โรคของมันฝรั่ง

(diseases of potato)

มันฝรั่งเป็นพืชผักในกลุ่ม Solanaceous เช่นเดียวกับมะเขือเทศ และพริกดังได้กล่าวแล้ว ด้วยเหตุนี้โรคส่วนใหญ่ของมันฝรั่งจึงเป็นโรคที่คล้ายกันหรือชนิดเดียวกันกับที่พบในมะเขือเทศและพริก ไม่ว่าจะเป็นชนิดของเชื้อ สาเหตุทั้งรา แบคทีเรีย และไวรัส ตลอดจนอาการที่แสดออกก็เป็นอาการที่เกือบจะกล่าวได้ว่าเหมือนกันหรือเป็นแบบเดียวกัน แต่ก็มีอยู่บางโรคที่แตกต่างออกไปและเป็นโรคที่เป็นกับมันฝรั่งโดยเฉพาะ เช่น

โรคต้นเน่าดำ (black leg)

มักจะพบเป็นกับมันฝรั่งที่ปลูกจากหัวที่มีการตัดแบ่งออกเป็นชิ้นๆ (cut seed) และปลูกในดินแฉะ หรือดินที่มีความชื้นสูงต่อเนื่องกันนานๆ

อาการโรค

อาการเริ่มแรกจะเกิดขึ้นที่ส่วนของลำต้นที่เชื่อมต่อกับรากที่อยู่ใต้ผิวดิน โดยเกิดแผลจุดสีดำเล็กๆ ขึ้นก่อนแล้วขยายลุกลามขึ้นมายังส่วนของต้นที่อยู่เหนือขึ้นมาอย่างรวดเร็วกระจายไปยังกิ่งก้านอื่นๆ แผลซึ่งขยายใหญ่ขึ้น จะมีสีดำแห้งคอดลงจนรอบต้น อาการติดตามที่จะสังเกตเห็นได้ต่อมาคือใบจะม้วนห่อเหี่ยว เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในรายที่รุนแรงพืชจะเหี่ยวแล้วแห้งตายทั้งต้น ถ้าเป็นระยะที่มีการสร้างหัวมันแล้ว หัวที่อยู่ใต้ดินพวกนี้จะเน่าตามไปด้วย โดยจะเริ่มจากขั้วที่ต่อเชื่อมกับ Stolon แล้วค่อยๆ เน่าลึกเข้าไปภายใน โดยสีของแผลอาจจะต่างกันตั้งแต่สีนํ้าตาลอ่อนไปจนสีน้ำตาลเข้มหรือดำ

สาเหตุโรค : Erwinia atroseptica

เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับที่ก่อให้เกิดอาการเน่าเละในผัก คือ Erwinia carotovora โดยมีขนาด รูปร่าง คุณสมบัติต่างๆ ทั้งทางเคมีและสรีรวิทยาเหมือนกันเกือบทุกอย่าง ยกเว้น E. atroseptica จะทำลายเฉพาะมันฝรั่ง และเป็นพวกที่ไม่สามารถ เฟอร์เม้นท์ alcohol agar ได้ ส่วน E. carotovora ทำลายผักต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง โดยก่อให้เกิดอาการเน่าเละและสามารถ เฟอร์เม้นท์ alcohol agar ได้

การแพร่ระบาด

เมื่อเกิดโรคขึ้นกับพืชครั้งหนึ่งแล้วเชื้อจะเกาะกินเศษซากพืชปะปนอยู่ในดินปลูกได้เป็นเวลานาน เมื่อปลูกมันฝรั่งซํ้าลงไปก็จะเกิดโรคขึ้นได้อีก โดยเชื้อจะผ่านทางรอยตัดของหัวมัน บางกรณีการแพร่ระบาดอาจเกิดจากเชื้อเกาะติดอยู่กับหัวมันฝรั่ง ซึ่งเก็บจากต้นหรือดินที่มีเชื้อปะปนอยู่

โรคจะเกิดได้ง่ายและเร็วขึ้นในหัวมันที่ปลูกโดยการตัดแบ่งออกเป็นชิ้นๆ ดินปลูกเป็นดินที่อุ้มน้ำหรือการระบายน้ำเลว แผลซึ่งถูกทำให้เกิดมีขึ้นที่ต้นที่ระดับดินหรือใต้ดินก็จะช่วยทำให้เกิดโรคได้ดีขึ้น

