โรคของลองกอง

ลองกองเป็นไม้ผลตระกูลเดียวกับลางสาด  แต่มีรสชาติที่หอมหวานกว่า และเป็นที่นิยมบริโภคกันโดยทั่วไป  จึงเริ่มมีการขยายการปลูกลองกองออกไปอย่างกว้างขวาง  ทั้งทางภาคใต้และทางภาคตะวันออกของประเทศ แหล่งปลูกดั้งเดิมของลองกองอยู่ทางภาคใต้ แถบจ.ยะลา และนราธิวาส  ซึ่งส่วนใหญ่ขยายพันธุ์โดยการเพาะด้วยเมล็ด  ซึ่งทำให้พบความแตกต่างของลักษณะรูปร่างผล  และรสชาติอยู่เสมอ ๆ ต่อมามีการนำเอาวิธีการขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่งหรือเสียบยอดมาใช้ จึงทำให้สามารถคัดเลือกต้นที่มีคุณภาพดีไปปลูกยังแหล่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ลองกองเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้นและเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีร่มเงาพอสมควร เกษตรกรจึงมักปลูกลองกองแซมพืชอื่น โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ของการปลูก เช่นปลูกแซมระหว่างแถวทุเรียนหรือเงาะ

อย่างไรก็ตามลองกองก็ยังคงมีปัญหาโรคและแมลงรบกวนเช่นเดียวกับพืชผลชนิดอื่น ๆ ซึ่งเกษตรกรควรที่จะได้หมั่นตรวจตราดูแล และรู้จักลักษณะอาการ ตลอดจนสาหตุและวิธีการป้องกันกำจัดไว้บ้าง เพื่อที่จะสามารถป้องกันหรือลดความเสียหายได้อย่างทันท่วงที

  • โรคราสีชมพู

เกิดจากเชื้อราคอร์ติเซียม ซาลโมนิคัลเลอร์ (Corticium sulmonicolor) เข้าทำลายบริเวณกิ่งหรือลำต้น  ทำให้เกิดลักษณะอาการกิ่งแห้ง ใบแห้งและร่วงหล่น บริเวณกิ่งที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายเริ่มแรกจะเห็นเส้นใยของเชื้อราสีขาวขึ้นปกคลุมบาง ๆ บริเวณโคนกิ่ง และจะค่อย ๆ เจริญปกคลุมกิ่ง เส้นใยนี้จะหนาขึ้นและค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู ในระยะนี้จะเห็นใบที่อยู่ส่วนบนของกิ่งที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายเริ่มเหลือง  เมื่อเฉือนเปลือกบริเวณที่มีเชื้อราปกคลุมจะเห็นเนื้อเปลือกถูกทำลายเป็นสีน้ำตาล  ซึ่งกิ่งที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายนี้ต่อมาจะแห้งตายทั้งกิ่ง

การระบาดของโรคราสีชมพู มักจะพบระบาดมากในช่วงฤดูฝน และมักพบเกิดกับต้นลองกองที่มีทรงพุ่มทึบอยู่ในที่มีร่มเงามากเกินไป  เชื้อราสาเหตุโรคอาจทำให้เกิดโรคกับพืชอื่นได้หลายชนิด เช่น ยางพารา ส้มจุก ส้มเขียวหวาน และทุเรียน ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพความชื้นสูง

การป้องกันกำจัด ควรมีการตัดแต่งกิ่ง อย่าให้พุ่มหนาทึบมากเกินไป  สำหรับแหล่งปลูกที่เคยมีการระบาดอยู่เสมอ ๆ การตัดแต่งนั้นถ้าโปร่งเกินไปถึงแม้ว่าจะเกิดโรคน้อย แต่ก็จะทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ การออกดอกติดผลน้อยเนื่องจากต้นลองกองจะออกดอกตามลำต้นและกิ่ง  ดังนั้นจึงควรเลือกเฉพาะกิ่งที่แห้ง หรือกิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกเท่าที่จำเป็น  สำหรับกิ่งที่เป็นโรค เมื่อสังเกตพบควรจะตัดออก เผาทำลายเสีย และทาแผลรอยตัดด้วยสารประเภททองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ เป็นต้น กิ่งที่ถูกทำลายใหม่ ๆ อาจจะบำบัดรักษาโดยการถากเปลือกเป็นโรคออก แล้วทาด้วยสารประกอบทองแดงดังกล่าว

การพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเป็นครั้งคราวในช่วงที่มีการระบาดก็จะช่วยลดความเสียหายจากโรคได้

  • โรคราสีขาว

โรคนี้เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง มีเส้นใยสีขาวหยาบ มักพบขึ้นปกคลุมบริเวณปลายกิ่งและอาจจะลุกลามขึ้นปกคลุมใบ การระบาดของเชื้อราชนิดนี้ยังไม่กว้างขวางนัก พบในบางแหล่งปลูก เช่นที่ จ.จันทบุรีและนครนายก ความเสียหายที่เกิดจากเชื้อราชนิดนี้ทำให้กิ่งแห้ง ใบแห้งเหี่ยว และมักพบการทำลายของเชื้อราเกิดร่วมกับการทำลายของหนอนกินใต้เปลือกอยู่เสมอ

การป้องกันกำจัด อาจทำได้โดยการตัดกิ่งที่มีเชื้อราขึ้นปกคลุม นำไปทำลายโดยการเผาสำหรับสวนที่มีการระบาด การพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชบางชนิด เช่น พวกสารประกอบทองแดง จะช่วยลดการเกิดโรคได้มาก

  • โรคผลเน่า

โดยทั่วไปเมื่อลองกองใกล้สุก มักจะพบอาการเน่าเสีย  ซึ่งอาจจะเกิดจากการเข้าทำลายของผีเสื้อมวนหวาน หรือแมลงวันผลไม้  ซึ่งจะเจาะผลเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงหรือเพื่อการวางไข่ ทำให้เกิดแผลที่ผล ซึ่งเชื้อราและแบคทีเรียที่มีอยู่ในอากาศทั่ว ๆ ไป สามารถจะเข้าทำลายทำให้อาการเน่าเสียลุกลามมากขึ้น  โดยมีแมลงบางชนิดเช่น แมลงหวี่ เป็นตัวแพร่ระบาดของเชื้อราและแบคทีเรียเหล่านั้น

อย่างไรก็ตามการเน่าเสียของผลลองกองนี้ในบางครั้งไม่พบร่องรอยการทำลายของแมลงเลย แต่ก็พบการเน่าเสียโดยที่ผิวเปลือกจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลอ่อน และจะค่อย ๆ เข้มขึ้น ผลจะเริ่มนิ่มและยุบตัวลง การเน่าจะลุกลามไปทั่วทั้งผล  โดยบนผิวที่เป็นสีน้ำตาลเข้มนั้น จะเห็นผงสีขาว ๆ ของเชื้อราขึ้นกระจัดกระจาย

จากการแยกเชื้อราจากผลเน่าชนิดดังกล่าว พบเชื้อราพวกไซลินโดรคราเดียน (Cylindrocradium sp.) ซึ่งได้ทำการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้เกิดโรคกับลองกองได้และการทดสอบสารป้องกันกำจัดเชื้อราในการป้องกันกำจัดเชื้อราดังกล่าวในห้องปฏิบัติการพบว่าสารเบนโนมิล (benomyl) และไธอาเบนดาโซล (thiabendazole) มีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราดังกล่าวได้ดี

จะเห็นได้ว่าลองกองเป็นพืชที่ไม่มีโรครบกวนมากนัก และเป็นโรคที่สามารถจะป้องกันกำจัดได้ไม่ยาก หากมีความสนใจและดูแลรักษาสวนเป็นอย่างดีแล้วก็คงจะปราศจากการรบกวนของโรคดังที่กล่าวมาแล้ว

สุชาติ  วิจิตรานนท์

กลุ่มงานวิจัยดรคไม้ผลพืชสวนอุตสาหกรรม และสมุนไพร กองโรคพืชและจุลชีววิทยา