีสีเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นนํ้าตาลเมื่อแก่ แผลแต่ละแผลปกติจะมีขนาดและขอบเขตจำกัดค่อนข้างกลม หากเกิดมากอาจจะมารวมหรือชนต่อเชื่อมกันกลายเป็นแผลใหญ่ มีรูปร่างไม่แน่นอน แผลบนผลบางครั้งขณะที่ยังอ่อนมีสีเขียว อาจจะพบว่ามีวงแหวนสีซีดล้อมรอบแต่จะเป็นเพียงจางๆ ไม่ชัดเท่าบนใบ ผลมะนาวที่แสดงอาการมากๆ ขณะที่ยังอ่อนอาจจะร่วงหล่นออกจากต้น

ในรายที่เป็นรุนแรงต้นจะโทรม แคระแกรน อ่อนแอ ใบอาจจะหลุดร่วง กิ่งแห้งตาย ให้ลูกและผลน้อย และอาจถึงตายในที่สุด

สาเหตุโรค : Xanthomonas campestris pv. citri

เป็นเชื้อแบคทีเรียแซนโทโมแนสในกลุ่ม campestris mujทำลายและก่อให้เกิดโรคกับพืชและผักหลายชนิด แต่ชนิดนี้เป็นสายสายพันธุ์หนึ่งที่ทำลายเฉพาะพวกพืชในตระกูลส้ม ในการเข้าทำลายพืชของเชื้อชนิดนี้จะเป็นไปในลักษณะ systemic infection คือ หลังจากที่เข้าไปในพืชซึ่งส่วนใหญ่ก็จะผ่านทางแผลแล้วก็จะทวีจำนวนเจริญเติบโตแพร่กระจายไปทั่วต้น ตามท่อส่งนํ้า แล้วไปก่อให้เกิดอาการขึ้นยังส่วนอื่นๆ ได้ทั่วทั้งต้น ในแผลแคงเคอร์ที่เห็นแต่ละแผลจะมีแบคทีเรียอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแบคทีเรียพวกนี้ต่อมาก็จะระบาดแพร่กระจายไปยังต้นข้างเคียงหรือส่วนอื่นๆ โดยแมลง และการชะพัดพาของนํ้าฝน นํ้าค้าง หรือไม่ก็จากการจับต้องสัมผัสของชาวสวนเอง

เชื้อพวกนี้บางครั้งจะพบอยู่ในดินตามบริเวณโคนต้นที่เป็นโรค เพราะติดลงมากับใบหรือเศษซากพืซที่ตายที่หล่นลงมายังพื้นดิน พวกนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อมาด้อีกนานเป็นปี เมื่อถูกนำกลับขึ้นไปยังต้นพืชก็จะก่อให้เกิดโรคได้อีก

สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเกิดโรค

โรคจะเกิดและระบาดได้ดีในฤดูฝนหรือช่วงที่มีอากาศชื้นมากๆ อุณหภูมิระหว่าง 20 – 30° ซ. ใบและกิ่งอ่อนจะถูกเชื้อเข้าทำลายได้ง่ายกว่าที่แก่แล้ว มะนาวพันธุ์แป้น และพันธุ์ไข่จะเป็นโรครุนแรงกว่าพันธุ์หนัง หรือพันธุ์ตาฮิติ เเละปรากฎว่าสวนมะนาวที่ปลูกในที่โล่งแจ้งไม่มีต้นไม้อื่นกำบังลม จะเป็นโรคได้ง่ายและระบาดรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะลมที่พัดถูกต้นเต็มที่ อาจจะพัดพาเอาสะเก็ดแคงเกอร์ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียอยู่มากมายหลุดกระเด็นออกจากแผลให้ปลิวกระจายยังต้นข้างเคียง นอกจากนั้นลมแรงๆ ยังอาจทำให้ กิ่ง ใบ เสียดสีกัน เกิดแผลหรือรอยถลอก ทำให้เชื้อเข้าไปภายในได้ง่ายขึ้น

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้กิ่งพันธุ์ที่สะอาดจากต้นแม่ที่ปลอดโรค หากไม่แน่ใจ ก่อนนำไปปลูกควรนำกิ่งตอนไปจุ่มแช่ในน้ำยาปฏิชีวนะ เช่น สเตรปโตมายซิน แอกริมายซิน หรือแคงเคอร์เอ็กซ (Kanker-X) ในความเข้มข้น 800 – 1,000 ppm. หรือประมาณ 16-20 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร นานอย่างน้อย 10 ชั่วโมง พืชจะดูดยาเข้าไปทำลายเชื้อที่อาจติดมาภายในต้น เรือกิ่งตอนดังกล่าวได้

2. ควรหมั่นดัดแต่งหรือเก็บใบ กิ่งก้านรวมทั้งลูก ผลที่แสดงอาการโรคไปทำลาย หรือเผาทิ้ง ต้นใดที่เป็นโรครุนแรงหรืออ่อนแอต่อโรคมากๆ ก็ควรจะตัดทำลายเสียทั้งต้น ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคไปยังต้นอื่นๆ ต่อไป