การป้องกันกำจัด

1. หลังเก็บเกี่ยวผลแล้วควรเก็บทำลายเศษซากพืชให้หมดโดยเฉพาะต้นที่เป็นโรค

2. งดหรือหลีกเลี่ยงการปลูกมันฝรั่งลงในดินที่เคยมีโรคเกิดมาก่อน โดยการปลูกพืชชนิดอื่น สลับอย่างน้อย 3-4 ปี

3. ปลูกมันฝรั่งโดยใช้หัวที่สะอาดปราศจากโรค หลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดแผลขึ้นกับหัวมันที่ใช้ทำพันธุ์ การปลูกมันฝรั่งทั้งหัวจะปลอดภัยจากการติดโรคดีกว่าหัวที่ตัดออกเป็นชิ้นๆ และปลูกในดินที่มีการระบายนํ้าดี

4. หากจำเป็นต้องตัดหัวพันธุ์ที่จะปลูกออกเป็นชิ้นๆ ควรล้างให้สะอาดหรือแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น สารละลายจุนสี (CuSO4) หรือยาปฏิชีวนะ เช่น สเตรปโตมายซิน หรือแอกกริมายซินเสียก่อน เมื่อตัดแบ่งแล้วอย่าเพิ่งนำไปปลูกทันทีให้เก็บชิ้นมันไว้ในห้องหรือตู้ปรับอุณหภูมิ 15-21° ซ. ความชื้นไม่ต่ำกว่า 85% อย่างน้อยสองวัน ทั้งนี้เพื่อให้บริเวณแผลรอยตัดมีการสร้างคอร์คเซลล์ (cork cells) ที่แห้งและหนาขึ้น ปิดกั้นไม่ให้เชื้อเข้าไปได้ง่าย หลังจากนั้นจึงค่อยนำ ไปปลูก

โรคแผลสะเก็ดหรือหูด (common scab)

เป็นโรคสำคัญของมันฝรั่งที่มีประวัติการพบอันยาวนานมากว่า 150 ปี จากรายงานครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1825 ในหนังสือ London’s Encyclopedia of Agriculture ต่อมาในปี ค.ศ.1890 จึงมีผู้พบและอธิบายเกี่ยวกับโรคนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นโรคที่ระบาดแพร่หลายในเกือบจะทุกแห่งที่มีการปลูกมันฝรั่ง และนอกจากนั้นยังปรากฎพบในพืชหัวอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น แครอท บีท แรดิซ พาร์สนิพ เทอร์นิพ และรูทาบากา

อาการโรค

โรคแผลสะเก็ดหรือหูดจะเกิดขึ้นเฉพาะที่หัวมันฝรั่งเท่านั้น โดยจะเริ่มจากแผลจุดสีน้ำตาลเล็กๆ ขึ้นที่ผิวหรือเปลือกของมันฝรั่ง ต่อมาจะค่อยๆ ขยายโตขึ้นกลายเป็นสะเก็ดหรือตุ่มขรุขระ ผิวแยกแตกออกคล้ายหูด มันที่อ่อนแอ หรือเมื่อเกิดโรครุนแรงแผลเหล่านี้จะเกิดเป็นจำนวนมากจนเกือบทั่วทั้งหัว และต่อเชื่อมกันทำให้ดูเป็นแผลที่มีขนาดใหญ่ แลดูน่าเกลียด หรือบางครั้งแผลอาจจะมีลักษณะเป็นรูพรุนเล็กๆ เกิดขึ้นแทนแผลสะเก็ดหรือหูด ซึ่งเข้าใจว่าอาจขึ้นอยู่กับพันธุ์ของมัน แหล่งปลูก และ strain ของเชื้อ ปกติโรคนี้ จะไม่ทำลายส่วนของต้นมันฝรั่งที่อยู่เหนือดิน แต่อาจทำลายส่วนของราก (stolon) ที่ต่อเชื่อมระหว่างหัวก่อให้เกิดแผลสีน้ำตาลเล็กๆ ขึ้นได้

สาเหตุโรค : Streptomyces scabies

จัดเป็นแบคทีเรีย เนื่องจากมีคุณสมบัติหลายอย่างเหมือนแบคทีเรีย โดยธรรมชาติเป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดิน ขยายพันธุ์ได้โดยการแตกตา (budding) หรือเกิด oidiospores จากการที่เส้นใยหักออกเป็นท่อนๆ ต่อเชื่อมกันเป็นสายโซ่ยาว ระบาดและเจริญเติบโตได้ดีในดินที่แห้ง ที่เป็นด่างเล็กน้อย pH ระหว่าง 6.5-8.0จัดเป็นพวกที่ชอบอุณหภูมิสูง (thermophilic) ประมาณ 25 – 35° ซ.