3. ดูแลบำรุงต้นมะนาวให้สมบูรณ์แข็งแรง โดยการให้น้ำให้อาหารหรือปุ๋ยเคมีที่เหมาะสม เพื่อให้ต้านทานต่อโรค

4. ป้องกันแมลงพวก มวน หรือหนอนผีเสื้อที่มากัดกินต้นมะนาว โดยเฉพาะหนอนชอนใบ ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวนำเชื้อแล้วยังช่วยเปิดแผลทำให้เชื้อเข้าไปภายในต้นพืชได้ง่ายขึ้น โดยฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง เช่น แลนเนท อโซดริน เมพาทิน หรือไบดริน

5. ใช้สารเคมีฉีดพ่นให้กับต้นมะนาวเสมอๆ โดยเฉพาะในตอนต้นฤดูฝนหรือเมื่อพืชเริ่มแตกใบอ่อน เป็นระยะๆ โดยอาจเลือกใช้สารเคมีที่มีทองแดงเป็นส่วนผสม เช่น คูปราวิท ค๊อปปิไซด์ บอร์โดมิกซ์เจอร์ 4:4:50 (ค๊อปเปอร์ซัลเพ่ตหรือจุนสี 200 กรัม ปูนขาว 200 กรัมต่อน้ำ 20 แกลลอน) หรือใช้ยาปฏิชีวนะที่ทำลายเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะ เช่น สเตรปโตมายซินซัลเพ่ต แอกริมายซิน หรือแคงเคอร์ เอ๊กซ์ 200-400 ppm. สารเคมีเหล่านี้อาจช่วยลดการระบาดและความเสียหายจากโรคลงได้บ้าง

6. การปลูกพืชกำบังลมประเภทไม้ยืนต้นที่สูงกว่าต้นมะนาว เช่น ไผ่ สน กระถินยักษ์ ยูคาลิปตัส เพื่อกันไม่ให้ลมพัดถูกต้นมะนาวโดยตรงและแรงจะช่วยลดความรุนแรง และการกระจายของโรคลงได้

โรคทริสเตซา (tristeza disease)

ปัญหาเรื่องต้นโทรมของส้มและมะนาวที่เรียกว่า โรคทริสเตซา นับว่ากำลังเป็นเรื่องสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงให้กับผู้มีอาชีพในการทำสวนหรือปลูกพืช ดังกล่าวมาก เนื่องจากโรคนี้มักจะเป็นกับพืชที่อยู่ในช่วงกำลังเจริญเติบโต หรือระยะที่กำลังให้ผล โดยใบจะเหลืองด่างร่วง หลุดจากต้น แคระแกรน หยุดการเจริญเติบโตและตายในที่สุด ปัจจุบันพบระบาดในแหล่งปลูกมะนาวและส้มเขียวหวาน หลายแห่งในประเทศไทย

อาการโรค

เริ่มจากใบอ่อนที่อยู่ปลายกิ่งหรือยอดจะแสดงอาการผิดปกติ โดยมีขนาดเล็กลง ขอบใบโค้งบิดงอขึ้นหรือห่อเป็นรูปถ้วย สีซีดจางหรือด่าง เหลืองสลับเขียว คล้ายขาดธาตุอาหารโดยเฉพาะตามแนวของเส้นใบ และจะยิ่งเห็นชัดขึ้นหากนำไปส่องดูกับแสงอาทิตย์ ใบพวกนี้จะล่วงหลุดจากต้นโดยง่าย ทำให้กิ่งแขนงแห้งตายจากส่วนยอดลงมา ต้นพวกนี้จะไม่ให้ลูกผลหรือให้ผลน้อย ที่ให้ผลแล้วก็จะ แกรนมีขนาดเล็กลง ต้นมะนาวที่มีอายุมากแล้วลำต้นมีขนาดใหญ่พอสมควรจะมีลักษณะอาการที่บ่งบอกได้อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อใช้มีดบากแล้วลอกเปลือกของลำต้นออกดูที่เนื้อไม้จะพบว่าเป็นรูเล็กๆ จำนวนมาก ส่วนเปลือกที่ลอกออกมาก็จะมีหนามแหลมยื่นออกมาตรงกับรูหรือรอยที่บุ๋มลงไปของเนื้อไม้ บางครั้งอาจพบอาการยางไหลออกมาจากเปลือกของลำต้น หรือกิ่งที่มีขนาดใหญ่ ต้นมะนาวที่เป็นโรครุนแรงจะมีอาการโทรมอย่างรวดเร็ว และแห้งตายทั้งต้นในที่สุด

สาเหตุโรค: Citrus tristeza virus (CTV)

เชื้อไวรัสนี้มีลักษณะเป็นเส้นคดงอยาวประมาณ 2,000 นาโนเมตร (nm.)