การระบาดส่วนใหญ่จะติดไปกับดินที่มีเชื้อติดอยู่หรืออาจติดไปกับหัวมันที่ใช้ทำพันธุ์

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้หัวมันทำพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค หากไม่แน่ใจให้นำมาจุ่มแช่ในนํ้ายาฟอร์มาลดีไฮด์ 80-90 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ปี๊บ นาน 2 ชั่วโมง แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดก่อน แล้วจึงนำไปปลูก

2. ลดความเป็นด่างของดินปลูกโดยการเติมปุ๋ยอินทรีย์ลงไปมากๆ 3-4 ตันต่อไร่ หรือเติมสารที่ชักนำให้เกิดกรด เช่น กำมะถันผง ตั้งแต่ 100-400 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อลด pH ของดินลงมาให้เหลือระหว่าง 5.7-5.8 ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้

3. ปลูกพืชหมุนเวียนอย่างน้อย 3-4 ปี

4. เลือกใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานโรค มันฝรั่งที่มีเปลือกหนาหยาบสีน้ำตาล ค่อนข้างจะทนต่อการเกิดโรคได้ดีกว่าพันธุ์เปลือกบางเรียบและสีอ่อน

โรคหัวเป็นปมหรือโรคแสนปม (tuber wart)

เป็นโรคที่มักจะพบกับมันฝรั่งที่ปลูกในดินที่เคยปลูกมะเขือเทศ ยาสูบ หรือพืชอื่นที่เคยถูกไส้เดือนฝอยรากปมทำลายมาก่อน

อาการโรค

มันฝรั่งที่ถูกไส้เดือนฝอยรากปมเข้าเกาะกินหัวจะมีลักษณะผิดปกติที่ผิวเปลือกด้านนอกจะเกิดอาการเป็นปุ่มปมขรุขระทั่วทั้งหัว แลดูน่าเกลียด ปมเหล่านี้หากผ่าออกแล้วใช้แว่นขยายส่องดูอาจพบตัวไส้เดือนฝอยเพศเมีย ลักษณะกลมๆ ขนาดหัวเข็มหมุดสีขาวเป็นมันสะท้อนแสงอยู่ทั่วไป หัวมันพวกนี้อาจมีรูปทรงผิดไปจากเดิม เช่น คอด เว้า หรือบิดเบี้ยว บางครั้งอาการปมอาจเกิดขึ้นที่รากหรือ stolon ที่ต่อเชื่อมระหว่างหัวมันได้ เช่น สำหรับต้นมันที่อยู่บนดิน บางทีอาจไม่แสดงอาการผิดปกติดังเช่นพืชทั่วๆ ไป

เชื้อสาเหตุโรค

เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปมที่เป็นศัตรูพืชหลายตัวใน Genus Meloidogyne รวมทั้งพวกที่เป็นกับมะเขือเทศ ยาสูบ และพริกด้วย โดยที่พวกนี้เมื่อเกิดเป็นกับพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง แล้วก็จะอาศัยอยู่ในดินต่อมาได้อีกเป็นเวลานาน เมื่อปลูกมันฝรั่งลงไปก็จะเขาเกาะกินที่หัวมัน แล้วก่อให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้น

การแพร่ระบาด

โดยติดไปกับน้ำที่ปล่อยให้ไหลผ่านแปลงปลูก การเคลื่อนย้ายดินที่มีเชื้อปะปนอยู่ หรือติดไปกับล้อยานพาหนะ แทรกเตอร์ รองเท้า เครื่องมือขุด ไถ คราด หัวมันที่เป็นโรค และต้นกล้าพืชที่รากมีเชื้ออาศัยเกาะติดอยู่

ความสียหายจะรุนแรงในดินปลูกที่มีลักษณะเป็นดินปนทรายหรือดินทรายและอุณหภูมิค่อนข้างสูง

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้ท่อนพันธุ์หรือหัวมันที่จะนำมาปลูกที่สะอาดปราศจากเชื้อ

2. หลีกเลี่ยงการปลูกมันลงในดินปลูกที่เคยมีโรคเกิดมาก่อน

3. เมื่อพบหัวมันที่แสดงอาการโรคให้รีบทำลาย โดยการนำไปเผาหรือต้มในน้ำเดือด