การแพร่ระบาด ส่วนใหญ่โรคจะติดมากับกิ่งตอนหรือต้นตอที่เคยมีโรคเกิดมาก่อน หรือไม่ก็อาจจะโดยแมลงและเพลี้ยอ่อนบางชนิดที่มากัดกินหรือดูดอาหารจากต้นมะนาว

การป้องกันกำจัด

1. ใช้กิ่งพันธุ์ที่สะอาดหรือปลอดโรค

2. ป้องกันกำจัดแมลงต่างๆ หรือเพลี้ยอ่อนที่เป็นศัตรูส้มซึ่งอาจเป็นตัวนำหรือถ่ายเชื้อโดยการฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง

3. ดูแลรักษาต้นส้มให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง อย่าให้ขาดน้ำ ธาตุอาหารจำเป็น เพราะต้นมะนาวที่อ่อนแอจะง่ายต่อการเกิดโรค และเสียหายรุนแรงกว่าต้นที่แข็งแรง

โรคใบแก้ว (zinc deficiency)

พืชตระกูลส้มก็เช่นเดียวกับพืชชนิดอื่นๆ โดยทั่วๆ ไปคือ ต้องการธาตุอาหารในการเจริญเติบโตทุกชนิด ทั้งธาตุอาหารหลัก (major elements) และธาตุอาหารรอง (minor elements) แต่ที่นับว่าสำคัญพบบ่อยและก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ อาการขาดธาตุสังกะสี โดยเฉพาะที่ปลูกในดินเก่าที่ปลูกติดต่อกันมาเป็นเวลานาน และไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ปรับปรุงสภาพดินให้อุดมสมบูรณ์เท่าที่ควร

อาการโรค

อาการของส้มและมะนาวที่ขาดสังกะสี คล้ายกับอาการของโรคที่เกิดจากไวรัสโรคหนึ่ง คือ โรคใบเหลืองหรือกรีนนิ่ง

(greening disease) มาก ซึ่งมักจะทำให้เกิดการสับสนและ วินิจฉัยโรคผิดเสมอ

สาเหตุโรค: ขาดธาตุสังกะสี (Zn)

การขาดธาตุสังกะสีจะเริ่มแสดงที่ใบอ่อนก่อนโดยเนื้อใบระหว่างเส้นแกนใบเกิดอาการซีดจางลง ต่อมาอาการซีดจะกลายเป็นเหลืองมากขึ้นโดยเส้นแกนใบและเส้นใบจะเขียวปกติอย่างเดิม ทำให้เกิดอาการด่างลายตัดกันชัดเจนยิ่งขึ้นใบที่แสดงอาการดังกล่าวมักจะมีขนาดเรียวเล็กปลายแหลมโดยเฉพาะใบอ่อน และปลายใบจะชี้ตั้งขึ้น อาการขาดสังกะสีจะเกิดขึ้นทั่วทั้งตันพร้อมกัน ในต้นที่แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งจะหดสั้นใบอ่อนที่แสดงอาการด่างลายจะค่อยๆ แห้งจากปลายเข้ามาลักษณะเป็น die back ต้นจะโทรมแคระแกรน เจริญเติบโตไม่เต็มที่หากมีผลก็จะมีขนาดเล็กแข็งไม่มีนํ้า

การขาดธาตุสังกะสีมักจะพบในดินที่เป็นกรดหรือด่างจัด ทำให้ธาตุสังกะสีที่มีอยู่ในดินไม่ละลายนํ้าพืชไม่สามารถดูดซึมขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะพืชตระกูล ส้ม มะนาว เป็นพืชที่ต้องการสังกะสีค่อนข้างสูง จึงแสดงอาการขาดให้เห็นเสมอ

การป้องกันการขาดสังกะสี

1. ปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้มีค่า pH เป็นกลางระหว่าง 6 – 6.5 ซึ่งจะทำให้สังกะสีที่มีอยู่สามารถละลายนํ้าพืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้

2. ในกรณีที่ต้นมะนาวแสดงอาการให้ใช้สังกะสีซัลเฟต (ZnSO4)ในอัตราส่วน 150 – 200 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร ราดลงไปในดิน หรือฉีดพ่นให้กับต้นมะนาวโดยตรงก็จะช่วยแก้ได้ดีและเร็วขึ้น นอกจาก ZnSO4 อาจจะใช้สังกะสีออกไซด์ (ZnO) ก็อาจนำมาใช้ได้แต่ละลายนํ้าได้น้อยกว่าจึงต้องใช้ในปริมาณมาก โดยใส่ลงในดินให้พืชค่อยๆ นำไปใช้ไม่นิยมฉีดพ่นให้กับพืชโดยตรงเหมือน ZnSO4

3. ปัจจุบันมีสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีธาตุสังกะสีเป็นส่วนผสมเช่น ไธแรมและ ซีเน็บนอกจากจะใช้ในการป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากราบางชนิดแล้วยังสามารถแก้การขาดธาตุสังกะสีได้ทางอ้อมอีกด้วย